xs
xsm
sm
md
lg

โสมแดงคุยทดสอบ ‘ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก’ สำเร็จ เปิดตัวแข่งมหาอำนาจพัฒนาอาวุธเร็วเหนือเสียง 5 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพที่ได้รับจากรัฐบาลเกาหลีเหนือซึ่งระบุว่า เป็นภาพการทดสอบยิงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกรุ่นใหม่ จากจังหวัดจากัง ของโสมแดงในวันอังคาร (28 ก.ย.)  ทั้งนี้โสมแดงคุยว่าการทดสอบประสบความสำเร็จเป็นอันดี
เกาหลีเหนืออ้างในวันพุธ (29 ก.ย.) ประสบความสำเร็จในการทดสอบยิง “ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก” ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่ๆ นับเป็นการเปิดตัวลงสู่สนามประลองการพัฒนาระบบอาวุธสุดล้ำประเภทที่ต้องมีความเร็วระดับเหนือเสียง 5 เท่าขึ้นไป ซึ่งขณะนี้มีเพียง 3 มหาอำนาจ อเมริกา รัสเซีย และจีนชิงดำกันอยู่

เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธลูกนี้ไปตกในทะเลนอกชายฝั่งด้านตะวันออกเมื่อวันอังคาร (28) กองทัพเกาหลีใต้แถลงในวันพุธ (29) โดยที่ในวันเดียวกันนั้น เปียงยางยังออกมาเรียกร้องให้อเมริกาและเกาหลีใต้ยุติพฤติกรรม “สองมาตรฐาน” เกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาวุธเพื่อฟื้นการเจรจาที่สะดุดมาตั้งแต่ปี 2019

ทางด้าน ซุง คิม ผู้แทนพิเศษเรื่องเกาหลีเหนือของสหรัฐฯ แถลงว่า การทดสอบครั้งล่าสุดเป็นพฤติการณ์บ่อนทำลายเสถียรภาพและคุกคามต่อภูมิภาค กระนั้น วอชิงตันจะยังคงผลักดันความพยายามทางการทูตเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีต่อไป

“เรากำลังเฝ้ารอฟังสิ่งที่จะกลับออกมาจากเปียงยาง เราได้มีการติดต่อประสานไปตามช่องทางต่างๆ จำนวนหนึ่ง ... และเสนอให้มีการสนทนากันในหัวข้อต่างๆ อย่างกว้างขวาง” เขากล่าวกับเวทีประชุมแบบเสมือนจริงนัดหนึ่ง โดยพูดจากกรุงจาการ์ตา ซึ่งเขายังคงดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก มีความแตกต่างจากขีปนาวุธทิ้งตัว ซึ่งหลังจากยิงออกไปจะพุ่งสูงออกนอกอวกาศ ก่อนทิ้งตัวลงในแนวดิ่งพุ่งเข้าสู่เป้าหมาย แต่ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกจะยิงขึ้นสู่ระดับที่ต่ำลงมา จากนั้นส่วนที่เป็นหัวรบจะแยกออกและพุ่งเข้าสู่เป้าหมาย โดยมีพาหนะนำร่อน (glide vehicle) เป็นตัวนำวิถี ซึ่งหากเป็นไฮเปอร์โซนิกขนานแท้จะต้องสามารถพุ่งสู่เป้าหมายได้ด้วยความเร็วสูงกว่าเสียง 5 เท่า (มัค 5) หรือราวๆ 6,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป

อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะเสนาธิการทหารร่วมของเกาหลีใต้ระบุว่า ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของโสมแดงยังอยู่ในขั้นต้นของการพัฒนาเท่านั้น โดยอ้างอิงจากการที่สามารถตรวจจับความเร็วและข้อมูลอื่นๆ ได้ และสำทับว่า เกาหลีเหนือต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะใช้งานเทคโนโลยีนี้ได้

ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ ฝ่ายเกาหลีใต้เพิ่งประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวแบบยิงจากเรือดำน้ำ (SLBM) เป็นครั้งแรก และกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูงนี้

ทว่า สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเปียงยางระบุว่า การพัฒนาระบบอาวุธไฮเปอร์โซนิกครั้งนี้ทำให้เกาหลีเหนือมีศักยภาพในการป้องกันตนเองมากขึ้นถึงพันเท่า และสำทับว่า ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกเป็น “อาวุธที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์” โดยเป็น 1 ใน 5 ภารกิจสำคัญสูงสุดในแผนการระยะ 5 ปีสำหรับอาวุธทางยุทธศาสตร์

จากรายงานของเคซีเอ็นเอ แสดงให้เห็นว่า คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ไม่ได้ไปตรวจสอบการปล่อยขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกคราวนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “ฮวาซอง-8”

เคซีเอ็นเอยังรายงานว่า จากการทดสอบครั้งแรก นักวิจัยด้านกลาโหมแห่งชาติสามารถยืนยันในเรื่องการควบคุมการนำทางและความเสถียร “ฮวาซอง-8” และเสริมว่า ขีปนาวุธนี้บรรลุเป้าหมายทางเทคนิค ซึ่งรวมไปถึงเรื่องความสามารถในการเคลื่อนตัว และคุณสมบัติของการบินแบบนำวิถีของหัวรบติดพาหนะนำร่อนไฮเปอร์โซนิก

อาวุธไฮเปอร์โซนิกถือเป็นอาวุธรุ่นใหม่ที่ระดับความเร็วของมันสามารถหลบเลี่ยงระบบป้องกันขีปนาวุธสกัดกั้นที่มีกันอยู่ในเวลานนี้ได้มากขึ้น และการทดสอบนี้เท่ากับว่า เกาหลีเหนือลงสู่สนามแข่งขันพัฒนาอาวุธไฮเทคนี้ที่ปัจจุบันมีเพียงอเมริกา รัสเซีย และจีนประชันฝีมือกันอยู่

วันจันทร์ที่ผ่านมา (27) อเมริกาประกาศว่า ได้ทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิกระบบแอร์-บรีธติง ถือเป็นการทดสอบอาวุธระดับชั้นนี้ที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกนับจากปี 2013

เดือนกรกฎาคม รัสเซียประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธร่อนไฮเปอร์โซนิก ซีร์คอน ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศว่า เป็นส่วนหนึ่งของระบบขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่ไร้เทียมทาน

อย่างไรก็ดี ชาง ยองเกิน ผู้เชี่ยวชาญด้านขีปนาวุธของมหาวิทยาลัยการบินและอวกาศเกาหลี ชี้ว่า การทดสอบพาหนะนำร่อนไฮเปอร์โซนิก ของเกาหลีเหนือในครั้งนี้ มีแนวโน้มล้มเหลว เนื่องจากความเร็วในการบินอยู่ที่เพียงมัค 2.5 ตามรายงานข่าวกรองทางทหารของเกาหลีใต้ ซึ่งถือว่า ยังห่างชั้นจากระบบไฮเปอร์โซนิกของอเมริกา รัสเซีย หรือจีน นอกจากนั้น ขณะนี้ยังดูเหมือนเปียงยางเล็งพัฒนาเพียงขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่ยิงได้ถึงเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นเท่านั้น

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น