xs
xsm
sm
md
lg

หลาย ปท.แชมป์เก่าคุมโควิดกลับสุดอืด แพ้ชาติระบาดหนักเรื่องฉีดวัคซีนป้องกัน ด้านอินเดียยังเจอเสียชีวิตกว่า 4 พัน 2 วันติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้คนเข้าแถวยาวเหยียดเมื่อวันพฤหัสบดี (13 พ.ค.) เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลเบงกอลเหนือ ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองสิลิกูริ รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย
อินเดียรายงานยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดกว่า 4,000 คนเป็นวันที่ 2 ติดกันในวันพฤหัสบดี (13 พ.ค.) และแม้จำนวนผู้ป่วยใหม่ต่ำกว่า 400,000 คนเป็นวันที่ 4 แต่ผู้เชี่ยวชาญไม่มั่นใจว่ายอดผู้ติดเชื้อจะแตะระดับสูงสุดเมื่อใด ขณะเดียวกัน มีเสียงวิจารณ์ว่าหลายประเทศและดินแดนที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงในการรับมือโควิดระลอกแรก ทั้งไต้หวัน เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ วันนี้กลับล้าหลังในโครงการฉีดวัคซีนป้องกัน แถมบางประเทศยังกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่

พรามาร์ มุกเฮอร์จี ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในอเมริกา บอกว่า แบบจำลองส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจุดสูงสุดของการระบาดในอินเดียจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ ทว่า จำนวนเคสใหม่ในแต่ละวันยังเพิ่มขึ้นสูงมากในระดับที่ทำให้โรงพยาบาลรองรับไม่ไหว ดังนั้น ที่ทำได้ขณะนี้คือมองโลกแง่ดีอย่างระมัดระวัง

ทั้งนี้ วันพฤหัสฯ กระทรวงสาธารณสุขอินเดียรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาว่าเพิ่มขึ้น 362,727 คน และมียอดผู้เสียชีวิต 4,120 คน

ยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นรุนแรงในขณะนี้เกิดขึ้นขณะที่โครงการฉีดวัคซีนชะงักงัน แม้นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ประกาศเปิดให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่ทั้งหมดเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าวัคซีนมีไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ถึงแม้แดนภารตะเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก ทว่านับจนถึงวันพฤหัสฯ มีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วจำนวนกว่า 38.2 ล้านคน หรือคิดเป็นแค่ 2.8% ของประชากรทั้งสิ้น 1,350 ล้านคน

ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศและดินแดนร่ำรวยหลายแห่งแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่เคยประสบความสำเร็จสูงสุดในการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อปีที่แล้ว ขณะนี้กลับล้าหลังในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน และบางประเทศโดยเฉพาะในเอเชียกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่

ที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ อัตราส่วนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศยังค้างเติ่งอยู่ที่เลขหลักเดียว ตรงข้ามอย่างชัดเจนกับสหรัฐฯ ที่ประชากรเกือบครึ่งประเทศได้ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส และอัตราการฉีดวัคซีนของอังกฤษกับอิสราเอลซึ่งยิ่งสูงกว่านั้นมาก

ข้อมูลของอาวร์ เวิลด์ อิน ดาตา ระบุว่า โครงการฉีดวัคซีนของสามประเทศในแปซิฟิกเหล่านี้ยังล้าหลังแม้เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างบราซิล และอินเดีย

อีกหลายประเทศและดินแดนที่เคยได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จในการคุมการระบาดครั้งแรกอย่างออสเตรเลีย ไทย เวียดนาม และไต้หวัน ก็ปรากฏว่าโครงการฉีดวัคซีนยังไปไม่ถึงไหน ส่งผลให้ต้องเผชิญความเสี่ยงจากไวรัสโคโรนาต่อไปและต้องชะลอแผนการเปิดประเทศออกไปอีก

ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแค่ 1% ของประชากรทั้งหมด และกำลังเผชิญการระบาดรุนแรงระลอกใหม่ ขณะที่ในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะต้องเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่เลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่ง

สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นประกาศต่อเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งใช้ในหลายจังหวัดสำคัญออกไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ โดยที่เฉพาะวันเสาร์วันเดียว (8) พบเคสใหม่กว่า 7,000 คน ถือเป็นสถิติสูงสุดนับจากเดือนมกราคม

ปัญหาความล่าช้าในโครงการฉีดวัคซีนของชาติและดินแดนเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบราชการ หลายประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในระลอกแรก มักยอมเปลี่ยนกฎเกณฑ์เข้มงวดเดิมๆ และเร่งรัดอนุมัติวัคซีน รวมทั้งชะลอการฉีดวัคซีนเข็มที่สองจากกรอบเวลาที่แนะนำเพื่อให้สามารถฉีดเข็มแรกให้ประชาชนจำนวนมากที่สุด

กรณีอิสราเอลนั้น นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู เจรจาเป็นการส่วนตัวกับอัลเบิร์ต บูร์ลา ซีอีโอไฟเซอร์ เพื่อให้ได้วัคซีนแต่เนิ่นๆ และสั่งการให้กองทัพจัดการฉีดให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว

ทว่า ญี่ปุ่นกลับเลือกใช้กระบวนการอนุมัติวัคซีนแบบเดิมที่ต้องทำการทดสอบทางคลินิกหลายชั้น แม้เป็นวัคซีนที่ผ่านการทดสอบจากประเทศอื่นแล้วและใช้กันอย่างกว้างขวางก็ตาม ซ้ำเมื่อเริ่มฉีด ญี่ปุ่นยังขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากประชาชนวางใจให้หมอและพยาบาลฉีดให้เท่านั้น กระทั่งแม้มีทันตแพทย์จำนวนมากอาสาช่วยเหลือ แต่กลับไม่มีการตอบรับจากรัฐบาล

นิวซีแลนด์ก็ยังคงใช้กระบวนการอนุมัติวัคซีนของตนเองเช่นเดียวกัน แต่สุดท้ายเมื่ออนุมัติวัคซีนไฟเซอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือช้ากว่าอเมริกา 2 เดือน กลับพบปัญหาขาดแคลนวัคซีน

เช่นเดียวกับไต้หวันที่เพิ่งฉีดวัคซีนโดสแรกให้ประชาชนไม่ถึง 1% เนื่องจากได้รับวัคซีนเพียงเศษเสี้ยวของที่สั่งไปหลายล้านโดส ส่วนวัคซีนที่พัฒนาเองต้องรอจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม

สัปดาห์นี้ไต้หวันยกระดับการเตรียมพร้อมฉุกเฉินและจำกัดการรวมกลุ่มทำกิจกรรม หลังพบเคสใหม่ในชุมชนซึ่งยังหาต้นตอที่มาไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เฮเลน เพทูซิส-แฮร์ริส ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนของมหาวิทยาลัยโอกแลนด์ของนิวซีแลนด์ ชี้ว่า การใช้แนวทางที่วัดผลได้มากขึ้นและตื่นตระหนกน้อยลงอาจมีข้อดีอยู่บ้าง เช่น การที่ได้เห็นคนเป็นร้อยล้านฉีดวัคซีนไปแล้ว อาจทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวางใจมากขึ้น

เพทูซิส-แฮร์ริสสำทับว่า นิวซีแลนด์และประเทศร่ำรวยอีกหลายแห่งที่ยังล้าหลังตอนนี้ มีแนวโน้มมีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อโครงการฉีดวัคซีนเดินเครื่องเต็มกำลัง และปีหน้าประเทศเหล่านี้จะกลับมานำหน้าพวกประเทศกำลังพัฒนาอีกครั้ง

(ที่มา : เอพี, รอยเตอร์ส, เอเอฟพี)

อาสาสมัครลำเลียงศพของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มายังเมรุชั่วคราว ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านกิดเดนาฮาลิล นอกเมืองเบงกาลูรู (บังคาลอร์) ประเทศอินเดีย วันพฤหัสบดี (13 พ.ค.)


กำลังโหลดความคิดเห็น