(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Meet the Taliban’s new PM Mullah Hasan Akhund
By ALI A OLOMI
08/09/2021
มุลลาห์ ฮาซัน อาคุนด์ นายกรัฐมนตรีชั่วคราวของอัฟกานิสถาน เป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านศาสนาอิสลามในกลุ่มตอลิบาน คำวินิจฉัยและคำสั่งในอดีตของเขา มีทั้งเรื่องการห้ามผู้หญิงเข้าโรงเรียน, การบังคับให้ต้องแต่งกายอย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด, และการสั่งทำลายพระพุทธรูปประทับยืนขนาดมหึมาอายุเก่าแก่ 1,500 ปี 2 องค์ ซึ่งเรียกขานกันว่า “พระพุทธรูปบามิยัน”
ตอลิบานประกาศในวันที่ 7 กันยายน 2021 ว่า มุลลาห์ ฮาซัน อาคุนด์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวของอัฟกานิสถาน การตัดสินใจในเรื่องนี้บังเกิดขึ้นหลังจากเวลาผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์นับจากที่กลุ่มอิสลามิสต์แนวทางแข็งกร้าวกลุ่มนี้ สามารถเข้าควบคุมพื้นที่จำนวนมากของประเทศเอาไว้ได้ รวมทั้งเมืองหลวงคาบูล
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/article/middle-east-pakistan-afghanistan-arrests-islamabad-d50b1b490d27d32eb20cc11b77c12c87)
“เดอะ คอนเวอร์เซชั่น” ได้สอบถาม อาลี เอ โอโลมี (Ali A Olomi) นักประวัติศาสตร์ด้านตะวันออกกลางและอิสลาม แห่งมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท (Penn State University) ขอให้อธิบายว่า มุลลาห์ อาคุนด์ เป็นใคร และการที่เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ น่าจะมีความหมายอย่างไรต่ออัฟกานิสถาน ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในชาติที่เสียหายย่อยยับจากสงครามแห่งนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.abington.psu.edu/person/dr-ali-olomi)
มุลลาห์ อาคนด์ เป็นบุคคลที่มีเสน่ห์ ทว่าค่อนข้างจะลึกลับน่าฉงนภายในกลุ่มตอลิบาน เขาเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในอัฟกานิสถาน นับตั้งแต่ที่กลุ่มแนวทางแข็งกร้าวกลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อทศวรรษ 1990
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://theconversation.com/the-history-of-the-taliban-is-crucial-in-understanding-their-success-now-and-also-what-might-happen-next-166630)
แต่อาคุนด์ไม่เหมือนกับพวกผู้นำตอลิบานคนอื่นๆ จากยุคสมัยนั้น ตรงที่เขาไม่เคยเกี่ยวข้องพัวพันอะไรกับสงครามโซเวียต-อัฟกันของช่วงทศวรรษ 1980 ในขณะที่ มุลลาห์ โมฮัมหมัด โอมาร์ (Mullah Mohammad Omar) ผู้ก่อตั้งตอลิบาน ตลอดจนพวกผู้ช่วยของเขาต่างเคยร่วมสู้รบอยู่กับพวกมูจาฮีดีน (mujahedeen) –เครือข่ายหลวมๆ ของพวกนักรบชาวอัฟกันที่ต่อต้านโซเวียต— อาคุนด์กลับไม่เคยผ่านประสบการณ์เช่นนั้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://doi.org/10.1093/acrefore/9780199329175.013.832)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/world/2015/jul/30/mullah-omar)
ตรงกันข้าม เขาถูกมองกันมากกว่า ว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านศาสนาคนหนึ่งภายในตอลิบาน เขาเข้าไปทำงานอยู่กับสภาชูเราะห์ต่างๆ ของตอลิบาน ทั้งนี้ สภาชูเราะห์ (shura council) เป็นองค์กรตัดสินใจตามขนบประเพณี สมาชิกประกอบด้วยพวกนักการศาสนา และ มุลลาห์ –ตำแหน่งเกียรติยศที่มอบให้แก่ผู้ที่ผ่านการศึกษาอบรมในด้านเทววิทยาอิสลามมาแล้ว)
