xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯเล็งสั่นคลอน‘ตอลิบาน’ ด้วยการสร้างความแตกแยกจากภายใน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร


นักรบตอลิบาน (กลาง) เฝ้าระแวดระวัง ขณะผู้เข้าชมกำลังดูแมตช์แข่งขันคริกเก็ต ที่สนามคริกเก็ตนานาชาติคาบูล ในกรุงคาบูล, อัฟกานิสถาน เมื่อวันศุกร์ (3 ก.ย.)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Taliban faces US destabilization from within
by MK Bhadrakumar
03/09/2021

ผลประโยชน์ของวอชิงตันนั้นวางอยู่บนการสร้างสถานการณ์ “ไร้รัฐ” ขึ้นมา วอชิงตันต้องการประเทศอัฟกานิสถานซึ่งปราศจากรัฐบาลกลางที่สามารถกระทำบทบาทหน้าที่ของตน ทั้งนี้เพื่อที่สหรัฐฯจะได้สามารถเข้าแทรกแซงได้ตามใจปรารถนา และเดินหน้าผลักดันให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของตนที่กำหนดขึ้นมาใช้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้

ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ที่กรุงมอสโกเมื่อวันพฤหัสบดี (2 ก.ย.) โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเดทศรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) เธอย้ำว่ารัสเซียจะพิจารณารับรองฐานะของผู้ครองอำนาจรายใหม่ในอัฟกานิสถาน ในทันทีที่มีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งนำเอาฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมด้วยขึ้นมาในประเทศนั้น

ในคำแถลงของ ซาคาโรวา เอง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/world/1333293) เธอพูดเอาไว้อย่างนี้: “เราเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำเอาฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมขึ้นมาในอัฟกานิสถาน ซึ่งจะรวมเอากลุ่มพลังทางชาติพันธุ์และกลุ่มพลังทางการเมืองทั้งหมดของประเทศนั้น รวมทั้งชาวชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามที่จะเกิดขึ้นภายหลังกระบวนการนี้ ในเรื่องการให้การรับรองแก่ทางการผู้ครองอำนาจของประเทศนั้น ก็จะเป็นอันจบสิ้นลงไป”

มีความน่าจะเป็นอย่างสูงลิ่วทีเดียวที่รัฐบาลใหม่ชุดซึ่งนำโดยตอลิบานนี้ จะเป็นรัฐบาลผสมที่ดึงเอาฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมด้วยขึ้นมาจริงๆ การประกาศในเรื่องนี้เป็นที่คาดหมายกันในกรุงคาบูลว่า อาจเกิดขึ้นได้อย่างเร็วในวันศุกร์ (3 ก.ย.) ทั้งนี้ตามรายงานข่าวบางกระแส ขณะที่ฝ่ายอื่นๆคิดว่าการเจรจาต่อรองน่าจะลากยาวไปกว่านั้น (หมายเหตุผู้แปล - ลงท้ายแล้ว ยังไม่มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของอัฟกานิสถานกันในวันนั้น)

การให้ความเห็นของ ซาคาโรวา เป็นการมุ่งมองไปข้างหน้า และดูเหมือนเป็นการสะท้อนความคิดล่าสุดของฝ่ายรัสเซีย เพียงไม่นานก่อนหน้านี้ ซามีร์ คาบูลอฟ (Zamir Kabulov) ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีรัสเซียสำหรับเรื่องอัฟกานิสถาน ได้พูดเอาไว้ว่า ไม่มีทางเลยที่จะสามารถถอนชื่อของตอลิบาน ออกจากบัญชีรายชื่อองค์การผู้ก่อการร้าย จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะมีมติในเรื่องนี้เสียก่อน

“สำหรับเรื่องการให้การรับรอง เราไม่ได้รีบร้อน เราจะดูก่อนว่าระบอบปกครองนี้จะมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง” เขากล่าว

แท้จริงแล้ว จุดยืนของมอสโกต่อคำถามเรื่องการให้การรับรองรัฐบาลใหม่ของชาวอัฟกันนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดทีเดียวสำหรับเสถียรภาพของอัฟกานิสถาน เนื่องจากเมื่อมาถึงเวลานี้ เป็นที่ชัดเจนเหลือเกินว่าสหรัฐฯจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อให้แน่ใจว่า รัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานจะไม่ได้รับแรงหนุนส่งใดๆ

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) นั้น กำลังดำเนินความพยายามเพื่อที่จะแก้แค้นตอลิบาน จากการที่ตนเองต้องปราชัยอย่างน่าอัปยศอดสูในสงครามคราวนี้ กระทั่งเกี่ยวกับคำถามที่ว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่สหรัฐฯจะร่วมมือประสานงานกับตอลิบานในการต่อสู้กับกลุ่มไอซิส-เค (ISIS-K) [1] รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ก็ยังพยายามหลบเลี่ยงไม่ตอบ ถึงแม้ตามสามัญสำนึกแล้วย่อมต้องเห็นกันอยู่ว่า ตอลิบานนั้นเป็นศัตรูชนิดที่ต้องเอาให้ถึงตายไปข้างหนึ่งกับ ไอซิส-เค

เรื่องนี้บ่งบอกให้ทราบว่า สหรัฐฯมีเจตนาอันดับแรกสุดในการทำให้รัฐบาลอัฟกันชุดใหม่กลายเป็นอัมพาตในทางการเงิน โดยผ่านการใช้มาตรการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรต่างๆ, การอายัดทรัพย์สิน, การปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงระบบการธนาคารระหว่างประเทศ ฯลฯ แล้วจากนั้นก็เดินหน้ากระทำอะไรต่างๆ เยอะแยะมากมายที่ตนเองต้องการทำแบบลอดข้ามไม่แยแสรัฐบาลนี้ แบบไม่สนใจใยดีกับอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของอัฟกานิสถาน

มีบทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งของสถาบันบรูคกิ้ง (Brookings Institution กลุ่มคลังสมองชื่อดังที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Brookings_Institution -ผู้แปล) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (7 ก..) โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Will the Taliban regime survive? (ระบอบปกครองตอลิบานจะไปรอดหรือไม่?) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.google.com/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=&cad=rja&uact=8&ved=2ahUKEwjm4tDzguLyAhVpzDgGHaBfDIIQFnoECAUQAQ&url=https%3A%2F%2Fwww.brookings.edu%2Fblog%2Forder-from-chaos%2F2021%2F08%2F31%2Fwill-the-taliban-regime-survive%2F&usg=AOvVaw1K4JY1GXjJMKu_z5wZwXMX) บทวิเคราะห์นี้บอกว่า “ความท้าทายที่ตอลิบานต้องเผชิญ ในการประคับประคองให้กลุ่มย่อยหรือฝักฝ่ายต่างๆ จำนวนมากมายเหลือเกินของตนซึ่งมีความเข้มข้นทางอุดมการณ์ความคิดและผลประโยชน์ทางวัตถุที่แตกต่างกันอย่างหลากหลายยิ่ง ยังคงเกาะเกี่ยวอยู่ด้วยกันให้ได้นั้น กำลังกลายเป็นเรื่องหนักหน่วงยากเย็นมากยิ่งขึ้นทุกทีในเวลานี้ เมื่อกลุ่มนี้ขึ้นครองอำนาจแล้ว

“กลุ่มย่อยหรือฝักฝ่ายเหล่านี้มีทัศนะที่แตกต่างกันเหลือเกินในเรื่องที่ว่าระบอบปกครองใหม่ควรที่จะปกครองประเทศกันอย่างไร เรียกได้ว่าในทุกๆ มิติของการบริหารปกครองทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดึงเอาฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วม, การรับมือกับพวกนักรบที่เป็นคนต่างชาติ, เรื่องเศรษฐกิจ, และความสัมพันธ์กับภายนอก พวกผู้บังคับบัญชาในสนามรบที่เป็นพวกระดับกลางๆ –ซึ่งก็คือพวกรุ่นที่อายุยังค่อนข้างหนุ่มแน่น, มีการผูกพันกับเครือข่ายนักรบญิฮาดระดับโลกมากกว่า, และปราศจากประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการปกครองในช่วงทศวรรษ 1990 ที่ตอลิบานบริหารปกครองอย่างผิดพลาด— มีความแข็งกร้าวมากกว่าพวกผู้นำสำคัญๆ รุ่นอายุมากกว่าในระดับชาติและในระดับจังหวัด”

เป็นที่ชัดเจนทีเดียวว่า ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯนั้นเจาะเข้าไปได้ลึกมากภายในขบวนการตอลิบาน และมีสมรรถนะที่จะทำให้พวกเขาเกิดการแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ ทำให้พวกเขาอ่อนแอ และล่อใจโน้มน้าวพวกเขา เมื่อเวลาวิกฤตย่างกรายมาถึง

สามารถพูดได้ว่า ตอลิบานจะไม่ได้มีวันเวลาอันสะดวกสบายรออยู่ข้างหน้าหรอก ผลประโยชน์ของวอชิงตันนั้นวางอยู่บนการสร้างสถานการณ์ “ไร้รัฐ” ขึ้นมา วอชิงตันต้องการประเทศอัฟกานิสถานซึ่งปราศจากรัฐบาลกลางที่สามารถกระทำบทบาทหน้าที่ของตน ทั้งนี้เพื่อที่สหรัฐฯจะได้สามารถเข้าแทรกแซงได้ตามใจปรารถนา และเดินหน้าผลักดันให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของตนที่กำหนดขึ้นมาใช้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้

แผนกำหนดการที่ไม่มีการประกาศบอกกล่าวออกมาในที่นี้ ก็คือ การเริ่มสงครามลูกผสม ซึ่งพวกนักรบกลุ่มไอซิสที่สหรัฐฯอพยพโยกย้ายทางอากาศมาจากซีเรีย และส่งต่อไปยังอัฟกานิสถาน พร้อมด้วยพวกนักรบผ่านศึกโชกโชนสนามรบจากเอเชียกลาง, ซินเจียง, คอเคซัสเหนือ ฯลฯ จะออกปฏิบัติการในอาณาบริเวณต่างๆ ที่รายล้อมอัฟกานิสถาน

รัสเซีย ดูเหมือนจะตระหนักถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับความนัยอันสาหัสร้ายแรงของยุทธศาสตร์สหรัฐฯที่กำลังคลี่คลายออกมาให้เห็นกันอยู่นี้ เห็นได้จากการที่ วาสซิลี เนเบนเซีย (Vassily Nebenzia) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น จี้ถามถึงเจตนารมณ์อันไม่สุจริตซึ่งอยู่เบื้องหลังการที่สหรัฐฯและชาติพันธมิตรของพวกเขา พยายามเร่งรัดให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อนุมัติผ่านญัตติ 2593 (2021) ว่าด้วยอัฟกานิสถาน เมื่อวันจันทร์ (30 ส.ค.)

วันเวลาสำหรับความกำกวมคลุมเครือนั้นผ่านพ้นไปแล้ว การอยู่รอดของรัฐบาลผสมที่นำโดยตอลิบาน กำลังมีความจำเป็นถึงขั้นเป็นตายทีเดียวที่จะต้องพึ่งพาอาศัยความสนับสนุนในทางระหว่างประเทศ และด้วยเหตุนี้ ข้อวินิจฉัยสำคัญทางด้านนโยบายสำหรับบรรดารัฐในภูมิภาคนี้จึงควรเป็นคำถามที่ว่า การมีรัฐบาลซึ่งมีเสถียรภาพในคาบูลนั้นถือเป็นผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งยวดของพวกเขาหรือไม่

อัฟกานิสถานในทุกวันนี้อยู่ในสภาพแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในทางการเมืองอย่างชนิดไร้ความหวัง โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก สหรัฐฯก็ได้บ่อนทำลายและสร้างความอ่อนแออย่างเป็นระบบให้แก่ “พันธมิตรภาคเหนือ” (Northern Alliance) เพื่อแผ้วถางทางให้แก่รัฐบาลหุ่นของตนในคาบูล ขณะที่รัฐบาลตอลิบานที่กำลังปรากฏขึ้นมา ก็กำลังกลายเป็นความเป็นจริงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้แล้ว

ถ้าหากรัฐบาลตอลิบานล้มครืนลงไป เอกภาพของอัฟกานิสถานก็จะตกอยู่ในอันตราย มันจะถูกแย่งชิงตัดเฉือนแยกออกเป็นก๊กๆ โดยพวกขุนศึก แบบเดียวกับในโซมาลี และ เยเมน และจะเปลี่ยนไปเป็นแหล่งที่มาถาวรของภาวะไร้เสถียรภาพและการก่อการร้ายในระดับภูมิภาค นี่คือสิ่งที่พวกรัฐในภูมิภาคผู้มีความรับผิดชอบเฉกเช่นอินเดีย ต้องการเห็นจากผู้เป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกับตนเองกระนั้นหรือ?

คำตอบย่อมชัดเจนมากอยู่แล้ว “ความมั่นคงแห่งมาติภูมิ” ของสหรัฐฯ จะไม่ถูกกระทบกระเทือนอะไรถ้าหากอัฟกานิสถานเสื่อมถอยลงจนเข้าส่ภาวะโกลาหลวุ่นวายอย่างเต็มขั้น ทว่าพวกรัฐในภูมิภาคคือผู้มีส่วนได้เสียไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง และไม่มีใครเลยที่จะเป็นข้อยกเว้น –ไม่ว่าจะเป็นพวกรัฐในเอเชียกลาง, จีน, รัสเซีย, อิหร่าน, ปากีสถาน, และอินเดีย ทั้งหมดต่างเหมือนลงเรือลำเดียวกันทั้งสิ้น

สำหรับรัฐแต่ละรายในภูมิภาคแล้ว ผลประโยชน์ของตนเองย่อมจะอยู่ที่การเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่รัฐบาลอัฟกันชุดใหม่ และช่วยรัฐบาลนี้ในการเอาชนะกลุ่มไอซิส-เค ตลอดจนกลุ่มก่อการ้ายอื่นๆ ที่เฟื่องฟูขึ้นมาในระหว่างช่วงเวลาที่สหรัฐฯเข้าไปยึดครองประเทศนั้น ด้วยเหตุนี้ การให้การรับรองรัฐบาลใหม่ในคาบูลของบรรดารัฐในภูมิภาค จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด

มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำให้เกิดความแน่ใจขึ้นมาว่า ตอลิบานจะเติมเต็มความมุ่งมั่นผูกพันของพวกเขาในการปราบปรามกวาดล้างพวกกลุ่มผู้ก่อการร้ายทั้งหลายซึ่งกำลังปฏิบัติการอยู่บนดินแดนอัฟกัน รัฐในภูมิภาคนี้ทั้งหลายทั้งไม่สามารถและก็ไม่สมควรที่จะเอาต์ซอร์สส่งมอบภารกิจนี้ของพวกเขาไปให้แก่วอชิงตัน

ถึงแม้จะมีการอ้างหลักการหรูหราอย่างเรื่องความสมานฉันท์ระหว่างประเทศ แต่แท้ที่จริงแล้วสหรัฐฯกำลังพยายามวางแผนประสานงานเพื่อโดดเดี่ยวอัฟกานิสถาน โดยพยายามวาดภาพว่า นี่เป็น “รัฐผู้น่ารังเกียจ” (pariah state) ทั้งนี้หากจะหยิบยืมถ้อยคำที่พูดออกมาโดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน

ถ้าหากกลอุบายของสหรัฐฯในเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ รัฐทั้งหลายในภูมิภาคก็จะต้องเป็นผู้ประสบความเสียหายราคาแพงลิ่ว เนื่องจากผลลัพธ์ทางตรรกะของมันก็คือการที่ไอซิสจะก้าวขึ้นสู่อำนาจในอัฟกานิสถาน และมันไม่มีหรอกสิ่งที่เรียกกันว่าความมั่นคงอย่างชนิดสมบูรณ์แบบ

ความมั่นคงและเสถียรภาพของอัฟกานิสถาน มีความเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลตอลิบาน และช่วยรัฐบาลนี้ในการรวมศูนย์อำนาจให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะได้ยกระดับการดำเนินนโยบายต่างๆ และส่งเสริมสนับสนุนให้พวกเขาก้าวไปในทิศทางที่เป็นผลบวก

ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย

หมายเหตุผู้แปล
[1] ไอซิส-เค (ISIS-K) คือ กลุ่มย่อยที่ปฏิบัติการในพื้นที่อัฟกานิสถาน-ปากีสถาน ของกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State) ทั้งนี้ตัวย่อขององค์กรนี้มีผู้ใช้กันไปต่างๆ เช่น IS ตามชื่อในปัจจุบัน, ISIS ที่เป็นตัวย่อของชื่อเดิม Islamic State of Iraq and Syria ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายขององค์กรนี้, ISIL ตัวย่อของชื่อเดิมอีกชื่อหนึ่ง คือ Islamic State of Iraq and Levent ซึ่งก็เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเช่นกัน, นอกจากนั้นยังมี Daesh ตัวย่อของชื่อภาษาอาหรับขององค์กรนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Islamic_State_of_Iraq_and_the_Levant) สำหรับในข้อเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียน-เอ็ม เค ภัทรากุมาร— ใช้ว่า ISIS จึงขอใช้ตามนี้

ส่วน K นั้นย่อมาจาก Khorasan --โคราซัน (มีบางคนใช้ชื่อย่อเป็น KP ซึ่งย่อมาจาก Khorasan Province จังหวัดโคราซัน) คำๆ นี้เป็นชื่อที่เคยใช้กันมานานในอดีตโดยหมายถึงดินแดนที่แผ่จากอิหร่านไปจนถึงด้านตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย

กลุ่มย่อย ISIS-K นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 ขณะที่กลุ่ม ISIS พยายามหาทางขยายเขตพื้นที่ของตนจากดินแดนหัวใจของตนในอิรักและซีเรีย ให้ไกลออกไปทางตะวันออก ความพยายามเช่นนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากตอลิบานคัดค้านต่อต้าน และเปิดการสู้รบกับ ISIS-K โดยที่ทั้งอัลกออิดะห์, กองกำลังของรัฐบาลอัฟกันในคาบูล, และสหรัฐฯ ก็ทำอย่างเดียวกัน จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ดอกผลใหม่ๆ ซึ่ง ISIS-K ทำได้ ต้องเหือดหายไปอย่างรวดเร็วภายใต้กำลังอาวุธของฝ่ายต่างๆ ที่ผสมผสานกันเหล่านี้ซึ่งต่างพุ่งเป้าต่อต้านจ้องปราบปราม

อย่างไรก็ดี ระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ ISIS-K ดูเหมือนกลับมีพลังขึ้นอีกรอบ โดยได้เปิดปฏิบัติการโจมตีต่อเนื่องเป็นชุดพร้อมกับแสดงเครื่องหมายการค้าของตนซึ่งก็คือความโหดเหี้ยม ทั้งนี้ระหว่าง 4 เดือนแรกของปี 2021 สำนักงานภารกิจช่วยเหลือของสหประชาชาติในอัฟกานิสถาน (United Nations Assistance Mission in Afghanistan หรือ UNAMA) บันทึกว่ามีการโจมตีรวม 77 ครั้งซึ่ง ISIS-K อ้างความรับผิดชอบ หรือถูกประณามว่าเป็นคนทำ โดยที่เป้าหมายถูกเล่นงานเป็นกลุ่มซึ่งถูกกลุ่มนี้กระทำเอาเป็นประจำอยู่แล้ว ได้แก่ ชาวมุสลิมนิกายชิอะห์, ผู้หญิง, และชาวต่างประเทศ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลเรือน และบุคลากรทางทหาร

ISIS-K ไม่เหมือนกับอัลกออิดะห์ ตรงที่กลุ่มนี้มีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะดำเนินการโจมตีเล่นงาน “ศัตรูที่อยู่ไกล” ในโลกตะวันตก และในตอนนี้เป้าหมายเหล่านี้น่าที่จะมีลำดับความสำคัญสูงขึ้นด้วย เนื่องจาก “ศัตรูที่อยู่ใกล้” ซึ่งหมายถึงรัฐบาลในคาบูลและสหรัฐฯที่เป็นผู้คุ้มครองรัฐบาลนี้ ต่างก็จากไปแล้ว ตอลิบานอาจจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดปฏิบัติการเช่นนี้ขึ้นมา แต่พวกเขาย่อมไม่สามารถที่จะเฝ้าดูไปตลอดทั่วทุกๆ ซอกมุมของประเทศที่ทั้งกว้างขวางและทุรกันดาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในทางเป็นจริงแล้วดินแดนจำนวนมากของอัฟกานิสถานถูกปกครองโดยพวกผู้ทรงอำนาจอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งจะตัดสินใจด้วยตนเองในเรื่องจะให้ใครทำอะไรที่ไหน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/us-news/2021/aug/18/bidens-over-the-horizon-counter-terrorism-strategy-comes-with-new-risks)

กำลังโหลดความคิดเห็น