(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Why the Taliban still can’t form a government
By PEPE ESCOBAR
03/09/2021
การแตกแยกกันภายในตอลิบาน กำลังปรากฏเผยโฉมออกมาให้เห็น ขณะที่การทะเลาะโต้เถียงกันที่เกิดขึ้นมาก็เป็นตัวขัดขวางการก่อตั้งรัฐเอมิเรตอิสลามใหม่ขึ้นในอัฟกานิสถาน
ดูราวกับว่ามีการจัดเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้พรักพร้อมแล้ว เพื่อให้ตอลิบานประกาศการแต่งตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ของ รัฐเอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน (Islamic Emirate of Afghanistan ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการของอัฟกานิสถานในยุคตอลิบาน -ผู้แปล) หลังจากการละหมาดใหญ่ช่วงบ่ายวันศุกร์ (3 ก.ย.) ที่ผ่านมา แต่ครั้นแล้วก็ปรากฏว่า ความไม่เห็นพ้องต้องกันภายในตอลิบานกำลังกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางจนไม่สามารถเดินหน้าเรื่องนี้ได้
เรื่องนี้ยังเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีกจากการโหมกระพือข่าวเรื่อง “การต่อต้าน” ของพวกร้อยพ่อพันแม่ในหุบเขาปัญจชีร์ (Panjshir Valley) ที่ยังไม่ได้ถูกสยบปราบปราม สิ่งที่เรียกว่า “การต่อต้าน” นี้ โดยพฤตินัยแล้วนำโดยบุคคลผู้ที่ถือเป็นทรัพย์สินมีค่าของซีไอเอ ได้แก่ อดีตรองประธานาธิบดี อัมรุลเลาะห์ ซาเลห์ (Amrullah Saleh)
ทางตอลิบานยืนยันว่าพวกเขาสามารถบุกยึดพื้นที่เอาไว้ได้หลายอำเภอแล้ว รวมทั้งด่านตรวจอีกอย่างน้อย 4 แห่งในปัญจชีร์ และเวลานี้สามารถควบคุมพื้นที่ของหุบเขาแห่งนี้เอาไว้ได้ราว 20% แต่กระนั้นก็ยังมองไม่เห็นว่าจะสามารถปิดเกมได้โดยรวดเร็ว
ไฮบาตุลเลาะห์ อาคุนด์ซาดา (Haibatullah Akhundzada) ผู้นำสูงสุดของตอลิบาน ที่เป็นปราชญ์ทางศาสนาจากเมืองกันดาฮาร์ ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุดของรัฐเอมิเรตอิสลามแห่งนี้ เมื่อมีการประกาศสถาปนาขึ้นมาในท้ายที่สุด ขณะที่ มุลเลาะห์ บาราดาร์ (Mullah Baradar) น่าที่จะเป็นหัวหน้าใหญ่ที่อยู่ใต้ลงไปจากเขาแค่คนเดียว โดยที่จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานของคณะปกครองที่มีสมาชิกจำนวน 12 คนและเรียกขานกันในชื่อว่า “ชูเราะห์” (shura)
ถ้าหากมันออกมาอย่างนี้จริงๆ ก็แน่นอนทีเดียวว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกันระหว่างบทบาทเชิงสถาบันของ อาคุนด์ซาดา กับ อยาโตลเลาะห์ คาเมเนอี (Ayatollah Khamenei) ในอิหร่าน ถึงแม้ว่ากรอบโครงของระบบการปกครองโดยพวกผู้นำทางศาสนาอิสลาม ระหว่างทางนิกายสุหนี่กับทางนิกายชิอะห์ ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
สำหรับ มุลเลาะห์ บาราดาร์ เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการตอลิบานขึ้นมากับ มุลเลาะห์ โอมาร์ (Mullah Omar) ในปี 1994 และเคยถูกคุมขังอยู่ที่กวนตานาโม จากนั้นก็ถูกโยกย้ายมาที่ปากีสถาน ในช่วงหลังๆ เขาได้รับการปล่อยตัว และเข้าทำหน้าที่เป็นหัวหน้านักการทูตของตอลิบาน ในฐานะหัวหน้าของสำนักงานการเมืองของตอลิบานในกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์
เขายังมีฐานะเป็นผู้เข้าเจรจาคนสำคัญคนหนึ่ง ในการพูดจาต่อรองอย่างยืดเยื้อระหว่างตอลิบานกับรัฐบาลคาบูลที่เวลานี้ถูกโค่นล้มไปแล้ว และระหว่างตอลิบานกับกลุ่มทรอยก้า (troika กลุ่ม 3) แบบขยายวง ซึ่งประกอบด้วย รัสเซีย, จีน, สหรัฐฯ และปากีสถาน
หากเรียกการเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งคณะรัฐบาลของชาวอัฟกันชุดใหม่ว่า เกิดการทะเลาะวิวาทกัน มันก็ออกจะเป็นการพูดให้น้อยกว่าความเป็นจริงอย่างอักโขทีเดียว การเจรจาต่อรองนี้ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้ที่ดำเนินการคือ อดีตประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ และอดีตประธานของคณะมนตรีเพื่อการปรองดอง (Reconciliation Council) อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ (Abdullah Abdullah) ซึ่งคนหนึ่งเป็นชาวปาชตุน (ชาวปาทาน) และอีกคนหนึ่งเป็นชาวทาจิก ที่ต่างมีประสบการณ์ด้านระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง
ทั้ง การ์ไซ และ อับดุลเลาะห์ ต่างเป็นตัวเก็งที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของ 12 สมาชิกชูเราะห์
แต่ขณะที่การเจรจาต่อรองดูเหมือนมีความคืบหน้านั้นเอง ก็เกิดการปะทะกันอย่างซึ่งหน้าก่อตัวแรงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่าง สำนักงานการเมืองตอลิบานในโดฮา กับ เครือข่ายฮักกอนี (Haqqani network) ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดสรรแบ่งตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาล
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่เพิ่มเข้ามาในสมการนี้ ซึ่งคือบทบาทของ มุลเลาะห์ ยาคูบ (Mullah Yakoob) บุตรชายของ มุลเลาะห์ โอมาร์ และเวลานี้เป็นหัวหน้าของคณะกรรมการการทหารที่ทรงอำนาจยิ่งของตอลิบาน โดยทำหน้าที่กำกับดูแลเครือข่ายอันกว้างขวางใหญ่โตของพวกผู้บังคับบัญชานักรบในภาคสนาม ทั้งนี้ตัว มุลเลาะห์ ยาคูบ ก็ได้รับความเคารพอย่างสุดๆ จากพวกผู้บังคับบัญชานักรบเหล่านี้ด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ ยาคูบได้จงใจปล่อยคำพูดรั่วไหลออกมาว่า พวกที่ “กำลังใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยในโดฮา” ไม่สามารถที่จะมาบงการตั้งเงื่อนไขเอากับพวกที่เข้าเกี่ยวข้องมีบทบาทในการสู้รบในภาคสนาม แล้วราวกับว่าเพียงแค่นี้ยังไม่เพียงพอ ยาคูบยังมีปัญหาระดับสาหัสร้ายแรงกับพวกฮักกอนี –ซึ่งเวลานี้เข้ารับผิดชอบตำแหน่งที่สำคัญมากตำแหน่งหนึ่ง ได้แก่ การดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยของกรุงคาบูล โดยผ่าน คอลิล ฮักกอนี (Khalil Haqqani) ซึ่งจวบจนกระทั่งถึงเวลานี้เป็นผู้ที่แสดงบทบาทแบบนักการทูตอย่างสุดๆ
นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่า ตอลิบานแท้ที่จริงก็เป็นการรวมตัวอย่างสลับซับซ้อนของบรรดาขุนศึกระดับเผ่าและขุนศึกระดับภูมิภาคแล้ว ความไม่ลงรอยที่เกิดขึ้นมายังวาดภาพให้เห็นถึงห้วงเหวลึกที่คั่นกลางระหว่างพวกที่สามารถอธิบายได้อย่างหยาบๆ ว่าเป็นกลุ่มหรือฝักฝ่ายที่ยึดนักชาตินิยมอัฟกันเป็นศูนย์กลางมากกว่า กับกลุ่มหรือฝักฝ่ายที่ยึดปากีสถานเป็นศูนย์กลางมากกว่า
สำหรับพวกหลังนี้ ตัวชูโรงสำคัญที่สุดก็คือพวกฮักกอนี ซึ่งมีการปฏิบัติการอย่างใกล้ชิดมากกับกรมประมวลข่าวกรอง (Inter-Services Intelligence หรือ ISI) ของปากีสถาน
การที่จะสร้างความถูกต้องชอบธรรมทางการเมืองขึ้นมาในอัฟกานิสถานนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ต้องบอกว่าเป็นงานที่สุดแสนเหนื่อยยากและรังแต่จะล้มเหลวในตอนท้าย แม้กระทั่งว่าอัฟกานิสถานเวลานี้มีข้อผูกมัดที่จะต้องปกครองโดยชาวอัฟกันผู้ที่ได้กำจัดขับไสการยึดครองของต่างชาติออกไปได้สำเร็จก็ตามที
ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นยุคที่การ์ไซเป็นประธานาธิบดี และติดตามมาด้วยยุคของ อัชราฟ กานี ระบอบที่ครองอำนาจในกรุงคาบูลเอาไว้นั้น สำหรับชาวอัฟกันส่วนใหญ่แล้วต่างถือว่าได้รับการยัดเยียดให้มาโดยพวกผู้ยึดครองต่างชาติ และทำให้มันดูถูกต้องชอบธรรมโดยผ่านการเลือกตั้งที่น่าข้องใจสงสัย
ในอัฟกานิสถานนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องเกี่ยวกับเผ่า, เครือญาติ, และวงศ์ตระกูล ปาชตุน (ปาทาน) เป็นเผ่าชนที่ใหญ่โตกว้างขวาง โดยที่แบ่งออกเป็นเผ่าย่อยๆ มากมายนับไม่ถ้วน แต่ทั้งหมดยึดมั่นอยู่กับหลัก “ปาชตุนวาลี” (pashtunwali) ร่วมกัน ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในเรื่องการวางตัวที่หลอมรวมคุณสมบัติแห่งการเคารพตนเอง, ความเป็นอิสระ, ความยุติธรรม, การมีมิตรไมตรี, ความรักความเมตตา, การให้อภัย, การแก้แค้น, และความอดทนอดกลั้น เข้าด้วยกัน
ตอลิบาน 2.0 กำลังจะขึ้นครองอำนาจอีกคำรบหนึ่ง แบบเดียวกับในช่วง ตอลิบาน 1.0 ซึ่งอยู่ระหว่างปี 1996 ถึงปี 2001 ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับชาวทาจิกซึ่งพูดภาษาดารี (Dari) นั้น พวกเขาไม่ได้มีลักษณะชนเผ่า และเป็นชนส่วนข้างมากในหมู่ประชากรของเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น คาบูล, เฮรัต, หรือ มาซารีชารีฟ
สมมุติว่าสามารถแก้ไขการทะเลาะโต้แย้งกันภายในหมู่ชาวปาชตุนได้อย่างสันติเสร็จสรรพเรียบร้อย รัฐบาลที่นำโดยตอลิบานก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพิชิตหัวใจและความคิดของชาวทาจิก ซึ่งอยู่ในหมู่ผู้เป็นพ่อค้านักธุรกิจ, ข้าราชการ, และนักการศาสนาผู้มีการศึกษา
ดารี ซึ่งมีต้นกำเนิดจากภาษาเปอร์เซีย ถือเป็นภาษาสำหรับการบริหารงานรัฐบาล, วัฒนธรรมชั้นสูง, และความสัมพันธ์กับต่างประเทศ มาอย่างยาวนานทีเดียวในอัฟกานิสถาน เวลานี้มันจะต้องเปลี่ยนไปเป็นภาษาปาชตุน (ปาทาน) อีกครั้งหนึ่ง นี่เป็นรอยแตกรอยร้าวที่รัฐบาลใหม่จะต้องหาทางเชื่อมสมาน
มีเรื่องเซอร์ไพรซ์ที่ทำท่าอาจจะเผยโฉมให้เห็นกันในไม่ช้าไม่นานนี้ ดมิตริ ซิรนอฟ (Dmitry Zhirnov) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำคาบูลซึ่งเป็นผู้ที่มีคอนเนกชั่นกว้างขวางอย่างยิ่ง เปิดเผยให้ทราบว่าเขากำลังหารือเรื่องภาวะชะงักงันที่หุบเขาปัญจชีร์กับตอลิบาน
ซิรนอฟชี้ว่า ตอลิบานพิจารณาเห็นว่าข้อเรียกร้องบางประการของฝ่ายปัญจชีร์นั้น “มากเกินไป” –อย่างเช่นในเรื่องที่พวกเขาต้องการตำแหน่งมากเกินไปในคณะรัฐบาล และในเรื่องการปกครองตนเองสำหรับพวกจังหวัดบางแห่งที่ประชากรไม่ใช่ชาวปาชตุน ซึ่งในจำนวนนี้ก็รวมถึงจังหวัดปัญจชีร์ด้วย
มันไม่ใช่เรื่องห่างไกลความเป็นจริงจนเกินไปแต่อย่างใด ที่จะพิจารณาว่า ซิรนอฟผู้ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างกว้างขวาง อาจกลายเป็นคนกลางทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ไม่เพียงแค่ระหว่างชาวปาชตุนกับชาวปัญจชีร์เท่านั้น แต่กระทั่งระหว่างกลุ่มย่อยหรือฝักฝ่ายของชาวปาชตุนที่เป็นปรปักษ์กันอยู่อีกด้วย
ความชื่นชอบยินดีที่ได้พบเห็นความย้อนแย้งของประวัติศาสตร์ ย่อมบังเกิดขึ้นแก่ผู้ที่จดจำได้ว่า ในทศวรรษ 1980 นั้น พวกนักรบมูจาฮีดีนที่รวมตัวสามัคคีกัน ได้ก่อสงครามญิฮาดเพื่อสู้รบขับไล่สหภาพโซเวียต