ผู้นำประเทศมีชื่อเสียงทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างน้อย 35 ราย และเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า 300 รายทั่วโลกกำลังถูกเปิดโปงในเอกสารชุดใหม่ชื่อ Pandora Papers ว่าได้ทำการผ่องถ่ายโอนเงินไปซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ
เป็นการรั่วไหลของเอกสารลับอีกชุด ซึ่งน่าจะสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มคนที่ถูกสังคมรับรู้ว่ามีพฤติกรรมปกปิดทรัพย์สิน และถูกสงสัยว่าไม่สุจริต ฉ้อฉล
เป็นการแอบเอาความมั่งคั่งไปไว้ในต่างประเทศในรูปแบบของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆ เช่นตราสารทางการเงิน จริงอยู่ อาจเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมายในบางประเทศ แต่อาจเป็นที่น่าสงสัยของแหล่งที่มาของเงิน
การมีเงินมากมายในฐานะผู้นำประเทศนอกเหนือจากรายได้เป็นเงินเดือนจากรัฐ หรืออาจมีการลงทุนส่วนตัว ความร่ำรวยดั้งเดิมที่มีอยู่ นอกนั้นมีความเป็นไปได้มากกว่าเกิดจากการทุจริต ฉ้อฉล แสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ ผิดกฎหมาย
แม้จะเป็นเงินจากการลงทุน การปกปิดไม่ให้ประชาชนหรือรัฐบาลได้รับรู้ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นคนคิดไม่ซื่อกับประเทศ ไม่น่าไว้ใจ และอาจมีทรัพย์สินที่ยังไม่ถูกตรวจสอบพบอีกก็เป็นได้ เพราะในยุคดิจิทัล การเคลื่อนไหวของเงินทำได้โดยเร็ว
ในบรรดาผู้นำประเทศคนดังมีทั้งประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งถูกค้นพบใน “แพนดอร่า เปเปอร์ส” ว่าได้มีทรัพย์สินในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ในโมนาโก ซึ่งเป็นรัฐเล็กติดกับฝรั่งเศส เป็นรัฐปลอดภาษี ซึ่งเป็นที่นิยมของคนมั่งคั่ง
แม้แต่นักกีฬาทำเงินได้มากมายก็เลือกโมนาโกเป็นถิ่นที่อยู่เพื่อผลประโยชน์ด้านภาษี อีกรายคือกษัตริย์ของจอร์แดนซึ่งถูกพบว่ามีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการในสหรัฐฯ และอังกฤษ เป็นมูลค่ารวมกว่า 70 ล้านปอนด์
จากรายละเอียดของการลงทุน พบว่ามีการใช้บริษัทตัวแทนในหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ซื้อขายทรัพย์สิน รวมทั้งบ้าน 15 หลัง รวมทั้งบ้านติดทะเลย่านมาลิบูในแคลิฟอร์เนียมูลค่ากว่า 50 ปอน์ บ้านในลอนดอน และย่านแอสคอต
กษัตริย์แห่งจอร์แดนครองราชย์ในปี 1999 และเริ่มซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ การถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นเพราะการใช้อำนาจแนวเผด็จการ ประชาชนเดินขบวนประท้วงมาตรการเข้มงวดต่างๆ ด้านเศรษฐกิจและการขึ้นภาษี
ตัวแทนของกษัตริย์ อับดุลลาห์ ของจอร์แดนอ้างว่าการลงทุนในทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนโดยทรัพย์สินส่วนพระองค์ และนำรายได้จากการลงทุนมาใช้จ่ายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนด้วยเช่นกัน และเป็นหลักปฏิบัติทั่วไป
แม้แต่อดีตนายกฯ อังกฤษ นายโทนี แบลร์ ก็ถูกพบว่าได้เป็นเจ้าของอาคารในอังกฤษโดยการไปซื้อบริษัทนอกประเทศให้มาเป็นเจ้าของอาคารสำนักงาน โดยเลี่ยงไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์มูลค่า 3.12 แสนปอนด์ ซึ่งก็นับว่าประหยัดได้ไม่น้อย
เอกสาร “แพนดอร่า เปเปอร์ส” ถูกจัดทำขึ้นโดยกลุ่มนักหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนประเภทสืบสวน ทำข่าวเจาะลึก มีจำนวนมากกว่า 650 ราย ภายใต้องค์กร International Consortium of Investigative Journalists มีองค์กรสื่อชั้นนำร่วมด้วย
ทำข่าวเชิงลึกได้ค้นพบเอกสารมากถึง 12 ล้านชุด จาก 14 องค์กรและสถาบันบริการด้านการเงินใน กลุ่มเกาะบริติช เวอร์จิน ปานามา เบลิซ ไซปรัส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นแหล่งปลอดภาษี การตรวจสอบ
ก่อนหน้านี้มีการเปิดโปงผ่านเอกสารเป็นชุดอย่างนี้ เช่น เอกสาร ออฟชอร์ ลีกส์ ปานามา เปเปอร์ส พาราไดซ์ เปเปอร์ส แต่ชุดสุดท้าย แพนดอร่า เปเปอร์ส มีมากที่สุด
บรรดาผู้ที่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารนี้ มีทั้งพวกที่ถูกสอบสวนในข้อหาทุจริต คอร์รัปชัน การเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าคนมีชื่อเสียง พวกมั่งคั่ง ได้พยายามปิดบังซ่อนเร้นการถือครองทรัพย์สินมหาศาลไว้ในแหล่งต่างๆ นอกประเทศ
ประเด็นที่จะสร้างความกระอักกระอ่วนให้อังกฤษก็คือมีกลุ่มผู้มั่งคั่งได้ขนเงินไปซื้อทรัพย์สินในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษมากมาย โดยการตั้งบริษัทบังหน้า ปิดบังตัวตน ซึ่งปรากฏว่ามีอย่างน้อย 95,000 รายที่กระทำเช่นนี้
อีกรายซึ่งถูกสอบสวนกรณีคอร์รัปชันคือประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน อิลแลม อาลิเยฟ และครอบครัว ซึ่งได้ผ่องถ่ายเงินจากการปล้นทรัพย์สินของประเทศมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษรวมมูลค่ากว่า 400 ล้านปอนด์ ทำกำไรกว่า 31 ล้านปอนด์
อีกรายคือประธานาธิบดีเคนยา อูฮูรู เคนยัตตา และ 6 สมาชิกครอบครัว ได้เป็นเจ้าของบริษัทนอกประเทศอย่างลับๆ มากถึง 11 ราย เชื่อมโยงกับทรัพย์สินที่ถือครองอยู่เป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านปอนด์ นับว่าไม่น้อยสำหรับประเทศในแอฟริกา
แม้กระทั่งบรรดาคณะรัฐมนตรีและคนใกล้ชิดพร้อมครอบครัว ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีปากีสถาน อิมราน ข่าน ก็เป็นเจ้าของกิจการและกองทุนทรัสต์ เป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ ซึ่งก็ไม่แปลกสำหรับผู้ต้องการความมั่นคงในทรัพย์สิน
ผู้นำยูเครน ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ ซาเลนสกี ได้ถ่ายโอนทรัพย์สินไปไว้ที่บริษัทลับนอกประเทศก่อนชนะการเลือกตั้งในปี 2019 ผู้นำเอกวาดอร์ กิลเยอร์โม ลาซโซ ได้จัดการให้มีกองทุนจ่ายเงินให้ครอบครัวตัวเองจากทรัสต์ในดาโกตา สหรัฐฯ
รายชื่อคนดังรายอื่นๆ ยังไม่ถูกเปิดเผย คาดว่าจะมีการทยอยออกมาตามลำดับ เพราะมีจำนวนมาก มีข่าวแว่วว่ามหาเศรษฐีและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในเมืองไทย ติดอันดับความมั่งคั่งของประเทศ ก็มีรายชื่อรวมอยู่ด้วยเช่นกัน
เอกสารที่ถูกเปิดโปงก่อนหน้านี้ก็มีรายชื่อคนไทย แต่ถูกมองว่าเป็นการปฏิบัติโดยทั่วไปสำหรับผู้มั่งคั่งจะหาแหล่งปลอดภาษี เพียงแต่สะท้อนถึงความไม่ซื่อเท่านั้น