xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : จับตาประเด็นร้อนจีน-ไต้หวัน ‘สี’ ลั่นต้องรวมชาติ เสี่ยงจุดชนวน ‘สงคราม’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความตึงเครียดทางทหารระหว่างจีนกับไต้หวันทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนมีการส่งฝูงบินขับไล่และอากาศยานทางทหารนับ 100 ลำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไทเปอย่างต่อเนื่องเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. ท่ามกลางความกังวลของนานาชาติว่าสถานการณ์อาจลุกลามบานปลายจนนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหาร

รัฐบาลจีนมักเลือกใช้ถ้อยคำกระตุ้นจิตสำนึกรักชาติในหมู่ชาวจีนเมื่อเอ่ยถึงปัญหาไต้หวัน เช่น การอ้างว่ามีพวกสนับสนุนแบ่งแยกดินแดนสมคบคิดกับต่างชาติบ่อนทำลายบูรณภาพแห่งแผ่นดินแม่ และจีนจะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ

“ผู้ที่หลงลืมบรรพบุรุษรากเหง้าของตนเอง ทรยศต่อแผ่นดินเกิด หรือพยายามแบ่งแยกประเทศ ล้วนไม่เคยพบจุดจบที่ดี” ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวาระครบรอบ 110 ปี “การปฏิวัติซินไฮ่” ซึ่งทำให้ราชวงศ์ชิงถูกโค่นล้ม และนำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐจีนเมื่อปี 1911

ทั่วโลกอาจมองว่าไต้หวันคือเกาะประชาธิปไตยที่มีความเจริญรุ่งเรือง และกำลังถูกมหาอำนาจเพื่อนบ้านอย่างจีนข่มเหง แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ยืนยันมาโดยตลอดว่าไต้หวันคือ “ส่วนหนึ่ง” ของชาติจีน และเป็นดินแดนในอธิปไตยของปักกิ่ง

ชิว กั๋วเจิ้ง รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไต้หวัน ยอมรับว่าความสัมพันธ์กับจีนในตอนนี้ถือว่าตึงเครียดหนักสุดในรอบกว่า 40 ปี และจีนอาจมีศักยภาพเพียงพอที่จะเปิดปฏิบัติการทางทหารรุกรานไต้หวันอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2025 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า

แม้ผู้นำบางประเทศจะเริ่มกังวลว่าสถานการณ์จีน-ไต้หวันอาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็น “สงคราม” ในภูมิภาค แต่ในมุมของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่า ปักกิ่งมีเจตนาแค่ “เตือน” ไม่ให้ไต้หวันกระทำการ “ล้ำเส้น” จนนำไปสู่การเผชิญหน้า

จีนเคยประสบกับความอับอายขายหน้ามาแล้วในปี 1996 หลังจากที่สหรัฐฯ ส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี 2 หมู่ล่องเข้าช่องแคบไต้หวันเพื่อตอบโต้การยิงทดสอบขีปนาวุธของปักกิ่ง บทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้จีนมุ่งมั่นพัฒนาระบบขีปนาวุธทั้งแบบร่อน (cruise) และทิ้งตัว (ballistic) เพื่อป้องปรามกองทัพเรืออเมริกันในกรณีที่เกิดสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น

หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า จีนอาจมองช่วงเวลานี้เป็นโอกาสดีที่จะชิงรุกรานไต้หวัน ก่อนที่สหรัฐฯ จะ “ปรับดุลยภาพ” (rebalance) ขยายบทบาทในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะทำให้ความได้เปรียบของจีนยิ่งลดน้อยถอยลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยากสำหรับไต้หวัน สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรคือ การประเมินให้ออกว่าสิ่งที่จีนทำนั้นเป็นไปเพื่อ “โฆษณาชวนเชื่อ” หรือมีเจตนาหวังผลในทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง

ประธานาธิบดีสี ย่อมจะรู้ดีว่า การส่งทหารรุกรานไต้หวันทั้งทางบก เรือ และอากาศจะนำมาซึ่งความเสี่ยงมากมายขนาดไหน และผู้สันทัดกรณีเชื่อว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นเพียงกลยุทธ์ “ตัดไม้ข่มนาม” เพื่อเตือนให้ไต้หวันยอมรับว่า การอยู่ภายใต้ร่มเงาจีนนั้นคือความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

อแมนด้า เซียว (Amanda Hsiao) นักวิเคราะห์ด้านจีนจากสถาบัน International Crisis Group ชี้ว่า ปฏิบัติการข่มขวัญทางอากาศนี้ยังเป็นการท้าทายความร่วมมือระหว่างไทเปกับสหรัฐฯ ด้วย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องบินรบจีนยังไม่ได้เข้าไปในเขตน่านฟ้าไต้หวัน หรือข้ามเส้นมัธยะ (median line) ซึ่งเป็นเส้นสมมติที่แบ่งเขตแดนระหว่างจีนกับไต้หวัน หากแต่จำกัดกิจกรรมไว้เฉพาะในเขต ADIZ ของไทเป และน่านน้ำที่กองเรือสหรัฐฯ ใช้ล่องเข้าไปในทะเลจีนใต้เท่านั้น

นักวิเคราะห์ยังชี้ถึงนัยสำคัญของการที่ สี จิ้นผิง พูดว่าต้องการ “รวมชาติด้วยสันติวิธี” (peaceful reunification) อันบ่งบอกว่าผู้นำจีนเองยังไม่หมดหวังที่จะใช้การเมืองคลี่คลายปัญหาไต้หวัน แม้รัฐบาล ไช่ อิงเหวิน จะยืนยันชัดเจนว่าไม่มีวันยอม “ศิโรราบ” ก็ตาม


บอนนี เกลเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนให้ความเห็นว่า ปักกิ่งยังคงมองไต้หวันว่าเป็นปัญหาที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมือง และแม้ไม่ปฏิเสธการใช้กำลังทหารเข้ายึดครอง แต่ก็จะเก็บไว้เป็น “ทางเลือกสุดท้าย” จริงๆ

ความกังวลเฉพาะหน้าของจีนในเวลานี้ดูเหมือนจะอยู่ที่ความฮึกเหิมของรัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของ ไช่ อิงเหวิน ซึ่งยกระดับความร่วมมือกับสหรัฐฯ มากขึ้นทุกวัน แต่ถึงแม้จีนจะระแวงสงสัยว่า ไช่ คิดนำไต้หวันประกาศเอกราช ตัวผู้นำหญิงไทเปเองกลับพูดเอาไว้ชัดเจนว่าไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบัน (status quo)

“เราไม่จำเป็นที่จะต้องประกาศว่าเราคือรัฐอิสระ (independent state) เพราะทุกวันนี้เราก็เป็นประเทศที่มีอิสระอยู่แล้ว” ไช่ กล่าวไว้เมื่อปีกลาย

ทางด้านของสหรัฐฯ แม้จะมีการส่งออกระบบอาวุธที่ทันสมัยให้แก่ไต้หวัน อีกทั้งยังส่ง “หน่วยรบพิเศษ” จำนวนหนึ่งเข้าไปฝึกยุทธวิธีให้ด้วย แต่วอชิงตันไม่ได้มีทีท่าว่าจะสนับสนุนให้ไต้หวันได้เอกราช หรือประกาศรับรองรัฐบาลไทเปอย่างเป็นทางการ

นับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ประกาศยอมรับนโยบายจีนเดียว (One China policy) ซึ่งหมายถึงการยอมรับว่ามีรัฐบาลจีนเพียงแค่หนึ่งเดียว และสหรัฐฯ เลือกที่จะสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีนแผ่นดินใหญ่แทนที่จะเป็นเกาะไต้หวัน ทว่านโยบายนี้แตกต่างจาก "หลักการจีนเดียว" (One China principle) ซึ่งหมายถึงจุดยืนของปักกิ่งที่ว่าไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยก และจะต้องกลับมารวมกันในสักวันหนึ่ง

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า การที่ประเด็นไต้หวันร้อนระอุขึ้นมาในช่วงนี้อาจมีเหตุปัจจัยมาจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในจีนเองด้วย โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สินหลายแสนล้านดอลลาร์ของ “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป” (China Evergrande Group) บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนทั้งระบบ

แม้ความทะเยอทะยานของรัฐบาล สี จิ้นผิง และนโยบายแข็งกร้าวที่จีนใช้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะสร้างความตกตะลึงต่อผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก แต่ดูเหมือน สี เองจะยังมองการรวมไต้หวันเป็นเป้าหมายทางการเมืองใน “ระยะยาว” ของจีน มากกว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จภายในอนาคตอันใกล้

สี เคยประกาศไว้ว่า การรวบเกาะไต้หวันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “ความฝันในการฟื้นฟูชาติจีน” (Chinese dream of national rejuvenation) โดยตั้งเป้าหมายทำภารกิจนี้ให้สำเร็จภายในปี 2049 หรือตรงกับวาระครบรอบ 100 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น