โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย หาทางสยบความตึงเครียดในความสัมพันธ์ที่มึนตึงระหว่าง 2 ฝ่าย ณ การประชุมซัมมิตหนแรกของพวกเขาในเจนีวา เมื่อวันพุธ (16 มิ.ย.) ด้วยผู้นำอเมริกาบอกกับผู้นำเครมลินว่า เขาไม่ต้องการเห็นสงครามเย็นครั้งใหม่
ทั้งสองผู้นำแสดงท่าทีในทางบวกอย่างระมัดระวังหลังการพูดคุยที่ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ในนั้น 2 ชั่วโมง เป็นการหารือกันในคณะเล็กๆ มีเพียงรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 ชาติเข้าร่วมด้วย
“การพูดคุยเป็นไปอย่างสร้างสรรค์อย่างยิ่ง” ปูติน บอกกับพวกผู้สื่อข่าว พร้อมระบุว่า พวกเขาเห็นพ้องที่จะส่งเอกอัครราชทูตของแต่ละประเทศกลับเข้าประจำการ ในสัญญาณของการเยียวยาซ่อมแซมทางการทูต ขณะที่ ไบเดน เรียกการหารือครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้น ณ วิลลาหรูแห่งหนึ่งริมทะเลสาบเจนีวา ว่าเป็นไปด้วยดี
นอกจากนี้ ปูติน ยังเชื่อว่าสหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นที่จะหาทางออกสำหรับความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสอง
ขณะเดียวกัน ปูติน ยังเปิดเผยด้วยว่า รัสเซียและสหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงในการจัดการเจรจาเพื่อจำกัดการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งจะมีการหารือกันเกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์
ด้านผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า เขาและปูตินหาทางทำงานร่วมกันในพื้นที่ต่างๆ ที่สองชาติมหาอำนาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน ในนั้นรวมถึงอาร์กติก อิหร่าน และซีเรีย
ไบเดน กล่าวระหวางแถลงข่าวว่า 2 ชาติมหาอำนาจทางนิวเคลียร์โลกต้องแบ่งปันความรับผิดชอบบนเวทีโลก อย่างไรก็ตามผู้นำสหรัฐฯ เน้นย้ำคำเตือนเครมลินต่อเหตุโจมตีทางไซเบอร์ใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของสหรัฐฯ
วอชิงตันเคยกล่าวหามอสโก ให้ที่หลบซ่อนแก่แก๊งมัลแวร์เรียกค่าไถ่ทางไซเบอร์ และยังดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์โซลาร์วินด์ (SolarWinds) เล่นงานองค์กรและบริษัทต่างๆหลายพันแห่งของสหรัฐฯ นอกจากนี้แล้วหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ยังอ้างด้วยว่าหน่วยงานต่างๆ ของรัสเซียใช้กลอุบายสกปรกในความพยายามก่อความปั่นป่วนแก่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา 2 ครั้งหลังสุด
ไบเดน บ่งชี้ว่า มีโอกาสน้อยที่โลกจะเห็นสงครามเย็นแห่งศตวรรษที่ 20 “ผมคิดว่าสิ่งสุดท้ายที่เขาต้องการในตอนนี้คือสงครามเย็น” ไบเดนอ้างถึงศึกที่วอชิงตันและมอสโกเคยใช้เวลาหลายทศวรรษในเหตุเผชิญหน้าทางนิวเคลียร์ ก่อนท้ายที่สุดสหภาพโซเวียตจะล่มสลาย
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างมอสโกและวอชิงตันพังครืนลงนับตั้งแต่ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม โดยหลังจากนั้น ไบเดน เรียก ปูติน ว่า “ฆาตกร” และในเดือนมีนาคม รัสเซีย ใช้มาตรการที่ไม่พบเห็นบ่อยครั้ง เรียกตัว อนาโตลี อันโตนอฟ กลับประเทศ กระตุ้นให้สหรัฐฯ เรียกเอกอัครราชทูตจอห์น ซัลลิแวน กลับวอชิงตันเช่นกัน
แม้ทั้งสองฝ่ายส่งสัญญาณในแง่บวกอย่างระมัดระวัง แต่ร่องรอยแห่งความแตกแยกร้าวลึกยังคงฝังแน่นอยู่และสังเกตเห็นได้ในที่ประชุมซัมมิตระหว่างทั้ง 2 คน
การประชุมเริ่มต้นด้วยดี โดยสองผู้นำจับมือกันต่อหน้ากล้อง แต่ต่อมา ปูติน แพร่ถ้อยแถลงปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของเขาและข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการให้แหล่งกบดานแก่เหล่าอาชญากรทางไซเบอร์ พร้อมอ้างว่า “การโจมตีทางไซเบอร์ต่างๆ นานาบนโลกใบนี้ ดำเนินโดยสหรัฐฯ มากที่สุด”
ปูติน ยังหาทางหันเหเสียงวิพาษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของเขาต่อฝ่ายต่อต้าน หลังมีฝ่ายต่อต้านทางการเมืองคนดังหลายคนถูกสังหารในรัสเซียระหว่างการปกครองของเขา และสื่อมวลชนแทบจะปิดปากเงียบในเรื่องดังกล่าว โดยบอกว่าสหรัฐฯ คือตัวปัญหาใหญ่ที่สุด ส่วนไบเดน เรียกคำโต้แย้งของปูติน ว่า “น่าหัวเราะ”
(ที่มา : เอเอฟพี)