WHO เตือน “โอมิครอน” ตัวกลายพันธุ์ล่าสุดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ มีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อพุ่งพรวดขึ้นในหมู่นานาประเทศ ถึงแม้ยังต้องรอการศึกษาประเมินให้ชัดเจนว่ามันอันตรายหรือระบาดได้ง่ายแค่ไหน ขณะที่ชาติต่างๆ จำนวนเพิ่มขึ้น ประกาศปิดประเทศงดรับนักเดินทางจากแอฟริกาตอนใต้และกระทั่งทั่วโลก หวังสกัดโอมิครอนเอาไว้แต่เนิ่นๆ
ญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในประเทศล่าสุดที่รื้อฟื้นมาตรการควบคุมพรมแดน ด้วยการงดรับนักเดินทางจากทุกประเทศ หลังจากเพิ่งประกาศอนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าบางประเภทเข้าประเทศได้ไม่กี่สัปดาห์
เวลาเดียวกัน นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แถลงปลอบโยนเมื่อวันจันทร์ (29 พ.ย.) ว่า ญี่ปุ่นอยู่ในสถานะที่เข้มแข็งพร้อมรับมือไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ โดยเขามุ่งหมายถึงเรื่องการที่ชาวญี่ปุ่นยินดีสวมหน้ากากป้องกันด้วยความสมัครใจ และการระวังตนเองจากพฤติกรรมเสี่ยง
ในวันเดียวกัน ฟิลิปปินส์ประกาศระงับชั่วคราว แผนอนุญาตให้นักเดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าประเทศได้ซึ่งเดิมจะมีผลตั้งแต่วันพุธ (1 ธ.ค.) ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนหลุดรอดเข้าประเทศ ขณะที่ประชากรฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
ด้านออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ประกาศในวันจันทร์ว่า ออสเตรเลียจะระงับแผนการเปิดรับแรงงานมีทักษะและนักศึกษาต่างชาติเข้าประเทศที่เดิมจะเริ่มต้นวันที่ 1 เดือนหน้า โดยเลื่อนออกไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโอมิครอน
ทั้งนี้ ออสเตรเลียพบเคสยืนยันติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน 3 คน ซึ่งทั้งหมดเพิ่งกลับจากตอนใต้ของทวีปแอฟริกา
ที่ฮ่องกง รัฐมนตรีสาธารณสุข โซเฟีย ชาน แถลงในวันจันทร์ ยืนยันว่าพบเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอนเป็นรายที่ 3 โดยเป็นชายวัย 37 ปีซึ่งเดินทางมาจากไนจีเรียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ และมีผลตรวจออกมาเป็นบวกในวันที่ 3 ที่เขาถูกกักกันโรคอยู่ในโรงแรม
เคสยืนยันติดเชื้อโอมิครอน 2 รายก่อนหน้านี้ในฮ่องกง ซึ่งตรวจพบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็เป็นผู้เดินทางชาวต่างชาติซึ่งกำลังถูกกักกันโรคเหมือนกัน และบรรดาเจ้าหน้าที่ฮ่องกงระบุว่า เวลานี้การติดเชื้อไม่ได้แพร่กระจายเข้าไปในประชาคมชาวฮ่องกงเองแต่อย่างใด
ส่วนโปรตุเกสตรวจพบผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอน 13 คนในวันจันทร์ ทั้งหมดเป็นนักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ของสโมสรฟุตบอล เบเลเนนส์ ภายหลังจากนักฟุตบอลคนหนึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากแอฟริกาใต้เมื่อเร็วๆ นี้ ดีจีเอส ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านสาธารณสุขของโปรตุเกสแถลง
นอกจากนั้นมีประเทศจำนวนมากขึ้น อาทิ กาตาร์ อเมริกา อังกฤษ บราซิล อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต เนเธอร์แลนด์ ได้ฟื้นข้อจำกัดการเดินทางมาบังคับใช้กับผู้ซึ่งเดินทางจากพวกประเทศในแถบแอฟริกาตอนใต้
ไม่เพียงเท่านั้น แองโกลากลายเป็นประเทศแรกในแอฟริกาตอนใต้เอง ที่ระงับเที่ยวบินทั้งหมดจากเพื่อนร่วมภูมิภาคคือ โมซัมบิก นามิเบีย และแอฟริกาใต้
