xs
xsm
sm
md
lg

จริงๆ แล้ว ‘ไบเดน’ ต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับ ‘รัสเซีย’ และ ‘จีน’ ท่ามกลางการต่อต้านของ‘พวกหวาดระแวง’ที่ยังมีอยู่มากมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Biden actually wants to engage Russia and China
by MK Bhadrakumar
28/05/2021

พวกหวาดระแวงจีน และ พวกหวาดระแวงรัสเซีย ในวอชิงตัน กำลังตั้งหลักเพื่อต่อต้านอย่างเต็มกำลัง แต่ โจ ไบเดน ดูเหมือนกำลังพยายามนำรองนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไปในหนทางที่มุ่งผลในทางปฏิบัติให้มากขึ้น

ใครก็ตามที่พยายามพยากรณ์นโยบายว่าด้วยรัสเซียในยุคประธานาธิบดีไบเดน โดยพิจารณาจากประมวลคำพูดคำแถลงของพวกเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารชุดนี้ ทั้งที่เข้าดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน และที่ตอนช่วงต้นๆ ดูเหมือนกับเข้าตาจะได้รับตำแหน่งต่อไปนั้น เมื่อมาถึงเวลานี้สมควรทจะทราบกันแล้วว่า ทั้งบรรดาสัญชาตญาณและทัศนะมุมมองต่างๆ ซึ่งบรรจุอยู่ในคำพูดคำแถลงเหล่านั้นไม่ได้สะท้อนหรือไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงที่เกิดขึ้นมาจริงๆ หรอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการกำหนดนัดหมายแล้วว่าจะมีการประชุมซัมมิตกันระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในนครเจนีวา วันที่ 16 มิถุนายนนี้

สามารถที่จะกล่าวสรุปได้อย่างสมเหตุสมผลว่า นโยบายว่าด้วยรัสเซียจะเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นมาด้วยการจัดลำดับความสำคัญของไบเดน และด้วยประสิทธิภาพในการผลักดันการจัดลำดับเหล่านี้ของตัวไบเดนเอง ไบเดนนั้นก้าวเข้าสู่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว โดยนำพาเอาประสบการณ์ในกิจการด้านการต่างประเทศและการทูตอันแน่นปึ๊กติดไม้ติดมือมาด้วย เป็นประสบการณ์ที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งเสียกว่าของประธานาธิบดีอเมริกันคนก่อนหน้าเขา 4 คน (อันได้แก่ บิลล์ คลินตัน, จอร์จ ดับเบิลยู บุช, บารัค โอบามา, และ โดนัลด์ ทรัมป์) รวมกันเสียด้วยซ้ำ

พูดง่ายๆ ก็คือ ความเป็นผู้นำของไบเดนนั้น เป็นและจะยังคงเป็นองค์ประกอบส่วนสำคัญที่สุดในการวางนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯในคณะบริหารชุดปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้เอง การตั้งข้อสังเกตอย่างขวานผ่าซากเกี่ยวกับนโยบายว่าด้วยจีน ที่กล่าวเอาไว้โดย เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) ผู้ประสานงานด้านกิจการอินโด-แปซิฟิก ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (coordinator for Indo-Pacific affairs on the National Security Council) ในงานซึ่งมีมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันพุธ (26 พ.ค.) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.straitstimes.com/world/united-states/us-says-looking-at-quad-meeting-in-fall-focused-on-infrastructure) จึงทำให้ใครๆ พากันตกตะลึง

แคมป์เบลล์ประกาศว่า “ช่วงเวลาที่ถูกพูดบรรยายกันเอาไว้อย่างกว้างๆ ว่าเป็นช่วงแห่งการมีปฏิสัมพันธ์กันนั้น ได้มาถึงจุดสิ้นสุดลงแล้ว” เขาทำนายว่านโยบายของสหรัฐฯต่อจีนจากนี้ไปจะดำเนินภายใต้ “ชุดตัวแปรทางยุทธศาสตร์ชุดใหม่” พร้อมกับเสริมว่า “กระบวนทัศน์ที่กำลังจะมีฐานะครอบงำนั้น จะเป็นการมุ่งหน้าเพื่อแข่งขัน”

รายงานข่าวระบุว่า แคมป์เบลล์ได้กล่าวโทษประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับการปรับเปลี่ยนในนโยบายของสหรัฐฯเช่นนี้ –โดยเขาได้กล่าวอ้างถึงการปะทะกันทางทหารบริเวณชายแดนจีน-อินเดีย, “การรณรงค์ทางเศรษฐกิจ” มุ่งต่อต้านออสเตรเลีย, และการใช้วิถีทางการทูตแบบ “นักรบสุนัขป่า” (“wolf warrior” diplomacy) (ถ้อยคำนี้มุ่งที่จะหมายถึงการที่พวกนักการทูตจีนมีการตอบโต้เอาคืนอย่างแรงๆ ในช่วงหลังๆ มานี้ ต่อถ้อยคำที่โจ่งแจ้ง, แสดงความก้าวร้าวเป็นปฏิปักษ์, และยั่วยุ ของฝ่ายอเมริกัน)

แคมป์เบลล์ประเมินว่า พฤติกรรมของปักกิ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนไปสู่ “อำนาจอันกระด้าง, หรืออำนาจอันแข็งกร้าว” ซึ่ง “เป็นสัญญาณแสดงว่าจีนกำลังมุ่งที่จะเล่นบทบาทที่ก้าวร้าวยืนกรานมากขึ้น”

ดูเหมือนว่า แคมป์เบลล์กำลังพาดพิงถึงการพูดจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน และ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เจค ซุลลิแวน กับ หยาง เจียฉือ สมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองของจีน และ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เป็นไปได้ว่า มันเป็นไอเดียแสนปิ๊งของแคมป์เบลล์ ที่ทำให้บลิงเคนใช้น้ำเสียงแสดงความเป็นปรปักษ์ และเป็นฝ่ายรุกตั้งแต่ตอนเริ่มต้นการเจรจากันที่อะแลสกา

ทว่ามันกลับกลายเป็นบูเมอแรงดีดกลับมาใส่ตัวเอง และตอนนี้แคมป์เบลล์จึงกำลังโบ้ยความเคราะห์ร้ายที่เกิดขึ้นมานี้ไปที่ประธานาธิบดีสี ผู้ซึ่งเขาบรรยายว่าเป็นผู้ที่ “ยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างล้ำลึก ทว่ายังค่อนข้างที่จะไม่มีอารมณ์ความรู้สึก” และ “ไม่ได้สนอกสนใจอย่างเลวร้ายทีเดียวในเรื่องเศรษฐศาสตร์” --ซึ่งเป็นการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะส่วนตัวต่างๆ โดยมาจากอารมณ์แบบนักเห็นแย้ง มากกว่ามาจากความรู้สึกแรงกล้าในเชิงศีลธรรม

เห็นได้ชัดเลยว่า แคมป์เบลล์กำลังมุ่งหวังแสดงความฉลาด โดยครุ่นคิดคำนึงถึงการถูกบลัฟฟ์กลับที่อะแลสกา --โดยที่นั่นก็เป็นการพูดกันต่อหน้ากล้องทีวีซึ่งถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างเต็มๆ ตาเช่นกัน — และมุ่งที่จะกระแทกแรงๆ ใส่ทั้ง สี, หยาง, และ หวัง

ทีนี้ คำพูดที่ไร้สาระนี้จะกลายเป็นสิ่งที่บรรจุเอาไว้ในนโยบายที่อภิมหาอำนาจหนึ่งจะใช้กับอีกอภิมหาอำนาจหนึ่งหรือไม่? ที่สำคัญก็คือ มันเป็นตัวแทนความคิดเห็นของตัวไบเดนหรือเปล่า? ไบเดนนั้นอ้างอยู่เรื่อยว่ามีความรู้ความมักคุ้นกับสีในระดับส่วนตัวอย่างชนิดหาคนเทียบได้ยาก จากการได้พบปะพูดจากันกับสีทั้งในแบบทางการ, แบบไม่เป็นทางการ, และแบบสบายๆ ทั้งในประเทศจีนและในสหรัฐฯ

แคมป์เบลล์พูดด้วยน้ำเสียงเกือบเหมือนๆ กับที่บลิงเคนได้เคยใช้ ในเวลาพูดเกี่ยวกับรัสเซียเมื่อไปยังเมืองหลวงต่างๆ ของยุโรป จวบจนกระทั่งระยะหลังสุดมานี้ เมื่อในที่สุดเขาก็เริ่มสัมผัสได้ว่าไบเดนตั้งใจที่จะพบปะหารือกับปูตินตั้งแต่เนิ่นๆ และชี้แนะให้ซุลลิแวนจัดการประชุมซัมมิตขึ้นโดยเร็ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/05/24/joint-statement-on-national-security-advisor-jake-sullivans-meeting-with-russian-security-council-secretary-nikolay-patrushev/)

น่าสนใจมากที่ว่า ในวันเดียวกับที่แคมป์เบลล์กำลังพ่นไฟใส่ สี อยู่นั้น แคเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative) คนใหม่ ก็ได้จัด “การหารือเสมือนเพื่อการแนะนำตัว” กับรองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ (Liu He) ของจีน “เพื่อหารือกันถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ด้านการคค้า” ระหว่างสหรัฐฯกับจีน

เอกสารบันทึกการหารือของฝ่ายสหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://ustr.gov/about-us/policy-offices/press-office/press-releases/2021/may/readout-ambassador-tais-virtual-meeting-vice-premier-china-liu-he) ระบุว่า ทั้งสองมี “การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา” โดยที่ ไท่ ได้หารือถึง “หลักการชี้นำต่างๆ” ของ “นโยบายด้านการค้าที่ถือคนงานเป็นศูนย์กลาง” ของคณะบริหารไบเดน และการพิจารณาทบทวนที่เธอกำลังทำอยู่ในเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้าสหรัฐฯ-จีน เอกสารบันทึกการหารือนี้เน้นย้ำว่า ไท่ “รอคอยที่จะมีการหารือกันต่อไปในอนาคต” กับ หลิว

ทางฝ่ายจีนนั้น โกลบอลไทมส์ (Global Times) พูดถึงการหารือกัน “แบบตรงไปตรงมา” ครั้งนี้ โดยแสดงความเห็นว่า (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202105/1224624.shtml) การพูดจาระหว่าง หลิว กับ ไท่ เป็นการ “ส่งสัญญาณทางบวกออกมาว่า ระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกทั้งสอง กำลังเริ่มต้นการติดต่อสื่อสารกันใหม่ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น และข้อพิพาทที่กำลังค้างคาอยู่ในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างหลากหลายกว้างขวาง”

โกลบอลไทมส์บอกว่า การพูดจาคราวนี้ เป็นไปอย่าง “ตรงไปตรงมา, เน้นผลทางปฏิบัติ, และสร้างสรรค์” และย้ำว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน “ที่จะรักษาการติดต่อสื่อสารนี้เอาไว้ต่อไป”

แคมป์เบลล์นั่งอยู่ตำแหน่งอาวุโสในคณะเจ้าหน้าที่ของทำเนียบขาว ทว่าในฉับพลันทันใด นั่นคือเว้นห่างไม่กี่ชั่วโมงกับการที่เขาพูดจาโจมตีเล่นงาน สี นั้นเอง ไท่ ซึ่งตำแหน่งของเธอถือเป็นบุคคลระดับรัฐมนตรีวงในของ ไบเดน ก็เริ่มต้นมีปฏิสัมพันธ์กับผู้รับผิดชอบทางฝ่ายจีน ในสิ่งซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องกลายเป็นแม่แบบสำคัญยิ่งยวดที่สุดชิ้นหนึ่งของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน --และมันยังจะสามารถกลายเป็นนโยบายการต่างประเทศของไบเดนสำหรับชนชั้นกลางอเมริกันจริงๆ ได้ด้วย

“กลุ่มอาการโรครัสเซีย” (Russia syndrome) แบบเดียวกันเลย กำลังปรากฏขึ้นมาตรงนี้เช่นกัน

ในเรื่องปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับวังเครมลิน (หรือกับปักกิ่งก็ตาม) ไม่ได้มีแนวนโยบายที่เกาะเกี่ยวต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียวกันหรอก วลาดิมีร์ วาซิลเยฟ (Vladimir Vasilyev) บัณฑิตอาวุโสแห่งสถาบันเพื่อสหรัฐฯและแคนาดาศึกษา (Institute for US and Canadian Studies) ในสังกัดของบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซีย (Russian Academy of Sciences) ในกรุงมอสโก ได้กล่าวเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ไบเดนเชื่อว่าเขาจะได้ประโยชน์จากการพบปะกับปูติน เนื่องจากเขาจะแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่มีเพียงแค่ทรัมป์เท่านั้น ที่สามารถค้นหาสิ่งที่อาจเป็นพื้นฐานร่วมกันได้ กับพวกผู้นำต่างประเทศที่คอยสร้างความยุ่งยากให้อเมริกา

“แต่ว่า บางที บลิงเคน คงมองการพูดจาที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ด้วยความระแวงสงสัยมากกว่า เวลานี้เดมีความรู้สึกประทับใจขึ้นมาว่าระบบของความสมพันธ์รัสเซีย-สหรัฐฯ กำลังถูกกำกับดูแลกันในวอชิงตันโดย “ระดับหัวๆ” หลายๆ ราย นี่อาจส่งผลก่อกวนการพูดจาหารือ หรือการหารืออาจยุติลงโดยปราศจากผลลัพธ์ใดๆ ก็ได้”

โรส กอตเทโมลเลอร์ (Rose Gottemoeller) อดีตนักการทูตอเมริกันที่เป็นนักจับตามองรัสเซียผู้มากประสบการณ์ (ผู้ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นรองเลขาธิการขององค์การนาโต้ และปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายการควบคุมอาวุธและความมั่นคงระหว่างประเทศมาแล้ว) ให้เห็นความคิดความอ่านอันแจ่มใส เมื่อเธอคาดการณ์ว่า การประชุมซัมมิตที่เจนีวา มีศักยภาพที่อาจเปิดทางให้ผู้นำทั้งสองสถาปนาความสัมพันธ์เพื่อการทำงานร่วมกันขึ้นมา และวางงานพื้นฐานสำหรับความร่วมมือสหรัฐฯ-รัสเซียในอนาคต

“ฉันมองการประชุมซัมมิตครั้งนี้ว่ามีความคล้ายคลึงกับการพบปะหนแรกของ เรแกน กับ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ในเจนีวาเมื่อปี 1985 ครั้งที่ถูกเรียกกันว่า “ซัมมิตข้างเตาผิง” บุรุษทั้งสองคนนั้นสนทนากันอย่างตรงไปตรงมาและด้วยความลำบากยากยิ่ง ทว่าในเวลาเดียวกันนั้น พวกเขาก็ได้สถาปนาความสัมพันธ์แบบทำงานร่วมกันขึ้นมา ซึ่งเป็นการถางทางให้แก่ความก้าวหน้าในเวลาต่อๆ มา” กอตเทโมลเลอร์ กล่าว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/world/1294889)

ซูซาน ซอนทัก (Susan Sontag) (นักเขียน, นักสร้างหนัง, นักปรัชญา, ครู, และนักเคลื่อนไหวการเมืองชาวอเมริกัน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Susan_Sontag -ผู้แปล) ครั้งหนึ่งเคยพูดว่า “ไม่มีใครหรอกที่สามารถคิดและตีใครอีกคนหนึ่งได้ในเวลาเดียวกัน” นี่ดูจะเป็นสถานการณ์อันยากลำบากสำหรับพวกเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารไบเดน ในการดำเนินการกับรัสเซียและจีน ในหมู่ชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯนั้น มีพวกหวาดระแวงรัสเซีย และพวกหวาดระแวงจีนอยู่เต็มไปหมด ขณะที่วาระของตัวไบเดนเองน่าจะเป็นการทำให้ความสัมพันธ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเหล่านี้อยู่ในภาวะเสถียรและอยู่ในภาวะที่สามารถคาดทำนายได้

ไบเดนได้กำหนดกรอบเอาไว้ว่า วิสัยทัศน์ด้านนโยบายการต่างประเทศของเขาจะต้องเอาเรื่องผลที่มีต่อภายในประเทศมาเป็นตัวขับดัน และโยงใยไปถึงชนชั้นกลางผู้ใช้แรงงานชาวอเมริกัน ซึ่งก็คือ มีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดการสร้างงาน, ส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ, ปรับปรุงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้ทันสมัย, และรับประกันให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมอเมริกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งซึ่งสามารถเข้าใจได้อย่างเหมาะเหม็ง เกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับจีนในประเด็นปัญหาต่างๆ ทางการค้า ในจังหวะเวลาที่เกษตรกรชาวอเมริกันเพิ่งสูญเสียกว่าตลาดในจีนไปกว่าครึ่งหนึ่ง (ในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ -ผู้แปล) โดยนั่นเป็นตลาดมหึมาที่ครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่าสูงถึง 24,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

การยกเลิกอัตราภาษีศุลกากรที่จัดเก็บจากกันและกัน จะเป็นประเด็นปัญหาประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาเจรจากันในการหารือทางการค้าในเวลาต่อไประหว่างจีนกับสหรัฐฯ และทั้งสองประเทศน่าที่จะบรรลุฉันทามติกัน ได้อย่างน้อยที่สุดก็ในเรื่องการทยอยยกเลิกภาษีอากรลงไปเรื่อยๆ สามารถที่จะกล่าวได้ว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับจีนเป็นเรื่องที่สหรัฐฯไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ในอีกด้านหนึ่ง ในปีหลังๆ มานี้ ฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครๆ ของสหรัฐฯ กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำลงไปโดยภาพรวม และการที่สหรัฐฯออกแรงบีบคั้นกดดันและแสดงความปรปักษ์ต่อจีนและรัสเซีย ก็รังแต่จะเร่งให้ประเทศทั้งสองเหล่านี้ยืนสู้ร่วมกันเท่านั้น

ไม่ว่าจีนหรือรัสเซียต่างไม่เห็นว่า สหรัฐฯมีคุณสมบัติที่จะสามารถพูดจากับพวกเขาจากจุดยืนแห่งความแข็งแกร่งได้เลย หยาง พูดเรื่องนี้เอาไว้กับ บลิงเคน ที่อะแลสกาเมื่อเดือนมีนาคม และโฆษกวังเครมลิน ดมิตริ เปสคอฟ (Dmitry Peskov) ก็ส่งเสียงก้องสะท้อนเรื่องนี้ในทันทีทันใด โดยกล่าวว่า รัสเซียจะไม่ยอมปล่อยให้สหรัฐฯพูดจากับตน “จากฐานะของการใช้อำนาจบังคับ”

จริงๆ แล้ว ปูตินอาจจะไปเยือนจีนภายหลังเข้าประชุมซัมมิตกับไบเดนแล้ว วาระครบรอบ 20 ปีของการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพจีน-รัสเซียปี 2001 ในวันที่ 16 กรกฎาคม และวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกอ้างอิงเอาไว้ในสื่อมวลชนจีนว่าเป็น “วาระแห่งมิตรภาพไมตรีจิต”

แคมป์เบลล์นั้นมองไม่เห็นหรอกว่า ความสัมพันธ์สามเหลี่ยมสหรัฐฯ-รัสเซีย-จีน ไม่สามารถทำงานตามแนวทางที่ เฮนรี คิสซิงเจอร์ เขียนเอาไว้ได้อีกต่อไปแล้ว การที่ความแข็งแกร่งและอิทธิพลตลอดทั่วโลกของวอชิงตันได้เสื่อมถอยลงไป ทำให้เกิดความจำเป็นขึ้นมาว่า ในภูมิภาคต่างๆ อย่างเช่น ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียตะวันตก, และเอเชีย-แปซิฟิก ปักกิ่งกับมอสโกจะต้องพิจารณากันให้มากขึ้นถึงวิธีการในการกำหนดจัดวางระเบียบใหม่ของภูมิภาคเหล่านี้ขึ้นมา

สำหรับคณะบริหารไบเดนแล้ว กำลังเกิดความจำเป็นที่ต้องมีการสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับรัสเซียและจีน เพื่อที่ว่าการเข้าแทนที่ “ระบบปกครองโลกที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ” (Pax Americana) ซึ่งไร้สมรรถภาพและโบราณพ้นสมัยเสียแล้ว จะสามารถเดินหน้าไปได้โดยปราศจากแรงเสียดทาน –ไม่ว่าจะมาจากสถานการณ์ล้อมรอบเกาหลีเหนือและอิหร่าน, การสู้รบขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์, หรือสงครามในอัฟกานิสถานและซีเรีย

ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น