xs
xsm
sm
md
lg

คำเตือน จากลี เซียนลุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


ลี เซียนลุง
ในวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคมที่เพิ่งผ่านมา หน่วยงานป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ หรือ CDC และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกคำเตือนขอให้ชาวอเมริกันงดการเดินทาง (Do Not Travel) มาเยือนไทย (และอีกหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, อิสราเอล, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สเปน, อังกฤษ รวมประมาณกว่า 70 ประเทศ) ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อการระบาดโรคโควิด ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดขั้นที่ 4 (very high risk) และก่อนหน้านั้น ประเทศไทยเคยอยู่ในกลุ่มมีความเสี่ยงระดับที่ 3 (high risk) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้

แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง ทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ (ตำแหน่งนี้เทียบเท่ารมต.ในครม.ของ ปธน.ไบเดน) ได้เดินทางจากพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียว มาถึงกรุงเทพฯ และจะพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ ถึงวันที่ 12 สิงหาฯ เพื่อเพิ่มพูนกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศไทย โดยไม่ให้น้ำหนักแก่คำเตือนให้งดการเดินทางมาไทยแต่อย่างใด

คำกล่าวของทูตลินดาในระหว่างเยือนไทย และได้เข้าพบกับรองนายกฯ และรมต.ต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้ตอกย้ำถึงสหรัฐฯ ได้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับไทยมากว่า 200 ปี โดยมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งและครอบคลุมหลายด้าน ทั้งในด้านการค้า, การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน, การเป็นพันธมิตรทางด้านการทหารที่แน่นแฟ้น รวมทั้งความร่วมมือด้านสาธารณสุข

เธอได้กล่าวถึงคำมั่นของ ปธน.ไบเดน ที่จะมอบวัคซีนให้กับทั่วโลก เพราะ ปธน.ไบเดนเข้าใจดีว่า “ไม่มีใครจะปลอดภัยได้จนกว่าทุกๆ คนจะปลอดภัย” โดยสหรัฐฯ กำลังบริจาควัคซีนกว่า 500 ล้านโดสให้กับประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และปราศจากเงื่อนไขใดๆ

สำหรับประเทศไทย ท่านทูตลินดา ได้ย้ำว่า ทางสหรัฐฯ ได้จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเธอก็ได้เห็นการฉีดวัคซีนที่รพ.เมดพาร์คด้วย และยังได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจที่สหรัฐฯ จะกำลังจัดส่งวัคซีนมาให้ไทยอีก 1 ล้านโดสในเร็วๆ นี้ (น่าจะเป็นก้อนเดียวกับที่ ส.ว.รัฐอิลลินอยส์ ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ได้ติดต่อไปทำเนียบขาว-หลังจากชุมชนคนไทยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะที่เมืองชิคาโก ได้ทำเรื่องเรียกร้องไปยังเธอ-และทางทำเนียบขาวได้บอกผ่านเธอว่า ไทยจะได้เพิ่มอีก 1 ล้านโดสรวมเป็น 2.5 ล้านโดส)

ขณะเดียวกัน ท่านทูตลินดา ก็ได้ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยินดีจะมอบความช่วยเหลือมูลค่า 5 ล้านเหรียญ (ประมาณ 165 ล้านบาท) แก่ทางการไทย โดยส่วนใหญ่จะเป็นความช่วยเหลือเพื่อดำเนินการตอบสนองด้านมนุษยธรรม...ยิ่งกว่านั้น เธอบอกว่า สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการรับมือต่อการระบาดของโควิด เพื่อช่วยภาวะตึงตัวของระบบสาธารณสุขของไทย

ตามหลังการเดินทางของทูตลินดา คราวนี้จะเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ที่จะมาเยือนอาเซียน (บางประเทศ) ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาฯ นั่นคือ การเดินทางมาเยือนสิงคโปร์และเวียดนามของรอง ปธน.กมลา แฮร์ริส เป็นการส่งท้ายสำหรับการจัดคิวถี่ยิบของผู้บริหารรัฐบาลไบเดนที่ทยอยเดินทางมาระดมพันธมิตรในอาเซียน และเอเชียแปซิฟิกในช่วงกรกฎา-สิงหา เพื่อสร้างแนวร่วมสกัดกั้นจีนอย่างเป็นระบบ

ซึ่งเริ่มตั้งแต่ รมต.กลาโหมสหรัฐฯ พล.อ.ลอยด์ ออสติน ไปเยือนเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และอินเดีย ตามมาด้วยการมาเยือนสิงคโปร์, เวียดนาม และฟิลิปปินส์, รมช.ต่างประเทศเวนดี เชอร์แมน เยือนกัมพูชา, ไทย

ตามมาด้วยการซ้อมรบในอินโด-แปซิฟิก ของกลุ่ม Quad; และยังมีการซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และที่น่าทึ่งคือ เรือรบอังกฤษก็ปรากฏกายในมหาสมุทรอินโด-แปซิฟิก เพื่อให้แน่ใจว่า จะยังคงมีอิสระในการเดินเรือในน่านน้ำทะเลจีนใต้ และส่งสัญญาณว่าจะต้องเป็นทะเลเปิด-ไม่ใช่ถูกกีดขวางจากทางจีนไม่ให้เข้ามาในน่านน้ำ...รวมทั้งเรือรบเยอรมนีก็ข้ามน่านน้ำมาหลายมหาสมุทร เพื่อมาแสดงพลังร่วมกับประเทศสหรัฐฯ และพันธมิตร Quad ว่าจะไม่ยอมให้น่านน้ำทะเลจีนไม่ใช่น่านน้ำเปิดเสรีอีกต่อไป!

พออุณหภูมิในเขตทะเลจีน ทั้งใต้และตะวันออก ดูจะทั้งสูงขึ้นและคึกคักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทำเอานายกฯ ลี เซียนลุง แห่งเกาะเล็กๆ สิงคโปร์ ต้องออกมาเตือนมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐฯ ว่า อย่าใช้ท่าทีแข็งกร้าวท้าทายจีน ซึ่งอาจเป็นอันตรายมาก และเตือนให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนพยายามลดความตึงเครียดระหว่างกัน เพราะไม่ว่าสหรัฐฯ หรือจีน-จะไม่มีใครสามารถเอาชนะใครได้!

เป็นคำกล่าวท่ามกลางการประชุมเวทีความมั่นคงที่เมืองแอสเพน รัฐโคโลราโด ของสหรัฐฯ (Aspen Security Forum) เมื่อ 5 สิงหาคมนี้เอง

นายกฯ ลี ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนท่าทีที่มีต่อจีน เดิมเป็นท่าทีของการแข่งขันกับจีน ซึ่งการแข่งขันนั้น ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายในโลก

แต่ดูท่าทีในช่วงเร็วๆ นี้ (น่าจะหมายถึงสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ และติดต่อมาถึงสมัยของไบเดน) กลายเป็นท่าทีที่สหรัฐฯ จะต้องเป็นผู้ชนะฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม คือ ไม่ใช่ win-win แต่เป็น winner-loser (s)

นายกฯ ลี ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า “วันนี้เกิดฉันทมติเห็นร่วมกันของสองพรรคใหญ่ของสหรัฐฯ-ทั้งๆ ที่สองพรรคนี้ขับเคี่ยวในจุดยืนแตกต่างกันในแทบทุกเรื่อง แต่กลับเห็นร่วมกันคือ ความสัมพันธ์ที่มีกับจีน โดยเป็นแนวทางแข็งกร้าวในแทบทุกเวที...และผมไม่แน่ใจเลยว่า นี่จะเป็นฉันทมติที่ถูกต้องหรือไม่...ผมไม่แน่ใจว่า สหรัฐฯ ตระหนักหรือไม่ว่า สหรัฐฯ จะต้องเจอกับปรปักษ์ (ศัตรู) ที่น่าเกรงขามขนาดไหน ถ้าสหรัฐฯ ตัดสินใจว่า จีนคือ ศัตรู”

นายกฯ ลี ยังพูดฝากไปถึงทั้งสองฝ่ายว่า “ในสถานการณ์ขณะนี้ ผมขอให้ทั้งสองฝ่ายให้หยุดแล้วคิด อย่างระมัดระวัง...ก่อนที่จะเดินหน้าต่อ (ด้วยความแข็งกร้าว)ต่อกัน...เพราะมันจะอันตรายมาก...(ทั้งสำหรับสองฝ่าย และกับทั้งโลกด้วย) และเสริมด้วยว่า “เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่สหรัฐฯ และจีนจะต้องพยายามมีปฏิสัมพันธ์กันไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง...ซึ่งจะเกิดหายนะกับทั้งสองฝ่าย...และกับทั้งโลก”

นายกฯ ลี ยังวิจารณ์ท่าทีอันแข็งกร้าวของรัฐบาลไบเดน ในการพบปะหารือทวิภาคีระดับสูงของจีนครั้งแรกที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา (ซึ่งจีนถึงกับเตรียมตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ต่างๆ ตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าเรื่องการเจรจา)

นับเป็นการทักของจิ้งจกตัวน้อย คือ นายกฯ ลี ที่เข้าใจและใกล้ชิดกับทั้งสองประเทศอย่างลึกซึ้ง เพราะบิดาของนายกฯ ลี คือ อดีตนายกฯ ลี กวนยู มีบทบาทสำคัญขนาดท่านผู้นำเติ้งถึงกับปรึกษาหารือ ถึงการทำให้ประเทศจีนสามารถพัฒนาก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และมีความอยู่ดีกินดี เฉกเช่นที่สิงคโปร์ โดยไม่ถึงกับเปิดเสรีทางการเมืองมากเกินไป

นายกฯ ลี ตบท้ายด้วยการหยอดคำชมรัฐบาลไบเดน ที่กลับมาสู่นโยบายต่างประเทศที่มีแบบแผนมากยิ่งขึ้น หลังจากอดีต ปธน.ทรัมป์สร้างความคาดหมายไม่ได้-ความไม่แน่นอน-ยุ่งเหยิงเอาไว้ เพราะนานาประเทศต้องการยุทธศาสตร์ระยะยาวของสหรัฐฯ ที่มีความคงเส้นคงวา และเป็นนโยบายที่น่าเชื่อถือและคาดการณ์ได้

เขาทิ้งท้ายน่าคิดว่า มหาอำนาจทั้งสองฝ่ายควรหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ซึ่งอาจบีบบังคับให้ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ในโลกต้องเลือกข้างในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น