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซาของแอฟริกาใต้ เรียกร้องให้ประเทศเหล่านั้นยกเลิกการแบนการเดินทางก่อนที่เศรษฐกิจของประเทศจะเสียหายมากกว่านี้ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศร้องเรียนว่า แอฟริกาใต้กำลังถูกลงโทษฐานที่เป็นประเทศแรกที่พบไวรัสสายพันธุ์ที่ขณะนี้พบในอีกหลายประเทศ
สำหรับองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำเตือนในวันจันทร์ว่า โอมิครอนถือเป็นความเสี่ยงสูงสำหรับทั่วโลก แม้ยังไม่ชัดเจนว่า มีความสามารถแพร่เชื้อและอันตรายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ หรือไม่ เนื่องจากโอมิครอนมีการกลายพันธุ์จำนวนมาก ซึ่งบางจุดน่ากังวลและอาจเชื่อมโยงกับความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และความสามารถในการแพร่ระบาดสูงขึ้น
WHO สำทับว่า แนวโน้มที่โอมิครอนจะระบาดในระดับโลกมีสูงมาก ซึ่งแม้ขณะนี้ยังไม่พบการเสียชีวิตที่เชื่อมโยงกับไวรัสสายพันธุ์นี้ แต่ถ้าโอมิครอนระบาดง่ายขึ้น จะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและเพิ่มความกดดันต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในที่สุด
WHO แนะนำให้ประเทศต่างๆ ยกระดับการเฝ้าระวังเพื่อให้ได้ภาพของตัวกลายพันธุ์นี้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย
ที่อเมริกา น.พ.แอนโทนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนำและที่ปรึกษาด้านโควิดของรัฐบาลสหรัฐฯ แจ้งกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์จึงจะมีข้อมูลชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับโอมิครอน
นอกจากนั้น ทำเนียบขาวยังแถลงว่า ไบเดนจะให้ข้อมูลและมาตรการรับมือ โอมิครอน ในวันจันทร์ โดยในวันเดียวกันนั้น รัฐมนตรีสาธารณสุขกลุ่มจี7 ซึ่งอเมริกาเป็นสมาชิกด้วย จะประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ ตามการร้องขอของอังกฤษ ผู้เป็นประธานจี7 ในวาระปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี แม้ยังมีความไม่แน่นอนมากมายเกี่ยวกับโอมิครอนที่ขณะนี้พบในออสเตรเลีย เบลเยียม บอตสวานา อังกฤษ แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อิสราเอล อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ทว่า เมื่อวันอาทิตย์ (28) โรงพยาบาลบัมบิโน เจซู ในโรม อิตาลี ได้เผยแพร่ “ภาพ” ตัวกลายพันธุ์นี้ภาพแรก และยืนยันว่า มีการกลายพันธุ์มากกว่าตัวกลายพันธุ์เดลตา แต่ไม่ได้หมายความว่า โอมิครอนอันตรายมากกว่า
สอดคล้องกับการเปิดเผยของ แองเจลิก โคตเซีย นายกสมาคมการแพทย์แอฟริกาใต้ ที่ระบุว่า ผู้ติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีอาการไม่รุนแรงและสามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ นอกจากนั้น ผู้ป่วยยังไม่มีอาการสูญเสียความสามารถในการได้กลิ่นและรับรู้รสชาติ รวมทั้งระดับออกซิเจนไม่ลดลงรุนแรง โคตเซียเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญกลุ่มแรกๆ ที่สงสัยว่า มีตัวกลายพันธุ์ตัวใหม่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันจันทร์ องค์การท่องเที่ยวโลกซึ่งอยู่ในสังกัดสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยการคาดการณ์ที่ระบุว่า วิกฤตโรคระบาดใหญ่โควิด-19 จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกสูญรายได้ถึง 2 ล้านล้านเหรียญในปีนี้ หรือเท่ากับมูลค่าความสูญเสียในปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้นการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นยังเปราะบางและล่าช้า และแนวโน้มระยะกลางยังไม่ดีนัก
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)