(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
G7 meet underscores fault lines on China
by MK Bhadrakumar
15/06/2021
การประชุมสุดยอดกลุ่ม จี7 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรงระหว่างสหรัฐฯกับเหล่าพันธมิตรของตนในยุโรป ในเรื่องวิธีการรับมือกับอำนาจที่กำลังผงาดเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ของจีน
กลุ่ม 7 (The Group of Seven) หรือ จี7 (G7) เดินทางมายาวไกลทีเดียว ตั้งแต่ตอนที่เริ่มก่อตัวขึ้นมาเมื่อกลางทศวรรษ 1970 ด้วยความริเริ่มของ วาเลรี ฌิสการ์ แดสแตง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้น กับ เฮลมุท ชมิดต์ นายกรัฐมนตรีเยอรมันตะวันตกในตอนนั้น เพื่อหารือกันถึงเศรษฐกิจโลก และปรึกษากันเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 1 (first oil shock ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/1973_oil_crisis -ผู้แปล) และการล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ของ เบรตตันวู้ดส์ (Bretton Woods fixed-exchange-rate system ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.investopedia.com/terms/b/brettonwoodsagreement.asp -ผู้แปล)
แต่เมื่อถึงทศวรรษ 1980 กลุ่มจี7 ก็เริ่มต้นปรึกษาหารือกันในประเด็นปัญหาด้านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงด้วย เราคงอาจจะกล่าวได้ว่า ฐานะของ จี7 ในการเป็นเวทีระดับสูงในด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ได้ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในปี 1991 เมื่อทางกลุ่มเชื้อเชิญ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev ซึ่งเป็นประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตในตอนนั้น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/17th_G7_summit -ผู้แปล) ไปหารือที่กรุงลอนดอน คู่ขนานกันไปกับการประชุมซัมมิตของ จี7 เอง และต่อมาในปี 1998 รัสเซียก็ได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมในกลุ่มด้วยอย่างเป็นทางการ ทำให้กลุ่มนี้กลายเป็น จี8 ขึ้นมา
รัสเซียเข้าร่วมการประชุมซัมมิตเป็นประจำทุกปีอยู่ราว 15 ปี จนกระทั่งถึงปี 2013 เมื่อมีการแยกทางกันระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตก ภายหลังเกิด “การปฏิวัติสี” ขึ้นในยูเครน และ จี8 จึงเปลี่ยนกลับมาเป็น จี7 อีกคำรบหนึ่ง หลังจากนั้นมา กลุ่มนี้ก็ประพฤติตนอย่างไม่มีการสะเทิ้นเขินอายอีกต่อไป ในฐานะที่เป็นสโมสรระดับเอ็กซ์คลูสีฟของโลกตะวันตก
การสรุปความเป็นมาเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีความจำเป็น เพื่อทบทวนความจำว่าเวทีที่มีสีสันทางการเมืองอย่างเข้มข้นของพวก 7 ประเทศใหญ่ฝ่ายตะวันตกแห่งนี้ ได้กลายเป็นสถานที่บ่มเพาะแนวคิดต่างๆ ในเรื่องความพิเศษแตกต่างไม่เหมือนใคร (exceptionalism) ขึ้นมาได้อย่างไร ทว่ามาถึงตอนนี้ ขณะที่กลุ่ม จี7 เผชิญกับโลกซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน พวกเขาจึงรู้สึกประหวั่นวิตกว่า โลกของเมื่อวานนี้กำลังลอยห่างหนีไกลออกไปทุกทีๆ
ความเป็นจริงที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่พลิกกลับเป็นตรงกันข้ามอย่างน่าตื่นตาตื่นใจนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ได้แก่การที่โลกกำลังพัฒนาเวลานี้กลายเป็นเจ้าของเศรษฐกิจโลกอยู่เกือบๆ สองในสาม เปรียบเทียบกับฝ่ายตะวันตกซึ่งยังครอบครองเอาไว้ได้แค่หนึ่งในสาม แน่นอนทีเดียว ความเป็นจริงเช่นนี้ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนเข้มข้นเป็นพิเศษนับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินเมื่อปี 2008 ได้นำไปสู่การกำเนิดขึ้นมาของกลุ่ม จี20 ที่เป็นตัวแทนของเหล่าประเทศผู้มีส่วนร่วมอยู่ในเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่กว้างขวางยิ่งกว่ากันมากมายนัก แต่กระนั้น จี7 ก็ยังคงปฏิเสธไม่ยอมยุบเลิกหนีหายไปไหน
วิกฤตการณ์โรคระบาดใหญ่ โควิด-19 อาจจะกลายเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงระดับสร้างประวัติศาสตร์กันใหม่เช่นนี้ให้กระชั้นรวดเร็วยิ่งขึ้นอีก มองกันโดยภาพรวมแล้ว พวกมหาอำนาจตะวันตกเหล่านี้กำลังอยู่ในภาวะบาดเจ็บชอกช้ำทางจิตใจ ขณะที่พวกเขาแหงนมองไปรอบๆ และรู้สึกได้ว่า ฐานะของการเป็นผู้ครอบงำบงการที่พวกเขาเคยมีอยู่อย่างเต็มที่ในฐานะเจ้าเหนือหัวชาติอื่นๆ จากการที่สามารถเข้าเกาะกุมเศรษฐโลกเอาไว้อย่างเหนียวแน่นนั้น เวลานี้เป็นสิ่งที่พวกเขาธำรงรักษาเอาไว้ไม่ได้เสียแล้ว
ไม่ว่าจะคิดคำนวณกันอย่างไร พวกผู้นำ จี7 ซึ่งไปชุมนุมกันอยู่ในสหราชอาณาจักรเพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตเป็นเวลา 3 วันที่สิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ (13 มิ.ย.) คราวนี้ ต่างตระหนักสำนึกได้ถึงกระแสคลื่นใต้น้ำต่างๆ ที่กำลังหมุนวนอยู่รอบๆ พวกเขา
นี่คือซัมมิตแห่งการเปลี่ยนแปลงทิศทางของ จี7 ?
จี7 กำลังตกอยู่ใต้การบีบบังคับให้ต้องประดิษฐ์สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ซัมมิตเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเครื่องหมายแสดงถึงก้าวเดินก้าวแรกไปสู่การจัดวางกรอบกลุ่มจี7 เสียใหม่ ให้กลายเป็นต้นธารน้ำพุของโลกประชาธิปไตย เพื่อให้ตนเองสามารถกลายเป็นผู้นำของกลุ่มพันธมิตรผู้มีความปรารถนาร่วมกันในทั่วโลกในการรณรงค์ต่อสู้คัดค้านจีน
อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในหมู่ประเทศ จี7 เอง ก็ปรากฏสัญญาณของความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องการทำสงครามครูเสดต่อตานจีนดังกล่าวนี้ จีนเวลานี้กลายเป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตขยายตัวให้แก่เศรษฐกิจโลก และกระทั่งมีบทบาทเป็นผู้เปลี่ยนแปลงพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจของชาติตะวันตกบางรายด้วยซ้ำไป
ตรงนี้แหละที่ทำให้เรามองเห็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้งกันเองของฝ่ายตะวันตก ผลลัพธ์ประการหนึ่งของซัมมิต จี7 ล่าสุดคราวนี้ ควรทำให้เรานึกทึกทักเอาว่าฝ่ายตะวันตกกำลังเคลื่อนไหวในลักษณะตอบโต้กับแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ของจีน เมื่อแถลงการณ์ร่วมในตอนท้ายซัมมิตประกาศว่า พวกเขาจะ “แก้ไขช่องโหว่การขาดแคลนเงินทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน” ด้วยการระดมเงินทุนและทักษะความเชี่ยวชาญของภาคเอกชน ทว่าคำถามสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เงินทองที่ จี7 จะนำมาใช้เพื่อการนี้นั้นจะเอามาจากไหน?
ระบบเศรษฐกิจของพวกเขาต่างจ่อมจมอยู่ในภาระหนี้สิน และมีเหตุผลอะไรที่พวกบริษัทภาคเอกชนของพวกเขาจึงสมควรปล่อยเงินกู้ ยกเว้นแต่มันจะมีผลตอบแทนอย่างงดงามเท่านั้น แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือ บริษัทภาคเอกชนของตะวันตกเหล่านี้มีเงินทองเครื่องไม้เครื่องมือ, ทักษะความชำนาญ, ตลอดจนประสบการณ์เคยผ่านงานทำนองเดียวกัน ชนิดที่สามารถเข้าดำเนินโครงการต่างๆ ประเภทซึ่งพวกบริษัทจีนกำลังดำเนินการอยู่ในแอฟริกาหรือเอเชีย ภายในแผนการ BRI อันทะเยอทะยานหรือไม่?
ตามการรวบรวมของบริษัทผู้ให้บริการด้านข้อมูล “เรฟินิทีฟ” (Refinitiv) นับถึงไตรมาสแรกของปี 2020 มูลค่าของโครงการต่างๆ ในแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางก็อยู่ในระดับเกินกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว นี่คือความเป็นจริงอันหนักแน่นจริงจัง
พิจารณากันในแง่มุมทางภูมิรัฐศาสตร์ ผลลัพธ์หลักของการประชุมซัมมิต จี7 ย่อมได้แก่การที่พวกผู้เข้าร่วมของทางยุโรปสามารถที่จะถอนหายใจด้วยความโล่งอก เมื่อน้ำเสียงใหม่ๆ ของวอชิงตันที่ดูเหมือนแฝงไว้ด้วยความสนอกสนใจ เริ่มที่จะซ่อมแซมความร้าวฉานต่างๆ ซึ่งตกทอดมาจากตลอดช่วงเวลา 4 ปีของโดนัลด์ เจ ทรัมป์
ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส แถลงภายหลังพบปะหารือกับ โจ ไบเดน ผู้สืบตำแหน่งต่อจากทรัมป์ ว่า “เป็นเรื่องดีเยี่ยมที่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้ซึ่งเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร และมีความตั้งอกตั้งใจมากที่จะให้ความร่วมมือ” แน่นอนทีเดียว การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรขึ้นมาเช่นนี้ ช่วยให้ไบเดนสามารถสอดแทรกเสียงแปร๋นแปร๋แบบยุคสงครามเย็นเข้าไปในเอกสารแถลงการณ์ของ จี7 ได้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี เมื่อมองสถานการณ์ต่อไปข้างหน้า การที่กลุ่ม จี7 จะเดินไปในทิศทางอย่างที่ไบเดนต้องการจริงๆ นั้น จะต้องประสบความลำบากยุ่งยากอยู่ 3 ด้าน ด้านแรกเลยคือสภาพความเป็นจริง สิ่งที่ไบเดนพยายามผลักดันนี้เป็นเรื่องหลอกลวงเสแสร้างอันว่างเปล่าเท่านั้น ทำนองเดียวกับอัศวินผู้เฒ่า ดอน กิโฮเต้ (Don Quixote) ในนวนิยายเรื่องเอกของ เซร์บันเตส (Cervantes) กำลังพยายามต่อสู้กับกังหันของโรงสีลม เนื่องจากอาการลุ่มหลงเคลิบเคลิ้มจนเพ้อเจ้อเข้าใจผิดๆ ทั้งนี้เพราะจีนกับรัสเซียไม่ใช่เพียงแค่ไม่ได้คืบใกล้การก่อตั้งกลุ่มก้อนอย่างมุ่งเป็นปรปักษ์ท้าทายฝ่ายตะวันตกของพวกเขาขึ้นมาเท่านั้น หากแต่กระทั่งไม่ได้มีการวางแผนเพื่อเคลื่อนคืบไปในทิศทางดังกล่าวเสียด้วยซ้ำ
จีนกับรัสเซียไม่ได้คิดจะจับมือเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหาร
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการให้สัมภาษณ์ โกลบอลไทมส์ (Global Times) หนังสือพิมพ์ในเครือของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต๋จีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202106/1225982.shtml) อันเดรย์ เดนิซอฟ (Andrey Denisov) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำปักกิ่ง ได้กล่าวขณะที่กำลังจะมีการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี7 และซัมมิตระหว่าง วลาดิมีร์ ปูติน กับ โจ ไบเดน เอาไว้ดังนี้:
“จุดยืนของรัสเซียนั้นมีความชัดเจนว่าใกล้ชิดกับจีนยิ่งกว่านักหนา (เมื่อเทียบกับความใกล้ชิดที่มีอยู่กับสหรัฐฯ) ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ สหรัฐฯประกาศใช้มาตรการแซงก์ชั่นกับทั้งรัสเซียและจีน ถึงแม้ปริมณฑลและเนื้อหาของความไม่พอใจที่สหรัฐฯมีอยู่กับรัสเซียและกับจีนนี้ มีความแตกต่างกัน แต่เป้าหมายของสหรัฐฯก็ยังคงเป็นอย่างเดียวกัน ได้แก่ การมุ่งบดขยี้คู่แข่งขัน เรานั้นมีความชัดเจนว่าไม่สามารถที่จะยอมรับท่าทีเช่นนี้ของสหรัฐฯได้ เราวาดหวังว่า จะสามารถรักษา “ความสัมพันธ์สามเส้า” รัสเซีย-จีน-สหรัฐฯ ให้อยู่ในภาวะสมดุลเอาไว้
“รัสเซียและจีนต่างเป็นมหาอำนาจระดับโลกด้วยกันทั้งคู่ และมีผลประโยชน์ของพวกเขาเองในระดับโลกและในระดับภูมิภาค ผลประโยชน์เหล่านี้ไม่สามารถที่จะเหมือนกันสอดคล้องต้องกันในทุกๆ กรณีได้ แต่เมื่อมองกันโดยภาพรวม ผลประโยชน์ในระดับระหว่างประเทศของรัสเซียและจีนคือสิ่งเดียวกัน ดังนั้นจุดยืนของพวกเราในประเด็นปัญหาระหว่างประเทศส่วนใหญ่แล้วจึงเป็นจุดยืนอย่างเดียวกัน
“ตัวอย่างที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ วิธีการที่พวกเราออกเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กล่าวคือ รัสเซียกับจีนมักออกเสียงแบบเดียวกันในคณะมนตรีความมั่นคง ... แท้ที่จริงแล้ว จุดยืนของพวกเราในประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดบางประเด็นคือจุดยืนอย่างเดียวกัน และพวกเราเพียงแต่มีทัศนะที่แตกต่างกันออกไปในรายละเอียดพิเศษเฉพาะบางอย่างบางประการเท่านั้น”
ถ้อยแถลงที่หยิบยกมาอ้างอิงข้างต้นนี้ มีอะไรที่แสดงให้เห็นถึงการจับมือเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างกัน หรือแม้กระทั่งการมีอุดมการณ์ร่วมกันระหว่างรัสเซียกับจีนตรงไหนหรือ? เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่ามันไม่มีอะไรอย่างนั้นเลย
นี่นำเรามาสู่ด้านที่สอง ได้แก่ การที่สหรัฐฯกำลังพยายามจะบีบคั้นอย่างหนักเพื่อให้พวกหุ้นส่วนฝ่ายตะวันตกของตน เข้าร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อการเป็นศัตรูด้านนโยบายการต่างประเทศกับจีน ความพยายามเช่นนี้โดยสาระสำคัญแล้วเกิดขึ้นมาจากความรู้สึกผิดหวังหงุดหงุดของสหรัฐฯเองที่มองเห็นว่า ศตวรรษแห่งการครอบงำเหนือทั่วโลกของตนกำลังถูกท้าทายอย่างร้ายแรง โดยที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องที่บอกว่าจีนกำลังบ่อนทำลายผลประโยชน์ของฝ่ายตะวันตกเลย
ไม่ต้องสงสัย ซัมมิตกลุ่ม จี7 ครั้งนี้ทำให้มองเห็นกันได้อย่างถนัดถนี่ว่า มีความไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรงในระหว่างสหรัฐฯกับพวกพันธมิตรของตนเกี่ยวกับเรื่องวิธีการในการรับมือกับอำนาจที่กำลังผงาดเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ของจีน ยุโรปนั้น –โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจใหญ่ของยุโรปทั้งสอง ซึ่งได้แก่ เยอรมนี กับฝรั่งเศส –ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับสหรัฐฯหรอก ในเรื่องที่ว่าควรจะถือจีนเป็นหุ้นส่รวน, คู่แข่งขัน, ปรปักษ์, หรือเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างสมบูรณ์
อารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ต้องตรงกันเช่นนี้ จะสร้างความติดขัดให้แก่ความพยายามของสหรัฐฯในการรวบรวมจัดระเบียบการตอบโต้ของฝ่ายตะวันตกให้มีความละเอียดซับซ้อนและรอบด้าน สำหรับระยะใกล้ๆ แล้ว บททดสอบสำคัญที่สามารถบ่งบอกให้เห็นว่าวอชิงตันประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน จะได้แก่เรื่องที่คณะบริหารไบเดนพยายามเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้เหล่าพันธมิตรของอเมริกาประณามจีนว่ามีการบังคับใช้แรงงาน แล้วดำเนินปฏิบัติการลงโทษอย่างเป็นรูปธรรมติดตามมา เพื่อให้มั่นใจว่าสายโซ่อุปทานของโลกจะต้องปลอดจากการพึ่งพาอาศัยแรงงานของจีน –ถ้าทำเช่นนี้ไม่สำเร็จแล้ว ทั้งหมดเล่านี้ก็จะกลายเป็นแค่การพูดข่มขู่โดยที่ไม่ได้มีการกระทำอะไรที่จริงจัง
สหภาพยุโรปใช้วิธีระมัดระวังประคองตัว
เมื่อพูดกันถึงที่สุดแล้ว กฎเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์ยังคงมีความเข้มแข็งกว่าความคิดในทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือความกังวลสนใจทางด้านสิทธิมนุษยชน
ความเคลื่อนไหวที่สำคัญมากของฝ่ายยุโรป ปรากฏให้เห็นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน จากการที่ ชาร์ลส์ มิเชล (Charles Michel) ประธานของคณะมนตรียุโรป (European Council เวทีประชุมของบรรดาผู้นำรัฐบาลอียู) ได้แถลงปกป้องความพยายามของสหภาพยุโรปในการเจรจาจนมีการจัดทำข้อตกลงรอบด้านว่าด้วยการลงทุน (Comprehensive Agreement on Investment) กับจีน โดยเขาเรียกดีลการลงทุนฉบับนี้ว่า เป็น “ก้าวเดินก้าวมหึมาในทิศทางอันถูกต้อง” มิเชลยังบอกกับพวกผู้สื่อข่าวด้วยว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เรากำลังก้าวเดินไปในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้แก่บรรดาบริษัทยุโรป เพื่อการลงทุน” ในเศรษฐกิจของจีน
จังหวะเวลาของการแสดงทัศนะเช่นนี้ ถือว่าค่อนข้างละเอียดอ่อนและแฝงไว้ด้วยปริศนา เพราะเกิดขึ้นในขณะไบเดนกำลังออกเดินทางจากสหรัฐฯเพื่อการเยือนยุโรปเที่ยวนี้ของเขา มันเป็นการส่งสัญญาณว่าถึงแม้สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจีน-อียูกำลังอยู่ในระยะของการเปลี่ยนผ่านที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนอย่างไรก็ตามที มันก็ไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐฯสามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสอดมือเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเค้กก้อนนี้ด้วย
สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีก ก็คือมันตอกย้ำให้เห็นว่า ไม่ว่าอียูหรือจีนต่างไม่ต้องการเห็นสหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงและทำให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายลงไปและคาดทำนายได้น้อยลง แน่นอนล่ะ ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายยุโรปย่อมไม่ปรารถนาที่จะสูญเสียความเป็นอิสระในทางด้านนโยบายของพวกตน และกลายเป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯที่จะปิดล้อมต่อต้านจีน
นี่ย่อมเป็นสิ่งที่พึงต้องคาดหมายกันได้อยู่แล้ว ในเมื่อตั้งแต่ปี 2020 จีนก็ได้แซงหน้าสหรัฐฯขึ้นไปเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอียูไปเรียบร้อยแล้ว มูลค่าของการค้าทั้งในรูปตัวสินค้าและในรูปของบริการระหว่างจีนกับพวกประเทศยุโรปเวลานี้เพิ่มขึ้นไปจนเกือบใกล้ๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ขณะที่การลงทุนสะสมสองทางก็กำลังเลยหลัก 250,000 ล้านดอลลาร์
ผลการสำรวจที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้โดยหอการค้าสหภาพยุโรปในประเทศจีน (European Union Chamber of Commerce in China) แสดงให้เห็นว่า เกือบ 60% ของพวกบริษัทยุโรปมีแผนการจะขยายธุรกิจของพวกตนในจีนในปีนี้ เพิ่มขึ้นเกือบๆ 10% จากระดับ 51% ในการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว
เราย่อมสามารถกล่าวได้ว่า คนยุโรปนั้นมีความฉลาดหลักแหลมเพียงพอที่จะทราบว่า การทำให้สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจีน-อียู กลายเป็นเรื่องการเมืองขึ้นมา มีแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ในระยะยาวของพวกเขาเท่านั้น
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย