(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Taliban lineup reveals Pakistan intel’s hidden hand
by MK Bhadrakumar
09/09/2021
ไม่ว่าปักกิ่ง, มอสโก, หรือเตหะราน ต่างก็ถูกหลอกลวงด้วยถ้อยคำโวหารของฝ่ายปากีสถานในเรื่องที่ว่า รัฐบาลที่ตอลิบานจะจัดตั้งขึ้นในคาบูล จะเป็น“รัฐบาลแบบที่เปิดทางให้ฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมด้วย”
บรรดารัฐในภูมิภาค จะต้องรู้สึกหวาดผวาอย่างหนักจากวิธีการอันโจ่งแจ้งไม่แคร์อะไรทั้งนั้นของ พลโท ฟาอิซ ฮามีด (Lieutenant General Faiz Hameed) ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (Inter-Services Intelligence หรือ ISI) ของปากีสถาน เพื่อบีบคั้นบังคับให้ตอลิบานต้องประกาศรายชื่อคณะรัฐบาลชั่วคราวของอัฟกานิสถาน ที่รับประกันได้ว่า ไอเอสไอ จะยังคงสามารถรักษาการควบคุมและมีอำนาจเหนือทุกๆ ระดับในกรุงคาบูลเอาไว้ได้
มีหลายอย่างมากมายทีเดียวที่ต้องตั้งข้อสังเกตเอาไว้ เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกกันว่าคณะรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งตอลิบานประกาศออกมาเมื่อวันอังคาร (7 ก.ย.) ตั้งแต่การที่ มุลลาห์ อับดุล กานี บาราดาร์ (Mullah Abdul Ghani Baradar) หัวหน้าใหญ่ทางฝ่ายการเมือง “ที่มีแนวคิดแบบสายกลาง” ซึ่งเป็นที่ทึกทักกันอยู่ทั่วไปว่าเขาเป็นหมายเลข 2 ในการจัดลำดับชั้นของตอลิบานนั้น กลับได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของ มุลลาห์ ฮาซาน อาคุนด์ (Mullah Hasan Akhund) ซึ่งจะก้าวขึ้นเป็นผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี
บาราดาร์ เป็นผู้นำคณะผู้แทนของตอลิบาน ณ การเจรจาที่โดฮา และก่อนหน้านี้ได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางว่าน่าที่จะได้เป็นหัวหน้าของคณะรัฐบาลชุดใหม่ชุดนี้ แต่แล้วเขากลับถูกนำเอาไปใส่ไว้ในจุดที่ไร้ความสลักสำคัญ –นั่นคือได้รับตำแหน่งที่ดูมีเกียรติ ทว่าโดยปกติแล้วย่อมถูกจำกัดตีกรอบเอาไว้ให้ขยับเขยื้อนไม่ค่อยออก ขณะที่ มุลลาห์ อาคุนด์ จะเป็นผู้กุมบังเหียนอย่างเต็มที่
อาคุนด์ ผู้นี้ถือเป็นบุคคลที่ลึกลับเป็นปริศนามากที่สุดคนหนึ่งในขบวนการตอลิบาน เขาไม่ได้เข้าร่วมใน “สงครามญิฮาด” ต่อต้านพวกโซเวียตในยุคทศวรรษ 1980 แต่ปรากฎตัวก้าวผงาดขึ้นมาในสภาชูเราะห์ (shura council) แห่งต่างๆ ในฐานะเป็น “นักคิดนักอุดมการณ์” ผู้ทรงอำนาจของขบวนการนี้
เขาถูกระบุอย่างเจาะจงว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเป็นพิเศษ สำหรับการทำลายพระพุทธรูปแห่งบามิยัน ที่เป็นพระพุทธรูปขนาดมหึมาอายุเก่าแก่ 1,500 ปีจำนวน 2 องค์เมื่อปี 2001 และมีบทบาทเป็นหลักแกนสำคัญในการพัฒนาอัตลักษณ์ทางศาสนาของตอลิบาน โดยมีรากเหง้าอยู่ในอุดมการณ์สำนักคิดอิสลามิสต์ที่เข้มงวดเคร่งครัด ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า ลัทธิดีโอบันดี (Deobandism)
อาคุนด์ เป็นผู้บงการสร้างเหตุผลความชอบธรรมในทางความคิดอุดมการณ์ให้แก่การก่อความไม่สงบต่อต้านรัฐบาลอัฟกัน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ จุดสำคัญที่ต้องระบุเอาไว้ก็คือ เขาดำเนินการสิ่งต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้แทบทั้งหมดทีเดียว จากปากีสถานซึ่งเขาใช้เป็นที่พักพิงลี้ภัยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
