(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
US, China commence ‘responsible competition’
By MK BHADRAKUMAR
19/11/2021
จุดสำคัญที่สุดซึ่งออกมาจากการประชุมซัมมิตแบบเสมือนจริงระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็คือมันเป็นหลักหมายแสดงให้เห็นว่า ช่วงระยะแห่งความผิดปกติของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน น่าจะสิ้นสุดลงแล้ว
เรื่องที่สามารถจัดได้ว่าเป็นการทะลุทะลวงผ่าทางตันเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น จากการประชุมแบบเสมือนจริงระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เมื่อวันจันทร์- อังคาร (เวลาที่เจรจากันคราวนี้ เป็นคืนวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน ตามเวลาภาคตะวันออกของสหรัฐฯ และเป็นตอนเช้าวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน ตามเวลาในจีน -ผู้แปล) ก็คือ มีการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการออกวีซ่าให้แก่พวกนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการรับรองแล้วของประเทศทั้งสอง
ทว่ากระทั่งในเรื่องนี้ก็ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคกันอย่างลำบากทีเดียว โดยที่ “ฉันทามติ 3 ข้อว่าด้วยนโยบายการออกวีซ่า” สำหรับนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ของแต่ละฝ่าย สามารถตกลงกันได้จริงๆ ในระดับเจ้าหน้าที่ ก็ในช่วงจวนเจียนจะถึงเวลาประชุมเสมือนจริงครั้งนี้แล้ว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.chinadaily.com.cn/a/202111/17/WS6194e6bba310cdd39bc75eb5.html)
อย่างไรก็ตาม ในการพบปะหารือระดับซัมมิตทั้งหลาย อย่าได้มองแค่เพียงค้นหาผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมเท่านั้น สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนได้ออกบทวิจารณ์สำคัญชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าเขียนขึ้นในปักกิ่ง มีเนื้อหาเต็มไปด้วยความวาดหวังความศรัทธา และยังคงเรียกการประชุมเสมือนจริงครั้งนี้ว่า “บังเกิดดอกผล” ออกมาให้รู้สึกพึงพอใจ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.people.cn/n3/2021/1117/c90000-9920642.html)
ไบเดนนั้นต้องการให้จัดการหารือครั้งนี้ขึ้นมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว อันที่จริงนับจากกลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ดวงดาวโชคเคราะห์ช่างดูไม่สมพงศ์กับไบเดนเอาเสียเลย
การที่สหรัฐฯต้องถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานแบบสุดโกลาหลอลหม่าน และติดตามมาด้วยการที่เขาถูกกระหน่ำฟาดฟันจากพวกชนชั้นนำในกรุงวอชิงตัน, ความวุ่นวายเสียกระบวนซึ่งต่อเนื่องมาถึงกลุ่มพันธมิตรนาโต้, การที่พวกพันธมิตรของอเมริกันมีความประหวั่นพรั่นพรึงเพิ่มมากขึ้นว่าเขาอาจจะได้เป็นประธานาธิบดีเพียงแค่สมัยเดียวเท่านั้น, ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสายกับรัเซียในเรื่องยูเครนและการที่นาโต้พยายามรุกคืบไปทางตะวันออก, การหล่นฮวบดำดิ่งในคะแนนความยอมรับผลงานของไบเดนจากผลสำรวจความเห็นของชาวอเมริกัน –ทั้งหมดเหล่านี้ต่างพากันซัดโครมใส่เขาไม่หยุดยั้ง
(ดูเพิ่มเติมเรื่องคะแนนิยมในตัวไบเดนได้ที่ https://www.politico.com/f/?id=0000017d-2b95-d8e1-a57d-ebfdd0cf0000)
เวลาเดียวกันนั้น ภาวะเงินเฟ้อทางเศรษฐกิจก็กำลังขึ้นสูง โดยที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเนต เยลเลน กล่าวยอมรับอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บเอากับสินค้านำเข้าจากจีน มีส่วนสำคัญในการทำให้ระดับราคาในสหรัฐฯพุ่งทะยาน
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ถ้าหากคณะบริหารไบเดนเคยโอ่อวดเอาไว้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ การประชุมกับพวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของจีนที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา ว่า ฝ่ายอเมริกันจะเข้าเจรจากับจีนจากจุดยืนแห่งความแข็งแกร่งแล้ว ขณะที่การหารือซัมมิตเสมือนจริงต้นสัปดาห์นี้ขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ความประทับใจที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปกลับออกมาว่าเขากำลังเข้าสู่การเจรจาด้วยฐานะที่อ่อนแอ
ผลสำรวจของหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ (USA Today) ในเดือนนี้บอกว่า เรตติ้งการยอมรับผลงานของไบเดนอยู่ในระดับต่ำกว่า 38% เสียอีก หนึ่งวันก่อนการพบกันระหว่าง ไบเดน กับ สี โพลที่จัดทำโดยโพลิติโค/มอร์นิ่งคอนซัลต์ (Politico/Morning Consult) พบว่า 44% ของผู้มีสิทธิออกเสียงในสหรัฐฯเห็นชอบรับรองการทำงานในฐานะเป็นประธานาธิบดีของไบเดน ทว่า 58% ทีเดียวไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “โจ ไบเดน มีความสามารถในการนำพาประเทศชาติ”
โฆษกทำเนียบขาว แอนดริว เบตส์ (Andrew Bates) กระทั่งพยายามยืนกรานว่า ไบเดน จริงๆ แล้วไม่ได้เป็น “เพื่อนเก่า” ของ สี อย่างที่ประธานาธิบดีจีนพร่ำพูดครั้งแล้วครั้งเล่าหรอก ด้านสื่อวอชิงตันโพสต์แสดงความไม่แน่ใจว่า สี พยายามใช้วลีที่มีผลในทางยั่วเย้าเช่นนี้ ในฐานะเป็น “ถ้อยคำแสดงความสนิทชิดเชื้อ หรือว่าเป็นคำแฝงแสดงถึงการไม่ยินดีต้อนรับ” กันแน่
ความสำคัญอันแท้จริงของการพบปะกันเมื่อวันจันทร์-อังคารคราวนี้ ก็เป็นอย่างที่วอชิงตันโพสต์ประเมินเอาไว้นั่นแหละ มัน “ทำให้อภิมหาอำนาจของโลกทั้งสองสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันในประเด็นปัญหาอ่อนไหวต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวสร้างความด่างพร้อยให้แก่สายสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างกัน ... แต่ปฏิสัมพันธ์นี้ก็ยอมรับด้วยเช่นกันว่า การขัดแย้งสู้รบกัน ... สามารถที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างร้ายแรงไปตลอดทั่วโลก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/politics/biden-to-meet-with-chinese-president-in-virtual-summit/2021/11/14/6f59b36c-45bb-11ec-973c-be864f938c72_story.html)
ในการพูดจาอุ่นเครื่องกันสั้นๆ ต่อหน้าพวกผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว ก่อนการประชุมซัมมิตเริ่มต้นขึ้นนั้น ไบเดนบอกกับ สี ดังนี้ “อย่างที่ผมได้เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ มันดูจะเป็นความรับผิดชอบของพวกเรา –ในฐานะเป็นผู้นำของจีนและของสหรัฐฯ— ที่จะต้องทำให้เกิดความแน่ใจขึ้นมาว่า การแข่งขันกันระหว่างประเทศทั้งสองของเราจะไม่หันเหเข้าไปสู่การขัดแย้งสู้รบกัน ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตามที เอาเพียงแค่มีการแข่งขันกันอย่างธรรมดาตรงไปตรงมาเท่านั้น
“สำหรับผมแล้ว ดูเหมือนเราจำเป็นที่จะต้องจัดทำราวกั้นแห่งสามัญสำนึกขึ้นมา (เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลุดออกไปนอกกรอบ) ทำให้เป็นที่ชัดเจนและเที่ยงตรงจริงใจว่าเรามีความเห็นไม่เหมือนกันตรงไหนบ้าง และทำงานด้วยกันจากตรงที่ผลประโยชน์ของพวกเรามาพบเจอกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นปัญหาระดับโลกที่สำคัญยิ่งยวด อย่างเช่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”
ในทางตรงกันข้าม สี—ซึ่งเพิ่งผ่านการประชุมเต็มคณะครั้งประวัติศาสตร์ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ที่มีการลงมติเชิดชูเขาขึ้นชั้นเทียบเท่ากับ เหมา เจ๋อตง และ เติ้ง เสี่ยวผิง ในมหาวิหารแห่งเหล่าผู้นำพรรค มาอย่างสดๆ ร้อนๆ – ได้พูดชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้อง “เพิ่มการสื่อสารและการร่วมมือกัน” ระหว่างประเทศทั้งสอง และเสนอว่าเขาพร้อมแล้วที่จะทำงานกับ ไบเดน เพื่อ “สร้างฉันทามติ, ใช้จังหวะก้าวที่กระตือรือร้น, และผลักดันความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯให้คืบหน้าไปในทิศทางที่เป็นบวก”
แต่ สี ก็จัดแจงขีดเส้นแดงห้ามล่วงละเมิดด้วยความหนักแน่นมั่นคงในเรื่องว่าด้วยไต้หวัน ซึ่งมีคำแถลงระบุออกมาว่า ผู้นำทั้งสองได้อภิปรายหารือกันในประเด็นปัญหานี้ “อย่างยาวเหยียด”
ในบันทึกผลการเจรจาของทำเนียบขาวนั้น บอกว่า สหรัฐฯ “คัดค้านอย่างแข่งขันต่อการใช้ความพยายามตามลำพังฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม” ในเรื่องไต้หวัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/11/16/readout-of-president-bidens-virtual-meeting-with-president-xi-jinping-of-the-peoples-republic-of-china/)
แต่ตามเวอร์ชั่นขจองฝ่ายจีนที่พูดเอาไว้ยาวกว่ามากและเผยแพร่โดยสำนักข่าวซินหัว (มีความยาว 2,875 คำ) นั้น สี “ได้ชี้ให้เห็นถึงกระแสคลื่นแห่งความตึงเครียดระลอกใหม่ที่แผ่ข้ามช่องแคบไต้หวัน และลงความเห็นว่าความตึงเครียดเช่นนี้เนื่องมาจากความพยายามอย่างซ้ำๆ ซากๆ ของพวกผู้กุมอำนาจไต้หวันซึ่งมองหาความสนับสนุนของสหรัฐฯสำหรับวาระการแยกตัวเป็นเอกราชของพวกเขา ตลอดจนเจตนารมณ์ของชาวอเมริกันบางคนที่จะใช้ไต้หวันเพื่อปิดล้อมจีน ความเคลื่อนไหวเหล่านี้มีอันตรายร้ายแรงยิ่ง เหมือนๆ กับการเล่นกับไฟ ใครก็ตามที่เล่นกับไฟก็จะต้องถูกไฟเผาไหม้เอา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1919223.shtml)
สี กล่าวต่อไปว่า “เรามีความอดทนและจะพยายามอย่างหนักเพื่อโอกาสของการรวมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสันติด้วยความจริงใจอย่างที่สุดและการใช้ความพยายามอย่างที่สุด แต่ก็ต้องพูดเอาไว้ด้วยว่า ถ้าหากพวกกองกำลังนักแบ่งแยกดินแดนที่เรียกร้องต้องการให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราช ยั่วยุเรา, บังคับให้เราต้องลงมือ, หรือกระทั่งข้ามเส้นสีแดงที่ห้ามล่วงละเมิดแล้ว เราก็จะถูกบังคับให้ต้องใช้มาตรการอันเด็ดเดี่ยวแน่วแน่”
สี บอกปัดไม่ยอมที่จะมีการประนีประนอมในเรื่องนี้ ตามรายงานของซินหัวนั้นระบุว่า “ไบเดนได้ย้ำยืนยันอีกครั้งหนึ่งถึงจุดยืนที่มีมายาวนานของรัฐบาลสหรัฐฯในเรื่องนโยบายจีนเดียว พร้อมกับย้ำว่าสหรัฐฯไม่ได้สนับสนุน “การเป็นเอกราชของไต้หวัน” รวมทั้งแสดงความหวังให้ธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน
“สหรัฐฯมีความปรารถนาที่จะทำงานกับจีนบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพิ่มพูนการติดต่อสื่อสารกัน ลดทอนความรับรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และจัดการกับความผิดแผกแตกต่างกันอย่างสร้างสรรค์”
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เส้นทางโคจรในอนาคตของความสัมพันธ์นี้ แทบทั้งหมดเลยจะขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯจะกำหนดจัดวางรายละเอียดเกี่ยวกับกับจุดยืนของตนออกมาอย่างไร ปักกิ่งได้แสดงให้เห็นความเข้มแข็งของตนในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการหารือครั้งนี้ โดยที่มีเครื่องบินจีนจำนวน 6 ลำบินเข้าสู่เขตน่านฟ้าที่ไต้หวันเรียกว่าเป็นเขตป้องกันทางอากาศของตน
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในระหว่างการเจรจาที่ดำเนินไป 3 ชั่วโมงครึ่งนี้ มีการทำความตกลงกันในกิจการด้านต่างๆ ไม่ใช่น้อยๆ เจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯแถลงว่า ไบเดน “ได้หยิบยกเรื่องความจำเป็นที่จะต้องมีการหารือกันในด้านเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์” และกล่าวด้วยว่าเรื่องเหล่านี้จำเป็นที่ “จะต้องได้รับการชี้นำจากผู้นำ”
โดยภาพรวมแล้ว ซุลลิแวนหาทางที่จะวางกรอบความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ว่าเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์แบบที่มีการแข่งขันกัน “ในสภาพสม่ำเสมอ” แต่สายการติดต่อสื่อสารกันก็ยังคงเปิดกว้าง ขณะเดียวกันนั้นสหรัฐฯก็จะทำงานกับพวกพันธมิตรและพวกหุ้นส่วนทั้งหลาย “เพื่อเผชิญหน้ากับจีนในจุดที่พวกเราจำเป็นต้องกระทำเช่นนั้น” และทำงานร่วมงานกับจีนในจุดที่ “ผลประโยชน์ของพวกเรา ... มาเจอกัน”
แต่การประเมินของฝ่ายจีนแสดงให้เห็นถึงการมีความหวังมากกว่าอย่างเด่นชัด บทวิจารณ์ของซินหัวชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ทางเหรินหมินรึเป้า เน้นย้ำว่า “ท่ามกลางการติดตามจับจ้องอย่างกระตือรือร้นจากทั่วโลก” ผู้นำทั้งสอง “มีความเห็นพ้องต้องกันในการพบปะหารือแบบเสมือนจริงที่บังเกิดดอกผล ... เพื่อนำร่อง ... ความสัมพันธ์นี้ให้กลับเข้าสู่ร่องสู่รอย ฉันทามติที่มุ่งส่งเสริมให้กำลังใจเช่นนี้ พร้อมๆ กับ ผลลัพธ์ซึ่งออกมาในทางบวกอย่างอื่นๆ ... ก่อให้เกิดกระแสแห่งความมองโลกในแง่ดีซึ่งกำลังเป็นสิ่งที่ต้องการกันอย่างเหลือเกิน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่http://en.people.cn/n3/2021/1117/c90000-9920642.html)
อย่างไรก็ดี บทวิจารณ์ชิ้นนี้กล่าวต่อไปด้วยว่า “มันเป็นเวลาอันเหมาะสมแล้วที่สหรัฐฯจะต้องเริ่มต้นกระทำการในลักษณะที่แสดงถึงความรับผิดชอบอย่างแท้จริง ... วอชิงตันที่มีความรับผิดชอบนั้นควรที่จะยืนหยัดส่งเสริมให้มีความเคารพซึ่งกันและกันกับจีนอย่างเต็มหัวใจของตน ...มันหมายความว่า ประเทศทั้งสองควรต้องปฏิบัติต่ออีกฝ่ายหนึ่งในฐานะผู้มีความเท่าเทียมกัน และเคารพในระบบสังคม เส้นทางการพัฒนา ผลประโยชน์แกนกลาง ตลอดจนความกังวลห่วงใยสำคัญๆ ของกันและกัน ตลอดจนสิทธิในการพัฒนา ...
