xs
xsm
sm
md
lg

อัปเดต อินโดนีเซียเผยผลศึกษาฉบับเต็มใช้วัคซีนซิโนแวคในโลกจริง ครอบคลุมคนกว่า 1.2 แสน ประสิทธิภาพก็ยังสูงลิ่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของซิโนแวค ไบโอเทค ที่ฉีดให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอินโดนีเซีย ส่งสัญญาณที่สร้างขวัญกำลังใจแก่ประเทศกำลังพัฒนาหลายสิบชาติที่พึ่งพิงวัคซีนซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากของจีนตัวนี้ หลังจากก่อนหน้านี้มันมีผลงานแย่กว่าวัคซีนจากชาติตะวันตกเป็นอย่างยิ่งในการทดลองทางคลินิก

อินโดนีเซียติดตามอาการเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 128,290 คนในกรุงจาการ์ตาจากเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และพบว่าวัคซีนนี้สามารถป้องกันการเสียชีวิตในคนกลุ่มนี้ 98% และ 96% จากการติดเชื้ออาการหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งนี้ภายหลังฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ครบ 7 วันไปแล้ว ปันด์จี เทวันตารา เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธ (12 พ.ค.)

เทวันตารา แถลงด้วยว่า 94% ของจ้าหน้าที่สาธารณสุขเหล่านี้ ได้รับการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อแสดงอาการจากเชื้อร้ายนี้ ซึ่งถือว่าเป็นผลลัพธ์ที่พิเศษเอามากๆ เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่วัดออกมาได้ก่อนหน้านี้จากผลการทดลองทางคลินิกหลายๆ ครั้ง

เมื่อวันอังคาร (11 พ.ค.) บูดี กูนาดี ซาดิคิน รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซีย ได้เปิดเผยเวอร์ชันขนาดเล็กกว่านี้ของการศึกษาคราวนี้ นั่นคือในจำนวนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 25,374 คน ระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์ก ซึ่งก็ได้ตัวเลขอัตราประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างเดียวกัน สำหรับการป้องกันไม่ให้ป่วยอาการหนักและในการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ยิ่งการป้องกันไม่ให้เสียชีวิตด้วยแล้ว การศึกษาในกลุ่มเล็กนี้อยู่ในระดับ 100% ทีเดียว

“เราพบว่าตัวเลขลดน้อยลงไปเยอะมากๆ” ในเรื่องซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้ได้รับวัคซีนเกิดล้มป่วยจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และเกิดการเสียชีวิตเพราะโควิด-19 ทั้งนี้ไม่เป็นที่ทราบกันว่าวัคซีนของซิโนแวคต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สายพันธุ์ใดบ้างในอินโดนีเซีย แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันก็คือประเทศนี้ไม่พบการแพร่ระบาดใหญ่ใดๆ ที่มีต้นตอจากตัวกลายพันธุ์ซึ่งน่ากังวลทั้งหลาย

ข้อมูลจากอินโดนีเซียนี้ เป็นการเพิ่มเติมเสริมส่งสัญญาณที่ออกมาจากบราซิล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวคในโลกจริงมีประสิทธิภาพสูงกว่าที่ปรากฏออกมาในระยะการทดลอง โดยที่วัคซีนจีนตัวนี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับอัตราประสิทธิภาพที่ลักลั่นไม่สอดคล้องกันและโดนตั้งคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสของข้อมูล

ทั้งนี้ ผลการทดลองขั้น 3 ซึ่งเป็นการทดลองกลุ่มใหญ่ที่สุดในบราซิล ประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคอยู่เหนือระดับ 50% แค่เล็กน้อย ต่ำที่สุดในบรรดาวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่วิจัยออกมาในรุ่นแรกๆ

เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับสิ่งที่พูดกันในอินโดนีเซีย ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกให้แก่ซิโนแวคในปักกิ่งผู้หนึ่งตอบว่า บริษัทยังไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับการศึกษาในแดนอิเหนาได้ จนกว่าจะได้รับรายละเอียดมากขึ้น

การศึกษาของอินโดนีเซียนั้นใช้วิธีเปรียบเทียบกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนกับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับวัคซีน เพื่อคำนวณอัตราประสิทธิภาพ โดยค่ากลางอายุของผู้เข้าร่วมการทดลองนี้อยู่ที่ 31 ปี

ในการให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กเป็นการต่างหากออกไปเมื่อวันอังคาร (11) หยิน เหว่ยตง ประธานและซีอีโอของซิโนแวค ได้พูดแก้ต่างเรื่องที่ข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกของการฉีดวัคซีนตัวนี้อยู่ในลักษณะที่ลักลั่นไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และย้ำว่ามีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าวัคซีนโคโรนาแวค กำลังทำผลงานได้ดีกว่าเมื่อใช้งานในโลกจริง

อย่างไรก็ตาม การวิจัยในโลกจริง ยังแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการสกัดการแพร่ระบาดของวัคซีนซิโนแวคจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนจำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีน อันเป็นสถานการณ์ที่เหล่าประเทศกำลังพัฒนาซึ่งขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและเข้าถึงวัคซีนอย่างจำกัด คงไม่อาจบรรลุถึงอย่างรวดเร็ว

ในผลการศึกษากับเหล่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอินโดนีเซีย และกับเมืองเซอร์รานาในบราซิล ซึ่งมีประชากร 45,000 คน และได้รับวัคซีนเกือบทุกคน พบว่าผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมากหลังพวกเขาได้รับวัคซีน สวนทางกับในชิลีที่พบเห็นการแพร่ระบาดฟื้นคืนชีพ หลังฉีดวัคซีนไปได้ราว 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร 19 ล้านคน ทั้งนี้ชิลีถือเป็นหนึ่งในชาติที่ฉีดวัคซีนรวดเร็วที่สุดในโลก แต่ไม่เพียงพอที่จะสกัดการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์รุนแรงที่กำลังอาละวาดทั่วละตินอเมริกา

กระนั้นในเรื่องนี้ หยิน ให้ความเห็นว่า “กลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนในชีลีคือคนชรา ไม่ถึง 15 ล้านโดส นั่นหมายความว่ามีประชาชนแค่ 7 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนของเรา เทียบเท่ากับแค่ 36% ของจำนวนประชากร 19 ล้านคน เป็นเรื่องปกติที่ประเทศแห่งนี้พบเห็นตัวเลขการติดเชื้อที่ฟื้นคืนมา เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวทางสังคมเพิ่มขึ้นในคนหนุ่มสาว และคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน”

หยิน บอกว่า ที่ชิลี ในบรรดาผู้ฉีดวัคซีนโคโรนาแวค ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของวัคซีนซีโนแวค มีถึง 89% ที่ได้รับการป้องกันจากการติดเชื้อโควิด-19 อาการหนักถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู และการป้องกันของวัคซีนดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไปในแต่ละแห่งสืบเนื่องจากตัวกลายพันธุ์ของไวรรัส แต่วัคซีนของซิโนแวคดูเหมือนจะยืนหยัดต่อต้านได้เป็นอย่างดีกับตัวกลายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวล

อินโดนีเซียเป็นชาติแรกๆ ที่เสี่ยงเดิมพันกับวัคซีนของจีน โดยในเดือนมกราคม ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เป็นผู้นำชาติหลักรายแรกของโลกที่เข้ารับวัคซีนซิโนแวค เพื่อปัดเป่าความเคลือบแคลงสงสัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับตั้งแต่นั้นชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของเอเชียได้ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนไปแล้วมากกว่า 22 ล้านโดส ส่วนใหญ่แล้วเป็นวัคซีนซิโนแวค ขณะที่พวกเขาหวังบรรลุเป้าหมายสร้างภูมิคุ่มกันหมู่ในประชากร 270 ล้านคนในช่วงสิ้นปี

“ประสิทธิภาพขั้นต่ำควรอยู่เหนือ 50% แต่นี่มันเหนือกว่านั้นมาก วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่คุณสามารถได้รับเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทุกวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิต” รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซียกล่าว “มันไม่ใช่ต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มันควรเป็นวัคซีนที่สามารถฉีดให้ประชาชนได้เร็วที่สุด”

ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและไทย กำลังพบเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อฟื้นคืนกลับมา อัตราการพบผู้ติดเชื้อใหม่และเสียชีวิตในอินโดนีเซียทรงตัวมาตั้งแต่แตะระดับสูงสุดในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม ด้วยประชากรจำนวนมหาศาลส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการป้องกัน และเทศกาลสิ้นสุดการถือศีลอดกำลังมาถึง ก่อความกังวลว่าเคนผู้ติดเชื้ออาจฟื้นตัวสูงสุด 60% เนื่องจากผู้คนจะรวมตัวกับครอบครัว และเดินทางกลับมาตุภูมิ แม้รัฐบาลกำหนดข้อจำกัดต่างๆ นานาแล้วก็ตาม

เฮเลน เพทูซิส-แฮร์ริส นักวัคซีนวิทยา ของมหาวิทยาลัยโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ให้ความเห็นว่า ความสามารถของวัคซีนในการควบคุมเชื้อโรคนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่วัดในการทดลองทางคลินิคแล้ว เวลาใช้ในโลกจริงอาจจะสูงขึ้นไปได้

“ตามประสบการณ์ของฉัน บ่อยครั้งที่เราล้มเหลวไม่สามารถทำนายผลกระทบโดยรวมของวัคซีนได้ มันเป็นบางสิ่งบางอย่างที่สามารถมองเห็นกันได้ในโลกจริงหลังจากมีการใช้กันอย่างกว้างขวางแล้วเท่านั้น” เธอกล่าว พร้อมกับเน้นความสำคัญของการเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยบอกว่า “การลดปริมาณของเชื้อโรคลงไปให้มากๆ ไม่เพียงเป็นเรื่องสำคัญมากในแง่ของการรักษาชีวิตเอาไว้ได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการลดทอนโอกาสไม่ให้ตัวกลายพันธุ์ที่สร้างปัญหา สามารถปรากฏขึ้นมาได้อีกด้วย”

(ที่มา : บลูมเบิร์ก)
กำลังโหลดความคิดเห็น