สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการทดสอบเทคโนโลยีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ระบบอาวุธใหม่ที่จีนและรัสเซียมีอยู่ในประจำการแล้ว จากการเปิดเผยของกองทัพเรืออเมริกาในวันพฤหัสบดี (21 ต.ค.) ความเคลื่อนไหวซึ่งมีขึ้นไม่กี่วันหลังจากอเมริกาเพิ่งวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งกับมอสโก เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในด้านการทหาร
การทดสอบครั้งนี้ซึ่งดำเนินการที่ศูนย์แห่งหนึ่งของนาซา บนเกาะเกาะวัลล็อป คือ "ก้าวย่างที่สำคัญในการพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกปกติที่ออกแบบโดยกองทัพเรือ" ถ้อยแถลงของกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุ "การทดสอบครั้งนี้พิสูจน์ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิก ศักยภาพและระบบต้นแบบในสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการเหมือนจริง"
ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก เหมือนกับขีปนาวุธแบบทิ้งตัว (ballistic missiles) ทั่วๆ ไป ซึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ แต่มันพุ่งด้วยความเร็วเหนือเสียง 5 เท่าขึ้นไป
ขณะเดียวกัน ขีปนาวุธแบบทิ้งตัวจะบินในระดับสูงขึ้นสู่อวกาศในวิถีโค้งเพื่อไปถึงเป้าหมาย ส่วนขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกจะบินในวงโคจรต่ำในชั้นบรรยากาศ เพื่อพุ่งถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าเดิม
ที่สำคัญ ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกมีความสามารถหลบหลีก ส่งผลให้มันเป็นเรื่องยากที่จะติดตามและป้องกัน
คำยืนยันของกองทัพเรือสหรัฐฯ เกี่ยวกับการทดสอบเทคโนโลยีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก มีขึ้นไม่นานหลังจาก โรเบิร์ต วู้ด ผู้แทนทูตด้านปลดอาวุธของอเมริกาแสดงความกังวลเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ต่อรายงานข่าวที่ระบุว่า จีนได้ทำการทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกลูกหนึ่งซึ่งมีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ในเดือนสิงหาคม
รายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทม์ส ระบุว่า จีนได้ทำการทดสอบขีปนาวุธ โดยมันบินวนรอบโลกก่อนดิ่งลงสู่เป้าหมาย แม้มันจะพลาดเป้า แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงถึงความก้าวหน้าด้านแสนยานุภาพทางอวกาศ ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ไม่น้อย "เรามีความกังวลกับสิ่งที่จีนกำลังกำลังทำในด้านไฮเปอร์โซนิก" วู้ด กล่าว
อย่างไรก็ตาม จีนยืนยันว่าการทดสอบดังกล่าวเป็นการทดสอบหนึ่งในยานอวกาศของพวกเขาตามปกติไม่ใช่ขีปนาวุธแต่อย่างใด
วู้ด บอกว่า รัสเซียมีเทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิกเช่นกัน ผิดกับสหรัฐฯ ที่ชะลอการพัฒนาศักยภาพทางทหารในขอบเขตนี้ แต่ตอนนี้ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ยกเว้นแต่ต้องตอบสนองแบบเดียวกัน
จีนเปิดตัวขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกพิสัยกลาง DF-17 ในปี 2019 ซึ่งสามารถเดินทางได้เป็นระยะทางราว 2,000 กิโลเมตร และมีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์
แต่ขีปนาวุธที่หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สพาดพิงในรายงานข่าว เป็นขีปนาวุธคนละรุ่น เป็นขีปนาวุธพิสัยไกล ซึ่งสามารถยิงขึ้นสู่วงโคจรก่อนกลับสู่ชั้นบรรยากาศพุ่งใส่เป้าหมาย
ส่วนรัสเซีย เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกเซอร์คอน ยิงจากเรือดำน้ำ และพวกเขามีขีนาวุธไฮเปอร์โซนิกศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ “อาวองการ์ด” ในประจำการมาตั้งแต่ปลายปี 2019 ทั้งนี้ อาวองการ์ด สามารถเดินทางด้วยความเร็วสูงสุด 27 มัค สามารถเปลี่ยนเส้นทางและระดับความสูงได้
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หวังว่าจะประจำการอาวุธไฮเปอร์โซนิกได้เป็นครั้งแรกในภายในปี 2025 และบอกว่าการประจำการขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกคือหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของพวกเขา
(ที่มา : เอเอฟพี)