สหรัฐฯแถลงในวันอังคาร (23 พ.ย.) ว่า จะปล่อยน้ำมันจำนวนหลายล้านบาร์เรลจากคลังสำรองยุทธศาสตร์ โดยที่มี จีน, อินเดีย, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, และอังกฤษ ร่วมมือด้วย ทั้งนี้เพื่อต่อสู้กับราคาน้ำมันที่พุ่งแรง ภายหลังกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตรายอื่นๆ พากันเพิกเฉยไม่ยอมฟังเสียงเรียกร้องที่ให้พวกเขาผลิตน้ำมันดิบออกมามากขึ้น
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังได้รับเรตติ้งความยอมรับผลงานในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อข้าวของพากันขึ้นราคา ก่อนหน้าจะถึงการเลือกตั้งกลางเทอมในปีหน้า ได้เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกให้องค์การประเทศส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรผู้ผลิตรายอื่นๆ ซึ่งรวมตัวกันเป็นที่รู้จักในชื่อว่า โอเปก+ ผลิตน้ำมันให้มากขึ้น
การประกาศในวันอังคาร (23) ที่ว่า สหรัฐฯจะปล่อยน้ำมันออกจากคลังน้ำมันยุทธศาสตร์เป็นจำนวน 50 ล้านบาร์เรล มีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งเผยว่า วอชิงตันได้ติดต่อกับพวกชาติผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ๆ ในเอเชีย เพื่อร่วมมือกันดันราคาน้ำมันให้ลงต่ำจากระดับซึ่งอยู่ใกล้ๆ จุดสูงสุดในรอบ 3 ปี สำหรับอังกฤษนั้นก่อนหน้านี้ไม่ได้ถูกอ้างอิงว่าจะเข้าร่วมขบวนเรื่องนี้กับเขาด้วย
ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่วอชิงตันได้ร่วมมือประสานงานกับประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกบางราย เพื่อดำเนินฝีก้าวในลักษณะเช่นนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายรายบอก
โอเปก + ซึ่งประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย และพวกประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯรายอื่นๆ ในแถบอ่าวเปอร์เซีย ตลอดจนรัสเซีย ได้ปฏิเสธคำขอร้องให้ผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ในการประชุมประจำเดือนของพวกเขา โดยที่พวกเขากำหนดประชุมกันนัดถัดไปวันที่ 2 ธ.ค. ทว่าจนถึงเวลานี้ยังไม่มีเครื่องบ่งชี้ใดๆ ว่าพวกเขาจะโอนอ่อนให้ทางฝ่ายผู้บริโภค
อันที่จริง โอเปก + ได้ทำความตกลงกันเอาไว้ว่า จะค่อยๆ เพิ่มการผลิตน้ำมันดิบขึ้นมาให้ได้ 400,000 บาร์เรลต่อวันในแต่ละเดือน ถึงแม้นี่เป็นฝีก้าวที่วอชิงตันไม่พอใจบอกว่ายังเชื่องช้าเกินไป ทว่าในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มนี้ยังคงทำตามเป้าหมายดังกล่าวนี้ไม่ค่อยได้อยู่ดี ทั้งนี้พวกเขาแสดงความกังวลว่าโรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดหนักอีก ซึ่งจะส่งผลให้ดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันทรุดฮวบลงอีกครั้ง
ราคาที่พุ่งสูงอยู่ในปัจจุบัน มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ความต้องการใช้น้ำมันในทั่วโลกดีดตัวกระเตื้องขึ้นอย่างแรง หลังจากหดหายลงมากเมื่อปีที่แล้ว ในช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่ใหม่ๆ
สำหรับน้ำมันที่สหรัฐฯนำออกมาจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของตนจำนวน 50 ล้านบาร์เรลนั้น จะให้ยืมหรือขายแก่บริษัทต่างๆ ขณะที่อินเดียแถลงว่าจะปล่อยน้ำมันสำรองของตนออกมา 5 ล้านบาร์เรล ส่วนอังกฤษบอกว่าจะอนุญาตให้พวกคลังสำรองของภาคเอชนปล่อยน้ำมันดิบออกมาอยางสมัครใจเป็นจำนวน 1.5 ล้านบาร์เรล
ด้านเกาหลีใต้แจ้งว่า รายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนและช่วงเวลาที่จะปล่อยน้ำมันสำรองของตนนั้น จะตัดสินหลังหารือกับสหรัฐฯและพันธมิตรอื่นๆ
ส่วนสื่อญี่ปุ่นรายงานว่า โตเกียวจะแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการของตนในวันพุธ (24)
แหล่งข่าวใน เอเปก + รายหนึ่ง และนักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันอีกหลายราย กล่าวให้ความเห็นว่า การปล่อยน้ำมันสำรองออกมาครั้งนี้ เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนกับที่เคยระบุกันเอาไว้ก่อนหน้านี้ พวกเขายังวิจารณ์ปริมาณที่อังกฤษกับอินเดียปล่อยออกมาว่า อยู่ในระดับพอประมาณเท่านั้น ขณะที่สหรัฐฯนั้น เนื่องจากได้ประกาศเรื่องการปล่อยน้ำมันสำรองบางส่วนออกมาก่อนหน้านี้ไปแล้ว และดังนั้นปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาจึงถือว่าต่ำกว่าที่คาดหมายกันไว้
กระนั้นก็ตาม ความพยายามของวอชิงตันในการจับมือรวมทีมกับพวกระบบเศรษฐกิจของเอเชียรายใหญ่ๆ เพื่อกดดันให้มีการลดราคาพลังงานลงมา ยังคงถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังโอเปก ตลอดจนพวกผู้ผลิตรายใหญ่รายอื่นๆ ว่า พวกเขาจำเป็นต้องแก้ไขความกังวลห่วงใยเรื่องราคาน้ำมันดิบขึ้นสูงเช่นนี้ โดยที่มันทะยานไปมากกว่า 50% แล้วเฉพาะภายในปีนี้ปีเดียว
(ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์)