xs
xsm
sm
md
lg

‘คาบูล’เวลานี้อยู่ในอาการคล้ายๆ กับตอนที่ ‘ไซ่ง่อน’ กำลังจะแตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เปเป้ เอสโคบาร์


นักรบตอลิบานถือเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี ยืนอยู่ข้างถนนในเมืองเฮรัต เมืองใหญ่อันดับ 3 ของอัฟกานิสถาน เมื่อวันศุกร์ (13 ส.ค.) ภายหลังกองกำลังฝ่ายรัฐบาลถอนออกไปจากเมืองในวันพฤหัสบดี (12 ส.ค.)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

A Saigon moment looms in Kabul
By PEPE ESCOBAR
13/08/2021

วันที่ 12 สิงหาคม 2021 จะเป็นวันซึ่งประวัติศาสตร์จารึกว่า คือวันที่ตอลิบานแก้แค้นเอาคืนการที่อเมริกาเข้าไปรุกราน และเปิดการโจมตีซึ่งทำให้พวกตนต้องตกลงจากอำนาจในอัฟกานิสถานเมื่อเกือบๆ 20 ปีก่อน

วันที่ 12 สิงหาคม 2021 ประวัติศาสตร์จะจารึกว่า มันเป็นวันซึ่งตอลิบานกระหน่ำโจมตีใส่รัฐบาลส่วนกลางในกรุงคาบูลได้อย่างเด็ดขาดชัดเจน หลังจากเวลาผ่านไปเกือบๆ 20 ปีนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 และตามมาด้วยการครองอำนาจในอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 1996 – 2001 ของพวกเขา ถูกโค่นล้มพังครืนลงไปจากการถล่มทิ้งระเบิดของฝ่ายอเมริกัน

ในวันที่ 12 สิงหาคม 2021 ด้วยการรุกโจมตีอย่างรวดเร็วแบบสายฟ้าแลบ ชนิดที่มีการประสานงานกันระหว่างจุดต่างๆ เป็นอย่างดี ตอลิบานก็สามารถยึดศูนย์กลางที่ทรงความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเอาไว้ได้ 3 แห่งพร้อมกันในวันเดียว ได้แก่ กัซนี (Ghazni) บริเวณภาคกลาง, กันดาฮาร์ (Kandahar) ทางภาคใต้, และ เฮรัต (Herat) ในภาคตะวันตก โดยที่พวกเขายังยึดครองพื้นที่ภาคเหนือเอาไว้ได้เกือบทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2021/08/all-roads-lead-to-the-battle-for-kabul/) เท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ตอลิบานเข้าควบคุมเมืองเอกของจังหวัดต่างๆ ได้ 14 แห่งแล้ว และยังกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งแรกสุดในตอนเช้าวันนั้น พวกเขาเข้ายึดกัซนี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงคาบูลประมาณ 140 กิโลเมตร ทางหลวงที่บูรณะขึ้นมาใหม่แล้วอยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ไม่เพียงแต่ตอลิบานกำลังเคลื่อนเข้าไปใกล้คาบูลยิ่งขึ้นทุกทีๆ เท่านั้น แต่ด้วยวัตถุประสงค์ในทางปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวง เวลานี้พวกเขายังเป็นผู้ควบคุมเส้นเลือดใหญ่สำคัญสุดของชาติ ซึ่งก็คือทางหลวงหมายเลข 1 (Highway 1) เส้นนี้แหละ ที่เชื่อมระหว่างคาบูลกับกันดาฮาร์ โดยตัดผ่านกัซนี

ตรงนี้ในตัวมันเองถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนเกมในทางยุทธศาสตร์แล้ว เนื่องจากมันจะเปิดทางให้ตอลิบานสามารถตีวงเข้าปิดล้อมคาบูลเอาไว้จากทางเหนือและทางใต้พร้อมๆ กัน ในลักษณะของการเคลื่อนทัพเข้ารุกรูปคีม

สำหรับกันดาฮาร์ แตกในช่วงกลางคืนหลังจากตอลิบานพยายามอย่างหนักในการทะลวงแนวพื้นที่ความมั่นคงที่วางเอาไว้รอบๆ ตัวเมือง ด้วยการเข้าโจมตีจากทิศทางต่างๆ หลายๆ ทาง

ในกัซนี ผู้ว่าการจังหวัด ดาอุด ลักมานี (Daoud Laghmani) ทำข้อตกลง จากนั้นก็หลบหนี และถูกทางการคาบูลจับกุม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.khaama.com/governor-arrested-after-handing-over-ghazni-province-to-taliban-8758475/) ส่วนในกันดาฮาร์ ผู้ว่าการจังหวัด รูฮัลเลาะห์ กันซาดา (Rohullah Khanzada) –ซึ่งเป็นคนของเผ่าโปโปลไซ (Popolzai) ที่ทรงอำนาจมาก— หลบหนีออกจากเมืองพร้อมกับองครักษ์เพียงไม่กี่คน

เขาเลือกที่จะเข้าเกี่ยวข้องกับการทำข้อตกลงซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อม รวมทั้งโน้มน้าวพวกตอลิบานให้ยินยอมปล่อยให้กำลังทหารที่ยังเหลืออยู่ถอยออกไปยังสนามบินกันดาฮาร์ และให้ใช้เฮลิคอปเตอร์อพยพพวกเขาได้ แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดของกองทหารเหล่านี้ รวมทั้งอาวุธหนัก และเครื่องกระสุนต่างๆ น่าที่จะถูกส่งถ่ายโอนไปให้ตอลิบาน

กองทหารหน่วยรบพิเศษของอัฟกานิสถาน ถือเป็นทหารชั้นเยี่ยมที่สุดในกันดาฮาร์ ทว่าพวกเขาก็ทำหน้าที่แค่คุ้มครองป้องกันเฉพาะที่มั่นซึ่งได้รับการคัดสรรเอาไว้เพียงไม่กี่แห่ง มาถึงตอนนี้ภารกิจต่อไปของพวกเขาอาจจะได้แก่การป้องกันคาบูล ข้อตกลงขั้นสุดท้ายระหว่างผู้ว่าการกับฝ่ายตอลิบานน่าจะลงตัวในเร็วๆ นี้ โดยที่กันดาฮาร์นั้นถูกตีแตกไปเรียบร้อยแล้ว

ในเฮรัต ตอลิบานเข้าโจมตีจากด้านตะวันออก ขณะที่ อิสมาอิล ข่าน (Ismail Khan) อดีตขุนศึกผู้ฉาวโฉ่เรื่องความโหดเหี้ยม ซึ่งกำลังนำกองกำลังอาวุธของเขา เข้าสู้รบได้อย่างน่ากลัวทีเดียวจากทางด้านตะวันตก พวกตอลิบานรุกคืบไปเรื่อยๆ จนสามารถยึดกองบัญชาการตำรวจ, “ปลดปล่อย” ผู้ต้องขังในเรือนจำ, และเข้าปิดล้อมสำนักงานของผู้ว่าการ

แล้วเกมก็ยุติลง เฮรัตแตกแล้ว และบัดนี้ตอลิบานคือผู้เข้าควบคุมบริเวณภาคตะวันตกของอัฟกานิสถานเอาไว้ทั้งหมดไปจนจดชายแดนติดต่อกับอิหร่าน

เปรียบเทียบกับสงครามเวียดนาม ครั้งนี้ก็คือ “การรุกใหญ่วันตรุษญวน”

พวกนักวิเคราะห์ทางทหารน่าจะสรุปบทเรียนการรุกโจมตีของตอลิบานครั้งนี้ว่า คล้ายคลึงกับการรุกใหญ่วันตรุษญวนเมื่อปี 1968 ในเวียดนาม (1968 Tet Offensive in Vietnam) ข่าวกรองจากดาวเทียมอาจจะเป็นเครื่องมือที่บอกเล่าอะไรได้มากหลาย เนื่องจากความคืบหน้าของสนามรบโดยรวม อยู่ในลักษณะเหมือนมีการประสานงานจากข้างบน

กระนั้น เหตุผลค่อนข้างพื้นๆ ธรรมดาๆ บางข้อบางประการนั่นเอง ที่นำมาซึ่งความสำเร็จของการโจมตีครั้งนี้ นอกเหนือไปจากไหวพริบความเฉียบแหลมในทางยุทธศาสตร์แล้ว เหตุผลพื้นๆ ดังกล่าว ได้แก่ การทุจริตคอร์รัปชั่นในกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน, การเชื่อมต่อกันไม่ติดอย่างสิ้นเชิงระหว่างคาบูลกับพวกผู้บังคับบัญชาทหารในสนามรบ, การขาดไร้ความสนับสนุนทางอากาศจากฝ่ายอเมริกัน, การแตกแยกทางการเมืองอย่างล้ำลึกในคาบูลเอง

คู่ขนานไปกับสภาพดังกล่าวข้างต้น พวกตอลิบานส่งข่าวส่งข้อความออกไปอย่างลับๆ เป็นเวลาแรมเดือนแล้ว โดยผ่านเส้นสายความเป็นคนเผ่าเดียวกันและความผูกพันทางครอบครัวเครือญาติ โดยเสนอข้อตกลงง่ายๆ ว่า อย่าสู้รบกับเรา แล้วเราจะไว้ชีวิตพวกคุณ

นอกจากนั้นมันยังผสมผเสด้วยความรู้สึกของพวกที่มีเส้นสายโยงใยอยู่กับรัฐบาลคาบูล ซึ่งเจ็บช้ำจากการถูกฝ่ายตะวันตกทรยศหักหลัง บวกกับความกลัวที่ว่าตอลิบานจะแก้แค้นเล่นงานพวกที่ร่วมไม้ร่วมมือกับรัฐบาลคาบูล

ท้องเรื่องย่อยเที่น่าเศร้าใจมากๆ เรื่องหนึ่งที่จะปรากฏให้เห็นนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ได้แก่เรื่องความจนตรอกไร้ความช่วยเหลือใดๆ ที่พลเรือนทั้งหลายต้องประสบต้องเผชิญ – เป็นความรู้สึกของพวกที่มองว่าตนเองติดกับอยู่ในเมืองต่างๆ ซึ่งบัดนี้ถูกควบคุมเอาไว้โดยตอลิบาน สำหรับพวกที่ตัดสินใจหลบหนีออกไปก่อนที่การโจมตีของตอลิบานจะเริ่มต้นขึ้น เวลานี้ก็มีฐานะกลายเป็นคนอัฟกัน ไอดีพี รุ่นใหม่ (IDPs ย่อมาจาก internally displaced persons บุคคลพลัดถิ่นภายในประเทศ) อย่างเช่นพวกที่ต้องตั้งค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวขึ้นมาในบริเวณสวนสาธารณะซาราอีชามาลี (Sara-e-Shamali park) ในคาบูลเวลานี้

ข่าวลือกำลังแพร่สะพัดไปในคาบูลว่า วอชิงตันได้เสนอแนะให้ประธานาธิบดีอัชรัฟ กานี ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเป็นการเปิดทางให้แก่การทำความตกลงหยุดยิง และการจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดเปลี่ยนผ่านขึ้นมา

ในทางเปิดเผย สิ่งที่ระบุพูดกันออกมาก็คือว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน และรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ให้สัญญากับ กานี ว่า “จะยังคงลงทุน” ในความมั่นคงของอัฟกานิสถานต่อไป

รายงานต่างๆ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2021/08/12/us/marines-evacuation-afghanistan.html) บ่งชี้ว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯวางแผนจัดส่งกำลังทหารและนาวิกโยธิน 3,000 คนกลับเข้าไปในอัฟกานิสถานอีกครั้ง และอีก 4,000 คนให้อยู่ในภูมิภาคนี้ เพื่อดำเนินการอพยพสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯและพลเมืองสหรัฐฯในคาบูล

สิ่งที่กล่าวกันว่าเป็นข้อเสนอต่อ กานี นั้น จริงๆ แล้วมีต้นตอออกมาจากกรุงโดฮา (เมืองหลวงของกาตาร์ ซึ่งเวลานี้ใช้เป็นที่เจรจารอมชอมระหว่างรัฐบาลคาบูลกับตอลิบาน -ผู้แปล) –และมาจากคนของ กานี เองด้วยซ้ำ ดังที่ผมได้ตรวจสอบและได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าววงการทูตหลายๆ ราย

คณะผู้แทนของคาบูล ที่นำโดย อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ (Abdullah Abdullah) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานของสิ่งที่เรียกชื่อว่า คณะมนตรีระดับสูงเพื่อการปรองดองชาติ (High Council for National Reconciliation) ได้ติดต่อผ่านการเป็นตัวกลางของกาตาร์ เสนอข้อตกลงแบ่งปันอำนาจกับตอลิบาน หากพวกเขายุติการโจมตี ข้อเสนอนี้ไม่ได้มีการเอ่ยถึงเรื่องการลาออกของ กานี ซึ่งเป็นเงื่อนไขอันดับหนึ่งของฝ่ายตอลิบาน ทั้งนี้ตอลิบานประกาศว่าถ้าหากจะมีการเจรจาโดยตรงใดๆ กันขึ้นมา ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนี้เสียก่อน

เวลาเดียวกันนี้ กลุ่มทรอยก้า (กลุ่ม 3) แบบขยายวง (extended troika) ในโดฮา ก็กำลังทำงานกันขมีขมัน สหรัฐฯนั้นมี ซัลเมย์ คอลิลซาด (Zalmay Khalilzad) ที่ในช่วงทศวรรษ 2000 ถูกล้อเลียนเยาะหยันว่าเป็น “ชาวอัฟกันของบุช” และปัจจุบันยังคงเหมือนกับกลายเป็นวัตถุคงทน ยังคงทำหน้าที่อยู่ตรงนี้ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายไปไหน สำหรับฝ่ายปากีสถาน มีผู้แทนพิเศษ มูฮัมหมัด ซาดิก (Muhammad Sadiq) และเออกัครราชทูตประจำคาบูล มานซูร์ ข่าน (Mansoor Khan)

ทางรัสเซียนั้นมีผู้แทนของเครมลินประจำอัฟกานิสถาน ซามีร์ คาบูลอฟ (Zamir Kabulov) และฝ่ายจีนมีผู้แทนประจำอัฟกานิสถานคนใหม่ เสี่ยว หยง (Xiao Yong)

รัสเซีย-จีน-ปากีสถาน กำลังเจรจาภายใต้กรอบความคิดแบบองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization หรือ SCO) ซึ่งทั้ง 3 ชาตินี้ต่างเป็นสมาชิกถาวร พวกเขาเน้นย้ำเรื่องการจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดเปลี่ยนผ่าน, การแบ่งปันอำนาจกัน, และการรับรองให้ตอลิบานเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายกลุ่มหนึ่ง

พวกนักการเมืองพูดกันอย่างอ้อมๆ เรียบร้อยแล้วว่า ถ้าหากตอลิบานสามารถโค่นล้ม กานี ในคาบูลลงไปได้ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตามที พวกเขาจะได้รับการรับรองโดยปักกิ่ง ว่าเป็นผู้ปกครองที่ถูกตามตามกฎหมายของอัฟกานิสถาน --นี่เป็นอะไรบางอย่างซึ่งสามารถที่จะก่อตั้งเป็นแนวร่วมทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อก่อความไม่สงบขึ้นมา ในการเผชิญหน้าต่อสู้กับวอชิงตัน

แต่ที่ปรากฏให้เห็นนั้น ปักกิ่งเพียงแค่กำลังส่งเสริมสนับสนุนให้ตอลิบานทำข้อตกลงสันติภาพกับคาบูลให้สำเร็จเท่านั้น

ทหารปากีสถาน (ขวา) ตรวจตราผู้ถือสัญชาติอัฟกันที่เตร็ดเตร่อยู่ในเมืองชามาน จุดข้ามแดนระหว่างปากีสถาน-อัฟกานิสถาน ที่อยู่ทางฝั่งปากีสถาน เมื่อวันศุกร์ (13 ส.ค.)
ปาชตุนิสถาน –ประเทศของชาวปาทาน?

นายกรัฐมนตรี อิมรัน ข่าน ของปากีสถานนั้น ไม่ได้พูดจาอะไรมากมาย ขณะที่เขาก้าวเข้าไปในเวทีแห่งการทะเลาะวิวาทกันแห่งนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.dawn.com/news/1640202/us-finds-pakistan-useful-only-to-clear-mess-in-afghanistan-pm-imran) เขายืนยันว่าคณะผู้นำตอลิบานบอกกับเขาว่า จะไม่มีการเจรจจา ถ้าหาก กานี ยังคงอยู่ในอำนาจ –ถึงแม้เขาจะได้ใช้ความพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมให้ฝ่ายตอลิบานยินยอมทำข้อตกลงสันติภาพก็ตามที

ข่าน ยังกล่าวหาวอชิงตันว่า มองเห็นปากีสถาน “มีประโยชน์” ก็ต่อเมื่อมาถึงเวลาสำหรับการบีบคั้นอิสลามาบัดให้ใช้อิทธิพลของตนที่มีเหนือตอลิบาน เพื่อเป็นตัวกลางทำให้เกิดข้อตกลงขึ้นมา –โดยไม่ต้องคำนึงถึง “ความยุ่งเหยิง” ต่างๆ มากมาย ที่ฝ่ายอเมริกันทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง

ข่าน ยังกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เขา “ทำให้เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่ง” ว่า ปากีสถานจะไม่มีฐานทัพทางทหารของสหรัฐฯใดๆ ทั้งสิ้น

มีข้อเขียนชื้นหนึ่งที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ “ดอว์น” (Dawn หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในปากีสถาน https://en.wikipedia.org/wiki/Dawn_(newspaper) -ผู้แปล) เมื่อวันพฤหัสบดี (12 ส.ค.) เป็นบทวิเคราะห์ที่ดีมากๆ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.dawn.com/news/1640212/red-zone-files-telling-the-pakistan-story) มันทำให้มองเห็นว่า ข่านและอิสลามาบัดต้องเผชิญความยากลำบากขนาดไหน ในการอธิบายเรื่องที่ปากีสถานเข้าเกี่ยวข้องพัวพันอย่างสลับซับซ้อนกับอัฟกานิสถาน ให้โลกตะวันตกตลอดจนกลุ่มประเทศฝ่ายใต้ของโลก (Global South --ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย) ยอมรับและเข้าใจ

ประเด็นสำคัญๆ ที่ปากีสถานพยายามอธิบายนั้น เป็นสิ่งที่กระจ่างชัดเจนอยู่แล้ว ได้แก่:

1. ปากีสถานต้องการให้มีข้อตกลงแบ่งปันอำนาจในอัฟกานิสถานขึ้นมา และกำลังทำสิ่งที่ตนเองสามารถทำได้ในโดฮา โดยอาศัยบทบาทในกลุ่มทรอยก้าขยายวง เพื่อให้ได้สิ่งนี้

2. การเข้าครอบครองอัฟกานิสถานของตอลิบาน จะนำไปสู่การเกิดกระแสผู้ลี้ภัยไหลบ่าทะลักครั้งใหม่ และอาจจะกลายเป็นการกระตุ้นส่งเสริมพวกกลุ่มประเภท อัลกออิดะห์, TTP (Tehrik-i-Taliban ขบวนการตอลิบานในปากีสถาน), ตลอดจน ไอซิส-โคราซัน (ISIS-Khorasan) ให้ขึ้นมาสั่นคลอนเสถียรภาพของปากีสถาน

3. เป็นเพราะสหรัฐฯเองที่ไปให้ความถูกต้องชอบธรรมแก่พวกตอลิบาน ด้วยการทำข้อตกลงกับกลุ่มนี้ในสมัยคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์

4. และเป็นเพราะการถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถานอย่างยุ่งเหยิงสับสนนั่นเอง ฝ่ายอเมริกันก็ได้ลดทอนพลังต่อรองของตนเอง –ตลอดจนพลังต่อรองของปากีสถาน—ที่มีเหนือตอลิบาน

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า อิสลามาบัดไม่ได้มีความพยายามที่จะส่งข้อความเหล่านี้ออกไปให้เป็นที่รับทราบกันทั่วหน้า

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการตัดสินใจบางอย่างบางประการของปากีสถานที่ก่อให้เกิดความงงงวยสับสนเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น การสั่งปิดพรมแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน บริเวณจุดผ่านแดนระหว่าง ชามาน (Chaman อยู่ในแคว้นบาโลจิสถาน ของปากีสถาน) กับ สปิน โบลดัก (Spin Boldakทางฝั่งอัฟกานิสถาน)

ปรากฏว่าฝ่ายปากีสถานได้ปิดจุดผ่านแดนทางฝั่งของตนตรงนี้ ทั้งๆ ที่ทุกๆ วันมีผู้คนหลายหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นชาวปาชตุนและชาวบาโลจ จากทั้งสองฟากของชายแดน เดินทางข้ามไปข้ามมา เคียงข้างกับขบวนรถบรรทุกขนาดใหญ่มหึมา ซึ่งกำลังลำเลียงขนส่งสินค้าข้าวของต่างๆ จากท่าเรือในเมืองการาจีของปากีสถาน ไปยังอัฟกานิสถานที่เป็นประเทศไม่มีทางออกทางทะเล การปิดพรมแดนเพื่อการพาณิชย์ทรงความสำคัญระดับเป็นตายเช่นนี้ ถือเป็นการกระทำที่ไม่มีทางยืนยาวถาวรไปได้

ทั้งหลายทั้งปวงข้างต้นนี้ มีแต่นำไปสู่ปัญหาที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุด นั่นคือ จะทำอย่างไรกับ “ปาชตุนิสถาน” (Pashtunistan –ประเทศของชาวปาชตุน ทั้งนี้ วิกิพีเดียระบุว่า ชาวปาชตุน นั้น ถูกเรียกขานว่า ชาวปาทาน ด้วย โดยมีที่มาจากภาษาฮินดี ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Pashtuns รวมทั้งวิกิพีเดียภาษาไทย https://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาปาทาน และ https://th.wikipedia.org/wiki/ชาวปาทาน)

การที่ปากีสถานเข้าเกี่ยวข้องพัวพันอย่างมากมายในอัฟกานิสถาน ขณะเดียวกับที่ฝ่ายอัฟกันก็แทรกแซงเข้าไปในประดาดินแดนชนเผ่า (ซึ่งประชากรจำนวนมากเป็นชาวปาชตุน) ของปากีสถาน สิ่งที่เป็นใจกลางแห่งหัวใจของเรื่องนี้ก็คือ “เส้นดูรันด์” (Durand Line) ซึ่งจักรวรรดิอังกฤษในอดีตขีดขึ้นมา แบ่งพรมแดนระหว่างบริติชอินเดีย (ซึ่งต่อมาเจ้าของพรมแดนตรงนี้ก็คือปากีสถาน -ผู้แปล) กับ อัฟกานิสถาน โดยไม่ได้อิงสภาพความเป็นจริงในพื้นที่เลยแม้แต่น้อย (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.mei.edu/publications/durand-line-british-legacy-plaguing-afghan-pakistani-relations)

สิ่งที่อิสลามาบัดมองว่ามันจะเป็นฝันสยองอย่างที่สุด ก็คือ การที่ดินแดนของตนถูกเฉือนถูกแบ่งออกไปอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ด้วยเส้นดูรันด์ ชาวปาชตุน ซึ่งมีฐานะเป็นชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เวลานี้จึงอาศัยอยู่กันทั้งสองฟากของเส้นสมมติแบ่งแดนระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถานเส้นนี้ (ด้วยเส้นดูรันด์ ชาวปาชตุนกลายเป็นกลุ่มชนซึ่งตั้งรกรากอยู่ในบริเวณภาคใต้ของอัฟกานิสถานติดต่อกับภาคตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน เมื่อมองจากอัฟกานิสถาน พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนคิดเป็นประมาณ 48% ของประชากรทั้งหมด และเมื่อมองจากปากีสถาน ชาวปาชตุนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่เป็นอันดับ 2 โดยมีสัดส่วนเป็นประมาณ 15 – 18% ของประชากรทั้งหมดของปากีสถาน ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Pashtuns) อิสลามาบัดนั้นไม่สามารถยอมรับได้เลย ถ้าหากมีผู้ที่ขึ้นปกครองอัฟกานิสถาน เป็นกลุ่มบุคคลหรือองค์การซึ่งมีแนวความคิดชาตินิยม เนื่องจากมองกันว่าในท้ายที่สุดแล้วก็จะต้องมีการบ่มเพาะทำให้เกิดการก่อกบฎของชาวปาชตุนในปากีสถานขึ้นมาจนได้

ตรงนี้เองเป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมอิสลามาบัดจึงเลือกที่จะให้ตอลิบานเข้าปกครองอัฟกานิสถาน มากกว่าจะให้มีรัฐบาลชาตินิยมชาวอัฟกันขึ้นมา พูดกันในแง่ของความคิดอุดมการณ์แล้ว ปากีสถานที่มีลักษณะอนุรักษนิยมมาก อันที่จริงไม่ได้มีความแตกต่างอะไรนักหนาจากจุดยืนของตอลิบาน แล้วในเชิงนโยบายการต่างประเทศนั้น การที่ตอลิบานขึ้นครองอำนาจในอัฟกานิสถาน ถือว่าเข้าได้เหมาะเจาะที่สุดกับหลักการทางทหารว่าด้วย "ความลึกในทางยุทธศาสตร์” (strategic depth ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Strategic_depth - ผู้แปล) ซึ่งปากีสถานนำมาใช้เพื่อต้านทานอินเดีย ทั้งนี้หลักการดังกล่าวนี้ยังคงไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน

ในทางตรงกันข้าม จุดยืนของอัฟกานิสถานนั้นมีความชัดเจนแจ่มแจ้ง เส้นดูรันด์นั้นขีดตัดแบ่งชาวปาชตุนออกเป็น 2 ส่วนอยู่กันคนละข้างของพรมแดนที่สมมุติขึ้นมา ดังนั้นหากรัฐบาลที่ปกครองคาบูลชุดใดมีแนวทางชาตินิยมแล้ว ก็จะไม่มีทางละทิ้งความปรารถนาในการสถาปนาประเทศปาชตุนิสถานที่รวบรวมชาวปาชตุนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวและมีขนาดใหญ่โตกว่าเขตแดนของอัฟกานิสถานในทุกวันนี้

เนื่องจากตอลิบานในทางเป็นจริงแล้วคือแหล่งรวมของกองกำลังอาวุธท้องถิ่นกลุ่มย่อยๆ ที่ควบคุมโดยขุนศึกต่างๆ อีกทั้งอิสลามาบัดก็ได้ผ่านการเรียนรู้สะสมประสบการณ์ถึงวิธีการในการรับมือกับพวกเขา ทั้งนี้ ขุนศึกทุกๆ คน –รวมทั้งกองกำลังอาวุธท้องถิ่นทุกๆ กอง— ในอัฟกานิสถานนั้น ต่างก็เป็นพวกเคร่งครัดศาสนาอิสลาม (อิสลามิสต์) กันทั้งสิ้น

แม้กระทั่งการดำเนินการต่างๆ ของคาบูลในปัจจุบัน ก็ล้วนแล้วแต่ยึดโยงอยู่กับกฎหมายอิสลาม และมีการขอคำแนะนำคำปรึกษาจากที่ประชุมของนักปราชญ์ผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม (Ulema council) ในโลกตะวันตกนั้นมีน้อยคนเต็มทีที่ทราบว่า กฎหมายอิสลามชารีอะห์ คือเทรนด์ที่มีอิทธิพลครอบงำสูงสุดอยู่ในรัฐธรรมนูญอัฟกานิสถานฉบับปัจจุบัน

มองกันโดยภาพรวมแล้ว เมื่อพิจารณาจนถึงที่สุด สมาชิกทั้งหมดของรัฐบาลคาบูล, ของฝ่ายทหาร, ตลอดจนภาคประชาสังคมจำนวนมากมายมหาศาล ต่างมาจากกรอบโครงแห่งชนเผ่าซึ่งมีแนวความคิดอนุรักษนิยม อันเดียวกันกับที่ให้กำเนิดกลุ่มตอลิบานขึ้นมานั่นเอง

นอกเหนือจากการรุกโจมตีทางการทหารแล้ว ตอลิบานดูเหมือนกำลังเป็นฝ่ายมีชัยในสงครามพีอาร์ภายในประเทศ ด้วยการใช้สมการง่ายๆ กล่าวคือ พวกเขาประสบความสำเร็จในการวาดภาพ กานี ว่าเป็นหุ่นของนาโต้และสหรัฐฯ เป็นสุนัขรับใช้ของพวกผู้รุกรานต่างชาติ

แล้วการโฆษณาประชาสัมพันธ์จุดนี้ให้โดดเด่นเตะตาขึ้นมาในอัฟกานิสถาน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสุสานที่ฝังจักรวรรดิผู้รุกรานรายแล้วรายเล่ามานักต่อนักแล้ว มันก็คือแผนการสู่ความสำเร็จเรื่อยมา


กำลังโหลดความคิดเห็น