xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยวัสดุนาโนจาก VISTEC คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 39 โดยภายในงานได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธี และกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลผ่านสาร สกสว. โดยภารกิจ สกสว. คือ การขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กำหนดทิศทางและจัดสรรและบริหารงบประมาณด้วยกลไกของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้แก่หน่วยงานในระบบ ววน. 

ทั้งนี้ สกสว.ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ เรื่อง “การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน ตามแผน ววน. ฉบับปี พ.ศ. 2566-2570 โดยมีจุดมุ่งเน้นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน ววน.ให้มีคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่กับการมีสมรรถนะและทักษะสูง ตรงตามความต้องการของประเทศ โอกาสนี้ สกสว.ขอขอบคุณมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ ที่ได้ริเริ่มและจัดกิจกรรมโครงการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง และขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น” และ “นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่” ประจำปี 2564 

ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล
ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.ดร.วินิช พรมอารักษ์ นักวิจัยวัสดุนาโนสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผู้คิดค้น “เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน” (New Solar Cell and Innovative Lighting Technology for Renewable Energy Transformation) ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2564 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท


โดยการคิดค้น “เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน” เป็นการวิจัยและพัฒนาวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์และการประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสร้างนวัตกรรม โดยนำวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์ที่เป็นสารประกอบของคาร์บอนมาออกแบบในระดับโมเลกุลให้มีคุณสมบัติเป็นสารกึ่งตัวนำที่สามารถเปล่งแสงได้ดี ดูดกลืนแสงได้ดี หรือนำไฟฟ้าได้ดี สามารถนำมาใช้แทนวัสดุกึ่งตัวนำซิลิกอนในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดนวัตกรรมของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไดโอดเปล่งแสงอินทรีย์ (OLED) เซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่ อิเล็กทรอนิกส์แบบยืดหยุ่นหรือพับงอได้ เช่น โทรศัพท์มือถือแบบพับงอได้ รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์ได้ โดยงานวิจัยนี้เป็นการบูรณาการด้านเคมี วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ เข้าด้วยกัน โดยสามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดการพัฒนาวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์ประสิทธิภาพสูงและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบ สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์และใช้งานได้จริง


สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2564 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่

1. รศ.ดร.ธีระพงษ์ สุขสำราญ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้คิดค้นและพัฒนาระเบียบวิธีการศึกษาโครงสร้างเชิงคณิตศาสตร์แบบนามธรรมของระบบพีชคณิตที่มีชื่อเรียกว่า "ไจโรกรุ๊ป" (Gyrogroup) ซึ่งเป็นโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการรวมความเร็วแบบไอน์สไตน์ในทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ โดยมีผลงานวิจัยในสาขาคณิตศาสตร์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงทางด้านพีชคณิตและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

2. ดร.สุดเขต ไชโย นักวิจัยเคมีวิเคราะห์เพื่อนวัตกรรมการตรวจวัดและการวินิจฉัย สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดค้น “การพัฒนาเซ็นเซอร์รูปแบบใหม่สำหรับการวิเคราะห์ด้านเคมีและชีวภาพ” เป็นนวัตกรรมการตรวจวัดอย่างง่ายและรวดเร็ว สามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการประเมินความปลอดภัยทางอาหารและการเกษตร รวมไปถึงการพัฒนาเซ็นเซอร์เพื่อการตรวจวัดทางการแพทย์ โดยอาศัยการผสมผสานระหว่างสตริปเทสต์ (Strip Test) และการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้า สำหรับการวินิจฉัยโรคหรือเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพเพื่อเพิ่มความถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

การมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2564 เป็นการมอบรางวัลให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการคัดเลือกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ไทย รวมถึงยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น