ดร.เบนจามิน ลิสต์ ชาวเยอรมนี จากสถาบันแม็กซ์ แพลงค์ และ ดร.เดวิด แมคมิลลาน ชาวสกอตแลนด์ จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2021 ไปครอง จากผลงานพัฒนาเครื่องมือในการสร้างโมเลกุลแบบใหม่ หรือ "ตัวเร่งปฏิกิริยาอินทรีย์แบบอสมมาตร" ที่เอื้อต่อการวิจัยด้านเภสัชกรรมและทำให้เคมีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาเคมีประกาศผู้ชนะรางวัลประจำปีนี้ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันพุธ (6 ต.ค.) ได้แก่ เบนจามิน ลิสต์ ชาวเยอรมนี และเดวิด แม็กมิลลัน ชาวอเมริกัน จากผลงานการพัฒนาเครื่องมือแบบใหม่ที่แม่นยำในการสร้างโมเลกุลที่เรียกว่า "ตัวเร่งปฏิกิริยาอินทรีย์" ที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อการวิจัยทางเภสัชกรรม และทำให้เคมีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
"ตัวเร่งปฏิกิริยาอินทรีย์สามารถใช้ขับเคลื่อนปฎิกิริยาเคมีหลากหลาย" คณะกรรมการโนเบล จากราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนระบุในถ้อยแถลง "จากการใช้ปฏิกิริยาเหล่านี้ เวลานี้พวกนักวิจัยสามารถคิดค้นสิ่งต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไล่ตั้งแต่เภสัชกรรมใหม่ๆ ไปจนถึงโมเลกุลที่สามารถจับแสงในโซลาร์เซลล์" ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้ทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีราคาถูกในการผลิต
ถ้อยแถลงของคณะกรรมการระบุต่อว่า ก่อนหน้าผลงานของทั้งคู่ นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า มีตัวเร่งปฏิกิริยาอยู่เพียง 2 ชนิด คือ โลหะ และเอนไซม์ แต่ในปี 2000 นักวิจัยทั้งสอง ซึ่งต่างคนต่างทำงานวิจัยของตนเอง ได้พัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดที่ 3 เรียกว่า "ตัวเร่งปฏิกิริยาอินทรีย์แบบอสมมาตร" ซึ่งใช้โมเลกุลอินทรีย์ขนาดเล็ก
แม็กมิลลัน อายุ 53 ปี เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันในสหรัฐอเมริกา ส่วนลิสต์ ซึ่งอายุเท่ากัน เป็นผู้อำนวยการสถาบันมักซ์พลังค์ ในเยอรมนี ทั้งคู่จะแบ่งครึ่งเงินรางวัล 10 ล้านโครเนอร์สวีเดน
รางวัลโนเบลสาขาเคมีเป็นรางวัลโนเบลที่ 3 ที่ประกาศผลไปแล้วในปีนี้ ต่อจากโนเบลสาขาการแพทย์ และโนเบลสาขาฟิสิกส์
หลังจากนี้ในวันพฤหัสบดี (7 ต.ค.) จะเป็นสาขาวรรณกรรม ตามด้วยสาขาสันติภาพในวันศุกร์ (8 ต.ค.) แล้วปิดท้ายที่สาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะประกาศผลในวันจันทร์หน้า (11 ต.ค.)
เมื่อวันอังคาร (5 ต.ค.) โนเบลประกาศผู้ชนะสาขาฟิสิกส์ 3 คน โดยแบ่งครึ่งรางวัลมอบให้แก่ ซิวคูโร มานาเบะ และเคลาส์ ฮัสเซลมานน์ ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น และเคลาส์ ฮัสเซิลมานน์ ชาวเยอรมัน จากผลงานการสร้างแบบจำลองว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอีกครึ่งมอบให้แก่ จิออร์จิโอ ปาริซิ ชาวอิตาลี จากผลงานเกี่ยวกับปฏิกิริยาของความไร้ระเบียบและการผันแปรในระบบฟิสิกส์
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเจนซี)