(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Signs suggest this isn’t the Taliban of old
by MK Bhadrakumar 20/08/2021
จวบจนถึงเวลานี้ การประพฤติปฏิบัติที่มองเห็นได้ของตอลิบาน ไม่ได้เป็นไปอย่างเลวร้ายสุดโต่ง ดังที่คาดการณ์ทำนายกันไว้ โดยที่พวกเขากำลังใช้วิธีการที่ค่อนข้างสายกลางเป็นส่วนใหญ่ ในการเข้ายึดครองกรุงคาบูล
การแถลงข่าวของโฆษกตอลิบานเมื่อวันอังคาร (17 ส.ค.) ซึ่งถือการเป็นออกโรงเคลื่อนไหวครั้งแรกสุดของกลุ่มนี้ ตั้งแต่ที่พวกเขาหวนกลับมายึดครองกรุงคาบูลได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ภายหลังถูกขับไล่ออกไปเมื่อ 20 ปีก่อน ได้รับความสนอกสนใจอย่างท่วมท้น คำถามใหญ่ที่อยู่ในใจของทุกๆ คนก็คือ ตอลิบานได้ “เปลี่ยนแปลง” ไปหรือไม่นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990
ความคิดเห็นนั้นมีต่างๆ ผิดแผกกันออกไป แต่อย่างน้อยที่สุดจวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ ยังคงไม่มีสัญญาณอันชัดแจ้งถึงการหันกลับไปสู่การปกครองแบบเผด็จการกดขี่กันสุดๆ
การแถลงข่าวอันน่าตื่นเต้นในกรุงคาบุลของโฆษกตอลิบาน ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด (Zabihullah Mujahid) ก็มีกลิ่นไอของความพอประมาณและความอดทนอดกลั้นต่อเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วย แผ่ซ่านออกมาอย่างชัดเจน
ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสามารถที่จะตั้งคำถามลักษณะยั่วยุเช่นนั้นแล้วก็ยังกลับออกมาได้โดยไม่ได้เป็นอะไร เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ มูจาฮิดตอบคำถามต่างๆ ด้วยความอดทน
ต่อไปนี้คือคำพูดที่เขาพูดเอาไว้ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ซึ่งสามารถที่จะบ่งบอกความหมายในตัวมันเอง:
**เราไม่มุ่งหาทางแก้แค้นใดๆ และ “ยกโทษให้แก่ทุกๆ คน”
**เราจะเคารพสิทธิต่างๆ ของสตรี แต่ต้องอยู่ภายในบรรทัดฐานแห่งกฎหมายอิสลาม
**เราต้องการให้สื่อมวลชนภาคเอกชนยังคงเป็นอิสระ แต่สื่อเหล่านี้ก็ไม่ควรทำอะไรที่เป็นการคัดค้านผลประโยชน์แห่งชาติจ
**อัฟกานิสถานจะไม่ยินยอมให้ตนเองเป็นที่พักพิงของใครคนไหนก็ตามซึ่งพุ่งเป้ามุ่งเล่นงานชาติอื่นๆ
**อัฟกานิสถานจะเป็นประเทศที่ปลอดยาเสพติด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูจาฮิดบอกว่าผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้ทำงานและศึกษาเล่าเรียน และสามารถที่“จะมีความคึกคักกระฉับกระเฉงมากในสังคม แต่อยู่ภายในกรอบโครงของอิสลาม” ทำนองเดียวกัน เขารับประกันว่า “จะยกโทษให้ทุกๆ คน” ซึ่งมุ่งหมายถึงพวกอดีตทหารและสมาชิกของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีอัชราฟ กานี เหล่านี้สามารถสร้างความประทับใจได้อย่างโดดเด่นทีเดียว
“ไม่มีใครจะทำอันตรายพวกคุณหรอก ไม่มีใครจะไปเคาะประตูบ้านคุณหรอก” มูจาฮิด กล่าว ยังมีสิ่งที่มูจาฮิดพูดออกมาอีก 2 จุด ซึ่งมีผลต่อเนื่องยาวไกลทีเดียวสำหรับสังคมที่เน้นการเปิดกว้าง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นั่นคือ:
*ตอลิบานจะไม่ยินยอมให้ผืนแผ่นดินของอัฟกานิสถานถูกใช้ไปเล่นงานประเทศอื่นๆ
*สื่อมวลชนที่เป็นของภาคเอกชนและเป็นอิสระ สามารถที่จะดำเนินการต่อไป ทว่าพวกเขาควรต้องยึดมั่นปฏิบัติตามบรรทัดฐานต่างๆ ทางวัฒนธรรม
ทำไม มูจาฮิด จึงออกมาพูดในสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงมากเช่นนี้? ประการแรก เขาเตรียมตัวเอาไว้แล้วที่จะพูดในสิ่งที่เขาพูดออกมาเหล่านี้ แน่ใจได้อย่างที่สุดว่า เขากระทำไปโดยที่ได้รับคำชี้แนะจากคณะผู้นำ เพื่อให้มีการแสดงจุดยืนต่างๆ ข้างต้นออกมาอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนกันตั้งแต่เนิ่นๆ กระทั่งก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่น นอกจากนั้นแล้ว การแถลงข่าวครั้งนี้ยังเปิดกว้างสำหรับสื่อมวลชนระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน
การแถลงข่าวคราวนี้จะทำให้ “พวกหากินด้วยการเอาตอลิบานเป็นเหยื่อล่อ” (Taliban-baiters) ซึ่งเป็นพวกที่มีชีวิตรอดอยู่ได้เพียงเพราะอาศัยเฟคนิวส์ข่าวปลอมเกี่ยวกับ "พฤติกรรมที่เกินขอบเขตด้านต่างๆ” ของตอลิบาน –โดยที่ส่วนใหญ่ก็ยึดโยงอยู่กับคำบอกเล่าที่ได้ยินได้ฟังจากคนอื่นและพวกข่าวลือต่างๆ— ต้องรู้สึกกังวลและสับสนกันบ้าง
จุดสำคัญก็คือ มันทำให้ยากลำบากมากขึ้นที่จะยังคงยึดมั่นอยู่กับความคิดลักษณะอคติเหมารวม ราวกับว่าสำหรับตอลิบานแล้วเวลายังคงหยุดนิ่งอยู่กับที่ ตั้งแต่ที่พวกเขาหายลับไปจากคาบูลในชั่วข้ามคืนเมื่อคราวฤดูหนาวของปี 2001
อย่างไรก็ตาม ในความคิดของผมแล้ว สิ่งที่สะดุดตาถือว่ายอดเยี่ยมจริงๆ ได้แก่การที่ตอลิบานกล้าเสนอเกณฑ์การวัดอันหนักแน่นมั่นคงแก่เรา โดยที่พวกเขาคาดหวังให้เราใช้เกณฑ์เหล่านี้มาไล่เรียงเอากับการประพฤติปฏิบัติของพวกผู้ปกครองตอลิบานในเวลาต่อไปข้างหน้า เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การจัดประชุมแถลงข่าวครั้งนี้ก็เพราะมีวัตถุประสงค์เช่นนี้นั่นเอง นี่ไม่ได้หมายความหรอกหรือว่ามันเป็นอะไรที่เข้าท่าเข้าทางเป็นอย่างยิ่ง?
อีกสิ่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญทัดเทียมกัน ได้แก่การที่ อะนัส ฮักกอนี (Anas Haqqani) ผู้นำตอลิบานระดับสูงสุดคนหนึ่ง (และก็เป็นทายาทคนหนึ่งของเครือข่ายฮักกอนีHaqqani Network ที่ทรงอำนาจ) เดินทางไปเยือนสถานที่พำนักของอดีตประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) เมื่อวันพุธ (18 ส.ค.) เรื่องนี้จะต้องพิจารณากันด้วยความใส่ใจอย่างสูงทีเดียว
คาร์ไซนั้นได้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มประสานกลุ่มหนึ่งขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยตัวเขาเอง, อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ (Abdullah Abdullah), และ กุลบุดดิน เฮกมัตยาร์ (Gulbuddin Hekmatyar) ผู้นำนักรบมูจาฮีดีน เพื่อเป็นการแผ้วถางทางสำหรับการจัดทำข้อตกลงระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งเปิดให้ฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม ภารกิจของฮักกอนีก็อยู่ที่คอนเนคชั่นนี้แหละ ทั้งนี้อับดุลเลาะห์ ก็อยู่ในการพบปะหารือคราวนี้ด้วย มีเหตุผลสมควรที่จะอนุมานว่า ฮักกอนี มีบทบาทอันสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา
เมื่อวันอังคาร (17 ส.ค.) รัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) ของรัสเซีย พูดแพล็มให้เห็นถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลนี้อยู่เหมือนกัน โดยในระหว่างเดินทางไปตรวจเยี่ยมดินแดนคาลินินกราด (Kaliningrad) ของรัสเซีย เขาได้พูดกับสื่อมวลชนว่า “ก็เหมือนๆ กับประเทศอื่นๆ ทั้งหลายนั่นแหละผมไม่ได้รีบร้อนที่จะให้การรับรองพวกเขา เมื่อวานนี้เอง ผมได้พูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่าน หวัง อี้ จุดยืนของพวกเรามีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่
“เรากำลังมองเห็นสัญญาณต่างๆ ที่ก่อให้เกิดกำลังใจจากตอลิบาน พวกเขากำลังบอกว่า พวกเขาต้องการมีรัฐบาลซึ่งกลุ่มพลังทางการเมืองกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย พวกเขาบอกว่าพวกเขาพร้อมอยู่แล้วที่จะให้กระบวนการในเรื่องต่างๆ ดำเนินกันต่อไป โดยหนึ่งในนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา การศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิง และการปฏิบัติงานของกลไกรัฐโดยรวม ไม่มีการปิดประตูใส่พวกเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานภายใต้รัฐบาลชุดก่อนที่นำโดยประธานาธิบดีอัชราฟ กานี หรอกน่ะ
“เรากำลังจับตามองกระบวนการต่างๆ ที่ออกมาในทางบวกจากท้องถนนของคาบูล ซึ่งสถานการณ์อยู่ในสภาพเงียบสงบเป็นอย่างดี และตอลิบานก็กำลังดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยได้อย่างทรงประสิทธิภาพ แต่มันยังคงเร็วเกินไปที่จะพูดถึงขั้นตอนต่างๆ ทางการเมืองที่จะเดินหน้าไปเพียงลำพังฝ่ายเดียว สำหรับในส่วนของเรา
“เราสนับสนุนการเริ่มต้นการสนทนาระดับชาติที่รวบรวมทุกๆ ฝ่ายเข้ามา โดยที่กลุ่มพลังทางการเมืองของชาติพันธุ์ต่างๆ และศาสนาต่างๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นของชาวอัฟกันต่างเข้ามาร่วม อดีตประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ และท่านประธานของคณะมนตรีระดับสูงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (High Council for National Reconciliation) อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ ได้พูดออกมาแล้วในทางเห็นชอบกับกระบวนการนี้พวกเขาต่างอยู่ในคาบูล พวกเขาออกมาพร้อมด้วยข้อเสนอนี้ หนึ่งในคณะผู้นำของภาคเหนืออัฟกานิสถาน มิสเตอร์กุลบุดดิน เฮกมัตยาร์ ก็เข้าร่วมแผนการริเริ่มนี้ด้วยเช่นกัน
“ตามความเป็นจริงแล้ว ตามที่ผมเข้าใจนั้น ช่วงเวลานี้ บางทีอาจจะกระทั่งตอนที่พวกเราพูดจากันอยู่นี้ก็ได้ การสนทนากับผู้แทนตอลิบานรายหนึ่งก็กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผมหวังว่ามันจะนำไปสู่ข้อตกลงซึ่งชาวอัฟกันจะจัดตั้งพวกองค์กรระยะเปลี่ยนผ่านที่เปิดให้ฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมขึ้นมา ซึ่งมันจะเป็นก้าวเดินสำคัญก้าวหนึ่งที่มุ่งสู่การทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ ในประเทศที่ประสบความทุกข์ยากมาอย่างยาวนานแล้ว”
ทางฝ่ายจีนนั้น ระหว่างการแถลงข่าวในกรุงปักกิ่งเมื่อวันพุธ (18 ส.ค.) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เจ้า หลี่เจียน (Zhao Lijian) ออกมาแถลงในลักษณะเป็นเสียงสะท้อนสิ่งที่ ลาฟรอฟได้พูดเอาไว้ตั้งแต่วันก่อน เจ้าบอกว่า “ความเป็นไปได้ของการพูดจาในเรื่องที่ว่า จีนจะสถาปนาความสัมพันธทางการทูตครั้งใหม่กับอัฟกานิสถานหรือไม่ จะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความอดทนอดกลั้นและเปิดกว้างขึ้นมาแล้ว โดยที่รัฐบาลดังกล่าวสามารถจะเป็นผู้แทนอย่างมีความสมควรเหมาะสม ในการเป็นตัวแทนแห่งผลลประโยชน์ต่างๆ ของประเทศชาติ
เขากล่าวด้วยว่า จุดยืนของปักกิ่งว่าด้วยประเด็นปัญหาต่างๆ ของอัฟกานิสถานนั้น “มีความชัดเจนอย่างชนิดไม่มีความคลุมเครือ เราจะรอคอยและให้การรับรองรัฐบาลใหม่ ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว”
แม่พิมพ์ที่กำลังปรากฏขึ้นมาอย่างน่าตี่นเต้นบนกระดานหมากรุกอัฟกันนั้น คือความร่วมมือประสานงานกันอย่งใกล้ชิดระหว่างมอสโกกับปักกิ่งในการนำทางเหตุการณ์ต่างๆ ในอัฟกานิสถานให้มุ่งหน้าไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีฐานอันกว้างขวาง, มีฐานะของการเป็นตัวแทนฝ่ายต่างๆ , และเปิดกว้างให้มีฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม โดยที่ครอบคลุมถึงตอลิบานด้วย
เรื่องนี้จำเป็นต้องมีบทวิเคราะห์แยกออกไปต่างหาก เนื่องจากมันเป็นพัฒนาการที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในการเมืองของภูมิภาค เมื่อมองกันในแง่มุมทางประวัติศาสตร์
ความรู้สึกของผมก็คือปากีสถานก็เข้าร่วมในเรื่องนี้ด้วย เมื่อวันพุธ (18 ส.ค.) รัฐมนตรีต่างประเทศ ชาห์ มาหมุด กูเรชี (Shah Mahmood Qureshi) ของปากีสถาน ได้พูดจากับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ภายหลังที่เขาเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะผู้นำของกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือของอัฟกานิสถานในกรุงอิสลามาบัดแล้ว
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline Zhttps://indianpunchline.com/) กับGlobetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย
หมายเหตุผู้แปล
หลังจากเขียนเรื่องสัญญาณต่างๆ บ่งชี้ว่า ตอลิบาน 2.0 เปลี่ยนแปลงไปมากจากเมื่อ 20 ปีก่อน (Signs suggest this isn’t the Taliban of old) แล้ว เอ็ม เค ภัทรกุมาร ยังโพสต์ข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่ง ที่พูดถึงความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานคราวนี้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอเอาไว้ในที่นี้:
จีนไม่ช่วยไบเดนให้หลุดจากความพลั้งพลาดในอัฟกานิสถาน
โดย เอ็ม เค ภัทรกุมาร
Reflections on Events in Afghanistan4: The ‘X’ Factor in Kabul
BY M. K. BHADRAKUMAR
20/08/2021
โกลบอลไทมส์ สื่อในเครือทางการจีนที่มีอิทธิพลสูง ระบุว่า จีนไม่ได้มีพันธะใดๆ ที่จะต้องช่วยเหลือสหรัฐฯให้หลุดพ้นจากความอิหลักอิเหลื่อทางยุทธศาสตร์ในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นสิ่งที่วอชิงตันทำขึ้นเองทั้งหมด ยิ่งในเมื่อสหรัฐฯกำลังใช้อำนาจบีบบังคับในเชิงยุทธศาสตร์และดำเนินการปิดล้อมคัดค้านจีนด้วยความมุ่งประสงค์ร้าย จึงยิ่งไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จีนจะต้องเอาชนะใจสหรัฐฯด้วยการทำความดีตอบแทนความชั่วร้าย
สื่อจีนออกบทวิจารณ์หลายชิ้นที่มีเนื้อหาปฏิเสธอย่างรุนแรงในเรื่องที่ฝ่ายตะวันตกอ้างว่า ปักกิ่งเอออวยกับเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในอัฟกานิสถาน การสนทนาเมื่อวันอังคาร (17 ส.ค.) ระหว่าง หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน (ตามความริเริ่มของฝ่ายหลัง) ทำให้เรื่องนี้ปรากฏออกมาอย่างชัดเจนโจ่งแจ้ง
หวัง บอกกับ บลิงเคน ว่า “ข้อเท็จจริงต่างๆ พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า การก็อปปี้โมเดลต่างประเทศที่อิมพอร์ตเข้ามาแบบไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมเลยนั้น ไม่สามารถที่จะนำมาใช้อย่างพอดิบพอดีในอีกประเทศหนึ่งซึ่งมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเงื่อนไขแห่งชาติซึ่งแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง และในที่สุดแล้วตัวมันเองก็ไม่น่าที่จะปักหลักปักฐานได้”
หวัง กล่าวอีกว่า เมื่อปราศจากการสนับสนุนของประชาชน “รัฐบาลย่อมไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้” และการใช้อำนาจตลอดจนหนทางทางทหารเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้น มีแต่จะก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และ “บทเรียนต่างๆในแง่มุมเช่นนี้สมควรที่จะได้รับการไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างจริงจัง” หวังเน้นย้ำว่า กรอบโครงทางการเมืองแบบเปิดกว้างและให้ฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมของอัฟกานิสถานนั้น ควรที่จะต้อง “สอดคล้องกับสถานการณ์แห่งชาติของพวกเขาเอง” (ดูเพิ่มเติมที่รายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัวชิ้นนี้ http://english.www.gov.cn/statecouncil/wangyi/202108/17/content_WS611b08cec6d0df57f98de84e.html)
ผลพวงต่อเนื่องจากการที่คณะบริหารไบเดนเคลื่อนไหวในลักษณะยั่วยุเพื่อต่อต้านจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับไต้หวัน กำลังปรากฏออกมาให้เห็นชัดเจนในที่นี้ โกลบอลไทมส์ (สื่อในเครือเหรินหมินรึเป้า ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน --ผู้แปล) แสดงความเห็นเอาไว้อย่างโจ่งแจ้งตรงไปตรงมาในบทบรรณาธิการฉบับวันอังคาร 17 ส.ค.) ว่า สถานการณ์อัฟกานิสถานในสภาพที่กำลังเผยโฉมออกมาให้เห็นอยู่ตอนนี้ มองไม่เห็นเลยว่าปักกิ่งจะสามารถร่วมมืออะไรกับวอชิงตันได้
“จีนจะเอาใจใส่อย่างกระตือรือร้นกับเรื่องการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในอัฟกานิสถาน และในเรื่องสนับสนุนการฟื้นฟูบูรณะประเทศที่ได้รับความเสียหายหนักจากสงครามแห่งนี้ แต่จีนไม่ได้มีพันธะใดๆ ที่จะต้องช่วยเหลือสหรัฐฯให้หลุดพ้นจากความอิหลักอิเหลื่อทางยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นของวอชิงตันเองทั้งหมด ในเมื่อสหรัฐฯกำลังดำเนินการใช้อำนาจบีบบังคับในเชิงยุทธศาสตร์และดำเนินการปิดล้อมคัดค้านจีนด้วยความมุ่งประสงค์ร้าย จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จีนจะต้องเอาชนะใจสหรัฐฯด้วยการทำความดีตอบแทนความชั่วร้าย การทำแบบนั้นมันไม่ได้ผลอะไรขึ้นมาหรอก” (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.globaltimes.cn/page/202108/1231747.shtml)
ในวันพฤหัสบดี (19 ส.ค.) ซาบิอุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกของตอลิบาน ประกาศอย่างเป็นทางการผ่านทางทวิตเตอร์ ถึงการก่อตั้งรัฐเอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน (Islamic Emirate of Afghanistan) โดยกล่าวว่า “(นี่คือ) การประกาศของรัฐเอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน ในโอกาสวันครบรอบ 102 ปีที่ประเทศนี้เป็นเอกราชจากการปกครองของอังกฤษ”
เวลาเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่อาวุโสของตอลิบานผู้หนึ่งก็พูดอย่างท้าทายว่า “มันจะไม่มีระบบประชาธิปไตยอะไรทั้งสิ้น เพราะมันไม่ได้มีรากฐานใดๆ เลยในประเทศของเรา เราจะไม่อภิปรายถกเถียงว่าเราควรนำเอาระบบการเมืองประเภทไหนมาใช้ในอัฟกานิสถาน เพราะมันเป็นสิ่งที่ชัดเจนอยู่แล้ว นั่นคือกฎหมายอิสลามชารีอะห์ และมันก็จะต้องเป็นอย่างนั้น”
ย้อนกลับมาที่สื่อจีนอีกที น่าสังเกตว่าในรายงานต่างๆ ของสื่อแดนมังกรนั้น เวลานี้น้ำเสียงได้มีการปรับเปลี่ยนจากการระบุว่าตอลิบานกำลังต้องพิสูจน์ตัวให้เห็นถึงเครดิตความน่าเชื่อถือในการต่อต้านการก่อการร้ายของพวกเขา มาเป็นการการแสดงความสนับสนุนอัฟกานิสถาน “ในการต่อสู้คัดค้านลัทธิก่อการร้ายอย่างเด็ดเดี่ยว” เพื่อไม่ให้ตนเองต้องกลายเป็น “แหล่งชุมนุมสำหรับการก่อการร้ายอีก” นี่เป็นการจำแนกแยกแยะที่สำคัญมากทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ในการโทรศัพท์ไปหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน ชาห์ มาหมุด กูเรซี (Shah Mahmood Qureshi) หวัง อี้ ได้ยื่นข้อเสนอแนะ 4 ประการสำหรับการร่วมมือกันระหว่างจีน-ปากีสถาน ได้แก่:
1.สนับสนุนฝ่ายต่างๆ ของชาวอัฟกัน ให้จัดตั้งโครงสร้างทางการเมืองที่มีฐานกว้างขวาง และให้ฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม “ซึ่งเหมาะสมกับเงื่อนไขแห่งชาติของอัฟกานิสถาน”
2.สนับสนุนอัฟกานิสถานใน “การสู้รบอย่างเด็ดเดี่ยว” เพื่อคัดค้านลัทธิก่อการร้าย
3.ติดต่อสื่อสารกับตอลิบาน เพื่อให้แน่ใจในเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรและองค์กรสถาบันต่างๆ ของจีนและของปากีสถาน และ
4.ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งเข้าเกี่ยวข้องกับอัฟกานิสถาน “ในลักษณะที่มีระเบียบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้โอกาสแก่เหล่าประเทศเพื่อนบ้านได้แสดงบทบาทที่โดดเด่น เพื่อที่จะผลักดันสถานการณ์ในอัฟกานิสถานให้ค่อยๆ เข้าสู่วงจรแห่งความดีงาม ในระหว่างที่กลไกต่างๆ อันหลายหลากก็ควรที่จะเสริมเติมซึ่งกันและกัน และทำให้ฉันทามติขยายตัวออกไป”
“วงจรแห่งความดีงาม” น่าจะสันนิษฐานได้ว่าหมายความถึงสายโซ่อันสลับซับซ้อนของแผนการริเริ่มต่างๆ ในระดับภูมิภาค ซึ่งมีลักษณะที่จะส่งเสริมเพิ่มกำลังกลับมาให้แก่แผนการริเริ่มเหล่านี้เอง ขณะที่ “กลไกต่างๆ อันหลายหลาก” น่าจะรวมไปถึงพวกรูปแบบความร่วมมือระดับภูมิภาค อย่างเช่นCPEC (China-Pakistan Economic Corridor ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน) และSCO (Shanghai Cooperation Organizationองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้)
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ หวัง ได้หยิบยกเอากรณีการโจมตีแบบก่อการร้ายที่ดาซู (Dasu) ในปากีสถานเมื่อเดือนที่แล้ว (ซึ่งมีวิศวกรชาวจีน 9 คนถูกสังหาร) ขึ้นมาสนทนากับ กูเรซี ด้วย รายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัวซึ่งถูกนำออกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของคณะรัฐมนตรีจีน ระบุว่า “หวัง แสดงความซาบซึ้งใจของจีน จากการที่ปากีสถานดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้จนมีความก้าวหน้าอย่างสำคัญ และหวังว่าปากีสถานจะใช้ความพยายามทุกอย่างเพื่อจับกุมพวกกระทำความผิด และลงโทษพวกเขาตามกฎหมาย เพื่อที่จะได้ให้คำอธิบายแก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งเพื่อให้เป็นการป้องปรามอย่างทรงพลังต่ออำนาจต่างๆ ที่พยายามบ่อนทำลายความสัมพันธ์จีน-ปากีสถาน”
หวัง ดูเหมือนพูดเป็นนัยๆ ถึงข้อกล่าวหาที่ กูเรซี ระบุออกมาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งมีการพาดพิงถึงอัฟกานิสถานและอินเดีย มาถึงตอนนี้ ตอลิบานน่าจะเข้ายึดพวกบันทึกต่างๆของบรรดาหน่วยงานข่าวกรองอัฟกันเอาไว้แล้ว แน่นอนทีเดียว นี่จะกลายเป็นตัวแปร “เอกซ์ แฟคเตอร์” (‘X’ factor) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างสำคัญที่สุดในการเมืองของภูมิภาค
(ดูเพิ่มเติมได้ที่http://english.www.gov.cn/statecouncil/wangyi/202108/19/content_WS611dae11c6d0df57f98dea87.html)
โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน เจ้า ลี่เจียน (Zhao Lijian) แถลงในวันพุธ (18 ส.ค.) ว่า “เป็นธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศที่การรับรองรัฐบาลใดๆ ต้องเกิดขึ้นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลนั้นๆ ขึ้นมา จุดยืนของจีนว่าด้วยประเด็นอัฟกันนั้นชัดเจนและสม่ำเสมอ เราวาดหวังว่าอัฟกานิสถานจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของฝ่ายต่างๆ อย่างกว้างขวาง, นำเอาฝ่ายต่างๆ เข้ามีส่วนร่วม, และเปิดกว้าง ซึ่งเป็นการสะท้อนความมุ่งมาดปรารถนาที่มีอยู่ร่วมกันอย่างกว้างขวางของประชาชนของอัฟกานิสถานเองและของประชาคมระหว่างประเทศ”
ก่อนหน้านั้นในวันอังคาร (17 ส.ค.) หัว ชุนอิง โฆษกอีกผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แสดงความคิดเห็นโต้แย้งอย่างมีพลัง โดยระบุว่าตอลิบานในทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นตอลิบานของเมื่อหลายๆ ปีก่อน เธอกล่าวว่า:
“ดิฉันได้ทราบมาว่ามีบางคนกำลังพูดกันว่าพวกเขาไม่ไว้วางใจพวกตอลิบานอัฟกันหรอก ดิฉันต้องการที่จะพูดว่าไม่มีอะไรที่จะดำรงคงอยู่โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรอก ในเวลาที่ทำความเข้าใจปัญหาและจัดการกับปัญหา เราควรที่จะใช้แบบแผนวิธีการแบบมององค์รวม มองความเชื่อมต่อระหว่างส่วนต่างๆ และมองแบบวิภาษวิธีซึ่งมีพัฒนาการ เราควรมองดูทั้งอดีตและปัจจุบัน เราไม่เพียงต้องรับฟังสิ่งที่พวกเขาพูดเท่านั้น แต่ยังต้องดูสิ่งที่พวกเขาทำอีกด้วย ถ้าหากเราไม่ก้าวไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป เอาแต่ยึดติดอยู่กับวิธีคิดที่ตายตัว และละเลยพัฒนาการของสถานการณ์แล้ว เราก็จะไม่มีวันบรรลุถึงข้อสรุปที่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้เลย”
ข้อเขียนคำวิจารณ์ต่างๆ ของฝ่ายจีนเหล่านี้ แน่นอนทีเดียวว่าแผ่ซ่านไปด้วยความสบายอกสบายใจในระดับสูงในเรื่องการรับมือกับตอลิบาน ชัดเจนว่าปักกิ่งจะยิ่งแสวงหาความร่วมมือ และการประสานงานที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับปากีสถาน จีนยังอาจจะให้การรับรองรัฐบาลใหม่ในคาบูลตั้งแต่เนิ่นๆ ทีเดียว
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่https://www.indianpunchline.com/reflections-on-events-in-afghanistan-4/