ข้อมูลใหม่ชี้ “โอมิครอน” ปรากฏในยุโรป ก่อนที่แอฟริกาใต้รายงานพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกถึงเกือบสัปดาห์ ขณะเดียวกัน คำเตือนของ WHO ให้งดการแบนการเดินทางแบบ “ปูพรม” ดูเหมือนไร้ความหมาย โดยขณะนี้มีกว่า 50 ประเทศยกระดับมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อสกัดไวรัสโคโรนาตัวกลายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ ที่ล่าสุดเจาะละตินอเมริกาและแถบอ่าวเปอร์เซียเป็นที่เรียบร้อย
เพียงหนึ่งสัปดาห์นับจากแอฟริกาใต้รายงานการพบตัวกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) หลายสิบประเทศทั่วโลกพากันงัดมาตรการจำกัดการเดินทางออกมาบังคับใช้กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา หวังสกัดไอมิครอนไม่ให้ลามมาถึงตนนานที่สุด
ทว่า เมื่อวันอังคาร (30 พ.ย.) เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO เตือนว่า การแบนการเดินทางแบบ “ปูพรม” เสี่ยงทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี พร้อมเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันรับมืออย่างมีสติและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยใช้มาตรการที่อิงกับเหตุผลและความเสี่ยง
WHO ยังแนะนำให้ผู้ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบและมีความเสี่ยงสูง ซึ่งรวมถึงผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปละเว้นการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดในชุมชน
คำเตือนของเกเบรเยซุสได้รับการยืนยันจากการที่ทางการเนเธอร์แลนด์รายงานว่า พบไวรัสตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ในตัวอย่าง 2 ชุดตั้งแต่วันที่ 19 และ 23 เดือนที่ผ่านมา ก่อนที่แอฟริกาใต้จะรายงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 เดือนเดียวกัน นอกจากนั้น 1 ใน 2 ของผู้ติดเชื้อของเนเธอร์แลนด์ดังกล่าวยังไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย
จนถึงขณะนี้มีกว่าสิบประเทศและดินแดนที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา ฮ่องกง อิสราเอล อิตาลี โปรตุเกส และบราซิลที่เพิ่งพบเมื่อวันอังคาร นับเป็น 2 เคสแรกที่พบในละตินอเมริกา โดยเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากแอฟริกาใต้
ขณะซาอุดีอาระเบียรายงานในวันพุธ (1) พบผู้ติดโอมิครอนรายแรก โดยเป็นพลเมืองซาอุดีซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากแอฟริกาเหนือ กลายเป็นรายแรกในแถบอ่าวเปอร์เซีย
ด้านไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในแอฟริกา ก็รายงานพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนครั้งแรกเมื่อวันพุธ (1)
เฉพาะในยุโรปนั้น เบลเยียมและเยอรมนีพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนครั้งแรกก่อนวันที่ 25 พฤศจิกายน แต่เกี่ยวพันกับการเดินทางไปต่างประเทศทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคำเตือนของ WHO จะไร้ผล โดยญี่ปุ่นประกาศยกระดับมาตรการป้องกันด้วยการระงับการจองตั๋วเครื่องบินเข้าสู่ประเทศทั้งหมดนาน 1 เดือนตั้งแต่วันพุธเป็นต้นไป
นอกจากนั้น หลังจากปิดประเทศงดรับนักเดินทางจากทุกประเทศไปแล้ว ญี่ปุ่นยังขยายมาตรการแบนครอบคลุมชาวต่างชาติที่มีสถานะผู้พำนักจาก 10 ประเทศในแอฟริกาอีกด้วย
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยืนยันพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนคนแรกเมื่อวันอังคาร และพบเคสที่ 2 ในวันต่อมาเป็นผู้ที่เดินทางมาจากเปรู
นอกจากญี่ปุ่นแล้ว หลายประเทศในเอเชียตัดสินใจเพิ่มมาตรการควบคุมการเดินทางในวันพุธ เช่น อินโดนีเซียเพิ่มการแบนการเดินทางจากฮ่องกง และมาเลเซียแบนการเดินทางจากมาลาวี ขณะที่ฮ่องกงยกระดับการจำกัดการเดินทางระดับสูงสุดกับญี่ปุ่น โปรตุเกส และสวีเดน หลังจาก 3 ประเทศเหล่านี้พบผู้ติดเชื้อโอมิครอน
ขณะเดียวกัน แม้ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับโอมิครอน ซึ่ง WHO เชื่อว่า อาจแพร่ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่พบก่อนหน้า และต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในการพิจารณาว่า ตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้จะต้านทานภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนแล้วคือ การต่อสู้กับโควิด-19 ยังไม่จบง่ายๆ
ตลาดการเงินทั่วโลกตกระนาวเมื่อวันอังคาร รวมถึงราคาน้ำมัน หลังจากสเตฟาน แบนเซล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) โมเดอร์นา ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า วัคซีนของบริษัทมีแนวโน้มประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอกับโอมิครอน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นอูกูร์ ซาฮิน ซีอีโอของไบโอเอ็นเทคออกมายืนยันว่า วัคซีนซึ่งบริษัททร่วมพัฒนากับไฟเซอร์นั้นมีแนวโน้มให้การป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากโอมิครอนได้
นอกจากสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ฉุดตลาดการเงินทุกภูมิภาค และจุดชนวนให้รัฐบาลกว่า 50 ประเทศงัดมาตรการคุมเข้มการเดินทางกลับมาบังคับใช้แล้ว การพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ยังตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในการกระจายวัคซีนระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนอีกครั้ง
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)