จีนเรียกร้องขอคำอธิบายเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ในเหตุเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำหนึ่งของกองทัพเรืออเมริกาชนวัตถุไม่สามารถระบุเอกลักษณ์ในทะเลจีนใต้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตำหนิการไม่ให้ข้อมูล "ไร้ความรับผิดชอบ" และแสดงความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิด "นิวเคลียร์รั่วไหล"
"สหรัฐฯ ชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ ในนั้นรวมถึงจุดเกิดเหตุอย่างเจาะจง เจตนาของการล่องเรือ ลักษณะของวัตถุที่เรือดำน้ำชน หรือมันก่อการรั่วไหลของนิวเคลียร์หรือไม่ ซึ่งอาจปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมทางทะเล" จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุเมื่อวันศุกร์ (8 ต.ค.)
"มันไร้ความรับผิดชอบและแสดงออกของความไม่โปร่งใส ส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ที่จงใจเตะถ่วงและปกปิดรายละเอียดต่างๆ ของเหตุการณ์"
นอกจากนี้แล้ว จ้าว ยังกล่าวโทษเหตุการณ์นี้ไปที่การประจำการทางเรือของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ ภายใต้คำกล่าวอ้างเพื่อแสดงออกถึงเสรีภาพแห่งการเดินเรือ "นี่คือรากเหง้าต้นตอของอุบัติเหตุ เสี่ยงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงและก่อความเสี่ยงใหญ่หลวงแก่สันติภาพและเสถีรภาพในภูมิภาค"
คำแถลงของ จ้าว มีขึ้นหลังจจากกองทัพเรือสหรัฐฯ เผยแพร่ถ้อยแถลงสั้นๆ เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ต.ค.) ว่า ยูเอสเอส คอนเนตทิคัต เรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ ชนกับวัตถุหนึ่งระหว่างดำน้ำเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ตุลาคม ขณะกำลังปฏิบัติภารกิจในน่านน้ำสากลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และไม่สามารถระบุเอกลักษณ์วัตถุดังกล่าว
เจ้าหน้าที่กองทัพเรือบอกกับสื่อมวลชนสหรัฐฯ ว่าเหตุชนวัตถุลึกลับนี้เกิดขึ้นในน่านน้ำสากลในทะเลจีนใต้
"ไม่มีลูกเรือคนไหนได้รับบาดเจ็บหนักถึงขั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ส่วนเรือดำน้ำยังคงอยู่ในสภาพปลอดภัยและเสถียร" ถ้อยแถลงของกองทัพเรือสหรัฐฯ "เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของยูเอสเอส คอนเนตทิคัต ไม่ได้รับความเสียหาย และยังคงทำงานอย่างสมบูรณ์" ถ้อยแถลงระบุ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม
สำนักข่าวเอพี อ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐฯ รายงานว่า มีลูกเรือ 2 คนได้รับบาดเจ็บพอประมาณ ส่วนอีก 9 คนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และเรือดำน้ำได้มุ่งหน้าสู่ท่าเรือที่เกาะกวมแล้ว
คอลลิน โกะห์ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงทางทะเลแห่งสถาบันศึกษาระหว่างประเทศ S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ เตือนว่า ภูมิประเทศใต้น้ำอันซับซ้อนในภูมิภาคและการแข่งขันสะสมอาวุธที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในปัจจุบัน เพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุต่างๆ
"น่านน้ำต่างๆ ในภูมิภาคซับซ้อนมากสำหรับการปฏิบัติการเรือดำน้ำ ทั้งแคบและตื้น ซึ่งก่อความท้าทายอย่างแท้จริงแก่ภารกิจดำน้ำของเรือดำน้ำ" โกะห์กล่าว "กิจกรรมต่างๆ จากฝีมือมนุษย์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสัญจรที่หนาแน่นที่เกี่ยวข้องกับเรือที่มีระยะกินน้ำลึก การขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง การวางสายเคเบิล ซึ่งงานเหล่านี้บางส่วนไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับเรือบนพื้นผิวน้ำ แต่ยังรวมไปถึงโดรนใต้น้ำด้วย"
โกะห์ บอกด้วยว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ยังก่อความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของปฏิบัติการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาค ในขณะที่ออสเตรเลียกำลังมีกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในครอบครอง ภายใต้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
"ผมมีความกังวลว่ามันกำลังมุ่งสู่จุดนั้น เราจะเห็นเรือดำน้ำชุกชุมมากในภูมิภาค ความเสี่ยงของอุบัติเหตุใต้น้ำจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ เรือดำน้ำของญี่ปุ่นลำหนึ่งเพิ่งชนกับเรือพาณิชย์ในมหาสมุทรแปซิฟิก"
(ที่มา : เซาต์ไชนามอร์นิงโพสต์)