xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘โจ ไบเดน’ เยือนยุโรปครั้งแรกในฐานะ ปธน.สหรัฐฯ กล่อม G7-นาโตรวมพลังต้านอิทธิพล ‘จีน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้นำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ออกแถลงการณ์ร่วมภายหลังการประชุมซัมมิตที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ระบุ “จีน” กำลังกลายเป็น “ความท้าทายอย่างเป็นระบบ” ต่อโลก ขณะที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ซึ่งจัดประชุมที่สหราชอาณาจักรก่อนหน้านั้นก็ได้วิจารณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน รวมถึงพาดพิงประเด็นฮ่องกงและไต้หวัน จนทำให้ปักกิ่งต้องออกมาแถลงโต้อย่างดุเดือด ทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากการมาของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ที่ตั้งเป้าดึงพันธมิตรยุโรปให้ผนึกกำลังต่อต้านอิทธิพลของจีน

ไบเดน ซึ่งออกเดินสายพบปะผู้นำต่างชาติเป็นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือน ม.ค. เรียกร้องให้ผู้นำนาโตลุกขึ้นต่อต้านลัทธิเผด็จการอำนาจนิยม (authoritarianism) และการสยายอิทธิพลทางทหารของจีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเบนเป้าหมายหลักของกลุ่มพันธมิตรซึ่งเดิมทีก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องยุโรปจากภัยคุกคามของสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น

“ความทะเยอทะยานและพฤติกรรมก้าวร้าวของจีนกำลังเป็นความท้าทายอย่างเป็นระบบต่อกฎระเบียบสากล รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของนาโต” แถลงการณ์ร่วมนาโต ระบุ

ไบเดน ย้ำต่อชาติพันธมิตรยุโรปว่า สนธิสัญญานาโตถือเป็น “พันธกรณีอันศักดิ์สิทธิ์” ของอเมริกา ซึ่งสะท้อนจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยขู่จะนำสหรัฐฯ ถอนตัว และยังวิจารณ์หลายประเทศในยุโรปว่าใช้จ่ายงบด้านกลาโหมน้อยเกินไป

“ผมต้องการให้ยุโรปทุกประเทศทราบว่า สหรัฐอเมริกาอยู่ที่นี่แล้ว” ไบเดน กล่าว “นาโตมีความสำคัญยิ่งต่อเรา”

ไบเดน ซึ่งมีกำหนดพบปะกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียที่นครเจนีวาในวันพุธ (16) ยังกล่าวด้วยว่า จีนและรัสเซียพยายามทำให้รัฐสมาชิกนาโตแตกคอกัน และแม้ตนจะไม่ได้ต้องการมีเรื่องมีราวกับรัสเซีย แต่นาโตจะไม่นิ่งเฉย หากมอสโกยังดำเนินกิจกรรมที่เป็นภัยคุกคาม

ผู้นำจากกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ซึ่งได้แก่ แคนาดา, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, อิตาลี, ฝรั่งเศส, เยอรมนี พร้อมด้วยประธานคณะมนตรียุโรป และประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันที่อ่าวคาร์บิสในมณฑลคอร์นวอลล์ของอังกฤษ ก่อนเริ่มต้นการประชุมซัมมิตหนแรกในรอบเกือบ 2 ปี เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ผู้นำยุโรปบางประเทศยังคงแสดงท่าทีอย่างระมัดระวัง และเตือนนาโตว่าไม่ควรละความสนใจจากศัตรูหมายเลขหนึ่งอย่าง “รัสเซีย” โดยนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีซึ่งเข้าร่วมการประชุมซัมมิตนาโตเป็นครั้งสุดท้ายก่อนอำลาตำแหน่งผู้นำเมืองเบียร์ในเดือน ก.ย. กล่าวชื่นชมการมาของ ไบเดน ว่าถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ แต่ก็ย้ำว่านาโตไม่สามารถมองข้ามจีนไปได้ และจำเป็นที่จะต้องแสวงหาความสมดุลในการทำงานร่วมกับจีน

“หากเรามองถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ และภัยคุกคามแบบไฮบริด และเมื่อพิจารณาถึงความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซียแล้ว คุณจะพบว่าคุณไม่สามารถละเลยจีนได้” แมร์เคิล ให้สัมภาษณ์ “แต่เราก็ไม่ควรให้เครดิตพวกเขาเกินไป และจะต้องหาจุดที่สมดุล”

ด้านประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เอ่ยในทำนองเดียวกันกับผู้นำเยอรมนีว่า นาโตไม่ควรตื่นตระหนกเกินไปจนถึงขั้นทำลายความสัมพันธ์กับจีน เนื่องจากนาโตเป็นองค์กรทางการทหาร ขณะที่ความสัมพันธ์กับจีนไม่ใช่ประเด็นทางการทหาร และย้ำว่าจุดสนใจของนาโตก็คือกิจการในภูมิภาคแอตแลนติกเหนือเป็นหลัก

ในช่วงปีที่ผ่านมา ความตึงเครียดทางการทหารระหว่างจีนกับมหาอำนาจคู่แข่งปะทุหนักขึ้นจากประเด็นขัดแย้งต่างๆ เช่น พรมแดนแถบหิมาลัย ไต้หวัน และทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกัน งบประมาณกลาโหมของจีนก็สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และเมื่อเดือน มี.ค. กระทรวงการคลังจีนยังประกาศเพิ่มงบส่วนนี้อีก 6.8% ในปีงบประมาณปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นมูลค่ารวมก็ยังไม่ถึง 1 ใน 3 ของงบกลาโหมของสหรัฐฯ อยู่ดี

เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ชี้ว่าการที่จีนเริ่มสยายอิทธิพลทางทหารมายังทะเลบอลติกรวมถึงทวีปแอฟริกา ถือเป็นสัญญาณเตือนให้นาโตต้องเตรียมพร้อมรับมือ

“จีนกำลังเข้าใกล้เรามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านไซเบอร์สเปซ แอฟริกา และยังเข้ามาลงทุนอย่างมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวดของเรา” เขากล่าว โดยหมายถึงท่าเรือและเครือข่ายโทรคมนาคมต่างๆ ของยุโรป

สโตลเตนเบิร์ก ระบุด้วยว่า ผู้นำรัฐสมาชิกรับปากที่จะเพิ่มวงเงินสนับสนุนงบประมาณส่วนกลางของนาโต

คณะทำงานจีนประจำสหภาพยุโรป (China's mission to the European Union) ได้มีถ้อยแถลงตอบนาโตอย่างดุเดือด โดยเรียกร้องให้นาโตมองการพัฒนาของจีนด้วยเหตุด้วยผล หยุดพูดเลยเถิดเกี่ยวกับทฤษฎีภัยคุกคามจีนต่างๆ นานา และเลิกเอาผลประโยชน์และสิทธิทางกฎหมายอันชอบธรรมของจีนไปเป็นข้ออ้างแบ่งขั้วทางการเมือง หรือสร้างสถานการณ์ให้เกิดการเผชิญหน้ากันขึ้น

คณะทำงานจีนประจำสหภาพยุโรปยังวิจารณ์แถลงการณ์นาโตว่าจงใจ “ให้ร้าย” การพัฒนาในเชิงสันติของจีน บิดเบือนสถานการณ์โลก และบ่งบอกถึง “แนวคิดแบบสงครามเย็น”

“เราจะไม่เป็นความท้าทายอย่างเป็นระบบต่อใครทั้งสิ้น แต่ถ้าใครต้องการจะเป็นความท้าทายอย่างเป็นระบบต่อเรา เราก็จะไม่นิ่งเฉยแน่”

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เปิดการแถลงข่าว หลังเสร็จสิ้นการประชุมซัมมิตนาโตที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.
แถลงการณ์ร่วมของนาโตมีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ได้ออกคำแถลงวิจารณ์ประเด็นต่างๆ ในจีน จนทำให้ปักกิ่งออกมาแถลงโต้ว่า G7 จงใจใส่ร้ายป้ายสีเพื่อทำลายชื่อเสียงของแดนมังกร

ผู้นำกลุ่ม G7 ได้จัดการประชุมซัมมิตที่มณฑลคอร์นวอลล์ ของอังกฤษ ระหว่างวันที่ 11-13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการประชุมสุดยอดร่วมกันครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี โดยทั้ง 7 ชาติได้ให้คำมั่นบริจาควัคซีน 1,000 ล้านโดสแก่ประเทศยากจน ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สิทธิ และการค้า รวมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียยุติการกวาดล้างกลุ่มต่อต้านและสื่อภายในประเทศอย่างเป็นระบบ และนำตัวแฮกเกอร์ที่โจมตีด้วยซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ในประเทศต่างๆ มาลงโทษ

ขณะเดียวกัน แถลงการณ์ร่วมของ G7 ยังพาดพิงไปถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในซินเจียง เรียกร้องให้จีนรักษาสัญญาที่ว่าจะให้อำนาจปกครองตนเองขั้นสูงแก่ฮ่องกง รวมถึงย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพบริเวณช่องแคบไต้หวัน ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับจีนทั้งสิ้น

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ระบุว่า คำแถลงร่วมของ G7 ถือเป็นก้าวสำคัญ และผู้นำทุกประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะ “เผชิญหน้าและแข่งขัน” กับจีนในประเด็นต่างๆ ที่ท้าทาย ตั้งแต่การปกป้องระบอบประชาธิปไตย เรื่อยไปจนถึงการแข่งขันทางเทคโนโลยี

ด้านสถานทูตจีนประจำกรุงลอนดอนได้ออกมาแสดงความ “ไม่พอใจอย่างยิ่ง” ต่อคำแถลงร่วมของ G7 และคัดค้านการนำเสนอข้อมูลที่ “บิดเบือนข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับซินเจียง ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง “ความมีเจตนาร้ายของบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา”

สถานทูตจีนย้ำว่า เวลานี้โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น ทุกประเทศจึงควรร่วมแรงร่วมใจกัน ไม่ใช่ปล่อยให้มหาอำนาจบางประเทศออกมาสร้างความขัดแย้ง โดยจีนนั้นแม้จะเป็นประเทศที่ “รักสันติ” และส่งเสริมความร่วมมือ แต่ก็มี “ขีดจำกัด” ของตัวเอง

“กิจการภายในของจีนจะต้องไม่ถูกใครแทรกแซง ชื่อเสียงของจีนไม่อาจถูกทำลาย และผลประโยชน์ของจีนจะถูกละเมิดมิได้” สถานทูตจีนประจำอังกฤษ ระบุ “เราจะยืนหยัดปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของเรา รวมถึงตอบโต้ความอยุติธรรมและการล่วงละเมิดที่กระทำต่อจีน”

G7 ประกาศจะตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อแข่งขันกับแผนการริเริ่มเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน และเรียกร้องให้มีการสืบสวนอย่างละเอียดเพื่อระบุที่มาของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งประเด็นนี้ทางสถานทูตจีนก็ออกมาโต้ว่า “ไม่ควรเอาเรื่องการเมืองมาเจือปน” และเวลานี้คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และจีนก็อยู่ระหว่างทำการศึกษาวิจัยอย่างอิสระ โดยเป็นไปตามขั้นตอนของ WHO อยู่แล้ว

“นักการเมืองในสหรัฐฯ และบางประเทศกำลังมองข้ามข้อเท็จจริงและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยออกมาตั้งคำถามหรือปฏิเสธข้อสรุปของคณะผู้เชี่ยวชาญ ทั้งยังกล่าวหาจีนอย่างไร้เหตุผลด้วย” สถานทูตจีนระบุ

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อุบัติขึ้นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นของจีนเมื่อช่วงปลายปี 2019 ขณะที่ WHO ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติไปตรวจสอบหาที่มาในเดือน ม.ค.ปีนี้ ทว่า ความล่าช้าในการเผยแพร่รายงานที่ลากยาวไปถึงเดือน มี.ค. แถมยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ทำให้การตรวจสอบดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าปราศจากความโปร่งใส

สถานทูตจีนประจำกรุงลอนดอนยังเรียกร้องให้ G7 แสดงบทบาทในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ แทนที่จะยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าและความตึงเครียด

“เราขอให้สหรัฐฯ และสมาชิก G7 ทุกประเทศเคารพข้อเท็จจริง เข้าใจสถานการณ์ หยุดให้ร้ายป้ายสีจีน หยุดแทรกแซงกิจการภายในของจีน และหยุดทำลายผลประโยชน์ของชาติจีน”

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างการเยือนยุโรปของ ไบเดน คราวนี้ก็คือการที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงแก้ไขมหากาพย์ความขัดแย้ง 17 ปี กรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้การอุดหนุนอย่างผิดกฎหมายแก่ “โบอิ้ง” และ “แอร์บัส” สองผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลก นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของ ไบเดน ที่จะลดความบาดหมางกับยุโรป เพื่อดึงให้เข้าร่วมยุทธการต่อต้านจีน

ภายใต้ข้อตกลงนี้ สหรัฐฯ และอียูเห็นพ้องให้ยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของแต่ละฝ่ายเป็นระยะเวลา 5 ปี และทั้ง 2 ฝ่ายจะให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยและการพัฒนาผ่านกระบวนการที่เปิดกว้างและโปร่งใส รวมถึงงดเว้นมาตรการอุดหนุนต่อบริษัทผู้ผลิตในประเทศของตัวเองที่จะส่งผลร้ายต่ออีกฝ่าย เช่น การยกเว้นภาษีชั่วคราว (tax break) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรับปากจะร่วมกันรับมือแนวปฏิบัติเชิงกลยุทธ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตลาด (non-marketing practice) ที่กระทำโดยประเทศอื่น โดยเฉพาะจีนซึ่งกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานพลเรือนของตนเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น