เส้นสายสัมพันธ์ในหมู่ชาวปาชตุน (ปาทาน) ซึ่งสมบูรณ์แบบไม่มีที่ติของ อาคุนด์ นั้น ได้มาจากเผ่าเดอร์รานี (Durrani tribe) ที่ทรงอำนาจมากจากกันดาฮาร์ ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วเป็นผู้ที่เจิมรับรองการขึ้นสู่อำนาจของเหล่าผู้ปกครองชาวอัฟกัน หลังจากการล้มครืนในปี 2001 ของระบอบปกครองตอลิบาน ซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่ อาคุนด์ยังคงสามารถเข้าครองตำแหน่งทรงอำนาจในฐานะเป็นหัวหน้าของสภาชูเราะห์ ราห์บารี (Rahbari Shura) ที่เป็นชูเราะห์ของพวกผู้นำ และบ่อยครั้งมักเรียกขานกันว่า “สภาชูเราะห์เควตตา” (Quetta Shura) ซึ่ง ไอเอสไอ รวบรวมจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้วางแผนกลอุบายสำหรับทำให้ตอลิบานขึ้นครองอำนาจเป็นครั้งที่สอง
การเตะโด่ง บาราดาร์ ออกมานอกเส้นทาง ยังถือว่ามีเหตุผลมาจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างเขากับเครือข่ายฮักกานี ไอเอสไอนั้นถือเป็ผู้ที่มีสิทธิมีเสียงตัดสินเรื่องนี้ในขั้นสุดท้าย การที่ บาราดาร์ เดินแผนการเมืองแบบมุ่งรอมชอมกับ ฮามิด การ์ไซ ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในเวลานั้น เคยเป็นสาเหตุทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ในคุกของ ไอเอสไอ เป็นเวลา 8 ปี –จวบจนกระทั่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯในตอนนั้น ต้องการเขาในโดฮา ไอเอสไอนั้นไม่เคยไว้วางใจบาราดาร์เลย
สิ่งที่น่าตื่นตะลึงที่สุดเกี่ยวกับ อาคุนด์ ก็คือ การยึดมั่นในความเชื่อหลายสิ่งหลายอย่างแบบหัวชนฝาของเขา ซึ่งก็รวมถึงเรื่องการต้องปฏิบัติต่อผู้หญิงในฐานะเป็นเพียงทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ได้ของผู้ชาย โดยมีหน้าที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูก ตลอดจนเรื่องการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยทางนิกายศาสนาแบบถือว่าเป็นรูปแบบชีวิตชั้นต่ำกว่า
เขายึดมั่นอย่างเหนียวแน่นดื้อรั้นในประเด็นปัญหาต่างๆ ทางด้านสิทธิพลเมือง คำวินิจฉัยต่างๆ ทางศาสนาของเขาในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งตอลิบานยอมรับนำไปใช้ปฏิบัตินั้น มีอาทิ การห้ามไม่ให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ , การบังคับให้ผู้ชายและผู้หญิงต้องแยกห่างจากกันอย่างเข้มงวด, และการบังคับให้ต้องแต่งกายตามหลักศาสนาที่เคร่งครัด
เมื่อมองย้อนหลังทบทวนดูแล้ว บาราดาร์ ทำหน้าที่เป็นเพียงหน้าฉากสำหรับใช้โอ่อวดแก่ประชาคมระหว่างประเทศที่โดฮาเท่านั้นเอง เมื่อต้องถูกขนาบจากอาคุนด์ข้างหนึ่ง และซิราจุดดิน ฮักกานี (Sirajuddin Haqqani) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ทางอีกข้างหนึ่ง บาราดาร์จะพบว่าตนเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบคั้นขยับเขยื้อนลำบาก
