เอพี - รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสประณาม “การตีสองหน้า เหยียดหยาม และหลอกลวง” กรณีออสเตรเลียฉีกสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำแดนน้ำหอมแบบปุบปับ และเปลี่ยนไปทำข้อตกลงกับอเมริกาแทน ชี้เครือข่ายพันธมิตรตะวันตกกำลังเผชิญวิกฤตรุนแรง
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) ฌอง-อีฟส์ เลอ แดรง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสโจมตีสิ่งที่เขาระบุว่า เป็นข้อตกลงหลังฉากที่ทรยศปารีส และสำทับว่า การเรียกเอกอัครราชทูตประจำอเมริกาและออสเตรเลียกลับประเทศเมื่อวันศุกร์ (17 ก.ย.) สะท้อนระดับความรุนแรงของวิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสกับอเมริกาและออสเตรเลีย เลอ แดรง ระบุอีกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของอเมริกา เรียกทูตกลับจากอเมริกา
การประกาศข้อตกลงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และผู้นำออสเตรเลียและอังกฤษในการจัดหาเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์อย่างน้อย 8 ลำให้แดนจิงโจ้ สร้างความเดือดดาลอย่างยิ่งแก่ฝรั่งเศส ซึ่งลงนามสัญญาจัดหาเรือดำน้ำพลังดีเซล-ไฟฟ้าดั้งเดิมให้ออสเตรเลีย 12 ลำตั้งแต่ปี 2016 และเริ่มลงมือผลิตแล้ว
ข้อตกลงนี้ที่ออสเตรเลียทำกับนาวัล กรุ๊ปที่รัฐบาลฝรั่งเศสถือหุ้นใหญ่ มีมูลค่าอย่างน้อย 66,000 ล้านดอลลาร์ ความละเอียดอ่อนทางการทูตจบสิ้นลงเมื่อทางการแดนน้ำหอมเลือกระบายความเดือดดาลของตัวเอง
เลอ แดรง ปฏิเสธรายงานที่ว่า มีการหารือกับฝรั่งเศสก่อนที่ทั้ง 3 ประเทศจะประกาศข่าวดังกล่าว และเรียกร้องว่า ไม่ควรปฏิบัติต่อพันธมิตรสำคัญอย่างฝรั่งเศสด้วยความโหดร้ายและคาดเดาไม่ได้แบบนี้
ก่อนหน้านี้ ฌอง-ปิแอร์ เทโบลต์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำออสเตรเลีย ได้ละทิ้งภาษาทางการทูตขณะพาดพิงถึงสิ่งที่คนทั่วฝรั่งเศสเรียกว่า “สัญญาแห่งศตวรรษ” ว่า เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่และเป็นการจัดการการเป็นพันธมิตรที่เลวร้ายมาก
เทโบลต์ เสริมว่า ข้อตกลงจัดหาอาวุธระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรเลียที่ลงนามร่วมกันเมื่อปี 2016 ควรอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ ความเข้าใจ และความจริงใจ และว่า เขารับรู้ข่าวการยกเลิกสัญญานี้จากสื่อออสเตรเลีย
ในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ (17 ก.ย.) เลอ แดรง ระบุว่า การตัดสินใจเรียกทูตกลับประเทศตามคำขอของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง เหมาะสมแล้วกับระดับความรุนแรงของคำประกาศของออสเตรเลียและอเมริกา
ทั้งนี้ สิ่งที่เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสระบุว่า เป็นสัญญาหลายซับหลายซ้อนนั้นมีนัยมากกว่าเรือดำน้ำ แต่เป็นการตอกย้ำวิสัญทัศน์ของฝรั่งเศสที่มีต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งฝรั่งเศสมีบทบาทร่วมด้วย และจีนกำลังเร่งแผ่ขยายอิทธิพล
ทางด้าน "นาวัล กรุ๊ป" ออกแถลงการณ์ว่า จะวิเคราะห์ผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาร่วมกับออสเตรเลียในเร็ววันนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ฝรั่งเศสและออสเตรเลียดำเนินการโครงการนี้มาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน สำนักงานรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียออกแถลงการณ์ว่า แคนเบอร์ราเสียใจกับการที่ฝรั่งเศสเรียกทูตกลับประเทศ และเข้าใจความผิดหวังอย่างรุนแรงของฝรั่งเศสจากการตัดสินใจของออสเตรเลียที่อิงกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศ และทิ้งท้ายว่า ออสเตรเลียตระหนักถึงคุณค่าในความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสและเฝ้ารอที่จะได้กลับมาร่วมมือกันอีกครั้งในอนาคต
ขณะนี้ มาริส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย อยู่ระหว่างการหารือประจำปีกับรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกาในสหรัฐฯ
หลังจากการประกาศข้อตกลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสสัน ของออสเตรเลีย เผยว่า เคยบอกกับมาครง ตั้งแต่เดือนมิถุนายนว่า เรือดำน้ำแบบดั้งเดิมมีปัญหาอย่างแท้จริงเกี่ยวกับศักยภาพในการตอบสนองความต้องการเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียในอินโด-แปซิฟิก แต่มอร์ริสสันไม่ได้อ้างอิงเจาะจงถึงการสะสมกำลังพลของจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผู้นำออสเตรเลียแวะที่ปารีสหลังเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 7 ในอังกฤษที่เขาได้หารือกับไบเดน และนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน โดยเทโบลต์ ระบุว่า เขาอยู่ด้วยตอนที่มอร์ริสสัน บอกกับมาครง ว่า สถานการณ์ในภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้ระบุว่า ออสเตรเลียกำลังพิจารณาเปลี่ยนไปใช้เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ เทโบลต์ทิ้งท้ายว่า หุ้นส่วน 2 ประเทศควรดำเนินการทุกอย่างอย่างโปร่งใส
ส่วนที่ออสเตรเลีย มาร์ก เดรย์ฟัส สมาชิกฝ่ายค้านในรัฐสภา เรียกร้องให้แคนเบอร์ราแก้ไขความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส