xs
xsm
sm
md
lg

3 นักวิทย์ซิวโนเบลสาขาฟิสิกส์ จากผลงานด้านภาวะโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ซูคุโระ มานาเบะ ชาวอเมริกันที่เกิดในญี่ปุ่น
ซูคุโระ มานาเบะ ชาวอเมริกันที่เกิดในญี่ปุ่น เคลาส์ ฮัสเซลมานน์ จากเยอรมนีและ จอร์จิโอ พาริซี ชาวอิตาลี คว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2021 ในวันอังคาร(5ต.ค.) สำหรับผลงานที่ช่วยสร้างความเข้าใจระบบทางกายภาพที่ซับซ้อนต่างๆนานา อย่างเช่นสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลก

ในการตัดสินใจที่ได้รับเสียงชื่นชมจากหน่วยงานสภาพอากาศของสหประชาชาติ ว่าเป็นสัญญาณแห่งการสร้างฉันทามติในเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เงินรางวัลครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 10 ล้านโครนสวีเดน(ประมาณ 38 ล้านบาท) จะมอบแด่ มานาเบะ วัย 90 ปี และ ฮัลเซลมานน์ วัย 89 ปี สำหรับผลงานแบบจำลองทางกายภาพของสภาพภูมิอากาศโลก การหาปริมาณความแปรปรวน และการทำนายภาวะโลกร้อนได้อย่างน่าเชื่อถือ

ส่วนรางวัลอีกครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของพาริซี สำหรับการค้นพบในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เกี่ยวกับการมีบทบาทและผลกระทบซึ่งกันและกันของความไร้ระเบียบและความผันผวนของระบบเชิงกายภาพของสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ระดับอะตอมเรื่อยไปจนถึงระดับดาวเคราะห์ต่างๆ โดยอาศัยการสร้างแบบจำลองเชิงกายภาพและแบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ ซึ่งช่วยให้สามารถเข้าใจต่อระบบที่ซับซ้อนในหลายขอบเขตที่แตกต่างกันออกไป เช่น คณิตศาสตร์ ชีววิทยา ประสาทวิทยา และแมชีน เลิร์นนิง

"ซูคุโระ มานาเบะ และ เคลาส์ ฮัสเซลมานน์ เป็นผู้วางรากฐานความรู้ของเราในเรื่องภูมิอากาศของโลก และอิทธิพลของมนุษย์ที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศ" ราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) ระบุในถ้อยแถลง "ส่วน จอร์จิโอ พาริซี ได้รับรางวัลสำหรับเป็นผู้สนับสนุนปฏิวัติทฤษฎีกระบวนการไร้ระเบียบและความผันผวนของระบบเชิงกายภาพของสิ่งต่างๆ"

เคลาส์ ฮัสเซลมานน์ จากเยอรมนี
ราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนระบุว่า มานาเบะ ซึ่งทำงานที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในสหรัฐฯ วางรากฐานในช่วงทศวรรษ 1960 สำหรับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนของทุกวันนี้ หลังย้ายจากญี่ปุ่นมาอยู่ในสหรัฐฯเพื่อสานต่อการวิจัยของตนเอง

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสหรัฐฯและญี่ปุ่นจากบ้านพักของเขาเอง มานาเบะเชื่อว่ารางวัลที่เขาได้รับ สะท้อนถึงความตระหนักต่อภาวะโลกร้อนของราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ซึ่งเขาเชื่อว่าภาวะโลกร้อนจะยิ่งหนักหน่วงชึ้น แห้งแล้งยิ่งขึ้น ฝนตกหนักขึ้น มวลแผนดินร้อนขึ้นและน้ำแข็งขั้วโลกละลาย

"อย่างที่พวกคุณรู้ มีปรากฏการณ์ต่างๆมากมายที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้น" เขากล่าวเป็นภาษาญี่ปุ่น "และผมคิดว่านี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมหัวข้อของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึงได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลในปีนี้"

ในส่วนของ ฮัสเซลมานน์ ทางราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ระบุว่าได้พัฒนาโมเดลต่างๆราว 10 ปีต่อมา ที่กลายมาเป็นเครื่องมือที่พิสูจน์ว่ามลพิษคาร์บอนไดออกไซด์จากฝีมือมนุษย์ เป็นต้นเหตุของอุณหภูมิที่สูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ

จอร์จิโอ พาริซี ชาวอิตาลี
การทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเคยเป็นที่ยอมรับสำหรับรางวัลโนเบลมาแล้วก่อนหน้านี้

อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯและคณะกรรมการด้านโลกร้อนของสหประชาชาติ เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2007 สำหรับผลงานรณรงค์นานาชาติลงมือต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ส่วน วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ คว้ารางวัลร่วมโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ จากผลงานผสมผสานการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้ากับโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจของตะวันตก

เกรตา ธุนเบิร์ก สาวน้อยนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนชาวสวีเดน ก็ถูกยกให้เป็นตัวเต็งสำหรับคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ ซึ่งมีกำหนดประกาศผลจากกรุงออสโลในวันศุกร์(8ต.ค.)

อย่างเช่นเมื่อปีที่แล้ว ในปีนี้จะไม่มีพิธีมอบรางวัลในกรุงสต๊อกโฮล์ม สืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเหรียญรางวัลประกาศนียบัตรในประเทศของแต่ละคน

หลังจากรางวัลสาขาฟิสิกส์แล้ว ไม่กี่วันถัดจากนี้จะเป็นการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเคมี สาขาวรรณกรรม สาขาสันติภาพและสาขาเศรษฐศาสตร์เป็นลำดับถัดไป

(ที่มา:รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น