xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ “นอกหน้าต่าง” : สงครามครั้งยาวนานที่สุดของอเมริกาปิดฉากลงอย่างไร้เกียรติ โดยไม่มีใครซึ่งมีเกียรติยศเพียงพอที่จะออกมายอมรับผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาชิกของหน่วยทหารปฏิบัติการพิเศษ บาดรี 313 ของตอลิบาน  เข้ารักษาพื้นที่ภายในสนามบินคาบูล ในวันอังคาร (31 ส.ค.) ภายหลังฝ่ายอเมริกันถอนตัวออกไปหมดแล้ว
สงครามครั้งยาวนานที่สุดของอเมริกายุติลงอย่างไร้เกียรติ ในช่วงกลางดึกสงัดในอัฟกานิสถาน

เครื่องบินขนส่งทหารขนาดยักษ์แบบซี-17 ลำหนึ่งซึ่งบรรทุกกองทหารอเมริกันและเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ บินออกจากสนามบินกรุงคาบูลเมื่อตอน 1 นาทีก่อนย่างเข้าสู่เวลาเที่ยงคืน (ตามเวลาท้องถิ่น) ของวันที่ 31 สิงหาคม อันเป็นวันกำหนดเส้นตายที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขีดเอาไว้

นี่เป็นการปิดฉากการปฏิบัติการอพยพทางอากาศอันโกลาหลอลหม่าน ซึ่งได้นำผู้คนมากกว่า 120,000 คนหลบหนีจากการปกครองอันกดขี่บีบบังคับของตอลิบานที่ป็นพวกอิสลามิสต์เวอร์ชันเคร่งจารีตสุดๆ ผู้ซึ่งที่จริงแล้วสามารถกลับเข้ายึดครองอัฟกานิสถานไว้ได้ตั้งแต่ครึ่งเดือนก่อน - 20 ปีหลังจากที่กองกำลังอาวุธซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ได้บุกขับไล่พวกเขาออกไปจากอำนาจ

พื้นที่แห่งนี้ซึ่งได้เคยต่อต้านและขับไล่ไสส่งทั้งจักรวรรดิอังกฤษและสหภาพโซเวียต อย่างหฤโหด จนต้องถอยทัพกลับไปแบบเสียกระบวนมาแล้ว สามารถสร้างผลลัพธ์ทำนองเดียวกันอีกครั้งให้แก่สหรัฐอเมริกา ผู้เป็นอภิมหาอำนาจของโลกยุคใหม่

สำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่แล้ว สงครามที่เกิดขึ้นในดินแดนอันไกลโพ้นนี้ เหมือนเป็นเพียงสิ่งที่ดำเนินอยู่ในฉากหลังเท่านั้น

แต่พวกเขาก็ถูกกระชากให้หันมาสนอกสนใจมันจนได้ในห้วงวันเวลาท้ายสุด ด้วยเหตุการณ์อพยพผู้คนขนาดมหึมา และการตายของทหารสหรัฐฯ 13 คนด้วยน้ำมือของมือระเบิดฆ่าตัวตายสังกัดกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งจุดบึ้มตัวเองที่บริเวณประตูทางเข้าสนามบิน

ภาพของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่กำลังเข้าร่วมพิธีรับหีบศพปกคลุมด้วยธงชาติอเมริกันของพวกเขา ณ ฐานทัพอากาศในเมืองโดเวอร์ รัฐเดลาแวร์ เมื่อวันอาทิตย์ (29 ส.ค) ที่ผ่านมา อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วของหนึ่งในสงครามซึ่งยืดเยื้อยาวนานที่สุดของอเมริกา

ใน 13 ทหารที่เสียชีวิตนี้ มี 5 คนอายุเพิ่ง 20 ปี ซึ่งหมายความว่าพวกเขายังเป็นแค่ทารกแบเบาะเมื่อตอนที่อัลกออิดะห์ ซึ่งเวลานั้นตั้งฐานอยู่ในอัฟกานิสถานและได้รับการพิทักษ์ปกป้องจากตอลิบาน เปิดฉากการโจมตีอเมริกาอย่างทำให้โลกตื่นตะลึงเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ซึ่งเป็นชนวนทำให้สงครามคราวนี้ระเบิดขึ้น

ศึกอัฟกานิสถาน เหมือนเป็นแค่ตัวเสริมของสงครามต่อสู้การก่อการร้าย

ดูเป็นการย้อนแย้งอย่างแรงมากๆ การถอนตัวออกของสหรัฐฯ ครั้งนี้ต้องพึ่งพาอาศัยความไว้วางใจเป็นอย่างมากต่อพวกตอลิบาน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการรักษาความปลอดภัยรอบๆ สนามบินคาบูล ท่ามกลางภัยคุกคามจากพวกไอเอส

