เอเจนซีส์ - กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงคืนวานนี้ (2 ต.ค.) ว่า ปักกิ่งส่งเครื่องบินรบรุกล้ำเข้าสู่เขตป้องกันตัวเองทางอากาศ ADIZ ของไต้หวันในวันเดียวกันนั้นถึง 39 ลำ หลังในวันศุกร์ (1 ต.ค.) ส่งเข้ามา 38 ลำ ทำให้ภายใน 2 วัน ส่งเข้ามาถึง 77 ลำทั้งหมด
CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานวันนี้ (3 ต.ค.) ว่า การส่งเครื่องบินรบของจีนเข้าน่านฟ้าไต้หวันวันเสาร์ (2) ที่ 39 ลำที่มีมากกว่า 1 ลำจากจำนวนที่ส่งเข้ามาในวันศุกร์ (1) จำนวน 38 ลำ
แต่อย่างไรก็ตาม จำนวน 39 ลำและ 38 ลำนั้นถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเท่าที่ไต้หวันเคยรายงานการบุกรุกเขตป้องกันตัวเองทางอากาศ ADIZ ของไต้หวันภายในวันเดียวนับตั้งแต่ไทเปเริ่มการแถลงทางสาธารณะถึงการส่งเครื่องบินรุกล้ำทางอากาศของจีนมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
การบุกรุกน่านฟ้าไต้หวันวานนี้ (2) เกิดขึ้น 2 ครั้ง โดยแบ่งเป็นเครื่องบินกองทัพจีนบุกเข้ามาในช่วงกลางวันจำนวน 20 เครื่อง และอีก 19 เครื่องในช่วงกลางคืน กระทรวงกลาโหมไต้หวันกล่าวในแถลงการณ์ 2 ฉบับ
กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่า การรุกล้ำประกอบไปด้วยเครื่องบินขับไล่ J-16 จำนวน 26 ลำ เครื่องบินขับไล่ Su-30 จำนวน 10 ลำ เครื่องบินเตือนต่อต้านเรือดำน้ำ Y-8 จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินเตือนล่วงหน้าและควบคุม KJ-500 จำนวน 1 ลำ
และในการตอบโต้พบว่า ไทเปส่งเครื่องบินกองทัพอากาศสำหรับสกัดของตัวเองขึ้นไปพร้อมกับส่งคำเตือนออกไปทางคลื่นความถี่วิทยุก่อนและสั่งให้ระบบขีปนาวุธป้องกันของตัวเองทำงาน
แผนที่ซึ่งทางกระทรวงกลาโหมไต้หวันนำมาแสดงในคืนวันเสาร์ (2) แสดงให้เห็นการบุกรุกส่วนใหญ่อยู่ที่เขต ADIZ ของทางตะวันตกเฉียงใต้ที่ไกลสุดของเกาะ
และเหมือนเช่นทุกครั้งพบว่าฝูงเครื่องบินกองทัพจีนไม่ได้เข้ามาภายในน่านฟ้าไต้หวันที่กินพื้นที่ขอบเขตจากฝั่งออกไปราว 12 ไมล์ทะเล แต่ล้ำเข้ามาเฉพาะเขต ADIZ ของไต้หวันเท่านั้น
ด้าน ดิเรค กรอสแมน (Derek Grossman) นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการทหารประจำ RAND สถาบันธิงแทงก์ด้านนโยบายสาธารณะแสดงความเห็นในเรื่องนี้กับ CNN ในวันเสาร์ (2) ว่า
“ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้สั่งให้กองทัพจีนเพิ่มความพร้อมของตัวเองและเตรียมการสำหรับการทำสงครามภายใต้สภาวะการต่อสู้เสมือนจริง ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่กองทัพจีนยังคงบินเข้ามาในเขต ADIZ ของไต้หวันต่อไปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมแบบเสมือนจริงและการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำสงคราม”
แต่ถึงมีการส่งเครื่องบินเข้ามาจำนวนเพิ่มขึ้นและการใช้วาจาแข็งกร้าวผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เขาไม่เชื่อว่าจะมีการปะทะใหญ่เกิดขึ้น
“ผมไม่คิดว่าจะมีความเป็นไปได้สูงหรือแม้กระทั่งปานกลางของการโจมตีจากจีนหรือการบุกไต้หวันเกิดขึ้น”
และเสริมว่า “กองทัพจีนมีจุดอ่อนมากมายเมื่อต้องเผชิญกับการเข้าแทรกแซงเกือบจะสม่ำเสมอจากสหรัฐฯ ที่อาจได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นและออสเตรเลีย” กรอสแมน กล่าวอีกว่า “จีนเข้าใจดีถึงผลที่ตามมาที่ร้ายแรงที่สุดหากเกิดโจมตีล้มเหลวหรือการบุกยึดไต้หวันและจะยังคงรออย่างสงบสำหรับโอกาสที่ดีต่อไป
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คนอื่นๆ แสดงความเห็นว่า สารที่ตั้งใจส่งออกมาจากปักกิ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับเกาะหลักไต้หวัน
ซึ่งแผนที่ซึ่งถูกแสดงจากไทเปนั้นพบว่าฝูงเครื่องบินกองทัพจีนตรงมาที่อาณาบริเวณของเกาะปราตัส (Pratas Island) ซึ่งอยู่ทางเหนือของทะเลจีนใต้และในความเป็นจริงแล้วเกาะแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฮ่องกงมากกว่าไต้หวัน
บนเกาะไม่มีคนอยู่อาศัยแต่เป็นที่ตั้งทางการทหารขนาดเล็กของกองทัพไต้หวัน รวมไปถึงลานบิน โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า ลักษณะพื้นที่เกาะไม่ใช่พื้นที่ราบทำให้เป็นการยากต่อการป้องกัน
โดยศาสตราจารย์โยชิยูกิ โอกาซาวาระ (Yoshiyuki Ogasawara) ประจำการศึกษาระหว่างประเทศแสดงความเห็นว่า “จีนสามารถเข้าควบคุมหมู่เกาะปราตัสได้เมื่อใดก็ตามที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สั่งการ” และชี้ว่า “หมู่เกาะแห่งถือเป็นจุดร้อนสำคัญที่ในเวลานี้อยู่ในความสนใจของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และชาติประชาธิปไตยอื่นๆ”