xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : เกาหลีเหนือโชว์ยิง ‘ขีปนาวุธจากเรือดำน้ำ’ รุ่นใหม่ โว ‘สกัดได้ยาก’ ขึ้น ทำเอเชียตะวันออกระส่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กองทัพเกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวจากเรือดำน้ำ (SLBM) รุ่นใหม่ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.
สถานการณ์ความมั่นคงในเอเชียตะวันออกทวีความคุกรุ่นหลังจากที่เกาหลีเหนือโชว์ศักยภาพยิงทดสอบขีปนาวุธจากเรือดำน้ำ (submarine-launched ballistic missile - SLBM) รุ่นใหม่ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่บ่งชี้ว่าโสมแดงอาจมีเรือดำน้ำติดขีปนาวุธพร้อมประจำการในอนาคตอันใกล้ และยังสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการแข่งขันด้านอาวุธในเอเชียตะวันออกที่นับวันจะรุนแรงขึ้น

สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือรายงานว่า ขีปนาวุธ SLBM รุ่นใหม่จะช่วยให้เทคโนโลยีด้านกลาโหมของเกาหลีเหนือพัฒนาสู่ขั้นสูง และยกระดับศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจใต้น้ำของกองกำลังนาวีโสมแดง

ผู้นำ คิม จองอึน ไม่ได้เดินทางไปชมการทดสอบครั้งนี้ด้วยตนเอง ซึ่งนักวิเคราะห์ตีความว่า สื่อแสดงถึงความตั้งใจของเปียงยางที่จะทดสอบอาวุธในลักษณะนี้ให้สม่ำเสมอจนกลายเป็นเรื่องปกติ

คณะเสนาธิการทหารร่วมเกาหลีใต้ (JCS) ระบุว่า ขีปนาวุธดังกล่าวถูกยิงขึ้นจากกลางทะเลนอกชายฝั่งเมืองซินโป (Sinpo) ของเกาหลีเหนือ เมื่อเวลาประมาณ 10.17 น. ของวันที่อังคารที่ 19 ต.ค. โดยเมืองซินโปนั้นเป็นที่ตั้งอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ และจากภาพถ่ายดาวเทียมในอดีตเผยให้เห็นว่ามีเรือดำน้ำหลายลำ และเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับทดสอบ SLBM ถูกเก็บไว้ที่นี่

เคซีเอ็นเอระบุว่า ขีปนาวุธ SLBM รุ่นใหม่นี้ถูกยิงจากเรือดำน้ำลำเดียวกับที่เคยใช้ทดสอบ SLBM รุ่นก่อนหน้าเมื่อปี 2016 และยังเผยแพร่ภาพนิ่งขณะที่เรือดำน้ำโผล่ขึ้นมาจากทะเลเพื่อสยบข้อสงสัยของพวกนักวิเคราะห์ที่ปรามาสว่าขีปนาวุธอาจถูกยิงขึ้นมาจากเรือท้องแบน (barge) ที่จมน้ำอยู่มากกว่า

เคซีเอ็นเอยังอ้างอีกว่า ขีปนาวุธรุ่นนี้มีศักยภาพล้ำสมัยหลายอย่าง รวมถึงคุณสมบัติที่เรียกว่า ‘flank mobility’ และ ‘gliding skip mobility’ ซึ่งช่วยให้ขีปนาวุธสามารถเปลี่ยนวิถีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจจับ หรือการยิงสกัดได้ดียิ่งขึ้น

จากภาพในสื่อโสมแดงจะเห็นได้ว่า SLBM รุ่นนี้มีขนาดเล็กและผอมเพรียวลงจากรุ่นก่อน ซึ่งขนาดของ SLBM ที่เล็กลงอาจหมายถึงพิสัยการยิงที่ลดลงตามไปด้วย แต่ก็มีข้อดีคือสามารถติดตั้งบนเรือดำน้ำได้ในจำนวนที่มากขึ้น

คิม ดงยุบ อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพเรือเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยคยุงนัมในกรุงโซลชี้ว่า SLBM รุ่นใหม่ของเกาหลีเหนือซึ่งเดินทางไปได้ไกลประมาณ 600 กิโลเมตร น่าจะถูกปรับปรุงมาจาก KN-23 ซึ่งเป็นขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยใกล้ที่โสมแดงเคยทดสอบเมื่อปี 2019 เนื่องจากมีพิสัยเดินทาง รูปลักษณ์ภายนอก และเทคโนโลยีนำวิถีที่คล้ายกันมาก

สหรัฐฯ ประณามทันควันว่าเกาหลีเหนือกำลังละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นหลายข้อ พร้อมเรียกร้องให้ “หยุดพฤติกรรมยั่วยุ” แต่ถึงกระนั้น เจน ซากี โฆษกหญิงของทำเนียบขาว ก็ยังยืนยันว่าอเมริกาพร้อมเสมอที่จะเปิดเจรจาทางการทูตเพื่อแก้ไขปัญหานิวเคลียร์และขีปนาวุธเกาหลีเหนือ

เปียงยางยังแสดงท่าทีเฉยเมยต่อข้อเสนอของสหรัฐฯ โดยตำหนิวอชิงตันว่ามาขอเจรจาด้วย แต่กลับไม่หยุดกิจกรรมทางทหารที่กระพือความตึงเครียด

การทดสอบขีปนาวุธครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือยังทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องเปิดการประชุมหารือเป็นการด่วนในวันพุธ (20)

เกาหลีเหนือมีกองเรือดำน้ำขนาดใหญ่ที่อายุการใช้งานยาวนาน แต่นอกเหนือไปจากเรือดำน้ำรุ่นทดลองชั้นโกเร (Gorae-class) ซึ่งถูกนำมาใช้ทดสอบขีปนาวุธแล้ว พวกเขายังไม่เคยประจำการเรือดำน้ำติดขีปนาวุธมาก่อน

นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่เกาหลีเหนือต้องเอาเรือดำน้ำลำเดิมที่ใช้ทดสอบ SLBM รุ่นแรกเมื่อ 5 ปีก่อนมาใช้ซ้ำ แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีเรือดำน้ำของพวกเขาอาจจะยังไม่ก้าวหน้าไปสักเท่าไหร่ แต่การออกแบบ SLBM ให้กะทัดรัดมากขึ้นน่าจะช่วยลดอุปสรรคลงไปได้มาก และการส่งเรือดำน้ำติดขีปนาวุธออกปฏิบัติการในทะเลอาจไม่ใช่เรื่องไกลความจริงอีกต่อไปสำหรับเกาหลีเหนือ

คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เป็นประธานเปิดนิทรรศการด้านการป้องกันประเทศซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเปียงยาง เมื่อวันที่ 11 ต.ค.
จอห์น เดมป์ซีย์ นักวิจัยด้านกลาโหมจากสถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยยุทธศาสตร์ศึกษา (IISS) ให้ความเห็นผ่านทางทวิตเตอร์ว่า ขนาดของ SLBM ที่เล็กลงนอกจากจะช่วยให้ติดตั้งบนเรือดำน้ำได้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความยุ่งยากในการออกแบบเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธ (SSB) และง่ายต่อการเอาเรือดำน้ำรุ่นเดิมที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงให้ใช้ร่วมกันได้

Nuclear Threat Initiative ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐฯ เคยประเมินไว้ว่า การครอบครองเรือดำน้ำติดขีปนาวุธและ SLBM จะช่วยให้เกาหลีเหนือมีทางเลือกในการยิงหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น และช่วยปกป้องระบบขีปนาวุธนิวเคลียร์ภาคพื้นดินไม่ให้ถูกศัตรูทำลายได้โดยง่าย

ความถี่ในการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือสร้างความวิตกกังวลต่อเพื่อนบ้านทั้งญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขณะที่สัญญาณ “การแข่งขันด้านอาวุธ” เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้น โดยเมื่อเดือน ก.ย. กองทัพเกาหลีใต้ได้ทดสอบยิงขีปนาวุธ SLBM สำเร็จเป็นครั้งแรก ขึ้นเทียบชั้นมหาอำนาจเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่พิสูจน์ยืนยันได้ว่าครอบครองเทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึงเปิดตัวว่ากำลังพัฒนาขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียง (supersonic cruise missile) ด้วย

ในส่วนของญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ถึงขั้นออกมาเสนอแนวคิดให้โตเกียวยกระดับกองกำลังป้องกันตนเองให้สามารถจู่โจมฐานทัพของศัตรูได้

“เทคโนโลยีด้านขีปนาวุธของเกาหลีเหนือก้าวหน้าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะมองข้ามไม่ได้” คิชิดะ แถลงเมื่อวันอังคาร (19) “ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ผมได้สั่งให้มีการปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของประเทศ รวมถึงพิจารณาทางเลือกในการจัดหาระบบอาวุธเพื่อโจมตีฐานทัพของศัตรู”

บรูซ คลิงเนอร์ อดีตนักวิเคราะห์ด้านเกาหลีเหนือของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ให้ความเห็นว่า “การที่เกาหลีเหนือทดสอบ SLBM และขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลที่สามารถโจมตีเป้าหมายได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น ทำให้โตเกียวมีแรงจูงใจที่จะต้องพัฒนาศักยภาพด้านการโจมตีของตนเองขึ้นมาบ้าง”

เกาหลีเหนือถูกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นสั่งห้ามทำกิจกรรมทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีปนาวุธและนิวเคลียร์ และเคยถูกคว่ำบาตรมาแล้วหลายครั้ง ทว่า บทลงโทษเหล่านี้ไม่สามารถหยุดยั้งความพยายามของเปียงยางที่จะเสริมเขี้ยวเล็บตนเองเพื่อป้องกันการรุกรานของสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น