“ตอลิบานทำงานแบบมุ่งผลทางปฏิบัติมาก และแบบมีประสิทธิภาพเหมือนทำธุรกิจมาก” เป็นคำยอมรับของ พล.อ.เคนเนธ แมคเคนซี ผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US Central command)

ถึงแม้นี่คือแนวรบสำคัญที่สุดของ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ซึ่งสหรัฐฯ ประกาศออกมาภายหลังเหตุโจมตี 9/11 แต่แล้วอัฟกานิสถานกลับแทบมีสภาพเป็นแค่ตัวเสริมไปเลย เมื่อคณะบริหารประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตัดสินใจในปี 2003 ที่จะยกพลเข้ารุกรานอิรัก และโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำของอิรักในเวลานั้น

และแทนที่จะถอนตัวออกมาภายหลังได้รับชัยชนะไม่ว่าในอิรักหรือในอัฟกานิสถานก็ตามที สหรัฐฯ กลับตัดสินใจเข้าแบกภารกิจ “การสร้างชาติ” ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อทำให้ประเทศที่ตนเข้ายึดครองเหล่านี้หันมามีระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยตะวันตกและค่านิยมอันสูงส่งต่างๆ ตามแบบฉบับของอเมริกา อย่างไรก็ตาม เวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ไปถึงไหนเลยในเรื่องเหล่านี้

เวลาเดียวกัน รัฐบาลในคาบูลซึ่งสหรัฐฯ หนุนหลังอยู่กลับอุดมสมบูรณ์ไปด้วยการทุจริตฉ้อฉล และไร้ประสิทธิภาพในการรวมศูนย์อำนาจของตน ขณะที่ตอลิบานซึ่งถอยหนีออกไปอยู่ในเขตชนบทยังคงไม่สูญสลายไปไหน และดำเนินการต่อสู้แบบก่อความไม่สงบอย่างได้ผล

ทั้งพลเรือนและสมาชิกกองกำลังความมั่นคงชาวอัฟกัน ต้องเป็นผู้แบกรับความล้มเหลวนี้อย่างหนักหน่วงที่สุด โดยที่ถูกสังหารเสียชีวิตไปเป็นหมื่นๆ คน และมากมายกว่านั้นอีกที่ได้รับบาดเจ็บ

กระนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวอชิงตันก็ถือว่าไม่เบา นั่นคือ ทหารสหรัฐฯ ตายไป 2,356 คน และค่าใช้จ่ายทางการเงินโดยรวมอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ตามการรวบรวมของสถาบันวัตสัน แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์

ถึงเวลาที่จะต้องปิดฉาก

การปิดฉากเริ่มต้นในสมัยการครองอำนาจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้เข้ารับตำแหน่งในปี 2016 พร้อมคำมั่นสัญญาที่จะยุติ “สงครามตลอดกาล” ครั้งนี้

หลังจากที่ตอนต้นๆ เพิ่มทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานขึ้นไปอีกจนเป็น 16,000 คน ทว่าไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างยั่งยืนถาวรอะไรต่อตอลิบานแล้ว เขาก็หันมาเจรจาต่อรองกับกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มนี้

ในข้อตกลงฉบับหนึ่งที่ทำงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 วอชิงตันให้คำมั่นที่จะถอนทหารออกไปหมดภายในวันที่ 1 พฤษภาคมปี 2021 ขณะที่ตอลิบานก็ยินยอมเข้าสู่การเจรจาสันติภาพกับฝ่ายคาบูล และในระหว่างนั้นจะไม่โจมตีทหารอเมริกัน

แต่แล้วพวกเขากลับยกระดับการรณรงค์เล่นงานกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลอัฟกัน ผู้ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯ อย่างมหาศาลเหลือเกิน

เมื่อถึงเวลาที่ ไบเดน เข้าแทนที่ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม 2021 จำนวนทหารสหรัฐฯ ที่อยู่ในอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการได้ลดลงมาแล้วจนเหลืออยู่แค่ 2,500 คน

ไบเดนดำเนินการศึกษาทบทวน และเลือกที่จะเดินหน้าถอนทหารออกไปให้หมด แต่ขอซื้อเวลาเพิ่มเติมอีก 4 เดือน นั่นคือจะให้เสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม สำหรับสิ่งที่เขาวาดหวังว่าจะเป็นการถอนตัวออกไปอย่างเป็นระเบียบ

เบื้องหลังฉากนั้น เขากับพวกที่ปรึกษาของเขามีข้อสรุปว่า ฝ่ายอัฟกันเองทั้งไม่สามารถและก็จะไม่ดำเนินการสู้รบด้วยตนเองหรอก

“เราเข้าไปในอัฟกานิสถานเพราะการโจมตีอย่างสยดสยองซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน นี่ไม่สามารถอธิบายได้หรอกว่าทำไมเราจึงยังควรอยู่ที่นั่นอีกในปี 2021” ไบเดน กล่าว

“มันถึงเวลาที่จะปิดฉากสงครามตลอดกาลนี้แล้ว”

“เราทำให้เรื่องนี้อลเวงยุ่งเหยิงไปหมด”

แต่การปิดฉากเกิดขึ้นมารวดเร็วกว่าที่วอชิงตันคาดหมาย

พวกเขาวางแผนเอาไว้ว่าจะมีการอพยพออกมาอย่างเป็นระเบียบ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะหลีกเลี่ยงสภาพการพังครืนลงมาอย่างรวดเร็วสุดโกลาหล ซึ่งเกิดขึ้นตอนที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากเวียดนาม โดยเป็นที่จดจำกันได้จากภาพถ่ายอันมีชื่อเสียงยิ่งภาพหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นชาวเวียดนามหลายสิบคนที่ต้องการหลบหนีพวกเวียดนามเหนือ กำลังพยายามปีนขึ้นไปบนเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งซึ่งยอดอยู่บนหลังคาสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในไซง่อน

“มันจะไม่เกิดสภาวการณ์แบบที่คุณได้เห็นผู้คนกำลังถูกอพยพเคลื่อนย้ายออกจากอัฟกานิสถาน จากหลังคาของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ หรอก” ไบเดนกล่าวเช่นนี้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม

อีก 5 สัปดาห์ต่อมา เมื่อตอลิบานเคลื่อนกำลังเข้าสู่กรุงคาบูลโดยไม่ได้เผชิญการต่อต้านใดๆ เฮลิคอปเตอร์แบบชีนุกหลายลำจอดรออยู่ที่สนามของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เพื่อเร่งรีบพาพวกนักการทูตอเมริกันไปยังสถานที่ปลอดภัย

เวลาเดียวกัน ฉากเหตุการณ์ที่อาจกล่าวได้ว่าน่าเจ็บช้ำมากกว่าที่ไซ่ง่อนด้วยซ้ำ ก็ปะทุขึ้นที่สนามบินคบูล เมื่อชาวอัฟกันเป็นหมื่นๆ คนรีบแห่แหนกันไปที่นั่นเพื่อดิ้นรนหาทางหลบหนี มีบางคนกระทั่งพยายามเกาะเครื่องบินสหรัฐฯขณะที่มันทะยานขึ้น เพียงเพื่อที่จะหล่นลงมาจากฟากฟ้า

สงครามคราวนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย และสิ้นสุดลงด้วยคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ต่อๆ กันจนเป็นไวรัลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในคลิปดังกล่าว สจวร์ต เชลเลอร์ นายทหารนาวิกโยธินอเมริกันยศพันโท ออกมาเรียกร้องให้แสดงความซื่อสัตย์กับสงครามคราวนี้

“ผู้คนรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจ เพราะพวกผู้นำอาวุโสของพวกเขาทำให้พวกเขาผิดหวัง และไม่มีใครเลยที่กำลังยกมือขึ้นมาและพูดแสดงการรับผิด หรือพูดว่า ‘เราทำให้เรื่องนี้อลเวงยุ่งเหยิงไปหมด’

เชลเลอร์ถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่งหน้าที่ของเขา และไม่มีใครออกมาประกาศว่าจะขอน้อมรับคำประณาม

(เก็บความจากเรื่อง The ignoble end to America's longest war ของสำนักข่าวเอเอฟพี)

พวกนักรบตอลิบานตรวจการณ์ที่ลานบินสนามบินคาบูล เมื่อวันอังคาร (31 ส.ค.)

เครื่องบินโจมตีแบบ เอ-29 ของกองทัพอากาศอัฟกานิสถาน จอดอยู่ภายในโรงเก็บเครื่องบินที่ท่าอากาศยานกรุงคาบูลเมื่อวันอังคาร (31 ส.ค.) ภายหลังสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารทั้งหมดของตนออกไปในคืนก่อนหน้านั้น  โดยที่สหรัฐฯ ระบุว่าได้ทำลายเครื่องบินที่ทิ้งเอาไว้เหล่านี้จนใช้การไม่ได้

พวกเยาวชนสนับสนุนตอลิบาน โบกธงของตอลิบานและตะโกนคำขวัญ ขณะเดินขบวนไปตามถนนในเมืองกันดาฮาร์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอัฟกานิสถาน ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศในวันอังคาร (31 ส.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น