xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าขึ้นบัญชีดำรัฐบาลเงาเป็น “ก่อการร้าย” หลังตั้งกองกำลังปกป้องประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พวกผู้ประท้วงและสมาชิกกลุ่มติดอาวุธเข้าร่วมการฝึกที่นำโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ในรัฐกะเหรี่ยง เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในพม่า
คณะทหารผู้ปกครองพม่าตราหน้ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติในฐานะกลุ่มก่อการร้าย และกล่าวโทษพวกเขาต่อเหตุระเบิด วางเพลิงและฆาตกรรมต่างๆ นานา ตามรายงานของสื่อมวลชนที่ควบคุมโดยภาครัฐในวันเสาร์ (8 พ.ค.)

กองทัพพม่าพยายามควบคุมความสงบเรียบร้อย นับตั้งแต่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พร้อมควบคุมตัว นางอองซาน ซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

มีรายงานเหตุระเบิดเกิดขึ้นแทบทุกวัน และกำลังติดอาวุธท้องถิ่นถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเผชิญหน้ากับทหาร ขณะเดียวกัน การชุมนุมต่อต้านคณะรัฐประหารทั่วประเทศไม่มีทีท่าจะหยุดลง เช่นเดียวกับการผละงานประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่ทำเศรษฐกิจเป็นอัมพาต

ความเคลื่อนไหวของทหารพม่ามีขึ้นหลังจากเมื่อช่วงต้นสัปดาห์รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งปฏิบัติการอย่างลับๆ และพวกเขาเองก็จำกัดความกองทัพในฐานะ “กองกำลังก่อการร้าย” เช่นกัน เผยว่าพวกเขาจะจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเองของประชาชน

“การกระทำของพวกเขาก่อให้เกิดการก่อการร้ายมากมายในหลายพื้นที่” เอ็มอาร์ที สื่อมวลชนแห่งรัฐระบุ พร้อมประกาศว่าเวลานี้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายจะครอบคลุมทั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ คณะกรรมการของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกขับไล่ที่เรียกว่า CRPH และกองกำลังป้องกันตนเองของประชาชน

“พวกเขาทั้งระเบิด ยิง เข่นฆ่า และคุกคาม เพื่อทำลายกลไกบริหารของรัฐบาล” ถ้อยแถลงระบุ

พวกผู้ประท้วงและสมาชิกกลุ่มติดอาวุธเข้าร่วมการฝึกที่นำโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ในรัฐกะเหรี่ยง เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในพม่า
กฎหมายก่อการร้ายไม่ได้แบนแค่เฉพาะสมาชิกของกลุ่มเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบุคคลใดก็ตามที่ติดต่อกับพวกเขา หลังจากก่อนหน้านี้คณะรัฐประหารเคยกล่าวหาฝ่ายต่อต้านว่าเป็นกบฏ

พวกผู้ประท้วงยังคงเดินหน้าเดินขบวนต่อต้านคณะรัฐประหารตามสถานที่ต่างๆ หลายสิบแห่งในวันเสาร์ (8 พ.ค.) ในขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่า นับตั้งแต่การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารเริ่มต้นขึ้น มีพลเมืองถูกกองกำลังด้านความมั่นคงสังหารไปแล้วอย่างน้อย 774 ราย และถูกควบคุมตัว 3,778 คน

คณะรัฐประหารโต้แย้งตัวเลขดังกล่าว และบอกว่ามีกองกำลังด้านความมั่นคงหลายสิบนายเสียชีวิตท่ามกลางการประท้วงเช่นกัน

นอกจากสถานการณ์การประท้วงแล้ว กองทัพพม่าต้องเผชิญศึกรอบด้าน หลังเกิดการปะทะตามแนวชายแดนกับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ที่สู้รบกันมานานหลายทศวรรษ และกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มในนั้นแสดงจุดยืนสนับสนุนพวกผู้ชุมนุม

สื่อมวลชนแห่งรัฐรายงานสถานการณ์ล่าสุดอ้างว่ากองทัพรุกคืบโจมตีกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่น ทางภาคเหนือของพม่า แต่ยังไม่มีคำยืนยันจากสำนักข่าวอิสระอื่นๆ ส่วนทางตะวันตกของประเทศ Chinland Defence Force กองกำลังติดอาวุธที่ตั้งขึ้นใหม่ในรัฐชินเผยว่าพวกเขาบุกจู่โจมฐานทหารแห่งหนึ่ง แต่ทางกองทัพไม่ขอแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวดังกล่าว

กองทัพพม่าเข้ายึดอำนาจในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยอ้างว่าศึกเลือกตั้งที่พรรคของนางซูจีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายนั้นมีการโกงอย่างกว้างขวาง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธคำกล่าวหาของทางกองทัพ

(ที่มา : รอยเตอร์ส)


กำลังโหลดความคิดเห็น