xs
xsm
sm
md
lg

2 นักวิทย์มะกันคว้า ‘โนเบลการแพทย์’ จากการค้นพบกลไกรับรู้สัมผัส-อุณหภูมิที่ผิวหนัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(จากซ้าย) อาร์เด็ม ปาตาปูเชียน และ เดวิด จูเลียส  สองนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2021
เดวิด จูเลียส (David Julius) และอาร์เด็ม ปาตาปูเชียน (Patapoutian) สองนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2021 จากผลงานการค้นพบตัวรับอุณหภูมิและการสัมผัสที่ผิวหนังของมนุษย์ ซึ่งอาจนำไปสู่การคิดค้นตัวยารักษาอาการปวดชนิดใหม่ๆ

สมัชชาโนเบลแห่งสถาบันแคโรลินสกาในสวีเดน ระบุในงานประกาศรางวัลวานนี้ (4 ต.ค.) ว่า ผลงานของทั้งคู่ช่วยให้เข้าใจว่า การสัมผัสและความร้อนสามารถกระตุ้นกระแสประสาทของมนุษย์ “และทำให้เรารับรู้และปรับตัวให้เข้ากับโลกรอบตัวได้อย่างไร”

“องค์ความรู้นี้กำลังถูกใช้เพื่อพัฒนาวิธีรักษาโรคต่างๆ รวมถึงความเจ็บปวดที่เรื้อรัง (chronic pain)”

ปาตาปูเชียน เกิดในปี 1967 บิดามารดาเป็นชาวอาร์เมเนีย ซึ่งอาศัยอยู่ในเลบานอน ก่อนจะอพยพมายังนครลอสแองเจลิสตั้งแต่เขายังเด็ก ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสคริปป์ส (Scripps Research) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเคยมีผลงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (USCF) และสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology)

เขาได้รับการยกย่องจากการค้นพบระบบกลไกในเซลล์และยีน ซึ่งทำหน้าที่แปลแรงกระทำเชิงกลบนผิวหนังให้กลายเป็นกระแสประสาท

“ในแวดวงวิทยาศาสตร์ หลายครั้งที่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเรามองข้ามกลับกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง” ปาตาปูเชียน กล่าว “สำหรับพวกเราที่ศึกษาเกี่ยวกับการสัมผัสและความเจ็บปวด นี่คือองค์ความรู้สำคัญที่เราทราบดีว่ามันมีอยู่ และมันทำในสิ่งที่แตกต่างอย่างมาก”

ด้าน จูเลียส วัย 65 ปี เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (USCF) และก่อนหน้านี้เคยทำงานที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก

การค้นพบของ จูเลียส นั้นมีแรงบันดาลใจมาจากความสงสัยใคร่รู้ว่าผลิตผลจากธรรมชาติสามารถใช้พิสูจน์หน้าที่ทางชีววิทยาได้หรือไม่ โดยเขาได้ทดลองใช้สารแคปไซซินจากพริกเพื่อทำความเข้าใจกลไกการตอบสนองต่อความร้อนของผิวหนัง

จูเลียส ชี้ว่า ความท้าทายอย่างหนึ่งของนักวิจัยก็คือ การพัฒนาวิธีรักษาที่สามารถยับยั้งความเจ็บปวดได้ โดยไม่ไปปิดกั้นการทำงานของระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อน ซึ่งมนุษย์จำเป็นต้องใช้เพื่อป้องกันตนเองจากการบาดเจ็บ

โทมัส เพิร์ลมานน์ เลขาธิการสมัชชาโนเบลและคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ระบุว่า ทั้ง ปาตาปูเชียน และจูเลียส ต่างตกตะลึง และไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 คนจะได้รับเหรียญทอง และเงินรางวัลจำนวน 10 ล้านโครเนอร์ (ราว 38.6 ล้านบาท) โดยแบ่งกันคนละครึ่ง

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น