อเมริกาและอังกฤษพยายามผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียดกับฝรั่งเศสเรื่องดีลเรือดำน้ำกับออสเตรเลีย โดย “มาครง” ยอมนัดคุยโทรศัพท์กับ “ไบเดน” เพื่อฟังคำอธิบายเรื่อง “การละเมิดความไว้วางใจกันอย่างร้ายแรง” เวลาเดียวกันปารีสยังย้ำเหมือนเดิมว่า แคนเบอร์ราไม่เคยบอกว่า กังวลกับศักยภาพเรือดำน้ำที่ตกลงสั่งซื้อไว้ ขณะที่ผู้นำออสซี่อ้างตัดสินใจโดยอิงกับผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
การที่สหรัฐฯ, อังกฤษ, และออสเตรเลีย ประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางการทหารกลุ่มใหม่ ที่ใช้ชื่อว่า “ออคัส” เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่สาระสำคัยประการหนึ่ง คือ การที่ออสเตรเลียตัดสินใจฉีกสัญญาซื้อเรือดำน้ำของฝรั่งเศส และหันไปตกลงสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์เองโดยรับเทคโนโลยีจากอเมริกา กลายเป็นสิ่งซึ่งทำให้ปารีสขุ่นเคืองอย่างยิ่ง ถึงขั้นที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง สั่งเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสกลับจากแคนเบอร์ราและวอชิงตันแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
กระนั้น เมื่อวันอาทิตย์ (19 ก.ย.) เกเบรียล อัตตาล โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศสแถลงว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของอเมริกา ติดต่อขอพูดคุยกับมาครง ซึ่งการหารือทางโทรศัพท์นี้จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วัน เพราะฝรั่งเศสเองก็อยากให้ประมุขทำเนียบขาวอธิบายสำหรับเหตุการณ์ที่ “ดูเหมือนเป็นการละเมิดความไว้วางใจกันอย่างร้ายแรง”
ในอีกด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลีย ปฏิเสธข้อกล่าวหาของปารีสที่ว่า แคนเบอร์ราหลอกลวง โดยยืนยันว่า ได้แจ้งข้อกังวลเกี่ยวกับข้อตกลงเรือดำน้ำกับฝรั่งเศสตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อน และเสริมว่า เข้าใจความผิดหวังของปารีส แต่ไม่เสียใจกับการตัดสินใจโดยอิงกับผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์แห่งชาติเป็นหลัก
ปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย ยืนยันเช่นเดียวกันว่า แคนเบอร์ราแจ้งข้อกังวลกับปารีสอย่างชัดเจน เปิดกว้าง และซื่อสัตย์ ทว่า ฟลอรองซ์ ปาร์ลี รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศส ค้านทันทีว่า ปารีสไม่เคยได้รับแจ้งเจตนารมณ์ของออสเตรเลีย
วันเดียวกันนั้น นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษ กล่าวขณะเดินทางไปนิวยอร์กว่า ข้อตกลงเรือดำน้ำดังกล่าวไม่ได้มีจุดประสงค์กีดกันประเทศใด และไม่มีใครต้องกังวล โดยเฉพาะฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ฝรั่งเศสไม่ได้เรียกทูตของตนที่ประจำอยู่ในอังกฤษกลับมาด้วย ทว่า ฌอง-อีฟส์ เลอ แดรง รัฐมนตรีต่างประเทศแดนน้ำหอม อธิบายโดยวิจารณ์อังกฤษอย่างไม่ไว้หน้า ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้นเนื่องจากปารีสรู้ดีถึงพฤติกรรมการฉวยโอกาสของลอนดอน และกรณีข้อตกลงเรือดำน้ำนี้ อังกฤษเป็นแค่ส่วนเกินเท่านั้น
นอกจากนั้น ฝรั่งเศสยังยกเลิกการประชุมระหว่าง ปาร์ลีกับเบน วอลเลซรัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษที่กำหนดไว้ในสัปดาห์นี้
เลอ แดรงยังกล่าวอีกว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ต้องพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทบทวยุทธศาสตร์ในการประชุมสุดยอดที่มาดริดปีหน้า ซึ่งฝรั่งเศสจะได้รับตำแหน่งประธานนาโตและเสริมว่า ขณะนี้ฝรั่งเศสให้ความสำคัญสูงสุดในการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของสหภาพยุโรป (อียู) เอง ซึ่งก็หมายความว่าจะไม่รวมถึงอเมริกาและแคนาดา
เคลมองต์ โบน รัฐมนตรีกิจการยุโรปของฝรั่งเศส ส่งสัญญาณว่า ความขัดแย้งนี้อาจส่งผลเสียหายต่อโอกาสของออสเตรเลียในการทำข้อตกลงทางการค้ากับอียู ซึ่งเป็นหุ้นส่วนการค้าใหญ่อันดับ 3
การจัดตั้งพันธมิตร “ออคัส” และข้อตกลงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลีย แม้ไม่มีการเอ่ยถึงจีน แต่ทุกฝ่ายก็ตระหนักว่ามันเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อมุ่งหวังต่อต้านจีน
นอกเหนือจากปักกิ่งออกมาโวยแหลกเรื่องนี้ไปแล้ว ปรากฏว่าเมื่อวันจันทร์ (20) สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือรายงานข่าวโดยอ้างอิงคำพูดของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศโสมแดง ที่เตือนว่า ข้อตกลงเรือดำน้ำอเมริกา-ออสเตรเลียเป็นการกระทำอันตรายอย่างชนิดไม่เป็นที่ต้องการ ซึ่งจะบ่อนทำลายสมดุลด้านยุทธศาสตร์ในเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ภายในภูมิภาค
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)