เสียงปืนเฉลิมฉลองดังกึกก้องทั่วกรุงคาบูล ทันทีที่นักรบตอลิบานเข้าควบคุมสนามบินของเมืองหลวง ภายหลังกองทหารอเมริกันชุดสุดท้ายขึ้นเครื่องบินเดินทางออกไปจากอัฟกานิสถาน ปิดฉากสงครามที่ยาวนาน 2 ทศวรรษ ซึ่งนอกจากกลุ่มอิสลามิสต์กลุ่มนี้จะฟื้นคืนสู่อำนาจแล้ว ยังมีความแกร่งกล้ายิ่งกว่าเมื่อตอนถูกรุกรานและโค่นล้มในปี 2001 เสียอีก
คลิปวิดีโอถ่ายทำอย่างง่ายๆ ที่ตอลิบานเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (31 ส.ค.) เป็นภาพนักรบของกลุ่มเข้าสู่สนามบินคาบูล หลังจากทหารอเมริกันชุดสุดท้ายขึ้นเครื่องบินขนส่งซี-17 ออกจากสนามบินก่อนเวลาเที่ยงคืนวันจันทร์เพียง 1 นาที ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการถอนกำลังอย่างรีบเร่งและน่าอัปยศสำหรับวอชิงตันและพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)
ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกของตอลิบานกล่าวระหว่างการแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นที่สนามบินภายหลังการจากไปของอเมริกันว่า นี่เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์และช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์” และ “เรามีความภาคภูมิใจในช่วงเวลาเหล่านี้ ที่เราสามารถปลดปล่อยประเทศจากมหาอำนาจยิ่งใหญ่” พร้อมกับระบุว่า ชัยชนะครั้งนี้ยังเป็น “บทเรียนสำหรับผู้รุกรานอื่นๆ”
ขณะเดียวกัน เพนตากอนเผยแพร่ภาพจากกล้องมองกลางคืนที่เป็นภาพ พล.ต.คริส โดโนฮิว ผู้บัญชาการของกองพลส่งทางอากาศที่ 82 ผู้เป็นทหารอเมริกันคนสุดท้ายที่ก้าวขึ้นเครื่องบิน ในเที่ยวบินสุดท้ายของการอพยพทางอากาศจากคาบูล
สงครามในอัฟกานิสถานซึ่งเป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดของอเมริกานำมาซึ่งการสูญเสียทหารเกือบ 2,500 นาย และค่าใช้จ่ายราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังมีชาวอัฟกันเสียชีวิตถึง 240,000 คน
แม้ประสบความสำเร็จในการโค่นอำนาจตอลิบาน และป้องกันไม่ให้อัฟกานิสถานเป็นฐานของอัล-กออิดะห์ในการโจมตีอเมริกา แต่สงครามครั้งนี้จบลงด้วยการที่ตอลิบานสามารถควบคุมดินแดนในอัฟกานิสถานได้มากกว่าเมื่อครั้งปกครองประเทศเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
ระหว่างปี 1996-2001 ตอลิบานปกครองอัฟกานิสถานด้วยการกดขี่บีบบังคับภายใต้การตีความศาสนาอิสลามเวอร์ชันเคร่งครัดสุดโต่ง และตอนนี้ทั่วโลกกำลังจับตาว่า ตอลิบานจะจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นมิตรมากขึ้นและเปิดกว้างให้กลุ่มต่างๆ เข้าร่วมหรือไม่
ทั้งนี้ นับจากคาบูลแตก อเมริกาและพันธมิตรเร่งอพยพพลเมืองของตนและชาวอัฟกันที่มีความเสี่ยงออกจากอัฟกานิสถานได้กว่า 123,000 คน แต่ยังคงเหลือชาวอัฟกันอีกหลายหมื่นคนที่เคยทำงานหรือช่วยเหลือชาติตะวันตกในช่วงสงคราม ถูกทิ้งให้เผชิญชะตากรรมต่อไป
นอกจากนั้น แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า ยังมีพลเมืองอเมริกันเกือบ 100 คนที่ต้องการออกจากอัฟกานิสถาน แต่ไม่สามารถไปขึ้นเที่ยวบินอพยพได้
ด้านโดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ระบุว่า ยังมีคนอังกฤษอีกสองสามร้อยคนตกค้างในอัฟกานิสถานเช่นเดียวกัน
พล.อ.แฟรงก์ แมนเคนซี ผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารด้านกลางสหรัฐฯ กล่าวในการบรรยายสรุปของเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมอเมริกา) ว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอัฟกานิสถาน รอสส์ วิลสัน ก็อยู่ในเที่ยวบินสุดท้ายของซี-17 ที่บินออกมา
“การจากมาคราวนี้เกี่ยวข้องพัวพันกับอาการหัวใจสลายเยอะแยะมากมาย” แมคเคนซี บอกกับผู้สื่อข่าว “เราไม่ได้นำเอาทุกๆ คนที่เราต้องการให้ออกมาด้วย แต่ผมคิดว่าถึงเราอยู่ต่อไปอีก 10 วัน เราก็จะยังไม่สามารถนำเอาทุกๆ คนออกมาอยู่ดี”
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงปกป้องการตัดสินใจถอนทหารตามเส้นตายในวันอังคาร และเสริมว่า โลกต้องร่วมกันกดดันให้ตอลิบานรักษาสัญญาในการอนุญาตให้ผู้ที่ต้องการออกจากอัฟกานิสถานเดินทางออกมาอย่างปลอดภัย
ผู้นำสหรัฐฯ ยังขอบคุณทหารอเมริกันที่เสี่ยงอันตรายปฏิบัติภารกิจอพยพ และเตรียมแถลงต่อประชาชนในช่วงบ่ายวันอังคาร
ขณะเดียวกัน บลิงเคนย้ำว่า อเมริกาเตรียมพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถาน หากตอลิบานรักษาสัญญาในการไม่แก้แค้นฝ่ายตรงข้าม
วันจันทร์ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ลงมติเรียกร้องให้ตอลิบานปฏิบัติตามคำมั่นในการอนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกจากอัฟกานิสถานได้อย่างเสรี และยอมให้ยูเอ็นตลอดจนถึงหน่วยงานบรรเทาทุกข์อื่นๆ เดินทางเข้าประเทศ
อนึ่ง ในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร โฆษกตอลิบานกล่าวว่า ตอลิบานต้องการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอเมริกา แม้เป็นศัตรูกันมาสองทศวรรษ รวมทั้งยังต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั่วโลก พร้อมยืนยันว่า กองกำลังความมั่นคงของตอลิบานจะ “อ่อนโยนและสุภาพ”