xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’กำลังพยายามปิดล้อม ‘จีน’ โดยใช้แนวรบแห่งสงครามเย็นครั้งใหม่หลายแนวรบพร้อมๆ กัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เบอร์ทิล ลินต์เนอร์


ยูเอสเอส จอห์น วอร์เนอร์ (USS John Warner) เรือดำน้ำโจมตีชั้นเวอร์จิเนีย ในภาพที่เผยแพร่โดยกองทัพเรือสหรัฐฯเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2019 นี้ คือเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์รุ่นที่สหรัฐฯจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ออสเตรเลีย
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

US encircling China on multiple new Cold War fronts
by Bertil Lintner
20/09/2021

ข้อตกลงเรือดำน้ำนิวเคลียร์สหรัฐฯ-ออสเตรเลีย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ยึดโยงอยู่กับการสร้างพันธมิตรในวงกว้างยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้เพื่อตอบโต้และปิดล้อมสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาและความทะเยอทะยานของจีน

สงครามเย็นในอินโด-แปซิฟิกกำลังระอุดุเดือด ขณะที่ภูมิภาคนี้เกิดการแตกแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดมากขึ้น กลายมาเป็นค่ายใหญ่ๆ 2 ค่ายตั้งประจันหน้ากัน ค่ายหนึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของเหล่ามหาอำนาจประชาธิปไตยที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ส่วนอีกค่ายหนึ่งประกอบด้วยจีนที่เป็นชาติเผด็จการรวบอำนาจกับเหล่าดาวบริวารซึ่งจับกลุ่มกับแดนมังกร

และการระดมยิงในทางเศรษฐกิจชุดแรกของการแข่งขันชิงชัยคราวนี้ซึ่งเปิดฉากด้วยสงครามการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กำลังกลายเป็นการยั่วยุท้าทายทางการทหารเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ โจ ไบเดน

การแข่งขันชิงชัยที่กำลังยกระดับขึ้นเรื่อยๆ นี้ มาถึงจุดหักเหซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนเกมในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อสหรัฐฯกับสหราชอาณาจักรประกาศว่า พวกเขาจะถ่ายโอนเทคโนโลยีและสมรรถนะให้แก่ออสเตรเลีย เพื่อพัฒนาและต่อเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ออกมาประจำการ โดยที่เรื่องนี้ถือเป็นการเบิกโรงสำหรับการทำข้อตกลงทางด้านความมั่นคงแบบไตรภาคีของประเทศทั้งสาม ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มแรงกดดันให้มากขึ้นต่อการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ที่ถูกชาติต่างๆ คัดค้านของจีน ทั้งในทะเลจีนใต้และยุทธบริเวณทางทะเลอื่นๆ

เรือดำน้ำนิวเคลียร์เหล่านี้จะทำให้ดุลยภาพทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้เกิดการเอนเอียง และมีศักยภาพที่จะเป็นเหตุให้จีนต้องรวมศูนย์พลังงานด้านความมั่นคงของตนให้อยู่ใกล้ๆ บ้านตนเองเพิ่มมากขึ้นและกระจายไปอยู่ในยุทธบริเวณที่ห่างไกลออกไปลดน้อยลง เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองเช่นนี้แล้ว ข้อตกลงเรื่องเรือดำน้ำคราวนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เพื่อการปิดล้อม ซึ่งชาติเหล่านี้ร่วมมือประสานงานกัน โดยที่แน่นอนอยู่แล้วว่าปักกิ่งจะต้องมองเห็นเป็นภัยคุกคามแผนการของตนในการเพิ่มขยายและทวีความแข็งแกร่งในการปรากฏตัวในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย

เวลาใกล้ๆ กันนั้นเอง สหรัฐฯกับอินเดียได้ลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่ฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม เพื่อร่วมมือกันพัฒนา อากาศยานไร้มนุษย์ซึ่งปล่อยออกปฏิบัติการทางอากาศ (Air-Launched Unmanned Aerial Vehicles หรือ ALUAV) ข้อตกลงนี้เป็นฉบับล่าสุดที่เกิดขึ้นภายใต้เอกสาร “ข้อตกลงบันทึกช่วยจำเรื่องการวิจัย, การพัฒนา, การทดสอบ, และการประเมินผล" (Research, Development, Testing and Evaluation Memorandum Agreement) ระหว่างกระทรวงกลาโหมของอินเดีย กับกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่ลงนามกันครั้งแรกในปี 2006 และลงนามกันอีกครั้งในปี 2015

คำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน พูดถึงข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับอินเดียนี้ว่า เป็นก้าวเดินอีกก้าวหนึ่งเพื่อมุ่งไปสู่ “ความร่วมมือประสานงานระหว่างประเทศทั้งสองในด้านเทคโนโลยีกลาโหมอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยผ่านการร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ด้านกลาโหมขึ้นมา” ไม่จำเป็นต้องพูดก็ทราบกันดีว่า ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายมุ่งไปที่จีน

เรื่องของการยั่วยุท้าทายยังไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ ญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ เวลานี้กำลังดำเนินการฝึกซ้อมทางทหารขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมานับตั้งแต่ปี 1993 เวลาเดียวกันนั้น ไต้หวันก็ได้เปิดฉากการซ้อมรบครั้งใหญ่ประจำปีครั้งใหม่ของตน ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มการเตรียมพร้อมสู้รบของตนให้แข็งแกร่งไว้รับมือในกรณีที่จีนเข้ามาโจมตี การซ้อมรบของไต้หวันซึ่งรู้จักกันในชื่อรหัสว่า “ฮั่นกวง” (Han Kuang) คราวนี้จัดขึ้นแยกต่างหากจากของญี่ปุ่น แต่คงยากที่จะบอกว่าเป็นแค่ความบังเอิญประจวบเหมาะที่เกิดขึ้นใกล้ๆ กับการฝึกซ้อมของแดนอาทิตย์อุทัยเช่นนี้

จีนนั้นถือว่าไต้หวันที่เวลานี้ปกครองตนเอง คือมณฑลกบฎของตนซึ่งจะต้อง “นำกลับมารวมเป็นหนึ่งเดียว” กับแผ่นดินใหญ่ โดยที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนบ่งบอกแสดงท่าทีเอาไว้ว่า การเข้ายึดไต้หวันดังกล่าวนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ในระยะใกล้ การนำเอาไต้หวันรวมเข้าอยู่ในแผ่นดินใหญ่ย่อมจะเป็นการบ่อนทำลายความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในอินโด-แปซิฟิก ทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นจุดศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ของสงครามเย็นครั้งใหม่คราวนี้

จีนไม่ได้ถูกเอ่ยชื่ออ้างอิงอย่างเปิดเผยว่าเป็นเป้าหมายมุ่งเล่นงาน ไม่ว่าในข้อตกลง, การร่วมมือกัน, หรือการซ้อมรบใดๆ ที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ มานี้ตามที่ได้เอ่ยเอาไว้ข้างต้น อันที่จริงแล้ว พวกเจ้าหน้าที่ของคณะบริหารไบเดนซึ่งออกมาบรรยายสรุปให้เหล่าผู้สื่อข่าวรับทราบข้อมูลภูมิหลังเพิ่มเติมภายหลังมีการประกาศข่าวเรื่องเรือดำน้ำนิวเคลียร์แล้ว ยังพยายามพูดอย่างเจาะจงว่า ความเป็นหุ้นส่วนแบบไตรภาคีฉบับใหม่นี้ “ไม่ได้มุ่งหมายที่จะต่อต้านตอบโต้ปักกิ่ง” ดีลระหว่างสหรัฐฯกับอินเดียก็เช่นกัน มีการแถลงข่าวออกมาโดยไม่ได้อ้างอิงถึงจีนแต่อย่างใด

กระนั้น ก็ไม่มีทางผิดพลาดเลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาเหล่านี้คือการที่ไบเดนกำลังทำให้คำประกาศของเขาที่ว่าจะสร้างกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ขึ้นในหมู่ประเทศซึ่งเรียกขานกันว่า ประเทศที่มีความคิดเห็นทำนองเดียวกันกับสหรัฐฯให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา ทั้งนี้จุดมุ่งหมายของกลุ่มพันธมิตรต่างๆ เหล่านี้ก็คือ ฉุดรั้งและประจันหน้ากับการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน

การสร้างพันธมิตรดังกล่าวนี้จะได้รับการเน้นย้ำ ณ เวทีการสนทนาความมั่นคง 4 ฝ่าย (Quadrilateral Security Dialogue) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า กลุ่มคว็อด (Quad) ซึ่งกำหนดจะหารือกันในระดับซัมมิต (ระดับประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้าคณะรัฐบาล) ณ ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ในวันที่ 24 กันยายนนี้

กลุ่มคว็อด ซึ่งเป็นการจับมือผูกพันกันในทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, และอินเดียนั้น ถูกจีนจับจ้องตรวจตราด้วยความระแวงข้องใจเรื่อยมา โกลบอลไทมส์ (Global Times) ปากเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 15 กันยายน โดยใช้ชื่อเรื่องว่า“Quad summit will see limited concrete outcomes as US, Japan, India, Australia are ‘four ward mates with different illnesses’: experts.” (เหล่าผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ซัมมิตกลุ่มคว็อดจะมีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมที่จำกัด เนื่องจากทั้ง สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, อินเดีย, ออสเตรเลีย ต่างเป็น‘เพื่อนร่วมหอผู้ป่วยเดียวกันซึ่งมีอาการเจ็บไข้ผิดแผกแตกต่างกันไป’)

บทวิจารณ์ชิ้นนี้บอกว่า “ถึงแม้ในคำแถลงเกี่ยวกับการประชุมซัมมิตกลุ่มคว็อดครั้งนี้ของทางทำเนียบขาว ไม่ได้มีการเอ่ยชื่ออ้างอิงถึงจีน แต่ซัมมิตนี้ก็จะไม่มีโอกาสใหญ่โตใดๆ ในการแสดงความเป็นปรปักษ์คัดค้านจีนของพวกเขา”

ลี่ว์ เซียง (Lü Xiang) ผู้ชำนาญการด้านอเมริกาศึกษา ณ บัณฑิตยสภาทางสังคมศาสตร์ ของจีน และเป็นหนึ่งใน “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่บทวิจารณ์ของโกลบอลไทมส์อ้างอิงความคิดเห็น ได้พูดถึงความขัดแย้งกันเองและความอ่อนแอต่างๆ ภายในของกลุ่มคว็อดเอาไว้ว่า “การที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานอย่างเร่งรีบ เป็นสิ่งที่ทำให้อินเดียต้องเกิดความสูญเสียอย่างใหญ่โต ขณะเดียวกันออสเตรเลียปฏิเสธไม่ยอมให้คำมั่นสัญญาเรื่องการทำเหมืองถ่านหิน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  ด้านญี่ปุ่นเวลานี้ก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในที่ปั่นป่วนวุ่นวาย รวมทั้งยังกำลังแสดงการยั่วยุจีนอย่างไม่ฉลาดในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาไต้หวัน”

สิ่งที่บทวิจารณ์ชิ้นนี้ของโกลบอลไทมส์พูดออกมานั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องทีเดียวเมื่อมองจากทัศนะมุมมองมุมหนึ่ง นั่นก็คือ “ความเป็นปรปักษ์มุ่งคัดค้านจีน” กำลังเพิ่มสูงขึ้นมา โดยมีต้นสายปลายเหตุเนื่องมาจากการที่ปักกิ่งดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างยืนกรานแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกนั่นเอง มันเป็นการที่จีนออกแรงผลักดันออกสู่ภายนอก ซึ่งคณะบริหารไบเดนและเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯกำลังต่อต้านตอบโต้กันอย่างกว้างขวาง โดยใช้ข้ออ้างว่า เพื่อเป็นการธำรงรักษา “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”

การที่สหรัฐฯปรับเปลี่ยนทัศนะมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ของตน จากการต่อสู้กับลัทธิการก่อการร้าย กลายมาเป็นการต่อต้านตอบโต้จีนในเวลานี้นั้น เป็นสิ่งที่มองเห็นกันได้อย่างเปิดเผยและชัดเจน รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งระหว่างที่เธอเดินทางเยือนสิงคโปร์และเวียดนามเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในจังหวะเวลาเดียวกันกับที่อเมริกาถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน โดยที่เธอบอกว่า สหรัฐฯ “จะมุ่งเสาะแสวงหาทางทำให้เกิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งส่งเสริมสนับสนุนผลประโยชน์ต่างๆ ของเรา ตลอดจนผลประโยชน์ต่างๆ ของหุ้นส่วนและพันธมิตรของเรา”

ก็เหมือนกับโกลบอลไทมส์ แฮร์ริสไม่มีการพูดวกวนอ้อมค้อมเลย เมื่อเธอบอกว่า “ในทะเลจีนใต้ เราทราบดีว่าปักกิ่งยังคงพยายามใช้อำนาจเพื่อบีบบังคับคนอื่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อข่มขู่และเพื่อกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาบริเวณส่วนข้างมากอย่างใหญ่โตกว้างขวางของทะเลจีนใต้” และ “การกระทำต่างๆ ของปักกิ่งถือว่าเป็นการบ่อนทำลายอย่างต่อเนื่องต่อระเบียบที่ยึดโยงอยู่กับกฎเกณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการคุกคามอธิปไตยของชาติต่างๆ”

หลังจากระยะเวลา 4 ปีของสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากมายมองว่า เป็น 4 ปีแห่งการทอดทิ้งละเลย 4 ปีแห่งการส่งข้อความที่สับสนอลหม่านและการแสดงบทบาทอย่างผิดพลาดผิดจังหวะ ภายใต้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาในเวลานี้สหรัฐฯภายใต้ไบเดนกำลังทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นมาว่า สหรัฐฯมีความมุ่งมั่นผูกพันกับภูมิภาคนี้อีกคำรบหนึ่ง

เรือบรรทุกเครื่องบิน เอชเอ็มเอส เอลิซาเบธ (HMS Elizabeth) ของราชนาวีสหราชอาณาจักร ซึ่งแล่นผ่านทะเลจีนใต้ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ไม่มีการเฉียดใกล้หมู่เกาะพาราเซล หรือหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งจีนอ้างกรรมสิทธิ์ ถึงแม้มีข่าวลือว่าเรือรบลำนี้อาจจะทำเช่นนั้น เพื่อท้าทายการกล่าวอ้างของแดนมังกร
สหราชอาณาจักร ผู้เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯก็หวนกลับมายังภูมิภาคนี้เช่นกัน เป็นการกลับมาด้วยอาการเบ่งกล้ามแสดงความเข้มแข็งอย่างชนิดที่ไม่ได้เห็นกันมาหลายทศวรรษแล้ว ด้วยการส่งหมู่เรือโจมตีหมู่หนึ่งนำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน เอชเอ็มเอส เอลิซาเบธ (HMS Elizabeth) แล่นผ่านทะเลจีนใต้ตามเส้นทางมุ่งสู่ญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือซึ่งเรียกเสียงตอบโต้กลับอย่างแรงๆ จากจีน

สหราชอาณาจักร “ยังคงมีชีวิตอยู่ในวันเวลาแห่งยุคอาณานิคมของตน” หลิน หลัน (Lin Lan) คอลัมนิสต์ของโกลบอลไทมส์ คร่ำครวญด้วยความโกรธเกรี้ยวเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ขณะที่แสดงความเห็นโยงลากไปถึงประเด็นต่างๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่เรือบรรทุกเครื่องบินของสหราชอาณาจักรลำนี้ เดินทางเฉียดใกล้น่านน้ำใกล้ๆ จีน แต่อย่างใด

“ขณะที่สหราชอาณาจักรกำลังพยายามที่จะสำแดงอวดโอ่ความเข้มแข็งของตนอยู่นั้น ปัญหาต่างๆ ของพวกเขาเองก็ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างรุนแรง ในวันที่ 14 กรกฎาคม มีรายงานว่าเกิดโรคโควิด-19 ระบาดบนเรือรบ เอชเอ็มเอส ควีน เอลิซาเบธ และผลการตรวจก็ยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อราวๆ 100 ราย ... นอกจากนั้นแล้ว เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรยังเพิ่งจมถลำลงสู่ภาวะถดถอย และประมาณหนึ่งในห้าของผู้เกษียณอายุออกรับบำนาญของสหราชอาณาจักรกำลังใช้ชีวิตอยู่ในสภาพยากจน ทั้งนี้ตามผลการศึกษาวิเคราะห์ตัวเลขข้อมูลของรัฐบาลในเดือนมิถุนายน”

โกลบอลไทมส์ยังเล่นงานการซ้อมรบเมื่อเร็วๆ นี้ของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน คอลัมนิสต์ 2 คน คือ หยาง เซิง (Yang Sheng) และ หลิว ซวนจุน (Liu Xuanzun) เขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 15 กันยายนว่า “พวกพลังทางการเมืองฝ่ายขวาในญี่ปุ่นกำลังโกหกหลอกลวงสาธารณชนชาวญี่ปุ่น ในเรื่องเกี่ยวกับสาระสำคัญของประเด็นปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ (หมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งจีนกับญี่ปุ่นช่วงชิงกรรมสิทธิ์กัน โดยที่จีนเรียกชื่อหมู่เกาะนี้ว่า เตี้ยวอี๋ว์ ส่วนญี่ปุ่นเรียกว่า เซนกากุ) และปัญหาไต้หวัน

“เวลานี้สาธารณชนชาวญี่ปุ่นมีความเป็นปรปักษ์และมีอคติไม่ชอบจีนอย่างไร้เหตุผล และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการฝึกซ้อมทางทหารขนาดใหญ่โตซึ่งพุ่งเป้ามาที่จีน จึงสามารถที่จะทำให้พวกนักการเมืองชาวญี่ปุ่นได้รับความสนับสนุน”

การแสดงความคิดเห็นของคอลัมนิสต์นักวิจารณ์เหล่านี้ มีการแทรกแซมด้วยสิ่งที่สามารถตีความได้ว่าเป็นการตักเตือนแบบอ้อมๆ อำพรางเอาไว้ไม่ให้มองเห็นชัดเจนจากทางปักกิ่ง เป็นต้นว่า “แต่ญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงทางการทหารในขนาดขอบเขตแค่ไหนนั้น สหรัฐฯจะเป็นผู้ตัดสินสุดท้าย ...จีนนั้นเตรียมพร้อมรับมือกับฉากทัศน์แบบที่เลวร้ายที่สุดเอาไว้แล้ว ซึ่งก็คือสหรัฐฯกับพวกพันธมิตรของเขา อันรวมไปถึงญี่ปุ่นด้วย เปิดฉากการแทรกแซงทางทหารแบบเต็มพิกัดเพื่อขัดขวางการรวมชาติเข้าเป็นเอกภาพกันของจีน”

ไม่ใช่เพียงแค่การตีพิมพ์เผยแพร่พวกบทความข้อเขียนยั่วยุเอาไว้ในกระบอกเสียงของพวกเขา โดยมุ่งเล็งไปให้ถึงผู้อ่านผู้ฟังในต่างประเทศเท่านั้น แต่คณะผู้นำจีนยังกำลังทำอะไรมากขึ้นไปอีก

ในสัญญาณประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นความทะเยอทะยานระดับโลกในวงกว้างกว่านี้อีกของจีน ได้แก่การที่เมื่อเร็วๆ นี้ปักกิ่งได้จัดสร้างท่าเทียบเรือขนาดยาว 330 เมตรแห่งหนึ่ง ซึ่งใหญ่เพียงพอสำหรับรองรับเรือบรรทุกเครื่องบิน เอาไว้ที่ฐานทัพเรือของพวกเขาในจิบูตี อันเป็นฐานทัพทางทหารซึ่งตั้งอยู่ในต่างแดนเพียงแห่งเดียวของจีนเวลานี้ โดยตั้งอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์บริเวณปากทางเข้าด้านใต้ของทะเลแดง

จากที่นั่น กองทัพเรือจีนสามารถที่จะคอยเฝ้าติดตามการสัญจรเข้าออกคลองสุเอซ –และรวบรวมข่าวกรองอันสำคัญยิ่งยวดจากทั่วทั้งภูมิภาคแถบนั้น ปัจจุบันมีบุคลากรทหารเรือจีนอย่างน้อยที่สุด 2,000 คนประจำอยู่ที่ฐานทัพจิบูตีแห่งนี้ ซึ่งเป็นการค่อยๆ ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ที่จีนเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อเดือนสิงหาคม 2017

แน่นอนทีเดียวว่า การที่จีนมีการเคลื่อนไหวเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย เป็นสิ่งที่มีความสมเหตุสมผลในทางเชิงยุทธศาสตร์ คริสโตเฟอร์ คอลลีย์ (Christopher Colley) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง เขียนเอาไว้ใน “วอร์ ออน เดอะ ร็อกส์” (War on the Rocks) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตันเมื่อไม่นานมานี้ โดยชี้เอาไว้ว่า:

“ประมาณกันคร่าวๆ เป็นตัวเลขกลมๆ น้ำมันที่จีนนำเข้าถึง 80% ทีเดียว ลำเลียงขนส่งผ่านมหาสมุทรอินเดียและช่องแคบมะละกา” และ “นอกจากนั้นแล้ว 95% ของการค้าที่จีนทำกับตะวันออกกลาง,แอฟริกา, และยุโรป ก็ต้องขนส่งผ่านมหาสมุทรอินเดีย เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่านี้อีกเมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองของปักกิ่งก็คือ ภูมิภาคนี้กำลังถูกควบคุมโดยปรปักษ์ของจีน ซึ่งได้แก่สหรัฐฯและอินเดีย”

ทั้งนี้เรายังสามารถเติมชื่อของญี่ปุ่นกับออสเตรเลียเข้าไปในรายชื่อนี้ได้อีกด้วย ทั้งสองประเทศนี้ก็เป็นพวกซึ่งมองเห็นแรงจูงใจอันไม่ค่อยเมตตาปรานี ที่อยู่เบื้องหลังความสนใจในมหาสมุทรอินเดียของจีนเช่นกัน

การที่จีนตั้งหลักปรากฏตัวขึ้นมาใหม่ๆ ด้วยความมาดมั่นในภูมิภาคนี้ กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงพลวัตด้านความมั่นคงของมหาสมุทรที่ใหญ่มหึมาและทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ ไปในทางซึ่งเป็นอันตรายร่วมของประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อจีนเล็งที่จะสำแดงแสนยานุภาพโดยผ่านเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำของตน คือ เหลียวหนิง และซานตง โดยที่ยังมีลำที่สามซึ่งกำลังต่อกันอยู่อีกด้วย

“ซานตง” เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ต่อเองภายในประเทศของจีน ขึ้นระวางเข้าประจำการในกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2016  (ภาพจากสำนักข่าวซินหัว)
ท่าทียืนกรานแข็งกร้าวที่เพิ่มสูงขึ้นของจีนในมหาสมุทรอินเดีย เป็นสิ่งที่มองเห็นกันได้จากการปรากฏตัวที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของพวกเรือสำรวจของจีนและเรือดำน้ำจีน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ “นาวัลนิวส์” (Naval News) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงปารีส รายงานว่า พวกเรือของจีน “กำลังดำเนินการจัดทำแผนที่ก้นทะเล (ของมหาสมุทรอินเดีย) อย่างเป็นระบบ นี่อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำสงครามเรือดำน้ำก็เป็นได้”

นี่ยังเป็นการก้องสะท้อนรายงานฉบับหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเมื่อปี 2020 ที่กล่าว่า กองทัพเรือจีนอาจจะมีการจัดตั้ง กองเรือมหาสมุทรอินเดีย ขึ้นมา “ในอนาคตอันใกล้นี้”

เห็นกันได้แจ่มแจ้งว่าจีนนั้นต้องการที่จะพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจของพวกเขาในมหาสมุทรอินเดีย และดังนั้นก็จึงต้องคุ้มครองผลประโยชน์ต่างๆ ทางยุทธศาสตร์ของพวกเขาตรงนี้ไปด้วย  โดยเหตุผลของเรื่องนี้ไม่ใช่มีเพียงแค่เรื่องการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดจากตะวันออกกลางเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ชัดเจนว่าจีนมีความทะเยอทะยานทางยุทธศาสตร์ที่กว้างไกลกว่านี้อีก ซึ่งก็คือการท้าทายฐานะของสหรัฐฯในการเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารชั้นนำของโลก

“ถึงแม้ว่าความมุ่งหมายสำคัญที่สุดของจีนในมหาสมุทรอินเดียคืออะไร ยังคงมีความกำกวมอยู่บ้าง แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าคณะผู้นำจีนกำลังดำเนินการอย่างกระตือรือร้นในการแสวงหาสมรรถนะต่างๆ ซึ่งจะเปิดทางให้พวกเขาสามารถปฏิบัติภารกิจทางทหารจำนวนหนึ่งภายในภูมิภาคนี้ได้” รายงานฉบับหนึ่งที่ออกมาเมื่อปีที่แล้วของสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) องค์กรคลังสมองชื่อดังซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ระบุเอาไว้เช่นนี้

ข้อตกลงเรือดำน้ำนิวเคลียร์ออสเตรเลีย, ดีลสร้างโดรนระหว่างสหรัฐฯกับอินเดีย, และการประชุมหารือตลอดจนการปฏิบัติการของกลุ่มคว็อดที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดเหล่านี้ควรพิจารณาจากทัศนะมุมมองที่ว่า มีความรู้ความเข้าใจกันว่าภัยคุกคามจากจีนกำลังสูงขึ้นทุกทีๆ มันเป็นยุทธศาสตร์แบบที่ประกอบด้วยหลายๆ ด้าน ซึ่งขับดันโดยตัวแสดงหลายหลากที่จับกลุ่มเป็นพันมิตรกัน เพื่อมุ่งปิดล้อมและจำกัดควบคุมความทะเยอทะยานในระดับโลกของปักกิ่ง

ขณะที่สหรัฐฯและเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ปกปิดซุกซ่อนความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ โดยใช้ภาษาศัพท์แสงที่ฟังดูนุ่มนวล อย่างเช่น “เสรีภาพ” “อิสรภาพ” และ “ประชาธิปไตย”แต่ในความเป็นจริงแล้วกำลังมีการลากเส้นตั้งแนวรบกำหนดสมรภูมิ และจัดวางชิ้นส่วนต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทาง  สำหรับสิ่งที่มองดูเหมือนกับความข้ดแย้งแห่งสงครามเย็นครั้งใหม่อันไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้มากขึ้นเรื่อยๆ  โดยที่มันกำลังจะมาถึงอยู่รอมร่อแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น