เอพี – ไบเดน-ปูตินเตรียมเปิดฉากหารือครั้งแรกในวันพุธ (16 มิ.ย.) ในการประชุมสุดยอดที่หลายฝ่ายตั้งตารอ และถือเป็นช่วงเวลาทางการทูตที่มีเดิมพันสูงอย่างยิ่งในขณะที่ทั้งคู่เห็นตรงกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตกต่ำสุดขีด และทีมงานทั้งสองฝ่ายต่างไม่คาดหวังว่า จะมีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมจากการประชุมมากนัก
สองผู้นำชาติมหาอำนาจโลกปะทะคารมกันมาตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของอเมริกา ได้ตำหนิ วลาดิมีร์ ปูติน ประมุขเครมลิน เรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ต่อผลประโยชน์ของอเมริกาจากฝีมือเหล่าแฮกเกอร์ที่กบดานในรัสเซีย การเพิกเฉยต่อกระบวนการประชาธิปไตยด้วยการคุมขังผู้นำฝ่ายค้านคนดัง และการแทรกแซงเลือกตั้งสหรัฐฯ
ด้านปูตินใช้วิธีวิจารณ์กลับ เช่น อ้างเหตุการณ์ม็อบบุกสภากลางวอชิงตันเมื่อวันที่ 6 มกราคมเพื่อตอบโต้ว่า อเมริกาไม่ควรเจ้ากี้เจ้าการสั่งสอนประเทศอื่นเรื่องบรรทัดฐานประชาธิปไตย แถมยืนกรานว่า มอสโกไม่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงการเลือกตั้งหรือการโจมตีทางไซเบอร์ตามที่ถูกกล่าวหา
อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่จะได้พบกันครั้งแรกในฐานะผู้นำประเทศ ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยคาดว่า จะมีการหารือนาน 4-5 ชั่วโมง แม้ทั้งสองฝ่ายต่างไม่คาดหวังว่า จะมีผลลัพธ์เป็นชิ้นเป็นอันมากนักก็ตาม
ไบเดนกล่าวว่า หากอเมริกาและรัสเซียสามารถค้นหาความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้จะถือเป็นความคืบหน้าอย่างมาก ทั้งสองประเทศควรตัดสินใจว่าจะร่วมมือกันได้หรือไม่ในส่วนที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันและผลประโยชน์ของโลก ส่วนประเด็นที่เห็นต่างก็ควรพูดกันให้ชัดเจนว่าขีดจำกัดอยู่ตรงไหน
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของปูติน ให้สัมภาษณ์เอพีเมื่อวันพุธว่า ไม่คาดหวังว่าการหารือจะมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำคัญเนื่องจากสถานการณ์สองประเทศขณะนี้ซับซ้อนอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การที่ทั้งคู่ตกลงพบกันและพูดคุยอย่างเปิดกว้างเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จแล้ว
ขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวเองหวังว่า จะสามารถตกลงกับรัสเซียได้ในประเด็นเล็กๆ น้อยๆ บางอย่าง เช่น การส่งทูตกลับไปประจำในประเทศของกันและกันภายหลังการประชุมนี้ และการหาจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธ
ทีมงานของไบเดนยังเตรียมหยิบยกประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ขึ้นหารือ เช่นเดียวกับกรณีที่มอสโกคุมขังอเล็กซี นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้าน แม้ฝ่ายรัสเซียยืนกรานว่า เป็นกิจการภายในซึ่งปูตินไม่ต้องการหารือกับไบเดนก็ตาม
ทั้งนี้ ไบเดนเป็นฝ่ายเสนอไอเดียเรื่องการนัดพบกันเมื่อเดือนเมษายนระหว่างที่โทรไปแจ้งปูตินว่า จะขับนักการทูตรัสเซียหลายคนและออกมาตรการแซงก์ชันคนและบริษัทรัสเซียนับสิบ เพื่อตอบโต้ที่เครมลินแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งแฮกระบบข้อมูลหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่ง
สำหรับรายละเอียดการประชุม จะเริ่มด้วยการหารือระหว่างสองผู้นำโดยมีแอนโทนี บลิงเคน และเซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกาและรัสเซียตามลำดับ ร่วมวงด้วยในตอนแรก ก่อนเพิ่มผู้ช่วยอาวุโสฝ่ายละ 5 คนร่วมหารือด้วย ภายหลังการประชุม ปูตินจะแถลงข่าวก่อน จากนั้นจึงถึงคิวไบเดน
ทำเนียบขาวเลือกที่จะไม่จัดแถลงข่าวร่วม เนื่องจากไม่อยากให้ดูเหมือนว่า อเมริกาสนับสนุนปูติน ขณะที่ไบเดนกำลังเร่งเร้าให้พันธมิตรยุโรปกดดันผู้นำรัสเซียให้ลดพฤติกรรมยั่วยุ
แน่นอนว่า การพบกันครั้งนี้จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พบกับปูตินที่เฮลซิงกิปี 2018 ซึ่งจบลงด้วยการแถลงข่าวร่วมที่ทรัมป์เพิกเฉยต่อผลการสอบสวนของหน่วยข่าวกรองอเมริกา และเข้าข้างผู้นำรัสเซียที่ปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016
ไบเดนนั้นเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดีในการพบกับปูตินที่ก่อนหน้านี้เขาระบุว่า ฉลาด แข็งแกร่ง และเป็นศัตรูที่คู่ควร อีกทั้งยังเป็นบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดในการเมืองรัสเซียและครองอำนาจยาวนานครอบคลุมระยะเวลาการบริหารประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึง 5 คน โดยไบเดนทั้งอ่านเอกสารและหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ของรัฐบาลและที่ปรึกษาภายนอก และระหว่างให้สัมภาษณ์หลังเดินทางถึงเจนีวาเมื่อคืนวันอังคาร (15 มิ.ย.) เขายังย้ำว่า ไม่กังวลอะไรเพราะ “เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา”