ผบ.ทร.กำชับ 10 นโยบายเร่งด่วน ย้ำให้ความสำคัญสถาบันลำดับต้นๆ กำชับกำลังพลไม่ให้โพสต์ข้อความ ไม่ห้ามเห็นต่างการเมือง สั่งกรมอู่ฯต่อเรือผลักดันน้ำเพิ่ม รับสถานการณ์ในอนาคต ด้าน โฆษก ทร.แจงเหตุเรือผลักดันน้ำล่มที่คลองสำโรง
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งทีมโฆษกกองทัพเรือชุดใหม่ โดยมอบหมายให้ พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นโฆษกกองทัพเรือ พล.ร.ต.อนุวัต ดาผิวดี เลขานุการกองทัพเรือ เป็นรองโฆษกกองทัพเรือ พล.ร.ต.อภิชาติ วรภมร ฝ่ายเสนาธิการประจำกองบัญชาการกองทัพเรือ เป็นรองโฆษกกองทัพเรือ น.อ.ปารัช รัตนไชยพันธ์ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ เป็นผู้ช่วยโฆษกกองทัพเรือ และแพทย์จีน ปรียาดา บัวสมบุญ เป็น ผู้ช่วยโฆษกกองทัพเรือ
ทั้งนี้ พล.ร.ท.ปกครอง กล่าวว่า นโยบายผู้บัญชาการทหารเรือในปีนี้ เป็นการสานงานต่อเนื่องจากนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือที่ผ่านมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์กองทัพเรือ ตลอดจนรวมพลังขับเคลื่อนกองทัพเรือตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือระยะ 20 ปี ไปสู่การเป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเล ที่มีบทบาทนำในภูมิภาคและเป็นเลิศในการบริหารจัดการ และการส่งมอบคุณค่าให้แก่ประชาชนและสังคม และเป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ มีความจงรักภักดี ด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด สุจริตจริงใจ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น นำพากองทัพเรือให้เจริญก้าวหน้า โดยเน้น ความสามัคคีปรองดองเป็นพี่เป็นน้อง ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ พร้อมย้ำผู้บังคับหน่วยต้องดูแลหน่วยและดูแลสวัสดิการกำลังพลชั้นผู้น้อย โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ “รวมใจภักดิ์ รักษ์ชาติ ราษฎร์ศรัทธา”
พล.ร.ท.ปกครอง กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายเร่งด่วนและสำคัญที่สุดที่ ผบ.ทร.ได้กำชับให้กับหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือได้แก่ 1. การพิทักษ์รักษา ปกป้องและเทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างเต็มขีดความสามารถ ตลอดจนการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานในการดำเนินโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” 2. การสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของชาติ การพัฒนาประเทศ การบรรเทาภัยพิบัติและการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทกภัยที่กำลังจะเกิดในขณะนี้ และการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 3. การดูแลขวัญกำลังใจของกำลังพลกองทัพเรือ โดยเฉพาะกำลังพลชั้นผู้น้อย ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การปรับปรุงที่พักอาศัย การสวัสดิการ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
พล.ร.ท.ปกครอง กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ผบ.ทร.ได้มอบเจตนารมณ์ของ ผบ.ทร. จำนวน 10 ข้อ ได้แก่ 1. พิทักษ์รักษา ปกป้อง และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนในการป้องกันและสนับสนุนการปราบปรามการกระทำที่ล่วงละเมิดต่อสาบันพระมหากษัตริย์ทุกรูปแบบ พร้อมน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการและพระบรมราโชบาย มาเป็นหลักสำคัญในการปฎิบัติงาน ตลอดจนการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ในโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน 2. ดำรงความพร้อมของกองทัพเรือดำเนินการทั้งการเตรียมองค์บุคคล องค์วัตถุ และยุทธวิธีให้พร้อมและเหมาะสมกับสถานการณ์ในการดูแล รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลปฎิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความจงรักภักดี ด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด สุจริตจริงใจ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น และสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างถูกต้อง 3. ดำรงความต่อเนื่องในความร่วมมือและความสัมพันธ์กับกองทัพเรือมิตรประเทศ นานาชาติ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี อย่างสมดุล ภายใต้แนวคิด
“ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” สร้างความสงบสันติ พัฒนาไปได้ โดยไม่หวาดระแวงกัน 4. สนับสนุนรัฐบาลในการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ตั้งแต่ในภาวะปกติ จนถึงภาวะวิกฤต รวมถึงการบูรณากับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม องค์กรต่าง ๆและภาคประชาชน 5.ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู กำลังพลกองทัพเรือและครอบครัว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 6. ปลูกฝังกำลังพลกองทัพเรือ ให้มีสุขภาพแข็งแรง มีระเบียบวินัย และมีขวัญกำลังใจที่ดี ต้องส่งเสริมคนดีให้มีความเจริญก้าวหน้า ปลูกฝังอุดมการณ์ความซื่อสัตย์และความจงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และมีความภูมิใจในการเป็นทหารเรือ สำหรับผู้กระทำความผิด ต้องได้รับการลงโทษโดยไม่มีการละเว้น 7.ดำรงความต่อเนื่องเรื่องสวัสดิการบ้านพักข้าราชการกองทัพเรือ ให้มีความเพียงพอกับความต้องการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
8. การจัดทำความต้องการและงบประมาณ การวางแผนงบประมาณและการจัดสรรงบประมาณต้องมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ เงินทุกบาททุกสตางค์ ได้มาจากภาษีของประชาชน ต้องใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์ต่อกองทัพเรือ ประเทศชาติและประชาชนให้ได้มากที่สุด 9. ดำเนินการเชิงรุกในการสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ กำลังพลกองทัพเรือ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนได้รับรู้ เข้าใจ และก้าวไปด้วยกัน 10. ส่งเสริมระบบงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมทางการทหารของกองทัพเรือ และรัฐวิสาหกิจในกำกับให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งไปสู่การพึ่งพาตนเอง และต่อยอดสู่สายการผลิตได้
เมื่อถามว่า กองทัพเรือจะเดินหน้าเรื่องเรือดำน้ำอย่างไรต่อไป และจะชี้แจงสาธารณชนอย่างไรให้เข้าใจ พล.ร.ท.ปกครอง กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าต้องประสบปัญหาใน 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ยุทธศาสตร์กองทัพเรือที่กำหนดว่า ทร.ต้อง มีเรือดำน้ำยัง เมื่อเช้านี้ ผบ.ทร.ได้เรียกตนเข้าไปพบก็ได้มอบนโยบายว่า เรือดำยังเป็นยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะการใช้เงินภาษีประชาชน ดังนั้น เรื่องนี้เราต้องวิเคราะห์และคิดกันให้ดี ทางกองทัพเรือยินดีปฏิบัติตามที่รัฐบาลสั่งการมา โดยแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำเรายังมีอยู่ แต่จะเลื่อนหรือ ยกเลิก จะปรับแผนอย่างไรยังไม่ได้พิจารณา แต่ยืนยันว่าเราต้องร่วมกันแก้วิกฤตนี้ไปด้วยกัน ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับทางจีนมาตลอดและเขาก็เข้าใจเรา ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ อีกทั้งสถานการณ์ด้านความมั่นคงกับประเทศรอบๆยังไม่มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าแต่อย่างใด
“สิ่งที่ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ คือเรื่องของสถาบันฯ ได้กำชับกำลังพลไม่ให้โพสต์ข้อความในเฟสบุ้ค หรือสื่อสังคมออนไลน์ในเรื่องดังกล่าว หากเกิดปัญหาขึ้นมาผู้บังคับหน่วยต้องรับผิดชอบ” พล.ร.ต.ปกครอง กล่าวและว่าสำหรับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลที่เห็นแตกต่างกันได้ คงจะไปห้ามไม่ได้
ด้าน พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือได้เปิดเผยถึงกรณีที่เกิดเหตุการณ์เครื่องผลักดันน้ำของกองทัพเรือจมบริเวณคลองสำโรง ตำบลบางพลีใหญ่อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการขณะกำลังดำเนินการผลักดันน้ำในคลองสู่ทะเล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดจากเครื่องพ่นน้ำรั่วระหว่างเดินเครื่องผลักดันน้ำ เพราะขนะเข้าไปติดภายใน ส่งผลให้น้ำไหลเข้าเรือเร็วและระบายไม่ทัน ซึ่งทันทีที่เกิดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลประจำพื้นที่ได้รีบนำเครื่องสูบน้ำฉุกเฉิน ออกมาเร่งดำเนินการแก้ไข แต่เนื่องจากบริเวณที่ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเป็นจุดที่เข้าถึงยาก ทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ซึ่งลักษณะการติดตั้งเรือจะผูกติดกันไว้เป็นคู่ เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจปลดตัวยึดล็อค ของเครื่องผลักดันน้ำอีกลำหนึ่งแต่ไม่ทันการณ์ ทำให้ เครื่องผลักดันน้ำเครื่องที่สอง ถูกเครื่องแรกที่มีปัญหาดึงจมลงไปด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบล่าสุดพบว่าสาเหตุการทำให้เรือจมเนื่องจาก มีเศษไม้ที่เป็นขยะแข็งเข้าไปทำให้ Water jet ขัดตัวเกิดการชำรุดแตกเสียหายน้ำเข้าเรือ ส่วนลำที่ 2 สาเหตุ เกิดจากการ การผูกยึดกับลำที่ 1 ดึงจมลง
ในส่วนของการกู้เครื่องผลักดันน้ำขึ้นมานั้น ทางชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำจะเร่งดำเนินการ ในวันนี้ ซึ่งการดำเนินการคาดว่าไม่มีอุปสรรคข้อขัดข้อง เนื่องจาก ระดับน้ำในคลองมีความลึกไม่เกิน 3 เมตร กระแสน้ำไม่ไหลเชี่ยว อีกทั้งเครื่องผลักดันน้ำ มี น้ำหนักเพียง 4 ตัน สามารถใช้เครนยกขึ้นมาได้ จากนั้นจะนำไปดำเนินการซ่อมทำที่กรมอู่ทหารเรือซึ่งเป็นหน่วย วิทยาการในการซ่อมทำอยู่แล้ว นอกจากนั้น ระบบของเครื่องผลักดันน้ำ ไม่ใช่ระบบอิเล็กทรอนิกส์จึงสามารถดำเนินการซ่อมได้ไม่ยากทั้งนี้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ จะเคลื่อนย้ายเครื่องผลักดันน้ำ 2 ลำไปทดแทน เพื่อให้คงประสิทธิภาพในการเร่งระบายน้ำเช่นเดิมปัจจุบัน กองทัพเรือได้ส่งเรือผลักดันน้ำ เข้าดำเนินการเร่งผลักดันน้ำในพื้นที่ต่างๆจำนวน 58 ลำโดยได้เดินเครื่องตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน เป็นต้นมา โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 18.00 น. ของทุกวัน ทำให้อาจมีการสึกหรอและชำรุดของอุปกรณ์ แต่อย่างไรก็ตามทางชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำก็ได้มีการเตรียมอุปกรณ์ และ กำลังพลในการซ่อมทำให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา
ในปัจจุบัน ทร.มีเรือผลักดันน้ำประจำการ 100 ลำ และได้ส่งไปที่สุพรรณบุรี 20 ลำ สมุทรปราการ 26 ลำ และทางผู้ว่าฯ กทม. ประสานขอมา 12 ลำ โดย พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการให้ต่อเรือผลักดันน้ำเพิ่มเติม เนื่องจากอนาคตอาจจะต้องใช้เรือจำนวนมาก จึงให้ทางกรมอู่ทหารเรือไปพิจารณาความต้องการว่าจะต่อเพิ่มจำนวนเท่าไหร่ตอนนี้ยังไม่มีการระบุจำนวน
สำหรับการเตรียมความพร้อมหากสถานการณ์น้ำวิกฤตขึ้น โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า อาจจะต้องมีการใช้เรือระบายพลขนาดเล็กเช่น เรือหลวงลิ้น ที่เคยผลักดันน้ำในปี 2554 เข้าช่วยเหลือผลักดันน้ำเพิ่มเติม จากการประเมินสถานการณ์ร่วมกับ ปภ.และ กรมอุตุฯ ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ยังคงต้องติดตามดูพายุไลออนร็อกที่อยู่นิ่ง ยังไม่มีการเคลื่อนตัว แต่ภาพรวมเชื่อว่าปริมาณน้ำจะไม่มากเท่าปี 2554