(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Biden: We will protect Taiwan if China attacks
By DAVE MAKICHUK
22/10/2021
ในรายการสนทนาแบบถาม-ตอบสไตล์ “ทาวฮอลล์” ทางโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พูดยืนยันว่าถ้าจีนบุกโจมตีไต้หวันแล้ว สหรัฐฯจะเข้าพิทักษ์ปกป้องเกาะแห่งนี้ ทว่าหลังจากนั้นโฆษกทำเนียบขาวก็รีบออกมาแถลง ซึ่งดูเหมือนเป็นการถอยหลังกลับจากสิ่งที่ประธานาธิบดีพูดออกไป
ถ้าหากยังมีความสงสัยข้องใจใดๆ อยู่แล้ว มันก็ถูกขจัดไปจนหมดสิ้นล่ะทีนี้ –ข้อความที่ส่งไปถึงปักกิ่งน่ะ ชัดเจนทนโท่ออกอย่างนั้น!
หรือว่าไม่ใช่? บางทีมันอาจจะกลับมืดมนกำกวมยิ่งไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตอบว่า สหรัฐฯจะพิทักษ์ปกป้องไต้หวันถ้าหากจีนบุกโจมตี นี่เป็นคำแถลงที่ดูเหมือนกับผละออกไปจากจุดยืนด้านนโยบายการต่างประเทศซึ่งสหรัฐฯยึดถือมายาวนาน โทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานเอาไว้เช่นนี้
ขณะถูกถามเป็นครั้งที่สองในรายการถามตอบสไตล์ “ทาวน์ฮอลล์” ของซีเอ็นเอ็น เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. (ซึ่งเป็นช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 22 แล้วตามเวลาในแถบเอเชีย) ว่า สหรัฐฯจะพิทักษ์ปกป้องไต้หวันหรือไม่ ถ้าหากจีนบุกโจมตี ไบเดนก็ตอบว่าสหรัฐฯจะปกป้อง
“ครับ เรามีพันธกรณีที่จะต้องทำเช่นนั้น” เขากล่าว
อย่างไรก็ดี เท่าที่ผ่านมา สหรัฐฯจัดหาพวกอาวุธเพื่อการป้องกันมาขายให้ไต้หวัน ทว่าเมื่อมาถึงเรื่องที่ว่าสหรัฐฯจะเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหารหรือไม่ หากเกิดเหตุการณ์จีนบุกโจมตีไต้หวัน วอชิงตันก็ดำเนินนโยบายที่ไม่มีความกำกวมชัดเจน ซึ่งเรียกขานกันว่า “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” เรื่อยมา
ภายใต้นโยบาย “จีนเดียว” สหรัฐฯยอมรับทราบเรื่องที่จีนประกาศอ้างว่ามีอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวัน
ช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังๆ มานี้ ปักกิ่งได้ส่งเครื่องบินวันละหลายสิบลำ ต่อเนื่องกันอยู่หลายวัน ซึ่งรวมแล้วก็เป็นจำนวนราว 150 ลำ เข้าไปพื้นที่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน ถึงแม้ยังไม่ใช่เขตน่านฟ้าไต้หวันโดยตรง พร้อมกันนั้นประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนก็กล่าวย้ำว่า การรวมจีนกับไต้หวันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเรื่องที่ “ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”
ไม่นานหลังจาก ไบเดน พูดทางรายการของซีเอ็นเอ็นแล้ว เจน ซากี โฆษกของทำเนียบขาวก็ออกมาแถลงในลักษณะเหมือนกับถอยหลังกลับจากการแสดงความเห็นของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเธอกล่าวว่า สหรัฐฯ “ไม่ได้กำลังประกาศการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในนโยบายของเรา และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในนโยบายของเรา”
“ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่สหรัฐฯมีอยู่กับไต้หวันนั้น ชี้นำโดยรัฐบัญญัติความสัมพันธกับไต้หวัน เราจะยึดมั่นปฏิบัติตามพันธกรณีตามรัฐบัญญัติฉบับนี้ เราจะให้ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องกับการป้องกันตนเองของไต้หวัน และเราจะคัดค้านอย่างต่อเนื่องสำหรับการเปลี่ยนแปลงแบบฝ่ายเดียวใดๆ ต่อสถานะเดิมที่เป็นอยู่ในเวลานี้” ซากี บอก
ไม่กี่ชั่วโมงหลังรายการทาวน์ฮอลล์ทางซีเอ็นเอ็น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง เหวินบิน ได้ออกมากล่าวยืนยันอีกครั้งเรื่องที่จีนประกาศอ้างมายาวนานว่าเกาะไต้หวันเป็นดินแดนของตน ไม่ว่าอเมริกาจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามที
“เมื่อมาถึงประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ตลอดจนเรื่องที่เป็นผลประโยชน์แกนกลางอื่นๆ ของจีนแล้ว มันไม่มีที่ทางใดๆ เลยสำหรับจีนที่จะผ่อนปรนประนีประนอมหรืออ่อนข้อให้ และไม่ว่าใครก็ไม่ควรที่จะประเมินให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เกี่ยวกับความมุ่งมั่นอันแรงกล้า, เจตจำนงอันหนักแน่น, และความสามารถอันแข็งแกร่งของประชาชนจีนในการปกป้องอธิปไตยแห่งชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน” หวัง กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันตามปกติ
“ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่สามารถโอนให้ใครอื่นได้ ประเด็นปัญหาไต้หวันคือกิจการภายในของจีนแท้ๆ ซึ่งไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงใดๆ ทั้งสิ้น” หวัง กล่าวต่อ
สหรัฐฯควรที่จะ “ระมัดระวังคำพูดและการกระทำต่างๆ ของตนในประเด็นปัญหาไต้หวัน และไม่ส่งสัญญาณผิดพลาดใดๆ ไปถึงพวกพลังนักแบ่งแยกดินแดนซึ่งเรียกร้องต้องการให้ไต้หวันเป็นเอกราช เพื่อที่จะไม่เป็นการสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้แก่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ตลอดจนให้แก่สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน” โฆษกผู้นี้สำทับ
อย่างไรก็ตาม ทางไต้หวันแสดงความดีอกดีใจกับการแถลงของไบเดน และขอบคุณเขาที่พูดออกมาเช่นนี้
“รัฐบาลของเราจะยังคงสืบต่อเพิ่มความแข็งแกร่งในสมรรถนะการป้องกันตนเองของเรา เพื่อพิทักษ์ปกป้องอย่างเต็มกำลังต่อประชาธิปไตย ... ความมั่นคงแห่งชาติ, และความอยู่ดีกินดีของประชาชนไต้หวัน” นี่เป็นเนื้อความในคำแถลงจากกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันในวันศุกร์ (22 ต.ค.)
ขณะพูดในรายการของซีเอ็นเอ็นคืนวันพฤหัสบดี (21) นั้น ไบเดนบอกด้วยว่า เขาไม่รู้สึกกังวลใจว่าจะเกิดการสู้รบขัดแย้งทางทหารกับจีนขึ้นมาอย่างจงใจ แต่บ่งชี้ว่าเขารู้สึกกังวลในเรื่องที่มันอาจบานปลายขยายตัวขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจมากกว่า
“จีน, รัสเซีย, และประเทศอื่นๆ ทั้งหลายในโลกต่างทราบว่า เรามีกำลังทหารทรงอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก ไม่มีวิตกกังวลใดๆ เลยเรื่องที่ว่า พวกเขากำลังจะมีอำนาจมากกว่าหรือเปล่า” เขาบอก
“แต่คุณควรที่จะรู้สึกวิตกกังวลกันอย่างจริงจัง ในเรื่องที่ว่าพวกเขากำลังจะไปเกี่ยวข้องพัวพันในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งทำให้พวกเขาตกอยู่ในจุดยืนที่พวกเขาอาจจะกระทำความผิดพลาดอย่างร้ายแรงขึ้นมาหรือไม่มากกว่า”
เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่กับ สี ไบเดนบอกว่าเขาไม่ได้มองหาหนทางที่จะมีความขัดแย้งอย่างยืดเยื้อกับผู้นำจีน
“ผมเป็นคนที่ได้พูดคุยและใช้เวลาอยู่กับ สี จิ้นผิง อย่างยาวนานยิ่งกว่าผู้นำโลกคนอื่นๆ ไม่ว่าคนไหนทั้งนั้น นี่เป็นสิ่งที่คุณต้องคิดถึงในเวลาที่คุณได้ยินผู้คนพูดกันว่า ไบเดน ต้องการที่จะเริ่มเปิดสงครามเย็นครั้งใหม่กับจีน ผมไม่ได้ต้องการทำสงครามเย็นกับจีน ผมต้องการให้จีนเข้าใจว่าเราไม่ได้กำลังจะถอยหลังกลับ และเปลี่ยนแปลงทัศนะของเราใดๆ ทั้งสิ้น”
เวลาเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ประกาศตนแสดงความสนใจที่จะร่วมวงถกเกียงเรื่องไต้หวันด้วย เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
ปูติน บอกว่า จีน “ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลัง” หรอกในการบรรลุความปรารถนาของตนในเรื่องการรวมชาติกับไต้หวัน
ขณะพูดกับ แฮดลีย์ แกมเบิล ของโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี ณ เวทีประชุมสัปดาห์พลังงานรัสเซีย ในกรุงมอสโกเมื่อวันพุธ (20 ) ปูตินชี้ว่า จากการแสดงความเห็นหลายต่อหลายครั้งของ สี บ่งชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับไต้หวันอย่างสันติ และจาก “ปรัชญาแห่งความเป็นรัฐ” ของจีนก็บ่งบอกว่า ไม่ได้มีภัยคุกคามที่จะเกิดการเผชิญหน้าทางการทหาร
“ผมคิดว่าจีนไม่มีความจำเป็นต้องใช้กำลัง จีนมีระบบเศรษฐกิจทรงอำนาจขนาดมหึมา โดยเมื่อคิดกันในแง่ของภาวะเสมอภาคทางอำนาจซื้อ เวลานี้จีนก็เป็นระบบเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าสหรัฐฯไปแล้ว” ประธานาธิบดีรัสเซียบอก
“ด้วยการเพิ่มพูนศักยภาพทางเศรษฐกิจเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จีนก็มีความสามารถที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งชาติของตนได้ ผมไม่ได้เห็นว่ามีภัยคุกคามอะไรใดๆ”
ปูตินยังพูดถึงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ซึ่งที่ผ่านมารัสเซียพยายามรักษาจุดยืนที่เป็นกลาง ในเรื่องที่จีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตน่านน้ำใหญ่โตกว้างขวางแถบนี้มาอย่างยาวนานแต่ไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
“แล้วสำหรับทะเลจีนใต้นั้น ใช่ครับ มีเรื่องผลประโยชน์ที่กำลังเกิดความขัดแย้งกันและเป็นปรปักษ์กันบางอย่างบางประการเกิดขึ้น แต่จุดยืนของรัสเซียนั้นยึดโยงอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า เราจำเป็นที่จะต้องให้โอกาสแก่ทุกๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ ได้สนทนากันอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยอิงอยู่กับหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และปราศจากการแทรกแซงจากพวกมหาอำนาจที่อยู่นอกภูมิภาค” เขากล่าว
“มันควรที่จะเป็นกระบวนการองการเจรจาทำความตกลงกัน นี่ควรเป็นวิธีการที่เราใช้แก้ไขคลี่คลายข้อโต้แย้งใดๆ ก็ตามที และผมเชื่อว่ามีศักยภาพสำหรับเรื่องเช่นนี้ ทว่าจนถึงเวลานี้มันยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่”
(ที่มา: ซีเอ็นเอ็นโพลิติกส์, บีบีซี, ซีเอ็นบีซี, แอสโซซิเอเต็ดเพรส)