อาคุนด์นั้น บางทีอาจจะเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด ในฐานะเป็น 1 ในหมู่ผู้ตัดสินใจให้ทำลายพระพุทธรูปแห่งบามิยัน (the Buddhas of Bamiyan) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประทับยืนขนาดมหึมา 2 องค์ แกะสลักเข้าไปในด้านข้างของหน้าผา ที่ถูกพวกตอลิบานทำลายไปในปี 2001
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mei.edu/publications/death-buddhas-bamiyan)
เริ่มแรกทีเดียว โอมาร์ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำลายพระพุทธรูปเหล่านี้ แต่เนื่องจากผู้ก่อตั้งตอลิบานผู้นี้มีความโกรธเคืองที่เห็นว่า มีผู้เสนอเงินทองสำหรับใช้บูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปซึ่งได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก แต่เวลาเดียวกันกลับไม่ได้มีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากสหประชาชาติสำหรับอัฟกานิสถาน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2001/03/19/world/taliban-explains-buddha-demolition.html)
ดังนั้น โอมาร์จึงขอคำแนะนำจากสภาชูเราะห์ของเขา และ อาคุนด์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสภาดังกล่าวซึ่งออกคำสั่งให้ทำลายพระพุทธรูป 2 องค์อายุเก่าแก่ราว 1,500 ปีนี้
อาคุนด์เข้ามีบทบาทหน้าที่ทางการเมืองในคณะรัฐบาลตอลิบานช่วงทศวรรษ 1990 ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ความสำคัญของเขาอยู่ตรงที่การพัฒนาอัตลักษณ์ทางศาสนาของกลุ่มนี้มากกว่า ทั้งนี้ เขาก็เหมือนกับ มุลลาห์ โอมาร์ เคยเข้าโรงเรียนศาสนาและศึกษาอุดมการณ์อิสลามิสต์ที่เคร่งครัดมากสำนักหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า สำนักดีโอบันดี (Deobandism)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://theconversation.com/talibans-religious-ideology-deobandi-islam-has-roots-in-colonial-india-166323)
หลังจากตอลิบานถูกโค่นล้มลงจากอำนาจในอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001 แล้ว อาคุนด์ก็ยังคงรักษาอิทธิพลเอาไว้ได้ ด้วยการปฏิบัติการซึ่งส่วนใหญ่แล้วจากแหล่งพักพิงลี้ภัยในปากีสถาน จากที่นั่น เขาจะให้คำชี้แนะทางจิตวิญญาณและทางศาสนาแก่ตอลิบานตลอดทั้งทศวรรษ 2000 และทศวรรษ 2010
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/world/asia-pacific/key-dates-us-involvement-afghanistan-since-911-2021-07-02/)
จากบทบาทดังกล่าวนี้ เขาจึงเป็นผู้ให้เหตุผลความชอบธรรมเชิงความคิดอุดมการณ์ สำหรับการก่อความไม่สงบของตอลิบาน ที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อคัดค้านเล่นงานสหรัฐฯและรัฐบาลอัฟกันที่หนุนหลังโดยสหรัฐฯ
ทุกวันนี้ มีในตอลิบานอาจแบ่งเป็นฝักฝ่ายหรือกลุ่มย่อยอย่างกว้างๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสู้รบประจำวัน กับพวกชนชั้นนำด้านศาสนาหัวอนุรักษนิยมซึ่งยึดมั่นอยู่ในแนวคิดของสำนักดีโอบันดี ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายการเมืองของตอลิบาน โดยที่ มุลลาห์ อาคุนด์ นั้น เข้ากันเป็นอย่างมากกับกลุ่มย่อยหรือฝักฝ่ายศาสนาของตอลิบาน
การที่เขาได้รับแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งนี้ บอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับความเป็นไปของตอลิบานในเวลานี้ ?
ดูเหมือนมีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันอยู่เบื้องหลังการแต่งตั้งอาคุนด์ในคราวนี้ มุลลาห์ อับดุล กานี บาราดาร์ (Mullah Abdul Ghani Baradar) ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นรองหัวหน้าถัดลงมาจากโอมาร์ระหว่างช่วงปีต้นๆ ของตอลิบาน ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้นำในทางพฤตินัยภายหลังมรณกรรมของโอมาร์ ได้รับการจับตามองจากพวกผู้เชี่ยวชาญเรื่องอัฟกานิสถานจำนวนมากว่ามีศักยภาพที่จะเข้ารับตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.economist.com/the-economist-explains/2021/08/18/who-is-mullah-abdul-ghani-baradar-the-talibans-de-facto-leader)
แต่เกิดมีความตึงเครียดทางการเมืองระหว่าง บาราดาร์ กับ เครือข่ายฮักกานี (Haqqani network) ที่ทรงอิทธิพล โดยที่เครือข่ายฮักกานีซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามิสต์ที่ยึดโยงอยู่กับตระกูล ได้กลายเป็นมือทำงานด้านการทูตในทางพฤตินัยของตอลิบานในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จในการหาความสนับสนุนจากกลุ่มท้องถิ่นอื่นๆ
(เครือข่ายฮักกานี ยังถูกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯขึ้นบัญชีเป็นองค์การก่อการร้ายต่างประเทศ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dni.gov/nctc/groups/haqqani_network.html) (หมายเหตุผู้แปล – ผู้แปลยังได้เพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายฮักกานี เอาไว้ที่ข้างท้ายของข้อเขียนชิ้นนี้ด้วย)
พวกฮักกานีในปัจจุบัน อยู่ในฝักฝ่ายที่มีแนวคิดแข็งกร้าวที่สุดของตอลิบาน ถ้อยคำภาษาแบบมุ่งปรองดองจาก บาราดาร์ ในช่วงหลังๆ มานี้ ในประเด็นต่างๆ เป็นต้นว่า สิทธิของสตรี, การทำงานกับประชาคมระหว่างประเทศ, และการนิรโทษกรรมให้แก่พวกสมาชิกของรัฐบาลชุดก่อน เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับแนวความคิดอุดมการณ์ของเครือข่ายฮักกานี
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/world/2021/08/17/afghanistan-kabul-taliban-live-updates/)
อาคุนด์ ดูเหมือนจะเป็นผู้แข่งขันที่สามารถประนีประนอมอยู่ระหว่างพวกผู้สนับสนุนของ บาราดาร์ และเครือข่ายฮักกานี จากการที่การประกาศแต่งตั้งเขา ได้มีการเลื่อนช้าออกไป –ตอลิบานต้องยกเลิกการประกาศเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง— สามารถที่จะถือเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการแตกแยกกันภายในตอลิบาน
ครั้นเมื่อถึงเวลาออกประกาศแต่งตั้งอาคุนด์กันจริงๆ ปรากฏว่ามันออกมาพร้อมกับข่าวที่ว่า บาราดาร์ จะกลายเป็นรองนายกฯของอาคุนด์ เวลาเดียวกัน สมาชิก 2 คนของเครือข่ายฮักกานีก็จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลอัฟกันชุดใหม่นี้ด้วย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cnn.com/2021/09/07/asia/taliban-government-announcement-intl/index.html)
การจัดวางเช่นนี้จะเป็นการถาวรหรือเป็นเพียงชั่วคราวนั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูกันต่อไป แต่การประนีประนอมในลักษณะเช่นนี้อาจจะถือเป็นการทดสอบปฏิกิริยาของทางตอลิบาน – เพื่อจะดูว่าอาคุนด์มีประสิทธิภาพแค่ไหนในการเป็นบุคคลซึ่งสามารถเรียกร้องความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แก่กลุ่มตอลิบาน
การแต่งตั้ง อาคุนด์ มีความหมายอย่างไรสำหรับอัฟกานิสถาน?
อาคุนด์ เป็นนักการศาสนาหัวอนุรักษนิยม ซึ่งสิ่งที่เขาเชื่อถือก็รวมไปถึงเรื่องการต้องจำกัดบทบาทหน้าที่ของผู้หญิง และการปฏิเสธไม่ให้สิทธิพลเมืองแก่พวกชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยทางนิกายศาสนา
คำวินิจฉัยต่างๆ ของเขาที่ออกมาในช่วงทศวรรษ 1990 และทางตอลิบานนำไปใช้นั้น ก็รวมทั้งเรื่องการห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าโรงเรียน, การบังคับแบ่งแยกตามเพศสภาพอย่างเคร่งครัด, และการนำเอาเครื่องแต่งกายที่ถูกหลักศาสนามาบังคับใช้อย่างเข้มงวด เหล่านี้ทั้งหมดอาจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในอัฟกานิสถาน
ถึงแม้ในระยะหลังๆ มานี้ ตอลิบานมีการใช้ถ้อยคำภาษาแบบมุ่งรอมชอม แต่ผมเชื่อว่าเราน่าจะได้เห็นการหวนกลับมาของกฎระเบียบต่างๆ บางส่วนบางประการ ที่เคยใช้อยู่เมื่อตอนที่ตอลิบานครองอำนาจคราวก่อน รวมทั้งการห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าโรงเรียนด้วย
เราเห็นกันแล้วว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน ตอลิบานออกคำสั่งให้นักศึกษาสตรีในระดับมหาวิทยาลัยต้องสวมชุดอาบายา (abaya ผ้าคลุมตัวความยาวระพื้น ปกปิดทุกส่วนของร่างกายยกเว้น ศีรษะ, เท้า, และมือ) อาบายา ก็คล้ายๆ กับ บูร์กา (burka) แตกต่างออกไปก็ตรงที่ผ้าต้องเกือบเป็นสีดำเสมอ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.france24.com/en/live-news/20210905-taliban-order-university-women-to-wear-face-covering-niqab)
อาบายา ไม่ใช่เครื่องแต่งกายของชาวอัฟกัน แต่เป็นเสื้อผ้าในสไตล์ที่ใช้กันทั่วไปมากกว่าตามรัฐริมอ่าวเปอร์เซีย อย่าง ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, และ กาตาร์
ด้วยคำสั่งฉบับนี้ เรามองว่าตอลิบานกำลังส่งสัญญาณแสดงเจตนาของตนที่จะนำอัฟกานิสถานเข้าไปอยู่ภายในขบวนการอิสลามิสต์ในวงกว้างมากขึ้น ในช่วงทศวรรษ 1990 นั้น ตอลิบานเป็นกลุ่มชาตินิยมที่มีความคิดโดดเดี่ยวเอามากๆ โดยมีจุดมุ่งหมายแคบๆ ที่จะนำเอาการปกครองแบบอิสลามิสต์ในแบบฉบับของตนเองมาใช้กับอัฟกานิสถาน
เวลานี้ อาคุนด์ดูเหมือนกำลังมองหาจุดยืนที่ตอลิบานจะอยู่เคียงข้างกับพวกหุ้นส่วนระหว่างประเทศ –นี่เป็นความมุ่งมาดปรารถนาซึ่งสามารถที่จะมองเห็นได้จากการที่ช่วงหลังๆ มานี้ ตอลิบานพยายามติดต่อสานสายสัมพันธ์ทางการทูตกับพวกรัฐบาลอย่าง กาตาร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, และปากีสถาน
อาลี เอ โอโลมี เป็นรองศาสตราจารย์วิชาประวติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนน์สเตท
ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง เดอะ คอนเวอร์เซชั่น (The Conversation) เครือข่ายช่องทางสื่อแบบไม่หวังผลกำไร ซึ่งตีพิมพ์เรื่องราวข่าวบนอินเทอร์เน็ตที่เขียนโดยนักวิชาการและนักวิจัย อ่านข้อเขียนชิ้นนี้ฉบับดั้งเดิมได้ที่ https://theconversation.com/who-is-mullah-hasan-akhund-what-does-the-talibans-choice-of-interim-prime-minister-mean-for-afghanistan-167514
หมายเหตุผู้แปล
เพื่อเพิ่มเติมความเข้าใจเกี่ยวกับ เครือข่ายฮักกานี (Haqqani Network) ว่าเป็นใครมาจากไหน และมีบทบาทอย่างไรในกลุ่มตอลิบาน ผู้แปลขอเก็บความบางส่วนจากรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี มาเสนอในที่นี้ ดังนี้:
ฮักกานีเป็นใคร มาจากไหน?
กลุ่มที่ไม่ค่อยได้เปิดเผยตัวเองสักเท่าใดกลุ่มนี้ ก่อตั้งขึ้นมาโดย จาลาลุดดิน ฮักกานี (Jalaluddin Haqqani) ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงมีฐานะสำคัญอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1980 จากการเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งของสงครามญิฮาดต่อต้านโซเวียต
เวลานั้น เขาเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่ามากของซีไอเอ ขณะที่สหรัฐฯและพวกพันธมิตรของอเมริกาอย่างเช่นปากีสถาน ก็ดำเนินการจัดส่งทั้งอาวุธและเงินทองอย่างลับๆ ให้แก่พวกนักรบมูจีฮีดีนเหล่านี้
ระหว่างสงครามครั้งนั้นแล้วยังต่อเนื่องมาอีกภายหลังโซเวียตถอนทหารออกไปจากอัฟกานิสถานแล้ว จาลาลุดดิน ฮักกานี ได้บำรุงฟูมฟักความผูกพันอันใกล้ชิดที่มีอยู่กับพวกนักรบญิฮาดต่างชาติ –ซึ่งก็รวมไปถึง อุซามะห์ บิน ลาดิน ด้วย
ในเวลาต่อมา เขาจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มตอลิบานซึ่งสามารถขึ้นครองอำนาจในอัฟกานิสถานได้สำเร็จในปี 1996 โดยเข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งของระบอบปกครองอิสลามิสต์นี้ จวบจนกระทั่งถูกกองกำลังอาวุธนำโดยสหรัฐฯบุกเข้ามาโค่นล้มในปี 2001
จาลาลุดดิน ฮักกานี ถึงแก่กรรมภายหลังล้มป่วยอยู่เป็นเวลานาน และบุตรชายของเขาที่ชื่อ ซิราจุดดิน ก็ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าใหญ่ของเครือข่ายนี้สืบแทนอย่างเป็นทางการในปี 2018
จากความเข้มแข็งทางการเงินแลtทางการทหารของพวกเขา –รวมทั้งชื่อกระฉ่อนในเรื่องความโหดเหี้ยม— เครือข่ายฮักกานีจึงถูกมองว่าเป็นกลุ่มกึ่งปกครองตนเอง ขณะที่ยังคงอยู่ภายในอ้อมอกของตอลิบาน
ที่มั่นหลักของเครือข่ายฮักกานีนั้นอยู่ในภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน โดยมีเสียงกล่าวหากันว่าพวกเขามีฐานพักพิงหลายแห่งที่อยู่ข้ามชายแดนเข้าไปในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานอีกด้วย ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ พวกเขาปรากฎให้เห็นอย่างเด่นชัดมากขึ้น ภายในคณะผู้นำของตอลิบาน โดยที่ ซิราจุดดิน ฮักกานี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้าของกลุ่มตอลิบานในปี 2015
ทำไมพวกเขาจึงเป็นที่หวาดกลัวไปทั่ว?
เครือข่ายฮักกานีถูกประณามว่าเป็นผู้ก่อการโจมตีที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายหนักหน่วงที่สุดและชวนให้ตื่นตะลึงกันมากที่สุดหลายๆ ครั้งในอัฟกานิสถาน ระหว่างช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
พวกเขาถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายต่างประเทศ ส่วนสหประชาชาติก็มีมาตรการลงโทษคว่ำบาตรพวกเขาด้วย
กลุ่มฮักกานีขึ้นชื่อในเรื่องนิยมใช้มือระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งจะเป็นผู้ขับรถยนต์หรือรถบรรทุกที่บรรจุเอาไว้ด้วยวัตถุระเบิดปริมาณมหึมา นอกจากนั้นพวกเขายังสาธิตให้เห็นว่ามีความสามารถในเข้าโจมตีแบบมีการวางแผนอย่างสลับซับซ้อนและก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายอย่างสูงต่อเป้าหมายใหญ่ทรงความสำคัญต่างๆ รวมทั้งพวกสถานที่ตั้งทางทหารและพวกสำนักงานทางการทูตของต่างประเทศ
พวกเขายังถูกระแวงสงสัยมาอย่างยาวนานว่า มีความเชื่อมโยงพัวพันกับสถาบันทหารของปากีสถาน กระทั่ง พล.ร.อ.ไมค์ มุลเลน ของสหรัฐฯ ได้เคยพูดถึงพวกเขาเอาไว้เมื่อปี 2011 ว่า เป็น “แขนขาที่แท้จริง”ของหน่วยข่าวกรองอิสลามาบัด โดยที่ปากีสถานได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเช่นนี้เรื่อยมา
ฮักกานียังมีส่วนสร้างผลงานอย่างใหญ่โตมหึมาให้แก่เกียรติประวัติการสู้รบของตอลิบาน และถือเป็น “กองกำลังอาวุธที่พร้อมรบมากที่สุด” ของตอลิบาน ทั้งนี้ตามรายงานของหน่วยงานติดตามของสหประชาติในเดือนมิถุนายน
รายงานฉบับนี้ยังเรียกเครือข่ายฮักกานีว่า เป็น “ผู้ติดต่อประสานงานหลัก” ระหว่างตอลิบานกับอัลกออิดะห์
(เก็บความจากบางส่วนของเรื่อง The Haqqani network: Afghanistan's most feared militants ของสำนักข่าวเอเอฟพี )
ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่https://www.thedailystar.net/southeast-asia/news/afghanistans-most-feared-militants-2171896