รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไต้หวัน ชี้ความตึงเครียดทางทหารกับจีนเข้าขั้นรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี และคาดว่าจีนจะมีศักยภาพพร้อมอย่างเต็มรูปแบบสำหรับการบุกยึดเกาะไต้หวันภายในปี 2025
ตลอดระยะเวลา 4 วันนับตั้งแต่ศุกร์ที่แล้ว (1 ต.ค.) ไต้หวันระบุว่า มีเครื่องบินของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนรุกล้ำเข้าไปในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวันแล้วเกือบ 150 ลำ ในสถานการณ์ที่ไทเปเรียกว่าเป็นการ “ข่มขู่อย่างต่อเนื่อง”
ชิว กั๋วเจิ้ง รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไต้หวัน ได้แจ้งต่อคณะกรรมาธิการสภาที่พิจารณางบประมาณพิเศษทางการทหารว่า สถานการณ์ตอนนี้ถือว่า “หนักหนาสาหัสที่สุดในรอบกว่า 40 ปี” นับตั้งแต่ตนได้รับใช้ชาติมา และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการ “ยิงปะทะ” ข้ามช่องแคบ
“ผมในฐานะทหารคนหนึ่งมองว่า วิกฤตการณ์เร่งด่วนได้เกิดขึ้นตรงหน้าผมแล้ว” ชิว ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการซึ่งทำหน้าที่พิจารณาร่างงบประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน สำหรับใช้พัฒนาระบบอาวุธในประเทศ ทั้งขีปนาวุธและเรือรบ
จีนไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะใช้กำลังยึดเกาะไต้หวันหากมีความจำเป็น ในขณะที่ไต้หวันเองถือว่าตนเป็นประเทศอิสระ และยืนกรานจะปกป้องเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยจนสุดกำลัง
ชิว ยังประเมินด้วยว่า จีนจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะเปิดปฏิบัติการทางทหารรุกรานไต้หวันอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2025
“ภายในปี 2025 จีนจะสามารถทำเช่นนั้นได้โดยใช้ต้นทุนและกำลังพลน้อยที่สุด เวลานี้พวกเขาก็ทำได้แล้ว แต่จีนคงไม่เริ่มก่อสงครามง่ายๆ เพราะจะต้องคำนึงถึงผลลัพธ์อื่นๆ ที่จะตามมาด้วย”
สหรัฐฯ ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์อาวุธรายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ยืนยันว่าจะช่วยสนับสนุนให้ไทเปมีศักยภาพพอสำหรับการปกป้องตนเอง และตำหนิพฤติกรรมยั่วยุของจีน ขณะที่ปักกิ่งก็โทษอเมริกาว่าเป็นฝ่าย “กระพือความตึงเครียด” ด้วยการติดอาวุธให้ไต้หวัน และส่งเรือรบอเมริกันล่องผ่านช่องแคบไต้หวันอยู่เนืองๆ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (5 ต.ค.) ว่า ตนเคยพูดคุยกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนเกี่ยวกับเรื่องไต้หวันแล้ว และต่างรับปากซึ่งกันและกันว่าจะยึดมั่นในข้อตกลงไต้หวัน (Taiwan Agreement)
ทั้งนี้ คาดว่า ไบเดน คงหมายถึงจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้การรับรองนโยบายจีนเดียว (One-China policy) ซึ่งหมายถึงการยอมรับว่ามีรัฐอธิปไตยเพียงรัฐเดียวภายใต้ชื่อจีน และกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ซึ่งระบุเอาไว้ชัดเจนว่าสหรัฐฯ เลือกที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตแบบเป็นทางการกับปักกิ่ง ภายใต้ความคาดหวังว่าอนาคตของไต้หวันจะถูกตัดสินด้วยกระบวนการสันติวิธี
ที่มา : รอยเตอร์