xs
xsm
sm
md
lg

หรือแค่ : ดีแต่พูด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร



เพื่อให้ทันส่งต้นฉบับ จึงเป็นการวิเคราะห์เพียงไม่กี่ชั่วโมง ก่อนการพบกันสองต่อสองครั้งแรกระหว่างไบเดน และปูติน

จัดเป็นการเดินทางนอกประเทศครั้งแรกของไบเดน ที่เขาเลือกกลับไปสู่การสร้างแนวร่วมพันธมิตรยุโรป (ต่างกับทรัมป์ที่เลือกไปเยือนซาอุฯ และตะวันออกกลางก่อน) ซึ่งการนัดพบปูตินจะเป็นจุดสุดท้ายในการเดินทางครั้งนี้ อันจะเป็นการนัดพบคู่ปรปักษ์ทางอุดมการณ์ จากสถานะอันแข็งแกร่งของไบเดน หลังการประชุมสุดยอด G7, นาโต้ และอียู

เหล่าผู้นำของ G7, นาโต้ และอียู ต่างให้การสนับสนุนแนวคิดนโยบายของไบเดน ที่มองว่า ขณะนี้โลกเสรีประชาธิปไตยกำลังถูกท้าทายมากขึ้นทุกที จากการขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งมีพันธมิตรแน่นแฟ้นกับรัสเซีย

เห็นได้จากแถลงการณ์ร่วมจาก G7, นาโต้ และอียู ที่เป็นครั้งแรกที่ได้บ่งชัดของเหล่าประเทศมั่งคั่งเหล่านี้ ที่ได้ชี้นิ้วไปยังจีนในพฤติกรรมที่รุกคืบคุกคามต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างสุขสงบ ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างราบรื่น

จีนโดนเป็นจำเลยหนักมาก ไม่ว่าจะเป็นการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ในการบีบบังคับให้บริษัทคู่ค้าต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรต่างๆ ตลอดจนการบังคับใช้แรงงานทาสที่ซินเจียง (รวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนระดับทำลายล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวมุสลิมที่นั่นทีเดียว)...และการที่จีนจำกัดสิทธิในการปกครองตนเองที่ฮ่องกง ตลอดจนการคุกคามไต้หวัน

ยังมีเรื่องความไม่โปร่งใสของจีนต่อการสอบสวนต้นตอของโรคโควิดที่อู่ฮั่นว่า เชื้อโรคหลุดมาจากห้องแล็บหรือมาจากตลาดสด

และที่สำคัญคือ กลุ่ม G7 ประกาศลงขันจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกหลังโควิดคือ Build Back Better World (หรือ B3W) แข่งกับ BRI ของจีน ที่ตะวันตกกล่าวหาว่าสร้างกับดักหนี้ และอนุมัติโครงการแบบไม่โปร่งใส เกิดการคอร์รัปชัน และถึงขนาดทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย ต่างกับ B3W ที่จะตรงข้ามกับ BRI ทุกอย่าง ทั้งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานแรงงานด้วย

แล้วยังมีการลงขันแข่งกับจีน (และรัสเซีย) ในการบริจาควัคซีนถึง 1,000 ล้านโดส ผ่านทางโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก เพื่อช่วยประเทศยากจน

แทบจะทุกประเทศในยุโรปต่างก็เอออวยไปกับไบเดน ที่พยายามสกัดคัดคานการแผ่อิทธิพลของจีน (และรัสเซียที่เป็นพันธมิตรจีน)

แต่ก็มีการแถลงเดี่ยวๆ ของหลายประเทศในยุโรป ที่พยายามส่งสัญญาณว่า จีน (และรัสเซีย) ไม่ใช่ศัตรูคู่อาฆาตที่จะต้องฟาดฟันให้สิ้นซาก; ตรงข้าม แม้นโยบายอาจแตกต่างกัน แต่ก็สามารถค้าขายพูดจาหาทางออกด้วยกันได้ และจะต้องอยู่ร่วมกันได้

นายกฯ แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ซึ่งเป็น (เศรษฐกิจใหญ่สุดของอียู) ถึงกับพูดแถลงว่า แม้แนวทางต่างกับจีน แต่ก็สามารถพูดจาหาทางออกในกรณีที่เห็นไม่ตรงกัน...รวมทั้ง ปธน.มาครงแห่งฝรั่งเศส ที่บอกตรงๆ เลยว่า จีนไม่ใช่คู่แข่ง (Rival) แต่เป็นพันธมิตร (Partner) มากกว่า...และนายกฯ ดรากี แห่งอิตาลี ที่แถลงกับนักข่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับไบเดนที่ว่า การนิ่งเงียบเฉยต่อพฤติกรรมที่ก้าวร้าวไม่เป็นธรรม (ของจีน) นั่นคือ การสมคบให้ผู้ก้าวร้าวแผ่อิทธิพลด้วยพฤติกรรมไม่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เขาบอกว่า ถ้าคบหาค้าขายกับคนที่อาจไม่เหมือนกับเรา และเราไม่ชอบใจ...ก็ต้องหาทางบอกด้วยการเจรจากันเท่านั้น

ที่ยุโรปดูจะระมัดระวังการใช้วาจา และการกระทำที่โจมตีจีน (และรัสเซีย) อย่างรุนแรงนั้น ก็เพราะตระหนักดีถึงความแข็งแกร่ง (ในแทบทุกด้าน) และความมั่งคั่งของจีน โดยเฉพาะตลาดยักษ์ของจีน และการลงทุนมหาศาลจากจีน

สำหรับรัสเซียก็เป็นตลาดใหญ่ของสินค้าอุตสาหกรรม (รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) และสินค้าเกษตรของประเทศต่างๆ ในอียูด้วย...และยังเป็นแหล่งพลังงาน (แก๊สธรรมชาติ) หลักที่ต่อท่อผ่าน Nord Stream ll มาให้ทั้งความอบอุ่น และใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนการคมนาคมขนส่งของสหภาพยุโรปด้วย

และยังมีหลายประเทศในยุโรปที่มองว่า ไบเดนอาจอยู่ได้สมัยเดียว (และคะแนนในวุฒิสภาขณะนี้ก็ปริ่มน้ำเต็มที) ซึ่งอีก 3 ปีข้างหน้า นายทรัมป์อาจกลับมาเป็น ปธน.และจะใช้นโยบายหันหลังให้ยุโรปอีกก็เป็นไปได้ (เพราะคะแนนนิยมนายทรัมป์ยังสูงมาก จนครอบพรรครีพับลิกันกลายเป็นพรรคของทรัมป์ไปเสียแล้ว!)

ดังนั้น กลุ่มบุคคลสำคัญระดับอดีตผู้นำโลกเช่น อดีตนายกฯ โทนี แบลร์, กอร์ดอน บราวน์, เฮเลน คลาร์ก (อดีตนายกฯ นิวซีแลนด์) นายบัน คี มูน จึงมองเห็นแถลงการณ์ร่วมของ G7 ว่า-การลงขันตั้งใจสู้กับสงครามโควิด-(ลงเงินและวัคซีน) มีขนาดน้อยไป...ตลอดจนรายละเอียดก็แทบไม่มีเลย ต่อการร่วมกันสู้กับภาวะโลกร้อน...แม้แต่โครงการ B3W ก็แทบไม่มีรายละเอียดว่าใครจะทำอะไรบ้าง เนื่องจากขณะนี้ โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศยากจน และกำลังพัฒนากู้ผ่านธนาคารโลกหรือไอเอ็มเอฟ ด้วยเงื่อนไขก็แทบจะใกล้เคียงกันกับที่ไบเดนได้ตั้งเอาไว้ว่าจะต่างกับการปล่อยกู้ในโครงการ BRI

กลุ่มเหล่าบรรดาเอ็นจีโอที่กดดันให้ประเทศมั่งคั่งในยุโรปและสหรัฐฯ ต้องมีการกระทำที่สร้างความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้นในโลก และไม่เป็นผู้สร้างปัญหาเสียเองต่อชีวิตความเป็นอยู่และความสงบสุขของโลก ต่างตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมสุดยอดในครั้งนี้ ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คล้ายๆ กับในอดีตที่ผ่านมา (ทั้งๆ ที่ครั้งนี้มนุษย์กำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่หลวงด้านโรคระบาดมรณะ และภาวะโลกร้อนรุนแรง) คือ No Action-Talk Only หมายถึงพูดกันฟอร์มใหญ่ๆ ดูท่าทีที่เห็นใจชาวโลก (ผู้ยากจน) แต่ในทางปฏิบัติอาจแค่ดีแต่พูดเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น