Singaporean PM’s speech mirrors China-US relations: Global Times editorial
By Global Times
04/08/2021
ชาติสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เชื่อว่า สหรัฐฯยังคงมีความเข้มแข็งกว่าจีน ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องในช่วงขณะนี้ แต่การประเมินของพวกเขาเกี่ยวกับดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯกับจีน ตลอดจนทัศนคติของพวกเขาต่อทั้งสองประเทศ ก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเงียบๆ
โกลบอลไทมส์ สื่อในเครือของเหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์ ออกบทบรรณาธิการ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202108/1230610.shtml) วิจารณ์คำปราศรัยของ ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่ไปพูดเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ในเวทีประชุมความมั่นคงแอสเพน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=AxGEaLhqwno หรือ ที่เก็บความเป็นข้อเขียนภาษาไทยแล้วที่ https://mgronline.com/around/detail/9640000077813) มีสาระซึ่งสะท้อนให้เห็นท่าทีของฝ่ายจีนอย่างน่าสนใจ จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้
นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ ไปพูดในการประชุมแบบเสมือนจริงของ เวทีประชุมความมั่นคงแอสเพน (Aspen Security Forum) เมื่อวันอังคาร (3 ส.ค.) โดยตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนจีนอาจจะผิดพลาดที่ไปเชื่อว่า “ตะวันออกกำลังผงาดขึ้นมา และตะวันตกกำลังเสื่อมทรุด” พร้อมกันนั้นเขาเตือนชาวอเมริกันด้วยว่า “จีนจะไม่หายวับไปไหน นี่ไม่ใช่สหภาพโซเวียต” เขาเน้นย้ำว่า ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ จะเป็น “ความวิบัติหายนะสำหรับทั้งสองฝ่าย และสำหรับโลก”
ความคิดเห็นเหล่านี้ของ ลี เป็นตัวแทนทัศนะร่วมกันของชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนจำนวนหนึ่ง ตลอดจนสาธารณชนในประเทศเหล่านี้ ในเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะยินดีต้อนรับหรือไม่มีข้อคัดค้านใดๆ สำหรับการที่สหรัฐฯมาปรากฏตัวและมามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ ในฐานะเป็นตัวคานอำนาจกับจีน แต่พวกเขาก็มีความหวั่นกลัวด้วยว่าจะเกิดการปะทะกันอย่างร้ายแรงระหว่างมหาอำนาจยิ่งใหญ่ทั้งสอง พวกเขาไม่มีรายไหนเลยต้องการที่จะถูกบังคับให้ต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างจีนหรืออยู่ข้างสหรัฐฯ
มันเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าดุลอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตลอดจนอิทธิพลของพวกเขาในภูมิภาคนี้ กำลังมีความเปลี่ยนแปลง “ตะวันออกกำลังผงาดขึ้นมา และตะวันตกกำลังเสื่อมทรุด” เป็นแนวโน้มที่เห็นชัดทว่าเกิดขึ้นมาอย่างช้าๆ ถึงแม้ว่ามันยังไปไม่ถึงจุดวิกฤตซึ่งสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์สามารถที่จะพลิกกลับตาลปัตรจนถึงขั้นรากฐานได้ แทบไม่มีชาวจีนคนไหนเลยที่เชื่อว่าประเทศของเขาหรือเธอ มีความสามารถที่จะเข้าสู้รบในลักษณะของการเผชิญหน้าทางยุทธศาสตร์ระดับทั่วโลกกับสหรัฐฯ แต่ความสามารถของเราและความมั่นอกมั่นใจของเราในการปกป้องผลประโยชน์แกนกลางต่างๆ ของเราในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกนั้นเป็นสิ่งที่กำลังได้รับการสถาปนาขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ นี่แหละคือความตระหนักรับรู้ตนเองอย่างแท้จริงของประชาชนชาวจีน
ชาติสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เชื่อว่า สหรัฐฯยังคงมีความเข้มแข็งกว่าจีน ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องในช่วงขณะนี้ แต่การประเมินของพวกเขาเกี่ยวกับดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯกับจีน ตลอดจนทัศนคติของพวกเขาต่อทั้งสองประเทศ ก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเงียบๆ เมื่อตอนที่คณะบริหารโอบามามุ่งผลักดันนโยบายในการปรับสมดุลทางยุทธศาสตร์ให้หันมาสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เห็นได้ชัดเจนว่าสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เอนเอียงไปทางข้างวอชิงตันมากยิ่งกว่าที่พวกเขาเป็นอยู่ในเวลานี้ โดยในตอนนี้พวกเขามีการเอนเอียงกลับมาสู่ตำแหน่ง “เป็นกลาง”
