xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : สหรัฐฯ ตั้งกลุ่ม ‘AUKUS’ ถ่วงดุลอำนาจจีน หวั่นจุดชนวนแพร่ ‘นิวเคลียร์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ และนายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย ประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรกลาโหม 3 ฝ่าย ‘AUKUS’ ในการแถลงข่าวร่วมทางไกล เมื่อวันที่ 15 ก.ย.
สถานการณ์ความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิกส่อแววทวีความตึงเครียด หลังจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงไตรภาคีที่ชื่อว่า ‘AUKUS’ (ออคัส) ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อสกัดอิทธิพลของ “จีน” ที่กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ในอินโดแปซิฟิก ขณะที่ความตกลงดังกล่าวจุดชนวนข้อพิพาทครั้งใหญ่กับ “ฝรั่งเศส” และมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยี “เรือดำน้ำนิวเคลียร์” จากสหรัฐฯ สู่ออสเตรเลียอาจกระพือการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาค

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ และนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย ได้เปิดการแถลงข่าวร่วมทางไกลเมื่อวันพุธที่ 15 ก.ย. โดยประกาศว่าทั้ง 3 ชาติตกลงจะจับมือตั้งกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคง และอเมริกาจะส่งมอบเทคโนโลยีและศักยภาพในการประจำการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แก่แคนเบอร์ราด้วย

มอร์ริสัน เผยว่า กองเรือดำน้ำนิวเคลียร์จะถูกต่อขึ้นที่เมืองแอดดิเลด (Adelaide) ภายใต้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลออสเตรเลียยังคงยึดมั่นในพันธสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์

ด้านผู้นำอังกฤษเรียกความเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็นการตัดสินใจที่สำคัญยิ่งซึ่งจะช่วยให้โลกปลอดภัยขึ้น

"มันจะเป็นโครงการที่ซับซ้อน และใช้ศักยภาพทางเทคนิคมากที่สุดโครงการหนึ่งของโลก" จอห์นสัน กล่าว

หลังประกาศจับมือกับวอชิงตันและลอนดอนได้เพียง 1 วัน รัฐบาลออสเตรเลียก็แถลงเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ว่า จะยกเลิกข้อตกลงสร้างกองเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) ที่ทำไว้กับบริษัท Naval Group ของฝรั่งเศสเมื่อปี 2016 โดยจะหันไปสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อย่างน้อย 8 ลำที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรแทน

การ “เท” สัญญาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยของออสเตรเลียทำให้ฝรั่งเศสฉุนขาดถึงขั้นออกมาโวยว่า “ถูกแทงข้างหลัง” และมีการเรียกเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตันและกรุงแคนเบอร์รากลับประเทศทันที ซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้ขั้นรุนแรงที่ฝรั่งเศสไม่เคยทำกับพันธมิตรทั้งสองมาก่อน

ฌ็อง-อีฟส์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ชี้ว่า การที่แคนเบอร์ราฉีกสัญญาเรือดำน้ำกับฝรั่งเศส แล้วไปจับมือกับสหรัฐฯ เพื่อสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่พันธมิตรและหุ้นส่วนไม่ควรปฏิบัติต่อกัน และแม้กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสจะไม่ได้เอ่ยถึง “อังกฤษ” โดยตรง แต่แหล่งข่าวระบุว่า รัฐบาลปารีสมองการกระทำของอังกฤษครั้งนี้ว่าเป็นการ “ฉวยโอกาส”

การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตร AUKUS ยังสะท้อนแนวคิดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่หันมาให้ความสำคัญกับเอเชีย-แปซิฟิกมากขึ้น หลังจากที่นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากสงครามในอัฟกานิสถานมาหมาดๆ ขณะเดียวกัน การที่ฝรั่งเศสถูกกีดกันออกจากข้อตกลงนี้ก็กระพือความระแวงสงสัยว่าสหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาพันธกรณีต่อ “นาโต” มากน้อยแค่ไหน

รัฐบาลจีนวิจารณ์การตั้งกลุ่ม AUKUS ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ “ไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง” ขณะที่ จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ชี้ว่า การที่สหรัฐฯ และอังกฤษส่งออกเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลียเป็นข้อพิสูจน์ว่ามหาอำนาจทั้งสองกำลังใช้การส่งออกนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือทางการเมือง พร้อมกันนั้นก็เตือนให้ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียละทิ้งแนวคิดแบบยุคสงครามเย็นที่มุ่งแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายชนิดที่จะต้องมีใครแพ้-ชนะกันไปข้าง (zero-sum)

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตั้งกลุ่ม AUKUS ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริบทด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ให้แก่แดนจิงโจ้

รัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซียแสดงความกังวลว่า AUKUS อาจกระพือการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาค ขณะที่ฟิลิปปินส์มีท่าทีสนับสนุนการจับขั้วครั้งนี้ โดยเชื่อว่าจะเป็นกลไกที่ช่วยคานอิทธิพลจีนและสร้างสมดุลอำนาจในอินโด-แปซิฟิก

ผู้สันทัดกรณีหลายคนชี้ว่า ดีลเรือดำน้ำนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับออสเตรเลียดูจะสวนทางกับเจตนารมณ์ของนานาชาติที่ส่งเสริมการไม่แพร่กระจายนิวเคลียร์ และอาจนำมาซึ่งความสุ่มเสี่ยงหลายประการ

ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส
- ปัญหายูเรเนียม

เดิมทีนั้นออสเตรเลียตั้งใจจะจ้างบริษัทฝรั่งเศสผลิตกองเรือดำน้ำพลังงานดีเซลแบบดั้งเดิม แต่เรือดำน้ำประเภทนี้มีข้อจำกัดตรงที่สามารถถูกตรวจจับได้ง่าย และจำเป็นต้องขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ทุกๆ 2-3 วัน

ในทางกลับกัน เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สามารถปฏิบัติภารกิจทั้งบนผิวน้ำและใต้น้ำได้นานสูงสุดถึง 3 เดือน ซึ่งทำให้สามารถเดินทางได้ไกลและยากแก่การถูกตรวจจับ ขอเพียงมีน้ำดื่มและเสบียงเพียงพอสำหรับลูกเรือ

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ประจำการอยู่ในกองทัพเรือสหรัฐฯ และอังกฤษใช้ยูเรเนียมสมรรถนะสูง (HEU) ซึ่งมีความบริสุทธิ์ถึง 93% เป็นเชื้อเพลิง และด้วยความเข้มข้นระดับนี้ทำให้พวกมันสามารถปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องได้ถึง 30 ปี โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแท่งเชื้อเพลิงใหม่

อย่างไรก็ตาม ยูเรเนียมที่มีความบริสุทธิ์ขนาดนี้ยังสามารถใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ด้วย

อลัน คูเปอร์แมน ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ของมหาวิทยาลัยเทกซัส ออสติน ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดก็คือ ยูเรเนียมเกรดอาวุธอาจตกไปอยู่ในมือของรัฐอันธพาล (rougue state) หรือกลุ่มก่อการร้าย

“หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะครอบครองระเบิดนิวเคลียร์คือ การยักย้ายถ่ายโอนวัตถุดิบหนึ่งใน 2 อย่างที่จำเป็น ซึ่งก็คือ พลูโตเนียม หรือไม่ก็ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ ออกไปจากแหล่งผลิตซึ่งเดิมทีไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในด้านการทหาร” คูเปอร์ ระบุในบทความซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ Breaking Defense

เขาบอกด้วยว่า เรือรบของสหรัฐฯ “ใช้ยูเรเนียมสมรรถนะสูงเทียบเท่าระเบิดนิวเคลียร์ 100 ลูก” ในทุกๆ ปี หรือมากกว่ายูเรเนียมที่ได้จากเตาปฏิกรณ์ทั่วโลกรวมกันเสียอีก

- การแพร่ขยายนิวเคลียร์

ปัจจุบันมีเพียง 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย และรัสเซีย ที่ครอบครองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และมหาอำนาจเหล่านี้ต่างระมัดระวังอย่างสูงที่จะไม่ปล่อยให้เทคโนโลยีหรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เล็ดรอดไปถึงมือชาติอื่นๆ

เจมส์ แอคตัน จากมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) มองว่า การที่สหรัฐฯ ยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลียถือเป็นการสร้าง “แบบอย่างที่อันตราย” พร้อมอ้างถึงสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ปี 1970 ที่ระบุเอาไว้ว่า ประเทศที่ไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มีสิทธิที่จะแสวงหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ได้ และอาจเคลื่อนย้ายวัสดุนิวเคลียร์ออกจากเรือหากต้องการ ซึ่งเขามองว่าตรงนี้เป็น “ช่องโหว่” ที่สำคัญ

“ผมไม่ค่อยห่วงเรื่องออสเตรเลียจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เท่าไหร่ แต่ห่วงว่าประเทศอื่นๆ จะอ้างเรื่องนี้เป็นบรรทัดฐาน และอาศัยช่องโหว่จากสนธิสัญญาฉบับนี้” เขากล่าว

เรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ชั้นเวอร์จิเนีย USS Delaware (SSN-791) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ
- ผลกระทบแบบลูกบอลหิมะ (snowball effect)

เจน ซากี โฆษกหญิงทำเนียบขาว ระบุว่าสหรัฐฯ ยังคงยึดนโยบายไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ ส่วนการขายเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลียนั้นเป็น “กรณีพิเศษจริงๆ” ซึ่งไม่ควรจะถูกมองเป็นการ “สร้างบรรทัดฐานใหม่”

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนไม่คิดเช่นนั้น

ดารีล คิมบอลล์ จากสมาคมควบคุมอาวุธ (Arms Control Association) เตือนว่า รัฐบาลไบเดนกำลัง “ประนีประนอม” หลักการไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ ยึดถือมาโดยตลอด ซึ่งอาจกระทบต่อกฎระเบียบสากล ขณะที่ ตารีก ราอุฟ อดีตหัวหน้าฝ่ายตรวจสอบของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ชี้ว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ-ออสเตรเลีย “ไม่ต่างอะไรกับการเปิดกล่องแพนโดรา” ซึ่งจะเป็นชนวนไปสู่การแพร่กระจายนิวเคลียร์

ราอุฟ ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศอื่นๆ อย่างอาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย หรือแม้กระทั่งเกาหลีใต้ อาจคิดแสวงหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เพื่อเป็นช่องทางไปสู่การครอบครองเชื้อเพลิงเกรดอาวุธ

ฮานส์ คริสเตนเซน จากสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (AFS) แสดงความเป็นห่วงว่าเรื่องนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบแบบ “ลูกบอลหิมะ” ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่ลุกลามใหญ่โตขึ้นอย่างทวีคูณและรวดเร็ว เหมือนกับก้อนหิมะเมื่อกลิ้งลงมาจากภูเขา

“รัสเซียอาจส่งออกเทคโนโลยีประเภทนี้ให้อินเดียมากขึ้น จีนอาจจะขายเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้กับเรือ (naval reactors) ให้ปากีสถานหรือประเทศอื่นๆ และบราซิลอาจมองว่านี่คือวิธีที่ง่ายสำหรับการต่อยอดโครงการเรือดำน้ำของตัวเอง” คริสเตนเซน ระบุ

- ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเสนอให้สหรัฐฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ที่ใช้ยูเรเนียมสมรรถนะต่ำ (LEU) ให้แก่ออสเตรเลียแทน

LEU นั้นหมายถึงยูเรเนียมที่มีความบริสุทธิ์ต่ำกว่า 20% ซึ่งเป็นเกรดที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยหากนำไปใช้กับเรือดำน้ำก็จะต้องเปลี่ยนแท่งเชื้อเพลิงทุกๆ 10 ปี ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยากและอันตราย

นี่เป็นวิธีที่ฝรั่งเศสและจีนใช้อยู่ ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐฯ แม้จะถูกเรียกร้องให้เปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิง LEU แต่ก็ยังไม่ได้ทำเช่นนั้น

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้น Jin-class รุ่น Type 094A ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น