“เรื่องที่มีความจำเป็นเป็นพิเศษในเวลานี้ก็คือ สหรัฐฯควร... ยุติการเล่นกับไฟในปัญหาไต้หวัน ซึ่งถือเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุดและอ่อนไหวที่สุดในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ไม่มีการยั่วยุใดๆ หรือการข่มขู่คุกคามใดๆ จักทำให้จีนยอมขยับเขยื้อนถอยให้แม้แต่นิ้วเดียว”
บทวิจารณ์กล่าวต่อไปว่า “วอชิงตันจำเป็นต้องดำเนินปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การที่พวกเขาเรียกร้องต้องการให้บริหารจัดการกับสายสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนอย่างถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนการที่พวกเขาประกาศว่าไม่ได้แสวงหาหนทางปิดล้อมจีนนั้น เป็นการตัดสินใจเลือกในทางยุทธศาสตร์ ไม่ใช่เป็นแค่เดิมพันในทางยุทธวธีเท่านั้น” ทั้งนี้ ข้อความเช่นนี้ย่อมเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกันอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งทีเดียว
จุดสำคัญที่สุดก็คือว่า ช่วงระยะแห่งความผิดปกติของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน น่าจะสิ้นสุดลงแล้ว เรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ซึ่งระบุออกมาในการเจรจากันคราวนี้นั้น แน่นอนว่าจะต้องมีการสานต่อติดตามผล ไชน่าเดลี่ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของรัฐบาลจีนแสดงสุ้มเสียงมั่นอกมั่นใจว่า การพบปะหารือกันครั้งนี้ “จะนำเสถียรภาพมาสู่ความสัมพันธ์ทวิภาคี และผลักดันให้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเข้มข้นจริงจังยิ่งขึ้น”
พวกนักวิจารณ์ให้ความเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวจีนหลายราย กำลังตั้งความหวังกันว่า เมื่อพิจารณาจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อภายในประเทศที่กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และการที่เรตติ้งความยอมรับผลงานของไบเดนในเรื่องการจัดการเศรษฐกิจของเขากำลังตกฮวบฮาบเช่นนี้ วอชิงตันอาจมีความยินดีที่จะทำงานกับปักกิ่งเพื่อผ่อนคลายเรื่องภาษีศุลกาการตลอดจนประเด็นปัญหาทางการค้าที่เกี่ยวข้องต่อไปอีก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.globaltimes.cn/page/202111/1239021.shtml)
ในเรื่องสายสัมพันธ์ทางการค้านี้ สี พูดถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯว่า มีลักษณะที่เป็นการให้ผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และกล่าวอีกว่าทั้งสองฝ่ายจำเป็นที่จะต้อง
“ทำให้ก้อนเค้ก (ที่จะนำมาแบ่งกินกัน) มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม” โดยผ่านการร่วมมือประสานงานกัน ฝ่ายจีนนั้นมีความคาดหมายว่าจะมีการเปิดช่องทางต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นอีกเพิ่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่การติดต่อสื่อสารกัน และจะมีการร่วมมือประสานงานกันภายหลังการประชุมซัมมิตคราวนี้แล้ว
เวลานี้มีสมาคมธุรกิจสหรัฐฯจำนวน 20 กว่าแห่งทีเดียวที่กำลังรบเร้าคณะบริหารไบเดนให้ลดอัตราภาษีศุลกากรที่จัดเก็บจากสินค้าจีน เพื่อเป็นการบรรเทาความยากลำบากให้แก่ชาวอเมริกันในท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่กำลังขึ้นสูง พวกเขากำลังโต้แย้งว่าภาษีศุลกากรที่นำออกมาบังคับใช้ในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้
ยังคงก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อ งแก่ทั้งธุรกิจ เกษตรกร คนงาน และครอบครัวในสหรัฐฯ
สภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน (US-China Business Council) ที่มีอิทธิพลสูง ก็กำลังคาดหวังให้มีการนัดหมายจัดการเจรจาหารือแบบแยกต่างหากออกมาในเร็ววันนี้ เพื่อพูดจาอภิปรายกันในประเด็นปัญหาต่างๆ ในทางเศรษฐกิจและการค้า เวลาเดียวกันนั้นก็กำลังโอดครวญว่า “สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าเป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีความมั่นคง และสามารถช่วยเหลือในการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ในทางยุทธศาสตร์
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ
Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย