(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
NATO’s new narrative sees China as a challenge
by MK Bhadrakumar
17/06/2021
ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะเล่นกันอยู่ในเอเชียเป็นสำคัญ กระนั้นวอชิงตันก็กำลังพยายามสร้างเหตุผลข้ออ้างสำหรับการดึงลากนาโต้ให้เข้ามาร่วมในการต่อสู้แย่งชิงนี้ด้วย
การประชุมซัมมิตของ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (North Atlantic Treaty Organization ใช้อักษรย่อว่า NATO) ในกรุงบรัสเซลส์, เบลเยียม เมื่อวันจันทร์ (14 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ชวนให้พวกเราหวนระลึกอีกครั้งหนึ่งถึงการที่สหรัฐฯหลอกลวง มิฮาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1990 ด้วยการเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวทำให้เขาเกิดความมั่นอกมั่นใจอย่างผิดๆ ขึ้นมาว่า กลุ่มพันธมิตรทางทหารของฝ่ายตะวันตกกลุ่มนี้ จะ “ไม่ขยายตัวไปทางตะวันออกแม้แต่นิ้วเดียว” ในทันทีที่มอสโกยินยอมอนุญาตให้เยอรมันตะวันตกกับเยอรมันตะวันออกรวมกันเป็นประเทศหนึ่งเดียว รวมทั้งยุบเลิกกลุ่มกติกาสนธิสัญญาวอร์ซอร์ (Warsaw Pact) ของฝ่ายโซเวียตและยุโรปตะวันออก
เอกสารสรุปย่อหมายเลข 613 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2017 (Briefing Book No 613 dated December 12, 2017) ของหอจดหมายเหตุความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (US National Security Archive) ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน (George Washington University) ในกรุงวอชิงตัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nsarchive.gwu.edu/briefing-book/russia-programs/2017-12-12/nato-expansion-what-gorbachev-heard-western-leaders-early) มีเนื้อความดังต่อไปนี้:
“การยืนยันรับรองซึ่งมีชื่อเสียงมากของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เจมส์ เบเกอร์ ที่ว่า นาโต้ จะ ‘ไม่ขยายตัวไปทางตะวันออกแม้แต่นิ้วเดียว’ ระหว่างที่เขาพบหารือกับผู้นำโซเวียต มิฮาอิล กอร์บาชอฟ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1990 นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการให้คำรับรองครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างต่อเนื่องในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของโซเวียต ซึ่งพวกผู้นำตะวันตกให้ไว้แก่กอร์บาชอฟและเจ้าหน้าที่โซเวียตคนอื่นๆ ตลอดทั้งกระบวนการแห่งการรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกันของชาวเยอรมันในปี 1990 และต่อเข้าไปในปี 1991 ทั้งนี้ตามเอกสารที่ถูกลดชั้นความลับแล้วทั้งของสหรัฐฯ, โซเวียต, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, และฝรั่งเศส ซึ่งนำออกมาโพสต์ในวันนี้โดย หอจดหมายเหตุความมั่นคงแห่งชาติ ณ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน
“เอกสารเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ผู้นำระดับชาติหลายๆ รายทีเดียวมีการพิจารณาและมีการปฏิเสธไม่ให้สมาชิกภาพของนาโต้แก่ชาติในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกหลายต่อหลายรายแล้ว อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่เมื่อปี 1990 ไปจนตลอดปี 1991 ขณะเดียวกัน เอกสารเหล่านี้แสดงให้เห็นด้วยว่า การพูดจาหารือกันของนาโต้ในบริบทของการเจรจาเพื่อการรวมชาติของเยอรมนีในปี 1990 นั้นไม่มีจำกัดแคบๆ เพียงแค่เฉพาะเรื่องสถานะของดินแดนเยอรมันตะวันออกเลย รวมทั้งเอกสารเหล่านี้ยังบอกให้ทราบว่า การร้องเรียนต่อว่าต่อขานของโซเวียตและรัสเซีย ซึ่งเกิดขึ้นตามมาจากเรื่องที่ถูกชักนำทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการขยายตัวของนาโต้นั้น มีปรากฏให้เห็นเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งในบันทึกช่วยจำการสนทนาในช่วงเวลาดังกล่าว และในบันทึกช่วยจำการพูดคุยทางโทรศัพท์ในช่วงเวลาดังกล่าว ของเหล่าผู้นำซึ่งอยู่ในระดับสูงสุด
“เอกสารเหล่านี้เพิ่มพูนน้ำหนักให้แก่การวิพากษ์วิจารณ์ของ โรเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) อดีตผู้อำนวยการซีไอเอ เกี่ยวกับ ‘การมุ่งมั่นเดินหน้าในเรื่องการขยายนาโต้ไปทางตะวันออก (ในช่วงทศวรรษ 1990) เมื่อตอนที่กอร์บาชอฟและคนอื่นๆ กำลังถูกชักนำให้หลงผิดเกิดความเชื่อถือว่าสิ่งนั้นจะไม่บังเกิดขึ้นมา’”
มันคือการทรยศหักหลังกันอย่างเลือดเย็นและการแอบแทงข้างหลังของคณะบริหารบิลล์ คลินตันเช่นนี้เอง ซึ่งได้สร้างความเจ็บแค้นคับข้องมากที่สุดในความคิดจิตใจของชาวรัสเซียทุกวันนี้ ขณะที่นาโต้สามารถย่างก้าวเข้าสู่ทะเลดำ และสามารถเคลื่อนตัวอย่างเกียจคร้านมุ่งสู่แนวพรมแดนด้านตะวันตกของรัสเซีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7212247/)
กล่าวได้ว่า การทูตในยุโรปของวอชิงตันช่วงเวลาภายหลังสงครามเย็นนั้นประสบความสำเร็จมากอย่างน่าประหลาดใจ หัวใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า เมื่อมาถึงเวลานี้ สหรัฐฯก็กำลังสามารถพึ่งพาอาศัยนาโต้อย่างสำคัญยิ่ง เพื่อ:
**การสำแดงให้เห็นถึงฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครๆ ในระดับโลกของสหรัฐฯ
**การจัดหาอาวุธให้แก่ตลาด (ประเทศนาโต้)ที่ถูกครอบงำจนไปไหนไม่ได้ ซึ่งทำให้สหรัฐฯสามารถส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์อเมริกันคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์
**การตรึงพวกมหาอำนาจรายใหญ่ๆ ของยุโรป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี) ให้ต้องคงอยู่ในระบบพันธมิตรนาโต้ ซึ่งก็เป็นการสกัดไม่ให้พวกเขาสามารถมุ่งหน้าไปสู่อิสรภาพในทางยุทธศาสตร์ ตลอดจนไปสู่การเสาะแสวงหานโยบายการต่างประเทศที่เป็นอิสระ
**การบรรลุถึง “ความล้ำลึกในทางยุทธศาสตร์” (“strategic depth”) ด้วยการดำเนินการปฏิบัติการทางทหารในขอบเขตทั่วโลก ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบพันธมิตรนาโต้ แทนที่จะต้องเปิดตัวอย่างโล่งโจ้งว่าเป็นของมหาอำนาจนักแทรกแซงก้าวก่ายชาวบ้าน
**การสร้างความชอบธรรมให้แก่การส่งกองทหารอเมริกันจำนวนหลายพันหลายหมื่นคนไปประจำการในยุโรป และการสั่งสมขีปนาวุธนิวเคลียร์เอาไว้ในยุโรป และ
**การสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นให้แก่ฐานะของสหรัฐฯในการเป็นผู้ครอบงำเหนือระบบพันธมิตรแห่งสองฟากฝั่งแอตแลนติก
เวลาเดียวกัน นาโต้ก็ทำให้เรานึกไปถึงตัวอย่างคลาสสิกเกี่ยวกับใครคนหนึ่งซึ่งอุตส่าห์แต่งเนื้อแต่งตัวอย่างเต็มที่ ทว่ากลับไม่มีสถานที่ใดจะให้ไป นาโต้จึงตัองคอยประดิษฐ์คิดสร้างเหตุผลใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ สำหรับอธิบายว่าทำไมตนเองจึงสมควรดำรงคงอยู่ต่อไป รัสเซียนั้นกำลังถูกใช้ให้กลายเป็นเหตุผลเช่นนี้ประการหนึ่ง –ถึงแม้มอสโกไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะยึดดินแดนใดๆ ที่เลยพ้นไปจากเขตพรมแดนของตน
แน่นอนทีเดียว มันไม่มีคำถามใดๆ เช่นกันในเรื่องที่จะเกิดสงครามระหว่างนาโต้กับรัสเซียขึ้นมา เนื่องจากรัสเซียนั้นมีแสนยานุภาพทางเทอร์โมนิวเคลียร์ซึ่งสามารถทำลายสหรัฐฯให้กลายเป็นจุลไปได้หลายๆ ครั้ง ในแถลงการณ์สุดท้ายของการประชุมซัมมิตนาโต้ครั้งล่าสุดนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nato.int/cps/en/natohq/news_185000.htm) เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัสเซียตกเป็นเป้าเล็งยิงของพันธมิตรตะวันตกกลุ่มนี้ แถลงการณ์สุดท้ายนี้ใช้เนื้อความ 6 ย่อหน้ามาพัฒนาสร้างธีม ซึ่งอิงอยู่กับการเล่าเรื่องแบบมุ่งคำนึงสนใจแต่ตัวเอง (ย่อหน้าที่ 9 ถึง 15) และการสร้างสมกำลังทั้งหลายสำหรับอนาคตระยะใกล้ๆ ของกลุ่มพันธมิตรนี้ก็ขึ้นอยู่กับการมุ่งสู้รบปรบมือกับสิ่งที่ถูกมองว่าเป็น “ภัยคุกคามจากรัสเซีย” นี่เอง
เรื่องเล่าใหม่ของนาโต้
เวลาเดียวกัน แถลงการณ์การประชุมซัมมิตจากสำนักงานใหญ่ของนาโต้ที่บรัสเซลส์ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกลุ่มพันธมิตรกลุ่มนี้ทีเดียวที่มีการหยิบยกเอาเรื่องการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน มาระบุว่าเป็นสิ่งที่อาจกลายเป็นความท้าทายประการหนึ่งขึ้นมา สหรัฐฯนั้นกำลังพยายามกดดันเรื่องนี้ในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ และถึงตอนนี้ก็ดูจะประสบความสำเร็จในการบรรจุเอาข้อความพาดพิงถึงจีนบางข้อความเข้าไปไว้ในแถลงการณ (ย่อหน้าที่ 56-57) ทั้งนี้ แถลงการณ์ของนาโต้พูดเกี่ยวกับจีนเอาไว้ในแง่มุมเหล่านี้:
** “ความทะเยอทะยานของจีนตามที่มีการระบุออกมา และความประพฤติแบบมุ่งมั่นยืนกรานของจีน เป็นการเสนอความท้าทายในเชิงระบบต่อระเบียบระหว่างประเทศซึ่งยึดโยงอยู่กับกฎเกณฑ์ และต่อพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของทางกลุ่มพันธมิตร (นาโต้)”
**นาโต้มีความกังวลเกี่ยวกับ “นโยบายแบบมุ่งใช้อำนาจบังคับ” ของจีน
**จีน “กำลังแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว” ในสมรรถนะทางนิวเคลียร์ของตน และกำลังพัฒนา “ระบบส่งอันประณีตซับซ้อนจำนวนเพิ่มขึ้นมาก เพื่อสถาปนาโครงสร้างทางนิวเคลียร์ทั้งสาม (nuclear triad)” (nuclear triad หมายถึง โครงสร้างกำลังอาวุธนิวเคลียร์ 3 ประเภท ได้แก่ ขีปนาวุธนิวเคลียร์ประเภทยิงจากภาคพื้นดิน, เรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์, และเครื่องบินยุทธศาสตร์พร้อมด้วยระเบิดและขีปนาวุธนิวเคลียร์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Nuclear_triad -ผู้แปล)
**จีน “สร้างความคลุมเครือในเรื่องการดำเนินการปรับปรุงการทหารของตนให้ทันสมัย และในเรื่องยุทธศาสตร์ที่ประกาศต่อสาธารณชน ซึ่งด้านการทหาร-ด้านพลเรือนมีการผสมปนเปกัน”
**จีนมีความร่วมมือทางทหารกับรัสเซีย และเข้าร่วมในการฝึกซ้อมต่างๆ ของรัสเซียในพื้นที่ยุโรป-แอตแลนติก และ
**นาโต้มีความกังวลกับการที่จีน “บ่อยครั้งขาดไร้ความโปร่งใส และมีการใช้การแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ” รวมทั้งการที่จีนไม่ได้ยึดมั่นในคำสัญญาข้อผูกพันระหว่างประเทศของตน ตลอดจนไม่ได้ปฏิบัติตน “อย่างรับผิดชอบในระบบระหว่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงในแวดวงด้านอวกาศ, ไซเบอร์, และทางทะเล ในลักษณะที่เหมาะสมกับบทบาทของตนในฐานะเป็นมหาอำนาจสำคัญรายหนึ่ง”
แต่แถลงการณ์นี้ก็มีลักษณะที่ผ่อนเพลาการโจมตีจีนให้อ่อนลงมา ด้วยการเสแสร้งแสดงท่าทีมุ่งรอมชอบ อย่างเช่นระบุว่า นาโต้มุ่งธำรงรักษา “การสนทนาอย่างสร้างสรรค์” และยินดีต้อนรับ “โอกาสในการเข้ามีปฏิสัมพันธ์” กับจีนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายและกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนความตระหนักรับรู้ และเพื่อหารือกันถึงความเห็นที่ไม่ลงรอยกันซึ่งอาจเกิดขึ้นมาได้
แถลงการณ์เรียกร้องให้จีน “เข้ามีส่วนร่วมอย่างให้ความสำคัญจริงจัง ทั้งในการสนทนากัน, การสร้างความเชื่อมั่น, และมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความโปร่งใส ในเรื่องเกี่ยวกับสมรรถนะและหลักนิยมทางนิวเคลียร์ของตน การสร้างความโปร่งใสและการทำความเข้าใจกันในลักษณะต่างตอบแทน จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งนาโต้และแก่จีน”
ไม่ต้องสงสัยเลย แถลงการณ์ของนาโต้ฉบับนี้เต็มไปด้วยร่องรอยว่าวอชิงตันเป็นผู้ร่าง ดังนั้นจึงมีข้อความชวนสับสนเช่นนี้ปรากฏออกมา ข้อเท็จจริงของเรื่องอยู่ตรงที่ว่าพวกชาติพันธมิตรทางฝ่ายยุโรปจำนวนมากย่อมไม่ได้รู้สึกสบายใจเลย เนื่องจากจีนไม่ได้เป็นภัยคุกคามทางทหารต่อพันธมิตรตะวันตกกลุ่มนี้
ในความคิดของทางฝ่ายยุโรป ภาพของความท้าทายซึ่งมาจากจีนที่สำคัญแล้วอยู่ในแวดวงทางเศรษฐกิจ –การค้า, การลงทุน, เทคโนโลยี, การกำหนดจัดวางมาตรฐานต่างๆ ของโลก, และอย่างอื่นๆ ในทำนองนี้
จีนดูเหมือนจะคาดการณ์เอาไว้แล้วในเรื่องการเล่นเล่ห์หลอกลวงของสหรัฐฯ คณะผู้แทนทางการทูตของจีนประจำสหภาพยุโรปได้ออกมาตอบโต้อย่างฉับไวด้วยการอ้างอิงตัวเลขและข้อเท็จจริง โดยชี้ให้เห็นว่าในปี 2021 นั้น งบประมาณรายจ่ายด้านการทหารของปักกิ่งอยู่ที่ 209,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับของพันธมิตรนาโต้ซึ่งอยู่ที่ 1.17 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายจ่ายทางการทหารของทั่วทั้งโลก และสูงเป็น 5.6 เท่าของงบประมาณของจีน
คำแถลงของฝ่ายจีนกล่าวว่า “เราจะปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์แห่งการพัฒนาของเราอย่างแน่วแน่มั่นคง และจับจ้องดูอย่างใกล้ชิดถึงการปรับตัวในทางยุทธศาสตร์ของนาโต้ ตลอดจนนโยบายที่มีต่อจีน”
ขณะที่บทบรรณาธิการชิ้นหนึ่งของ โกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อมวลชนในเครือของเหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน บอกว่า "ซัมมิตนาโต้คราวนี้ สามารถมองได้ว่าเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งในท่าทีของสหรัฐฯและยุโรปที่มีต่อจีนในแวดวงด้านความมั่นคง วอชิงตันนั้นได้เปิดม่านขึ้นมาแล้วสำหรับการระดมกำลังออกมารณรงค์ทางการเมือง เพื่อใช้กลุ่มนาโต้ให้ดำเนินการแข่งขันทางยุทธศาสตร์กับจีน
“สหรัฐฯต้องการที่จะสร้างเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งขึ้นมา ซึ่งมุ่งจะทำให้การวางตัวเป็นเจ้าใหญ่นายโตของสหรัฐฯเอง กลายเป็นความได้เปรียบร่วมในทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายตะวันตก และก่อรูปกลายเป็นฉันทามติขึ้นมาในหมู่ (สมาชิกนาโต้) 30 ประเทศ ทั้งนี้ตราบเท่าที่พวกประเทศสมาชิกนาโต้ถูกผูกมัดกันเอาไว้ด้วยความเกลียดชังร่วมที่มีต่อประเทศจีนแล้ว ความต่อเชื่อมโยงใยทางผลประโยชน์ระหว่างพวกประเทศตะวันตกกับจีน ก็ย่อมสูญเสียรากฐานในทางศีลธรรมของมันไป และสหรัฐฯก็อาจจะสามารถบังคับพวกประเทศยุโรปรายเล็กๆ ให้ยินยอมรับใช้ดำเนินการไปตามยุทธศาสตร์จีนของสหรัฐฯ กลายเป็นการขูดรีดพวกเขาในทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐ” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202106/1226141.shtml)
“กลุ่มคว็อด” เป็นแค่ตลกเรื่องยาวที่จบลงอย่างไร้สาระ
สำหรับปักกิ่งแล้ว ความเคลื่อนไหวตอบโต้ในทางการทูต ย่อมได้แก่การเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือระหว่างจีนกับอียู การใช้ช่องทางสหภาพยุโรปนั้นทำให้จีนได้เปรียบ เนื่องจากสหรัฐฯไม่ได้มีอิทธิพลบารมีประเภทที่จะมาครอบงำบงการนโยบายต่างๆ ให้แก่อียู อย่างที่วอชิงตันกระทำได้ในแพลตฟอร์มนาโต้ (อันที่จริงนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ได้ออกมากล่าวเตือนเชิงแนะนำแล้ว เรื่องอย่าใช้นาโต้มาปิดประตูใส่จีน ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.msn.com/en-us/news/world/merkel-urges-caution-as-allies-turn-focus-to-china-nato-update/ar-AAL1cly?li=BBnb7Kz)
ส่วนวอชิงตันนั้นจะใช้ยุทธศาสตร์อะไรในการสร้างเครื่องชี้ทิศเพื่อเล็งเป้าไปที่จีนให้แก่นาโต้ ซึ่งถึงอย่างไรในตอนเริ่มแรกทีเดียวก็เป็นองค์การซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อความมั่นคงของภูมิภาคยุโรป-แอตแลนติก (ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับจีน)?
ตรงนี้เองมีข้อเปรียบเทียบที่ละม้ายคล้ายคลึงอย่างน่าตะลึงกับตอนช่วงกลางทศวรรษ 1990 เมื่อสหรัฐฯหันหลังทำเมินเฉยกับหลักประกันที่ได้เคยให้ไว้กับกอร์บาชอฟ และเดินหน้าแผ่ขยายองค์การนาโต้ไปทางยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก สืบเนื่องจากการคาดการณ์ว่าตนจะต้องสกัดกั้นการกลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ของรัสเซียในอนาคตอันใกล้
สำหรับเวลานี้ สหรัฐฯก็คาดการณ์ว่าภายในช่วงทศวรรษที่กำลังมาถึงนี้ จะต้องหาทางหยุดยั้งจีนเอาไว้ไม่ให้แซงหน้าแย่งยึดความเป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกไปจากตัวเองสหรัฐฯจำเป็นต้ออาศัยระบบพันธมิตรขึ้นมารับมือสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาของจีน อย่างไรก็ตาม กลุ่มคว็อดนั้นในความเป็นจริงเป็นแค่ตลกเรื่องยาวที่จบลงอย่างไร้สาระเท่านั้น
ประการที่สอง เพื่อบรรเทาความสงสัยหวาดหวั่นของรัสเซียเกี่ยวกับการที่นาโต้อาจขยายตัวไปทางตะวันออก คณะบริหารคลินตันได้เสนอกับ บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin ประธานาธิบดีรัสเซียคนแรกภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Boris_Yeltsin -ผู้แปล) ว่า จะปรึกษาหารือกับมอสโกในเรื่องแผนการต่างๆ ของนาโต้ ดังนั้นเอง คณะมนตรีนาโต้-รัสเซีย (NATO-Russia Council) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา ทว่ามันเป็นการแสดงท่าทีที่ว่างเปล่าไร้ความหมายเท่านั้นเอง เนื่องจากถึงอย่างไรสหรัฐฯก็ยังคงเดินหน้าต่อไป และทำสิ่งต่างๆ ที่ตนต้องการในเรื่องการขยายนาโต้
เฉกเช่นเดียวกับเวลานี้ นาโต้อ้างว่าตนต้องการมี “การสนทนาอย่างสร้างสรรค์” กับจีน ทว่านี่เป็นการอ้างเหตุผลให้ดูดีเท่านั้นเองนาโต้จะเสแสร้งกับเรื่องการสนทนานี้ไปสักระยะหนึ่งเพื่อให้จีนคลายใจ ก่อนที่จะถอดถุงมืออำพรางเพื่อเผยให้เห็นกำปั้นของแท้ภายในระยะเวลาอย่างมากที่สุดก็สัก 2-3 ปีเท่านั้น
ประการที่สาม การขยายตัวของนาโต้ในช่วงทศวรรษ 1990 ช่วยให้วอชิงตันสามารถสร้างช่องทางสำหรับหล่อหลอมท่วงท่าทางยุทธศาสตร์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพวกพันธมิตรยุโรปขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับรัสเซีย ในทำนองเดียวกัน สหรัฐฯก็กำลังทำงานหนักในระยะสองสามปีที่ผ่านมาเพื่อดึงเอาพวกพันธมิตรยุโรปให้เข้าร่วมในยุทธศาสตร์ของตนที่มุ่งใช้กับจีน และนาโต้ก็กลายเป็นศูนย์กลางซึ่งสามารถใช้มาจัดการกับงานที่กำลังดำเนินคืบหน้าไปเรื่อยๆ นี้ได้อย่างดีที่สุด
ประการที่สี่การขยายตัวของนาโต้ในช่วงทศวรรษ 1990 ได้สร้างความยุ่งเหยิงสับสนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้แก่ความมุ่งมาดปรารถนาของรัสเซียในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ร่วมทางด้านความมั่นคงแห่งใหม่ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่แวนคูเวอร์ (ในแคนาดา) ไปจนถึงวลาดิวอลสต็อก (เมืองที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย) ตรงกันข้าม สหรัฐฯกลับประสบความสำเร็จในการมีสิทธิมีเสียงกำหนดความสัมพันธ์ทวิภาคีที่รัสเซียจะมีพวกประเทศสมาชิกนาโต้ทั้งหลาย
เช่นเดียวกันนี้เอง ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ก็มุ่งสร้างความยุ่งยากสับสนให้แก่ความสัมพันธ์ที่จีนจะมีกับพวกหุ้นส่วนชาวยุโรปของตน สหรัฐฯนั้นประสบความสำเร็จไปแล้วในการปิดกั้นไม่ให้พวกพันธมิตรใหญ่ๆ ในนาโต้ เป็นหุ้นส่วนกับจีนในเรื่องเทคโนโลยี 5จี สหรัฐฯยังมีจุดมุ่งหมายที่จะกำจัดพวกโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนซึ่งไปดำเนินการอยู่ในยุโรป ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง
ทำนองเดียวกัน ด้วยการอาศัยคำชี้แนะแนวทางปฏิบัติของนาโต้ ลงท้ายแล้วจีนก็อาจจะถึงขนาดถูกปฏิเสธถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีทั้งหลายของตะวันตกได้เลย
“ศตวรรษแห่งเอเชีย” จะก้าวเดินไปทางไหน?
สุดท้ายแล้ว ก็แบบเดียวกับกรณีของรัสเซีย สหรัฐฯกำลังผลักดันจีนใหเข้าสู่การแข่งขันด้านอาวุธที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แน่นอนทีเดียว สำหรับสหรัฐฯแล้ว นี่คือการสร้างเหตุผลสำหรับให้พวกประเทศนาโต้ต้องเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องเป็นการโปรโมตการส่งออกเทคโนโลยีทางทหารของสหรัฐฯไปให้แก่ยุโรปนั่นเอง
คาดหมายได้ว่า เครื่องบินไฮเทค เอฟ-35 ไลต์นิ่งII (F-35 Lightning II) ของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) จะต้องขายได้เป็นร้อยๆ ลำ ถ้าหากไม่ใช่เป็นพันๆ ลำ ให้แก่พวกพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างฉลุยไปถึงปี 2035 เวลานี้ ชาติที่วางแผนจะเป็นผู้ซื้อหลายแรกๆ ก็ประกาศตัวออกมาแล้ว เป็นต้นว่า ญี่ปุ่น (147 ลำ), เกาหลีใต้ (80 ลำ), และออสเตรเลีย (อาจจะถึง 100 ลำ)
นาโต้นั้นถือเป็นพื้นที่สำหรับล่ารางวัลซึ่งสามารถทำกำไรงามๆ แก่พวกอุตสาหรรมอาวุธอเมริกัน ยิ่งนาโต้เกิดความเข้าใจไปว่าภัยซึ่งกำลังคุกคามพวกตนนั้นมีความมหึมามโหฬารมากขึ้นเพียงใด ขนาดขอบเขตของอาวุธที่สหรัฐฯจะสามารถส่งออกไปขายแก่ชาติพันธมิตรเหล่านี้ได้ก็ยิ่งใหญ่โตกว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น
วิเคราะห์กันไปจนถึงที่สุดแล้ว การที่นาโต้ระบุชื่อจีนว่าเป็นความท้าทายเชิงระบบ (systemic challenge) จะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างลึกซึ้งต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ มีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่ามันจะดึงให้จีนกับรัสเซียยิ่งมีความใกล้ชิดกันเพิ่มมากขึ้นอีก
และขณะที่สหรัฐฯเข้าปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ต่อจีนเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ปักกิ่งก็จะตกอยู่ใต้แรงกดดันให้ต้องยกระดับมาตรการป้องปรามของฝ่ายตน และเพิ่มจำนวนการประจำการของพวกหัวรบนิวเคลียร์ และ ตงเฟิง (ดีเอฟ)-41 ซึ่งเป็นขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพในการเข้าโจมตีระดับพิสัยไกล และมีความสามารถในการอยู่รอด (survivability ความสามารถที่จะยังคงมีศักยภาพในการบรรลุภารกิจ ภายหลังผ่านการปะทะต่อสู้ครั้งหนึ่งแล้ว -ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Survivability -ผู้แปล) ระดับสูง
จีนจะต้องตั้งการ์ดคอยระมัดระวังอย่างสูง ในการรักษาอธิปไตยของตน และจะต้องเตรียมตัวสำหรับการประจันหน้าอันดุเดือดเข้มข้น
หู ซีจิ้น บรรณาธิการใหญ่ของโกลบอลไทมส์ เขียนเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202105/1224725.shtml) ว่า “ในฉากทัศน์นี้ ตงเฟิง-41, และ เจแอล-2 กับ เจแอล-3 (สองแบบหลังนี้เป็นขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยข้ามทวีปยิงจากเรือดำน้ำ) จะรวมกันเป็นเสาหลักของเจตจำนงทางยุทธศาสตร์ของเรา จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของจีนจะต้องอยู่ในปริมาณที่ถึงขนาดทำให้พวกชนชั้นนำสหรัฐฯตัวสั่นสะท้าน ถ้าพวกเขาเลือกที่จะทำตามความคิดในการเข้าสู้บประจันหน้าทางทหารกับจีน”
มีสุภาษิตแอฟริกาบทหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อช้างต่อสู้กัน หญ้าย่อมต้องลำบากเดือดร้อน” (“When elephants fight, it is the grass that suffers.” เหมือนสุภาษิตไทยที่ว่า “ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ” -ผู้แปล) แน่นอนทีเดียวว่า ภูมิภาคเอเชียกำลังกลายเป็นยุทธบริเวณซึ่งความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะแสดงออกมาให้ปรากฏเรื่องนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นเงาดำทะมึนบดบังลู่ทางโอกาสแห่งการเติบโตขยายตัวและการพัฒนาอย่างพิเศษโดดเด่นของภูมิภาคแถบนี้
ลู่ทางโอกาสสำหรับ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” อาจจะดับมืดลง และนี่มีแต่จะสร้างผลดียอดเยี่ยมให้แก่สหรัฐฯเท่านั้น ขณะที่พวกประเทศเอเชียเองจะต้องยากจนลำบากมากขึ้นจากการนี้
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างIndian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับGlobetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย