xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ “นอกหน้าต่าง” : ทำไมสหรัฐฯ ยังคงผูกขาดรางวัลโนเบล? ปีนี้ทั้ง 6 สาขามีผู้ชนะ 13 เป็นมะกันถึง 8 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เหรียญรางวัลโนเบล ซึ่งจะมอบให้แก่ผู้ได้รับรางวัลทุกรายพร้อมกับประกาศนียบัตรและเงินรางวัล
ผู้ชนะรางวัลโนเบลทั้ง 6 สาขาประจำปีนี้มีกันทั้งสิ้น 13 คน ปรากฏว่า เป็นพลเมืองอเมริกันถึง 8 คน ตอกย้ำแนวโน้มที่ดำเนินมานานปีแล้ว ซึ่งเกี่ยวพันกับความเข้มแข็งและความสามารถในการดึงดูดนักศึกษา นักวิจัยระดับหัวกะทิจากทั่วโลก ของสถาบันวิชาการของอเมริกา

ในการจัดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยสุดยอดของโลก พวกมหาวิทยาลัยอเมริกัน ทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษาภาคเอกชนเก่าแก่ระดับ “ไอวี ลีก” ซึ่งเป็นเจ้าของกองทุนพัฒนาขนาดมหึมา และพวกมหาวิทยาลัยของรัฐอันทรงเกียรติ คือผู้ที่คว้าอันดับส่วนใหญ่ไปครอบครองเรื่อยมา

นับจากมีการมอบรางวัลโนเบลครั้งแรกเมื่อปี 1901 อเมริกาคว้ามาเหรียญรางวัลโนเบลมาได้แล้วถึง 400 เหรียญ ตามด้วยสหราชอาณาจักร 138 เหรียญ และเยอรมนี 111 เหรียญ ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วตัวเลขเหล่านี้เกี่ยวข้องกับผู้คนซึ่งมาจากหลากหลายประเทศ

อาร์เดม ปาตาปูเตียน ชาวอเมริกันสัญชาติอาร์เมเนีย หนึ่งในผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปีนี้ จากผลงานการวิจัยระบบประสาทรับความรู้สึกเกี่ยวกับการสัมผัส แถลงขอบคุณอเมริกาที่มอบโอกาสนี้ให้ตน โดยยกเครดิตให้แก่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซึ่งได้งบประมาณจากรัฐบาล และเป็นสถานศึกษาที่เขาเรียนจบปริญญาตรีและทำงานวิจัยหลังจบปริญญาเอก ตลอดจนให้แก่สถาบันวิจัยสคริปส์ ซึ่งเป็นที่ทำงานของเขามานาน 2 ทศวรรษ

มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (ยูซี) ยังเป็นต้นสังกัดของเดวิด จูเลียส จากยูซี วิทยาเขตซานฟรานซิสโก ผู้ชนะโนเบลร่วมกับปาตาปูเตียน โดยรวมแล้วเจ้าหน้าที่และวิทยาเขตต่างๆ ของยูซีกวาดโนเบลไปได้ทั้งสิ้น 70 รางวัล น้อยกว่าที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศอันดับ 4 คว้ามาได้เพียงรางวัลเดียว

หนึ่งในผู้ชนะสาขาฟิสิกส์ของปี 2021 นี้คือ ซิวคูโร มานาเบ ซึ่งจากญี่ปุ่นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 และสร้างผลงานโดดเด่นเกี่ยวกับโมเดลสภาพภูมิอากาศที่มหาวิทยาลัยพรินส์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ เขาบอกว่า ที่อเมริกา เขาสามารถไล่ตามความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองไปได้ทุกหนแห่ง ซึ่งถือเป็นกุญแจความสำเร็จของเขา


เดวิด บัลติมอร์ อธิการบดีกิตติคุณและศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (แคลเทค) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ชนะโนเบลสาขาการแพทย์ปี 1975 กล่าวว่า การที่สถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ สนับสนุนการวิจัยพื้นฐาน ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยเพื่อเป้าหมายในการปรับปรุงยกระดับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้อเมริกากวาดโนเบลมาครองมากมาย

บัลติมอร์ เสริมว่า แนวทางดังกล่าวถือเป็นความแข็งแกร่งของสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยอเมริกันที่สามารถย้อนกลับไปได้จนถึงการก่อตั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อหลายศตวรรษก่อน

สำหรับในยุคใหม่ การให้ความสำคัญกับงานวิจัยพื้นฐานของอเมริกาอาจสืบสาวไปได้ถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการก่อตั้งมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติในปี 1950 ที่ยังคงให้ความร่วมมือในการสนับสนุนเงินทุนให้แก่มหาวิทยาลัยต่างๆ จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ มูลนิธิการกุศลและกองทุนสนับสนุนของภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน

ขณะที่จีนกำลังไล่ตามกระชั้นสหรัฐฯ เมื่อดูจากเงินทุนใช้จ่ายด้านการวิจัยโดยรวม (496,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 569,000 ล้านดอลลาร์ ปรับตามความเสมอภาคของอำนาจซื้อในปี 2017) ทว่าจีนต้องเผชิญกับอุปสรรคความท้าทายซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องเสรีภาพทางวิชาการและความสามารถในการดึงดูดคนเก่งมีความรู้ความสามารถ เอช.เอ็น.เฉิง นายกสมาคมเคมีอเมริกัน กล่าว

เหมือนกับที่พวกประเทศร่ำรวยซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานด้านกีฬาที่เข้มแข็งสามารถครอบงำรายการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศอย่างเช่นโอลิมปิก การมีฐานะเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ก็ทำให้อเมริกาถือเป็นมหาอำนาจด้านวิทยาศาสตร์ เฉิงยกตัวอย่างว่า นักวิจัยในอเมริกาสามารถหางานได้ง่ายกว่าเพราะไม่จำกัดเฉพาะแวดวงวิชาการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานในภาคเอกชน ห้องปฏิบัติการของรัฐบาล และอีกมากมาย

มาร์ก แคสต์เนอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านฟิสิกส์ของเอ็มไอที สำทับว่า มหาวิทยาลัยอเมริกันขึ้นชื่อมานานแล้วว่า ให้โอกาสนักวิจัยหนุ่มสาวได้รับผิดชอบห้องปฏิบัติการของตนเอง ขณะที่ในยุโรปและญี่ปุ่น ห้องปฏิบัติการมักถูกควบคุมโดยศาสตราจารย์ที่อาวุโสมาก ผู้ซึ่งจะวางมือหลังจากปลดเกษียณแล้วเท่านั้น ทว่าเมื่อถึงตอนนั้นนักวิชาการรุ่นหลังๆ ก็อาจจะไม่ได้อยู่ในช่วงซึ่งมีแนวคิดที่ดีที่สุดอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ดี สเตฟาโน เบอร์ทุซซี ที่อพยพจากอิตาลี และปัจจุบันเป็นซีอีโอของสมาคมเพื่อจุลชีววิทยาอเมริกัน แสดงความกังวลเกี่ยวกับกระแสการเกลียดกลัวคนต่างชาติและลัทธิชาตินิยมในอเมริกานปัจจุบัน ว่าอาจทำให้เสน่ห์ของอเมริกาในฐานะจุดหมายปลายทางยอดนิยมของพวกนักวิจัย มีอันลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษาจีนที่ถูกตรวจสอบอย่างหนักหน่วงด้วยความหวาดระแวง ภายใต้คณะบริหารชุดที่แล้วของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

(ที่มา : เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น