ลองพิจารณาสิงคโปร์เป็นตัวอย่างก็ได้ ประเทศนี้เป็นหนึ่งสมาชิกสมาคมอาเซียนซึ่งพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯมากที่สุด ในแง่การเมืองและความมั่นคง ระหว่างช่วงคณะบริหารโอบามานั้น สิงคโปร์มีความกระตือรือร้นอย่างแข็งขันในการให้ความร่วมมือกับนโยบายทะเลจีนใต้ของสหรัฐฯ และได้เติมเชื้อไฟให้แก่กองเพลิงแห่งการตัดสินคดีทางอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ซึ่งอดีตประธานาธิบดี เบนิโย อากีโน ที่ 3 แห่งฟิลิปปินส์เป็นผู้ริเริ่มขึ้นมาตามลำพังฝ่ายเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับในตอนนั้นแล้ว ภาษาทางการทูตของสิงคโปร์ต่อจีนและต่อสหรัฐฯในเวลานี้มีการปรับให้สมดุลมากขึ้นและราบรื่นยิ่งขึ้น นี่สมควรต้องถือว่าเป็นสัญญาณในทางบวก
ก่อนหน้านี้ บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯในเรื่องการเมืองและความมั่นคง ตลอดจนเรื่องเศรษฐกิจ เวลานี้จีนกลับกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนแทบทุกราย การลงทุนของจีนในอาเซียนก็กำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่านั้นจีนยังกำลังสร้างแสนยานุภาพทางทหารของตนด้วยฝีก้าวอันฉับไว ทั้งหมดเหล่านี้รวมกันแล้วกำลังปรับเปลี่ยนรูปโฉมโครงสร้างทางอำนาจตลอดทั่วทั้งภูมิภาคนี้
สหรัฐฯบอกว่าตนไม่ได้กำลังเรียกร้องให้บรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างจีนหรือจะอยู่ข้างสหรัฐฯ ทว่าพร้อมกันนั้นสหรัฐฯก็อ้างว่าตนต้องการ “ที่จะเสนอทางเลือกต่างๆ ให้แก่บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” วอชิงตันยังคงเพียรพยายามไม่เลิกที่จะโน้มน้าวชักชวนให้บรรดาสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมในการต่อต้านจีน จีนนั้นคัดค้านความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสหรัฐฯที่มุ่งปิดล้อมจีนในทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ เป้าหมายของเราก็คือการทำให้บรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีความเป็นกลางอย่างแท้จริงระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และความพยายามเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม
จีนยังคงต้องเดินไปอีกยาวไกลทีเดียว ก่อนที่จะมีความแข็งแกร่งอย่างรอบด้านซึ่งสามารถแซงหน้าความเข้มแข็งของสหรัฐฯได้ อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ได้กลายส่วนหนึ่งแห่งแผนการทางยุทธศาสตร์อันจริงจังของจีนด้วยซ้ำไป เรามีความตระหนักดีว่ายังคงมีช่วงห่างขนาดใหญ่ระหว่างประเทศทั้งสองในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนในด้านแสนยานุภาพทางทหาร เราไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะเข้าสู้รบแบบเผชิญหน้าเชิงยุทธศาสตร์อย่างชนิดตัดสินความเป็นความตายกับสหรัฐฯ หรือสร้างความปั่นป่วนยุ่งเหยิงให้แก่ประเทศนั้น
แต่แน่นอนว่าจีนจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อแซงหน้าสหรัฐฯในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก รวมทั้งแวดวงทางการทหารด้วย ความได้เปรียบเช่นนี้จะทำให้แน่ใจได้ว่าสหรัฐฯจะไม่เปิดการท้าทายอย่างก้าวร้าวในน่านน้ำต่างๆ ที่อยู่ประชิดกันของจีน นอกจากนั้นมันยังจะทำให้เกิดความแน่ใจได้ว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะไม่สนับสนุนการที่สหรัฐฯดำเนินการปิดล้อมจีน ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้แก่ผลประโยชน์แห่งชาติของจีน
นี่ไม่ใช่เป็นเป้าหมายที่มากเกินไปแต่อย่างใด มันเป็นเกียรติศักดิ์ศรีและสิทธิของจีนในฐานะที่เป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่รายหนึ่ง สหรัฐฯไม่สามารถที่จะมาบีบคั้นจีนตรงธรณีประตูของจีนได้เสมอไป แต่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็ไม่ควรมุ่งแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะเจาะจงใดๆ ด้วยการฉวยประโยชน์จากนโยบายจีนแบบสุดโต่งของสหรัฐฯ ในกระบวนการเช่นนี้ ควรที่จะมุ่งแสวงหาความสมดุลซึ่งสอดคล้องเข้ากันได้ดีที่สุดกับผลประโยชน์อันถูกต้องชอบธรรมของทุกๆ ฝ่าย
ในคำปราศรัยของเขาคราวนี้ ลีได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความอ่อนไหวของคำถามเรื่องไต้หวันอีกด้วย คำถามเรื่องไต้หวันนั้นไม่สามารถที่จะชะลอเลื่อนช้าไปอย่างถาวรในลักษณะนี้ได้ นี่เนื่องจากการรวมประเทศให้เป็นเอกภาพคือส่วนประกอบที่เป็นสาระสำคัญประการหนึ่งของการสร้างประชาชาติจีนขึ้นมาใหม่ และคำถามนี้ในเวลานี้กำลังคอยแต่จะปรากฏออกมาในเส้นทางซึ่งสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้แก่ผลประโยชน์แห่งชาติของจีน และสิ้นเปลืองทรัพยากรทางการทูตของจีน ถ้าหากพวกผู้กุมอำนาจในไต้หวันไม่ดำเนินการริเริ่มเพื่อลดทอนความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประชาชาติจีน ซึ่งเกิดขึ้นจากสถานะเดิมบริเวณสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวันแล้ว พวกเขาก็จะต้องเตรียมตัวรับมือกับพายุใหญ่ วันเวลาดังกล่าวนี้จะมาถึงเมื่อใดนั้น ก็เป็นเพียงเรื่องของเวลาเท่านั้น