ไม่ต้องสงสัยเลย ซิราจุดดีนเป็นผู้ที่ได้รับการดูแลอย่างเป็นพิเศษจาก ไอเอสไอ การที่เขาได้รับแต่งตั้งครั้งนี้คือข่าวที่ชวนสยดสยองสำหรับอินเดีย แต่คำถามใหญ่สำหรนับอนาคตแล้วกลับเป็นเรื่องเกี่ยวกับสมการของสหรัฐฯกับเครือข่ายฮักกานี
ตำนานที่ชอบเล่าขานกันซ้ำแล้วซ้ำอีกก็คือ สำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation หรือ FBI) ของสหรัฐฯ ออกประกาศให้ “รางวัลสูงสุด 10 ล้านดอลลาร์สำหรับข้อมูลข่าวสารที่นำตรงไปสู่การจับกุม ซิราจุดดิน ฮักกานี” พร้อมกับข้อความโน้มน้าวเรียกร้องว่า “ถ้าท่านมีข้อมูลข่าวสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้นี้ โปรดติดต่อสำนักงานเอฟบีไอท้องถิ่นของท่าน หรือสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลอเมริกันที่อยู่ใกล้ที่สุด”
เอฟบีไอ เรียก ซิราจุดดิน ว่าเป็น “ผู้ที่ได้รับการระบุอย่างเจาะจงว่าเป็นผู้ก่อการร้ายระดับโลกรายหนึ่ง” ซึ่งมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์ ทว่าสิ่งที่เป็นข้อกล่าวหานำมาใช้เล้นงานเขานั้นกลับไม่ได้มีสาระหนักแน่นและยังคงเป็นการใช้ถ้อยคำอย่างกำกวมคลุมเครือ
ซิราจุดดิน เป็นที่ “ต้องการตัวเพื่อสอบปากคำในเรื่องการเกี่ยวพันกับการโจมตีโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อเดือนมกราคม 2008 ซึ่งสังหารผู้คนไป 6 คน ในจำนวนนี้เป็นพลเมืองอเมริกัน 1 คน
เชื่อกันว่า เขาเป็นผู้ประสานงานและเข้าร่วมในการโจมตีข้ามชายแดนหลายครั้งที่มุ่งเล่นงานสหรัฐฯและพวกกองกำลังพันธมิตรในอัฟกานิสถาน ฮักกานียังถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องพัวพันกับการวางแผนเพื่อพยายามยามลอบสังหารประธานาธิบดีคาร์ไซ ของอัฟกานิสถานขณะนั้นเมื่อปี 2008
เวลาเดียวกันนี้ ประกาศที่ดูเหลวไหลน่าขันของเอฟบีไอฉบับนี้ ยังกล่าวอีกว่า “คิดเห็นกันว่า ฮักกานี พำนักอยู่ในปากีสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตำบลมิรัมชาห์ (Miram Shah) เขตนอร์ท วาซิริสถาน (North Waziristan) ประเทศปากีสถาน”
ก็ถ้าหากสหรัฐฯสามารถรวบตัว อุซามะห์ บิน ลาดิน จากเมืองในปากีสถานแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายทหารด้วยซ้ำไป ทำไมพวกเขาต้องเอาต์ซอร์ซภารกิจจับกุม ซาราจุดดิน ฮักกานี ออกไปให้คนนอกทำ ในแบบปิดประกาศ “จับเป็นหรือจับตาย” ตามบาร์และซ่องโสเภณีทุกแห่งในยุคบุกเบิกตะวันตกเช่นนี้ด้วย?
จุดสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า เมื่อสืบค้นย้อนหลังเรื่องราวในอดีตของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มันก็แสดงให้เห็นด้วยว่า สหรัฐฯกับพวกฮักกานีนั้นมีสายสัมพันธ์กันอย่างยาวนานทีเดียว
กลุ่มมูจาฮีดีนของ จาลาลุดดิน ฮักกานี นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นนักรบญิฮาดในยุคทศวรรษ 1980 เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจาก มูฮัมหมัด เซีย-อุล-ฮัก (Muhammad Zia-ul-Haq) จอมเผด็จการของปากีสถานในเวลานั้น จนเปิดทางให้ติดต่อทำความตกลงโดยตรงกับสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐฯ แล้วแน่นอนล่ะ ซีไอเอก็พูดถึงเขาเอาไว้ว่า เป็นทรัพย์สิน ที่ภักดีต่อตนเพียง “ฝ่ายเดียว” ซึ่งทำให้เขาได้รับเงินสดโดยตรงไปหลายสิบล้านดอลลาร์
จริงๆ แล้ว เมื่อถึงเวลาที่ซีไอเอต้องขนย้าย อุซามะห์ บิน ลาดิน จากซูดานไปยังอัฟกานิสถาน ผู้หลบหนีร่อนเร่ผู้นี้จะถูกทิ้งเอาไว้ให้กับใครในอัฟกานิสถานได้ล่ะจึงจะได้รับการคุ้มครองให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย นอกเหนือจาก จาลาลุดดิน แล้ว? นี่แหละความผูกพันกันอยู่ในระดับเหนียวแน่นเช่นนี้
เป็นความจริง ในเวลาต่อมา จาลาลุดดิน ปฏิเสธไม่ยอมทรยศ บิน ลาดิน และเป็นไปได้ว่าได้ช่วยเหลือเขาให้สามารถหลบหนีออกจากตาข่ายของฝ่ายอเมริกัน ในพื้นที่กว้างขวางเต็มไปด้วยถ้ำของภูเขาโตราโบรา (Tora Bora mountain) เมื่อเดือนธันวาคม 2001 อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าหลังจากนั้นแล้วทั้งสองฝ่ายก็มุ่งหน้าไปตามทางของตนเอง
ในความเป็นจริง พลโท จอห์น นิโคลสัน (Lieutenant General John Nicholson) ได้บอกกับคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ (US Senate Armed Services Committee) ระหว่างที่เขาไปให้ปากคำเพื่อให้ทางสภาสูงพิจารณาอนุมัติรับรอง การแต่งตั้งเขาเป็นผู้บังคับบัญชาของกองทหารสหรัฐฯและกองทหารนาโต้ในอัฟกานิสถาน ในเดือนมกราคม 2016 ว่าการปฏิบัติการต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้ายของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานนั้น ไม่ได้พุ่งเป้าหมายไปที่พวกนักรบของเครือข่ายฮักกานี
ทั้งนี้ นายพลผู้นี้พูดเอาไว้ดังนี้: “พวกเขาไม่ได้อยู่ในส่วนของการได้รับมอบหมายหน้าที่ในเวลานี้ ... พวกฮักกานีนั้นที่สำคัญแล้วเป็นจุดเน้นหนักของพวกกองกำลังความมั่นคงชาวอัฟกัน”
นิโคลสันให้คำอธิบายอย่างฝืดๆ ว่า การปฏิบัติการต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้ายของสหรัฐฯ มุ่งโฟกัสไปที่กลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่มรัฐอิสลาม สหรัฐฯนั้นคาดหมายว่าปากีสถานจะใช้แรงกดดันต่อพวกฮักกานีอย่างมากเพียงพอ ในการป้องกันไม่ให้พวกเขาปฏิบัติการโจมตีข้ามพรมแดนจากปากีสถาน
นายพลผู้นี้ยังคงแสดงท่าทีเมตตาผ่อนปรนในการอ้างเหตุผลอย่างมีชั้นเชิงคราวนั้น ซึ่งเป็นระยะเวลา 8 ปีหลังจากที่เครือข่ายฮักกานีโจมตีเล่นงานสถานเอกอัครราชทูตอินเดียในกรุงคาบูล
มันเป็นเรื่องน่าอับอายและน่าสะอิดสะเอียน ไม่มีอะไรน้อยไปกว่านี้แล้ว สำหรับการที่อินเดียยังคงดำเนินนโยบายต่างๆ ในอัฟกานิสถานไปตามแนวทางของสหรัฐฯอย่างเชื่อฟังมาโดยตลอด –จวบจนกระทั่งถึงวันนี้ และมันก็จะยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่นั่นเอง จนกระทั่งมีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย กำลังเฝ้ารอคอยที่ได้หารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการประชุมคู่ขนานของการประชุมซัมมิตกลุ่มคว็อดในกรุงวอชิงตัน เกี่ยวกับวิธีการในการเพิ่มความร่วมมือและการประสานงานกันของทั้งสองฝ่ายให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในสภาวการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้
คราวนี้ ลองหันมาพิจารณากันว่า มาวลาวี อามีร์ ข่าน มุตตากี (Maulawi Amir Khan Muttaqi) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลชั่วคราวของตอลิบานชุดนี้เป็นใครกัน?
ปีเตอร์ ทอมเสน (Peter Tomsen) ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯดูแลเรื่องอัฟกานิสถาน (US special envoy on Afghanistan) ในระหว่างปี 1989 ถึงปี 1992 ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือระดับคลาสสิกของเขาเรื่อง “The Wars of Afghanistan: Messianic Terrorism, Tribal Conflicts, and the Failures of Great Powers ” (สงครามอัฟกานิสถาน: การก่อการร้ายแบบได้รับแรงบันดาลใจจากพระเจ้า, ความขัดแย้งระหว่างชนเผ่า, และความล้มเหลวของพวกมหาอำนาจยิ่งใหญ่) ว่า ประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์รัฟ (Pervez Musharraf) ของปากีสถาน ได้โทรศัพท์เป็นการส่วนตัวถึงประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายน 2001 หรือราวๆ นั้น เพื่อขอดำเนินการอพยพทางอากาศแบบวีไอพีออกไปจากคุนดุซ (Kunduz) ในอัฟกานิสถาน ซึ่งกำลังถูกปิดล้อมจากกองกำลังอาวุธของกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ (Northern Alliance) ที่อยู่ภายใต้ ราชิด ดอสตุม (Rashid Dostum) (โดยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทหารปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯด้วย) ในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการโจมตีสหรัฐฯในวันที่ 11 กันยายน 2001
บุช กับ รองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ (Dick Cheney) ได้อนุมัติเห็นชอบคำร้องขอเป็นการส่วนตัวของมูชารัฟคราวนั้น ซีย์มัวร์ เฮอร์ช (Seymour Hersh) นักหนังสือ้พิมพ์แนวสืบสวนผู้มีชื่อเสียงได้เขียนเอาไว้ในเวลาต่อมา โดยได้รับการบอกเล่าจากแหล่งข่าวที่เป็นอดีตซีไอเอหลายต่อหลายรายว่า กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US Central Command กองบัญชาการทหารของสหรัฐฯที่กำกับดูแลกำลังทหารทั้งหมดในภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชียกลาง ไปจนถึงอัฟกานิสถาน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/United_States_Central_Command -ผู้แปล) ได้จัดให้มีพื้นที่น่านฟ้าเพื่อเป็นระเบียงทางอากาศพิเศษสำหรับออกจากคุนดุซขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการรับประกันความปลอดภัยของเที่ยวบินทหารปากีสถานในการอพยพทางอากาศดังกล่าว
มีคนเกือบๆ 1,000 คนทีเดียว ในจำนวนนี้ก็รวมไปถึงพวกสมาชิกของอัลกออิดะห์ด้วย ที่ได้รับการอพยพทางอากาศจากคุนดุซคราวนั้น (ซึ่งมีชื่อโด่งดังเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “การอพยพทางอากาศของปีศาจร้าย” Airlift of Evil) โดยเดินทางไปยังพวกค่ายทหารที่อยู่ไกลโพ้นในเขตชิตรัล (Chitral) และ กิลกิต (Gilgit) ในดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่บริหารปกครองโดยปากีสถาน และข่าวลือข่าวหนึ่งออกมาว่า หนึ่งในบุคคลระดับวีไอพีได้ถูกอพยพออกมาในคราวนั้น นอกเหนือจากพวกนายทหารระดับอาวุโสของปากีสถานแล้ว ก็คือ มาวลาวี อามีร์ ข่าน มุตตากี (Maulawi Amir Khan Muttaqi) นั่นแสดงให้เห็นว่า ไอเอสไอมองเห็นตั้งแต่ตอนนั้น ถึงชะตาชีวิตอันยิ่งใหญ่ในอนาคตสำหรับมุตตากี
ปากีสถานสามารถที่จะเอาตัวรอดจากการดำเนินการทั้งหมดเหล่านี้ได้หรือไม่? รัฐบาลชั่วคราวชุดนี้จะไม่สามารถบินฉลุยได้อย่างง่ายดายหรอก แต่ในขณะเดียวกันก็จะไม่เหี่ยวเฉาแห้งตายไปเช่นกัน ถึงแม้มันยังอาจถูกปรับเปลี่ยนกันเสียใหม่ก็ได้ พวกเมืองหลวงต่างๆ ในภูมิภาคจะแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจกันออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ – เตหะราน และมอสโก (และเป็นไปได้ว่ากระทั่ง ปักกิ่ง ด้วย) พวกเขาล้วนแต่ถูกหลอกลวงด้วยถ้อยคำโวหารของฝ่ายปากีสถานในเรื่องที่ตอลิบานจะจัดตั้ง “รัฐบาลแบบที่มีฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมด้วย”
ปากีสถานหาญกล้าที่จะกระทำเรื่องเสี่ยงๆ เช่นนี้ เนื่องจากการประเมินอย่างเลือดเย็นว่า สหรัฐฯและพวกพันธมิตรตะวันตกจะต้องยอมมีปฏิสัมพันธ์กับตอลิบานในทันทีที่สถานการณ์ค่อยๆ สงบลง การที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร โดมินิก ราบบ์ (Dominic Rabb) เดินทางไปเยือนกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงปากีสถานในวันที่ 3 กันยายน คือเครื่องย้ำยืนยัน
ในวันที่ 5 กันยายน พลโทฮามีด ผู้อำนวยการไอเอสไอ ขึ้นเครื่องบินเดินทางไปยังคาบูล พอถึงวันที่ 7 กันยายน เราก็เห็นกันแล้วว่าตอลิบานตอบสนองการเป่านกหวีดเรียกสุนัขของเขา
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย