(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Biden-Putin takeaways and throwaways
by MK Bhadrakumar
18/06/2021
ทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การประชุมซัมมิตของพวกเขาในเจนีวาเมื่อวันพุธ (16 มิ.ย.) เป็นการเจรจาที่เป็นชิ้นเป็นอันได้เนื้อได้หนัง แต่เรายังต้องจับตารอดูกันต่อไปอีก จึงจะบอกได้ว่าจริงๆ แล้ว มันก่อให้เกิดผลที่จับต้องได้หรือเป็นผลบวกใดๆ ขึ้นมาหรือไม่
บนเวทีการทูต ไม่มีอะไรอีกแล้วที่สามารถเอาชนะการประชุมซัมมิตระหว่างผู้นำของรัสเซียกับผู้นำของอเมริกาได้เลย ในเรื่องการสร้างความตื่นเต้นเร้าใจยังกับละคร ทั้งนี้เมื่อผู้นำของ 2 มหาอำนาจนิวเคลียร์แข็งแกร่งที่สุดในพื้นพิภพนั่งเผชิญหน้ากัน อะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
สิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1985 ถือเป็นตัวอย่างระดับคลาสสิก ขณะที่คำพูดแข็งกร้าวอันโด่งดังของ โรนัลด์ เรแกน ที่พรรณนาถึงบุคลิกลักษณะของสหภาพโซเวียตว่าเป็น “จักรวรรดิแห่งปีศาจร้าย” (Evil Empire) ยังไม่ถูกหลงลืมจางคลายไปนั้น การประชุมซัมมิตของเขากับผู้นำโซเวียต มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ซึ่งจัดขึ้นในเจนีวา กลับกลายเป็นการเปิดประตูให้แก่เส้นทางเดินไปสู่การยุติลงของสงครามเย็น
ซัมมิตที่เจนีวาครั้งล่าสุดเมื่อวันพุธ (16 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ก็ยังคงรักษาประเพณีอันนี้เอาไว้ ทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เห็นพ้องกันว่ามันเป็นการเจรจาที่ได้น้ำได้เนื้อ –ถึงแม้จะค่อนข้างสั้นค่อนข้างน้อยก็ตามที
ปูตินมีท่าทีตรงไปตรงมาตามแบบฉบับ ณ การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นเวลา 1 ชั่วโมงภายหลังซัมมิต (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/65870) โดยมีสีหน้าท่าทางค่อนข้างผ่อนคลายและยิ้มแย้ม เขาตอบคำถามจำนวนมากทั้งจากนักหนังสือพิมพ์อเมริกันและรัสเซีย เขาบอกว่าในการเจรจากันครั้งนี้ไม่ได้มีความเป็นปรปักษ์อะไร หากแต่ดำเนินไปด้วยจิตวิญญาณแห่งการมุ่งสร้างสรรค์
แต่ปูตินก็ตอบโต้กลับอย่างเด็ดขาดชัดเจนต่อการกล่าวหาของสหรัฐฯทั้งในเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ และเรื่องสิทธิมนุษยชน สำหรับเรื่อง ยูเครน และเรื่อง เบลารุส ประธานาธิบดีทั้งสองเห็นพ้องต้องกันที่ต่างฝ่ายต่างจะเห็นกันไปคนละทาง ผลลัพธ์หลักๆ ของการประชุมซัมมิตคราวนี้ก็คือ การเริ่มต้นสนทนากันในทางยุทธศาสตร์กันใหม่อีกครั้ง และการดำเนินการเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาด้านไซเบอร์
เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ว่า ปูตินได้อะไรไปมากพอสำหรับการประกาศอ้างว่าได้รับชัยชนะทางการเมืองเมื่อกลับไปถึงบ้าน พวกนักวิเคราะห์ในมอสโกจะแสดงทัศนะกันว่า วอชิงตันมีความตระหนักถึงความเป็นจริงขึ้นมาแล้วว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะโดดเดี่ยวรัสเซีย รัสเซียนั้นมีความสำคัญ และในบางแง่บางมุมแล้วกระทั่งต้องถือว่าทรงความสำคัญระดับที่ไม่อาจขาดหายไปได้ทีเดียว ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯจึงกำลังหวนกลับเข้าสู่เส้นทางแห่งการสร้างเสถียรภาพในทางยุทธศาสตร์ และบางทีอาจจะกระทั่งเข้าสู่เส้นทางแห่งความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย
สำหรับการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นเวลา 30 นาทีในเวลาต่อมาของไบเดน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/06/16/remarks-by-president-biden-in-press-conference-4/) –ซึ่งไม่ทราบเหตุผลว่าทำไม ทว่ามีการจำกัดให้เฉพาะพวกนักหนังสือพิมพ์อเมริกันเท่านั้น – ก็ยืนยันว่าการพบปะเจรจาคราวนี้เป็นไปในทางบวกและสร้างสรรค์ ไบเดนพูดว่า “มาถึงตอนนี้ เราก็จัดวางพื้นฐานที่ชัดเจนขึ้นมาแล้ว ในเรื่องที่ว่าเราตั้งใจที่จะติดต่อกับรัสเซียอย่างไร และความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียจะเป็นอย่างไร”
ทว่าช่วงคำถามคำตอบของการแถลงข่าว กลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ไบเดนนั้นจะต้องเจอปัญหาหนักหนาสาหัสทีเดียวเมื่อกลับไปบ้าน พวกนักหนังสือพิมพ์อเมริกันแสดงให้เห็นถึงทัศนะอันหดหู่ ต่อการมุ่งผลในทางปฏิบัติที่ไบเดนเพิ่งค้นพบใหม่ๆ ในเรื่องการติดต่อกับรัสเซียและปูติน
ไบเดนถูกสื่อมวลชนกดดัน
ไบเดนถูกกดดันจนต้องพูดปกป้องแก้ต่างให้แก่การที่เขาทาบทามปูตินเพื่อจัดซัมมิตนี้ขึ้นมา เขาก้าวล้ำหน้ากว่าความคิดเห็นกระแสหลักของฝ่ายอเมริกัน
การแถลงข่าวของเขายังสิ้นสุดลงด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง เมื่อนักหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่งเล่นงานไบเดนด้วยคำถามว่า “ท่านประธานาธิบดี ทำไมท่านถึงมั่นอกมั่นใจนักว่า เขา (ปูติน) จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขา?” ไบเดนตอบด้วยท่าทีกราดเกรี้ยวว่า “ผมไม่ได้มั่นใจว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาหรอก ให้ตายเถอะ –คุณมัวทำอะไรอยู่ล่ะตลอดเวลาที่ผ่านมานี่? ผมพูดว่าผมมั่นใจตอนไหนกัน? ... ผมไม่ได้มั่นใจในอะไรทั้งนั้น...”
ไบเดนมีทุนทางการเมืองเพียงพอหรือไม่ ที่จะฝ่าฟันเดินหน้าไปด้วยโปรเจ็คต์ซึ่งมุ่งสร้าง “เสถียรภาพและการคาดทำนายได้” ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย ? เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มันยังเร็วเกินไปที่จะพูดว่าซัมมิตครั้งนี้จะถือเป็นความสำเร็จสำหรับไบเดนหรือไม่ อาจต้องใช้เวลาหลายๆ สัปดาห์และหลายๆ เดือนทีเดียวในการติดตามดูว่าความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียจะมีพัฒนาการต่อไปอย่างไร ซัมมิตหนหนึ่งในเจนีวาไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมความสัมพันธ์นี้ได้
การประชุมซัมมิตคราวนี้ บางนี้อาจสามารถเติมเต็มความคาดหมายทั้งหลายของทั้งสองฝ่าย แต่เพดานแห่งความคาดหมายเหล่านี้ก็ถูกจัดวางเอาไว้ให้ต่ำๆ อย่างตั้งใจ สำหรับคำแถลงร่วมว่าด้วยเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/06/16/u-s-russia-presidential-joint-statement-on-strategic-stability/) ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ ต้องถือเป็นเรื่องเซอร์ไพรซ์ แต่นั่นแหละ มันคือข้อต่อของหลักการสำคัญข้อแรกๆ –ที่ว่าสงครามนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครชนะ และด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรเกิดการสู้รบในสงครามเช่นนี้ขึ้น
จุดสรุปจบสิ้นในการสนทนาทางยุทธศาสตร์ บางทีอาจยังไม่สามารถบรรลุถึงได้ แม้กระทั่งในเวลา 3 เดือน 6 เดือน นอกจากนั้นการสนทนาก็คลี่คลายดำเนินไปในมิติแกนกลางของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย แต่เมื่ออยู่ในบริบทของศตวรรษที่ 21 มันจึงยังเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์, ทางอวกาศ, และความมั่นคงตามแบบแผนปกติ, รวมทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางการทูต และอื่นๆ
คำถามง่ายๆ ตรงๆ จึงมีอยู่ว่า ขณะที่ปูตินอยู่ในฐานะที่สามารถส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลของเขาว่า ตอนนี้สมควรเริ่มต้นการทำงานเพื่อมุ่งทำให้เกิดผลผลิตขึ้นมาได้แล้ว ไบเดนล่ะอยู่ในฐานะเท่าเทียมกันที่จะทำอย่างนี้ด้วยหรือไม่?
อย่าได้เข้าใจผิดนะครับ ความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อนเอามากๆ โดยมีเพียงเส้นบางๆ เท่านั้นที่แยกระหว่างการเป็นแค่อาชญากรรมกับการเป็นเรื่องก่อการร้าย แน่นอนว่าปูตินจะไม่มีวันยอมรับอยู่แล้วว่ารัฐรัสเซียกระทำความผิดอะไรด้วยในเรื่องนี้ รวมทั้งเขาจะไม่มีวันยอมให้คำมั่นสัญญาใดๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากรัสเซียเองก็ตกเป็นเป้าเปราะบางจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์เหมือนกัน
แล้วเรื่องไซเบอร์ยังบังเอิญกลายเป็นประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงแห่งชาติขึ้นมาด้วย ดังนั้น แม้กระทั่งจะให้เริ่มต้นพูดจาเรื่องนี้กันได้ ก็จำเป็นต้องมีความไว้วางใจกัน แล้วเวลานี้ความไว้วางใจนี่แหละคือสิ่งที่กำลังขาดแคลน เส้นทางเดินข้างหน้าจึงเป็นเส้นทางที่ขรุขระ
เป้าหมายของไบเดน
แรงจูงใจต่างๆ ของไบเดนยังคงดูคลุมเครือ มี 3 เรื่องที่ปรากฏขึ้นมาให้เห็น จากการแถลงข่าวของเขาในคราวนี้
ประการแรก ไบเดนมุ่งหน้าหาทาง “จำแนกแยกแยะเพื่อให้สามารถระบุถึงเรื่องที่จะทำงานอย่างมุ่งผลในทางปฏิบัติกันได้” กับรัสเซีย ภายในแนวรบอันกว้างขวางยิ่ง --ทั้งนี้นอกเหนือจากเรื่องการสนทนาทางยุทธศาสตร์ และเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์แล้ว เขายังเอ่ยถึง เรื่อง “พื้นที่ระเบียงทางมนุษยธรรม” ในซีเรีย, เรื่องอิหร่าน, และเรื่องอัฟกานิสถาน ซึ่งเขาต้องการได้รับ “ความช่วยเหลือ” จากปูติน นอกจากนั้นยังมีเรื่องความร่วมมือกันในภูมิภาคอาร์กติก ฯลฯ พูดโดยภาพรวม ก็คือ เขามุ่งหาทางให้เกิดปฏิสัมพันธ์แบบสร้างสรรค์ขึ้นมา
ประการที่สอง ไบเดนหวังที่จะสามารถสร้างความเชื่อมโยงส่วนตัวกับปูตินขึ้นมา ทั้งนี้จากคำพูดของเขาเองที่บอกว่า “ผมหมายความว่า, ผม –ลองคิดดูนะ ท่านทั้งหลาย ผมทราบว่าเรานั้นสร้างนโยบายการต่างประเทศขึ้นมาจากทักษะที่ยิ่งใหญ่มากๆ ข้อนี้ ซึ่งบางที มันอยู่ในลักษณะเหมือนๆ กับเป็นรหัสลับที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทีเดียว ในทางปฏิ— นโยบายการต่างประเทศทั้งหลายทั้งมวลคือ, คือการขยายตัวออกไปอย่างมีเหตุมีผลของความสัมพันธ์ส่วนตัว นี่เป็นวิธีการทำงานตามธรรมชาติของมนุษย์”
ประการที่สาม เขาเชื่อว่าเขามีวิธีการในการติดต่อเข้าถึงตัวปูติน โดยที่ใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งอย่างได้ผล ไบเดนนั้นประเมินว่า ปูตินกำลังตกอยู่ใต้แรงบีบคั้นอย่างมหาศาล ไบเดนพูดเอาไว้อย่างนี้: “ผมคิดว่าสิ่งสุดท้ายที่เขา (ปูติน) ต้องการในเวลานี้คือสงครามเย็นอีกครั้งหนึ่ง เขามีพรมแดนยาวเป็นพันๆ ไมล์ติดต่อกับจีน จีนนั้นกำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว อย่างที่เขาพูดกันว่า มุ่งหน้าไปอย่างดื้อรั้นไม่ยอมหันหลังกลับ นั่นแหละ กำลังหาทางเพื่อให้กลายเป็นเศรษฐกิจที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก และมีกำลังทหารที่ใหญ่ที่สุดและทรงอำนาจที่สุดในโลก
“ตัวคุณ (ปูติน) อยู่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของคุณกำลังย่ำแย่ต้องดิ้นรนหนัก คุณจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้มันเคลื่อนไปในเส้นทางที่แข็งกร้าวมากขึ้น ในแง่มุมของการทำให้มันเติบโตขยายตัวไปได้ และคุณ –ผมไม่คิดหรอกว่าเขากำลังมองหาทางทำสงครามเย็นกับสหรัฐฯ ...
“แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า เขา (ปูติน) พรักพร้อมแล้วที่จะ ผมขอใช้คำพูดที่จะทำให้มองเห็นภาพกันนะ ‘วางอาวุธของเขาลง’ และพูดว่า ‘เอายังไงเอากัน’ เขายังคง, นี่ผมเชื่อนะ, เขายังคงเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องที่กำลัง ‘ถูกปิดล้อม’ เขายังคงเป็นห่วงว่า เรา (สหรัฐฯ) นั้นจริงๆ แล้วกำลังมองหาทางโค่นล้มเขา อะไรอย่างนี้ เขายังคงมีความกังวลกับเรื่องพวกนี้อยู่ แต่ผมไม่คิดหรอกว่าความกังวลพวกนี้กำลังเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อให้ไปสู่ความสัมพันธ์ชนิดที่เขากำลังมุ่งมองหาจากสหรัฐฯ”
ความคิดเห็นที่น่าตื่นตะลึงเหล่านี้ ตอกย้ำให้เห็นว่าความเข้าอกเข้าใจของคณะบริหารไบเดนเกี่ยวกับรัสเซียของปูตินนั้น ช่างเต็มไปด้วยความไร้เดียงสา และมีความผิดพลาดอย่างล้ำลึกมาก มอสโกกับปักกิ่งน่าจะต้องรู้สึกถึงเรื่องนี้ได้ หลักฐานอย่างยิ่งในเรื่องนี้ก็คือ ในระหว่างที่ปูตินให้สัมภาษณ์สื่อ เอ็นบีซี นิวส์ ของสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nbcnews.com/news/world/transcript-nbc-news-exclusive-interview-russia-s-vladimir-putin-n1270649) ความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับสายสัมพันธ์รัสเซีย-จีน ดูโดดเด่นออกมาเป็นพิเศษทีเดียว
ปูตินพูดเอาไว้อย่างนี้: “ขอให้ผมพูดอย่างจริงใจเต็มที่เลยได้ไหม? เรานั้นมองเห็นความพยายามต่างๆ ที่จะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีน เราสามารถมองเห็นว่าความพยายามเหล่านี้กำลังถูกทำให้กลายเป็นประดานโยบายที่มุ่งผลในทางปฏิบัติ และคำถามต่างๆ ของคุณก็เหมือนกัน มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย”
มรดกจากสมัยทรัมป์
บางที นี่อาจจะเป็นส่วนที่นูนเด่นของซัมมิตเจนีวาครั้งนี้ ดูเหมือนมีความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงในหมู่ชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศของอเมริกา ในเรื่องที่พวกเขาประเมินเกี่ยวกับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-จีน ว่าจะสามารถทนทานแรงบีบคั้นกดดันได้มากน้อยแค่ไหน
รัสเซียกับจีนนั้นมีผลประโยชน์ที่สอดคล้องต้องกันในการให้ความสนับสนุนแก่กันและกัน เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถยันสหรัฐฯให้ถอยกลับไปได้ ความเป็นหุ้นส่วนกันนี้เป็นสิ่งช่วยเหลือเอื้ออำนวยให้พวกเขาสามารถก้าวไปสู่เรื่องที่ถือเป็นความกังวลห่วงใยระดับแกนหลักของแต่ละฝ่าย และความสนใจพิเศษเฉพาะของแต่ละฝ่าย เป็นสิ่งที่ให้ผลประโยชน์แก่กันและกัน และให้รางวัลตอบแทนตามเนื้อผ้า
โดยพื้นฐานแล้ว ไบเดนรับช่วงมรดกแห่งการรณรงค์ต่อต้านทรัมป์ของพรรคเดโมแครต (และของสมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของบารัค โอบามา) ซึ่งได้ประดิษฐ์สร้างเรื่องเล่าว่าด้วย “การสมคบคิดกับรัสเซีย” ในปี 2016 ขึ้นมา เพื่อใส่ร้าย โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเป็นผู้สมัครหุ่นเชิดของมหาอำนาจฝ่ายศัตรู และต่อจากนั้นก็ยังใช้เรื่องนี้มาบ่อนทำลายสมัยการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์
ไบเดนยังคงติดแน่นอยู่กับเรื่องเล่าผิดๆ ดังกล่าว เขาไม่ได้ใช้มันมาเป็นโรดแมปสำหรับการนำร่องจัดวางนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับรัสเซียก็จริง แต่เขาก็ไม่สามารถสลัดทิ้งมันออกไปได้เหมือนกัน ความขัดแย้งกันเองเช่นนี้สามารถแก้ไขคลี่คลายได้ต่อเมื่อปฏิบัติต่อความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีอยู่กับรัสเซียในฐานะที่ว่ามันเป็นประเด็นปัญหาด้านนโยบายการต่างประเทศ ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นแผ่นแม่แบบชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งของการเมืองภายในประเทศ
แต่ไบเดนนั้นอ่อนแอเกินกว่าที่จะเป็นประธานาธิบดีผู้จัดวางแผนการสำหรับการแก้ไขปรับเปลี่ยนเส้นทางอย่างประณีตลึกซึ้งเช่นนี้ได้ ถึงแม้เขาพยายามสร้างเครคิดความเป็นสายเหยี่ยวของเขาอย่างไม่ขาดตกบกพร่องก็ตามที
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย