xs
xsm
sm
md
lg

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้เป็นของ 3 นักวิชาการในสหรัฐฯ ที่วิจัยเรื่องค่าจ้าง, ตำแหน่งงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการในสหรัฐฯ 3 คนเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2021 นี้ (จากซ้าย) เดวิด คาร์ด แห่งมหาวิทยาแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ โจชัว แองริสต์ แห่งเอ็มไอที และกุยโด อิมเบนส์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ 3 คน เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์เมื่อวันจันทร์ (11 ต.ค.) โดยคนแรกจากผลงานในการศึกษาวิจัยระดับบุกเบิก ซึ่งเปลี่ยนแปลงแนวความคิดเกี่ยวกับกำลังแรงงานที่เคยยึดถือกันอย่างกว้างขวาง ด้วยการแจกแจงให้เห็นว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานน้อยลง และผู้อพยพก็ไม่ได้ทำให้พวกคนงานซึ่งเกิดในพื้นถิ่นได้รับค่าจ้างต่ำลง สำหรับอีก 2 คนนั้นได้รับรางวัลจากการสร้างวิธีการในการศึกษาประเด็นปัญหาทางสังคมจำพวกนี้

เดวิด คาร์ด ซึ่งเกิดในแคนาดา และเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ ได้รับรางวัลไปครึ่งหนึ่ง สำหรับผลงานวิจัยของเขาในเรื่องที่ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ, การอพยพ, และการศึกษา มีผลกระทบกระเทือนตลาดแรงงานอย่างไรบ้าง

ส่วนรางวัลอีกครึ่งหนึ่งนั้นแบ่งกันระหว่าง โจชัว แองริสต์ ซึ่งถือทั้งสัญชาติอเมริกันและอิสราเอล จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และกุยโด อิมเบนส์ ที่กำเนิดในเนเธอร์แลนด์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สำหรับผลงานการวางกรอบโครงของพวกเขา เพื่อใช้ศึกษาประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งไม่สามารถพึ่งพาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ตามแบบแผนธรรมดาได้

ราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ซึ่งเป็นผู้พิจารณาให้รางวัลนี้ ระบุในคำแถลงว่า ทั้ง 3 คนได้ “เปลี่ยนรูปโฉมงานเชิงประจักษ์ (empirical work) ในวิทยาศาสตร์ทางเศรษฐกิจไปอย่างสิ้นเชิง”

การศึกษาวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 คนนี้โดยรวมแล้วมีส่วนช่วยขยายการใช้ “การทดลองโดยธรรมชาติ” (natural experiments) หรือการศึกษาที่อิงอยู่กับการสังเกตการณ์ข้อมูลในโลกจริงๆ ให้แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว โดยการวิจัยเช่นนี้ทำให้เศรษฐศาสตร์สามารถประยุกต์กับชีวิตประจำวันได้มากยิ่งขึ้น และทำให้พวกนักวางนโยบายมีหลักฐานที่เป็นจริงในเรื่องผลลัพธ์ซึ่งเกิดจากนโยบายต่างๆ

เดวิด คาร์ด
ในการศึกษาซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1993 คาร์ดพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรื่องจำนวนตำแหน่งงาน ณ ร้านอาหารฟาสต์ฟูด แบรนด์ เบอร์เกอร์คิง, เคเอฟซี, เวนดีส์, และรอย โรเจอร์ส เมื่อรัฐนิวเจอร์ซีย์ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐจากชั่วโมงละ 4.25 ดอลลาร์ เป็น 5.05 ดอลลาร์ โดยใช้ร้านอาหารฟาสต์ฟูดพวกซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของรัฐเพนซิลเวเนีย (ที่อยู่ติดกับรัฐนิวเจอร์ซีย์) มาเป็นกลุ่มเปรียบเทียบ ปรากฏว่า งานวิจัยของเขาที่ทำร่วมกับ แอลเลน ครูเกอร์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว มีผลลัพธ์ออกมาแบบตรงกันข้ามกับการศึกษาที่เคยทำๆ กันก่อนหน้านั้น กล่าวคือ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีผลต่อเรื่องจำนวนลูกจ้างพนักงาน

งานวิจัยเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของคาร์ดนี้ จึงกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานต่อทัศนะของพวกนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายลักษณะนี้ อย่างที่นิตยสาร “ดิ อีโคโนมิสต์” ชี้เอาไว้ว่า ในการสำรวจความคิดเห็นของพวกสมาชิกสมาคมเศรษฐกิจอเมริกันเมื่อปี 1992 พบว่า 79% ทีเดียวเห็นพ้องกันว่ากฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มอัตราการว่างงานในหมู่คนงานอายุน้อยและทักษะต่ำ ทัศนะเช่นนี้ส่วนใหญ่แล้วอิงอยู่กับแนวคิดทางเศรษฐกิจดั้งเดิมว่าด้วยอุปสงค์และอุปทาน นั่นคือ ถ้าคุณขึ้นราคาอะไรอย่างหนึ่ง คุณก็จะได้สิ่งนั้นลดน้อยลง

อย่างไรก็ดี เมื่อถึงปี 2000 มีสมาชิกสมาคมนี้เพียง 46% เท่านั้นที่บอกว่ากฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มจำนวนคนว่างงาน ซึ่งที่สำคัญแล้วเนื่องมาจากงานวิจัยของคาร์ดและครูเกอร์นั่นเอง

การค้นพบของพวกเขายังจุดประกายให้เกิดความสนใจในการทำวิจัยต่อไปอีกว่า ทำไมค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้นจึงไม่ลดอัตราการจ้างงาน หนึ่งในข้อสรุปที่ออกมาก็คือ บริษัทต่างๆ สามารถที่จะผลักภาระต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้นนี้ไปให้แก่พวกลูกค้า ด้วยการขึ้นราคาสินค้า นอกจากนั้น ยังมีกรณีอื่นๆ ซึ่งมีเหตุผลที่แตกต่างออกไป เป็นต้นว่า ถ้าบริษัทแห่งหนึ่งเป็นนายจ้างรายสำคัญในพื้นที่เฉพาะเจาะจงแห่งหนึ่ง บริษัทก็อาจจะสามารถคงค่าจ้างเอาไว้ให้ต่ำเป็นพิเศษ ดังนั้น บริษัทจึงสามารถที่จะจ่ายเงินค่าจ้างขั้นต่ำที่ขยับสูงขึ้นได้ เมื่อจำเป็นต้องทำเช่นนั้น โดยไม่ต้องไปตัดลดจำนวนลูกจ้างพนักงาน นอกจากนั้นแล้ว ค่าจ้างที่สูงขึ้นยังเป็นการดึงดูดให้มีผู้มาสมัครทำงานมากขึ้น เป็นการเพิ่มพูนซัปพลายแรงงานอีกด้วย

ในการศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง คาร์ดพบว่าการที่มีผู้อพยพไหลทะลักเข้ามาในเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง ไม่ได้ทำให้คนงานพื้นถิ่นต้องสูญเสียงาน หรือทำให้รายได้ของพวกเขาลดต่ำลง ถึงแม้ว่าการเข้ามาของผู้อพยพในตอนแรกๆ สามารถที่จะมีผลกระทบกระเทือนในทางลบก็ตาม

ข้อสรุปเรื่องนี้ของ คาร์ด มาจากการศึกษาตลาดแรงงานในเมืองไมอามี สืบเนื่องจากการที่คิวบาตัดสินใจอย่างฉับพลันที่จะปล่อยให้ประชาชนอพยพออกจากประเทศเมื่อปี 1980 ทำให้มีผู้คนราว 125,000 อพยพออกมายังสหรัฐฯ โดยที่ส่งผลให้เมืองไมอามีมีกำลังแรงงานเพิ่มสูงขึ้นราว 7% ด้วยการเปรียบเทียบวิวัฒนาการของค่าจ้างและการจ้างงานในเมืองใหญ่อื่นๆ อีก 4 แห่ง คาร์ดค้นพบว่าการทะลักเข้ามาของผู้อพยพชาวคิวบา ไม่ได้มีผลลัพธ์ในทางลบใดๆ ต่อชาวเมืองไมอามีที่มีการศึกษาในระดับต่ำ ขณะที่งานศึกษาชิ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า ผู้อพยพที่เพิ่มจำนวนขึ้นสามารถส่งผลกระทบในทางบวกต่อรายได้ของผู้คนที่กำเนิดในสหรัฐฯ เอง

โจชัว แองริสต์ และ มิรา ภรรยาของเขา

กุยโด อิมเบนส์
สำหรับ แองริสต์ และอิมเบนส์ ชนะรางวัลอีกครึ่งหนึ่งของพวกเขา จากการหาวิธีแก้ไขประเด็นปัญหาทางระเบียบวิธี ซึ่งเปิดทางให้พวกนักเศรษฐศาสตร์สามารถบรรลุข้อสรุปอันหนักแน่นว่าอะไรเป็นเหตุและอะไรเป็นผล แม้กระทั่งในจุดที่พวกเขาไม่สามารถดำเนินการศึกษาตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัดก็ตามที

ผลงานของ คาร์ด ในเรื่องค่าจ้างขึ้นต่ำ เป็นหนึ่งในการทดลองโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ปัญหาของการทดลองเช่นนี้มีอยู่ว่า บางครั้งมันเป็นเรื่องยากลำบากที่จะแยกแยะออกมาให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นเหตุและอะไรเป็นผล ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการที่จะรู้ให้แน่ๆ ว่า การศึกษาเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ปี จะทำให้บุคคลคนนั้นมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ คุณก็อาจจะคิดว่าสามารถใช้วิธีง่ายๆ คือ เปรียบเทียบรายได้ของผู้ใหญ่ที่เรียนหนังสือเพิ่มขึ้น 1 ปี กับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เรียนเพิ่ม

ทว่าเอาเข้าจริงแล้วมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่อาจจะตัวตัดสินว่าพวกที่เรียนเพิ่ม 1 ปีสามารถที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ เช่น บางที พวกเขาอาจเป็นคนงานที่ทำงานหนักกว่าคนที่ไม่ได้เรียน หรือเฉลียวฉลาดกว่า และดังนั้นจึงสามารถทำเงินได้มากกว่าคนที่ไม่ได้เรียนเพิ่มอีก 1 ปีอยู่แล้ว กระทั่งว่าถ้าเขาไม่ได้ไปเรียนก็ตาม ประเด็นปัญหาชนิดนี้เองเป็นเหตุให้พวกนักเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์อื่นๆ พูดกันว่า “สหสัมพันธ์ (การมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน) ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามันเป็นเหตุเป็นผลกัน”

อย่างไรก็ตาม อิมเบนส์ และแองริสต์ พิจารณาถึงวิธีการต่างๆ ในการแยกแยกผลของเรื่องอย่างเช่นการเรียนเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี วิธีการของพวกเขาทำให้พวกนักวิจัยสามารถบรรลุข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นมากเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นเหตุและสิ่งที่เป็นผล

(ที่มา : เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น