(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
A wider war coming to Myanmar
By BERTIL LINTNER
01/05/2021
เหตุการณ์โจมตีหลายๆ ครั้งซึ่งไม่มีใครอ้างความรับผิดชอบเมื่อเร็วๆ นี้ โดยพุ่งเป้าเล่นงานฐานทัพอากาศของทางการในเขตภาคกลางของประเทศด้วยนั้น เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ ที่สงครามกลางเมืองอันไม่ค่อยดุเดือดรุนแรงแต่เกิดขึ้นมานานแล้วของพม่า กำลังแผ่ขยายตัวจากเขตพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ แถบชายขอบของประเทศ มายังบริเวณตัวเมืองใหญ่น้อยที่ทรงความสำคัญของพม่า
เชียงใหม่ - ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบก่อเหตุโจมตีเป้าหมายทางทหารหลาย ๆแห่งแทบจะพร้อมๆ กันเมื่อเร็วๆ นี้ในบริเวณภาคกลางของพม่า โดยที่บางแห่งในเป้าหมายเหล่านี้ เป็นฐานทัพอากาศซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ถูกใช้สำหรับส่งอากาศยานไปถล่มเป้าหมายที่เป็นพวกกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในแถบพื้นที่ชายแดนของประเทศ
อย่างไรก็ตาม พวกนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเชื่อกันว่า การโจมตีจากเงามืดเหล่านี้น่าที่จะเป็นผลงานของการจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่างพวกกลุ่มกบฎชาติพันธุ์ กับ ผู้เห็นต่างจากทางการ (dissidents) ที่เป็นพวกนิยมประชาธิปไตยซึ่งใช้ตัวเมืองใหญ่ๆ เป็นฐาน โดยที่ฝ่ายแรกเป็นผู้จัดหาวัตถุระเบิด ขณะที่ฝ่ายหลังมีความรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของท้องถิ่นในบริเวณพื้นที่ซึ่งถือเป็นเขตหัวใจของพม่า
ถ้าหากการประเมินเช่นนี้มีความถูกต้องแล้ว การโจมตีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่แยกต่างหากจากกัน และมันอาจหมายความว่าสงครามกลางเมืองอันไม่ค่อยดุเดือดรุนแรงแต่เกิดขึ้นมานานแล้วของพม่า กำลังแผ่ขยายตัวจากเขตพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ แถบชายขอบของประเทศ มายังบริเวณตัวเมืองใหญ่น้อยที่ทรงความสำคัญของพม่าแล้ว
สามเดือนผ่านไปแล้วภายหลังเหล่านายพลระดับสูงเข้ายึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและได้รับความนิยมจากประชาชน และถึงแม้มีข้อเท็จจริงว่าทหารตำรวจได้ยิงสังหารผู้ประท้วงไปกว่า 750 คนและจับกุมไปอีกกว่า 4,000 คน แต่ประชาชนก็ยังคงออกมาตามท้องถนนอย่างกล้าหาญกันอยู่ เพื่อแสดงความโกรธแค้นของพวกเขาต่อการทำรัฐประหารคราวนี้
การต่อต้านของประชาชนอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ กำลังตอกย้ำให้เห็นถึงสิ่งซึ่งเวลานี้ถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่า อาจจะเป็นการทำรัฐประหารครั้งที่ไม่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเอเชีย นี่อาจจะเป็นลางร้ายสำหรับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหารครั้งนี้ ที่ยังคงยืนกระต่ายขาเดียวอย่างดื้อรั้นถึงแม้ถูกประณามจากนานาชาติดังก้องขึ้นทุกที ซึ่งกำลังทำให้ประเทศต้องถูกโดดเดี่ยวอย่างเดียวดาย
มีเครื่องบ่งชี้บางประการซึ่งเอเชียไทมส์ (เบอร์ทิล ลินต์เนอร์) ได้รับมาอย่างเป็นความลับจากพวกบุคคลวงในฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นสัญญาณว่า พวกมือเก่ามากประสบการณ์ของคณะปกครองทหารชุดก่อนๆ ของพม่า ที่ใช้ชื่อว่า สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council หรือ SLORC) และ สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council หรือ SPDC) กำลังจับตาดูด้วยความระมัดระวังมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อการกระทำและยุทธวิธีต่างๆ ของ มิน อ่อง หลาย ซึ่งถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพและก่อให้เกิดการแตกแยกแบ่งขั้ว
พัฒนาการที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ มานี้ ซึ่งก็รวมทั้งการโจมตีเล่นงานฐานทัพอากาศด้วย แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นของความเป็นไปได้และของฉากทัศน์อันยุ่งเหยิงซับซ้อนหลายหลากนานา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางนั้นแต่อย่างใด เมื่อตอนที่ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าสู่ย่างกุ้งที่เป็นเมืองหลักของประเทศเมื่อ 3 เดือนก่อน และพวก ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งหลายสิบคนตลอดจนนักการเมืองอื่นๆ ถูกจับกุมคุมขังในเมืองหลวงเนปยีดอ
นั่นก็ครอบคลุมถึงสงครามกลางเมืองที่ขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้นในพื้นที่ภาคกลางที่ถือเป็นหัวใจของประเทศ อันรวมไปถึงเมืองหลวงเนปยีดอ ซึ่งเกือบๆ จะเหมือนกับบังเกอร์ของพวกนายพลเหล่านี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 29 เมษายน กลุ่มกำลังอาวุธไม่ทราบฝ่ายได้ยิงจรวดหลายลูกเข้าไปในฐานทัพอากาศ 2 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในเขตมาเกว (Magwe) และเมืองเมะตีละ (Meiktila) ในภาคกลางของพม่า
ยังเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้จุดชนวนระเบิดขึ้น ณ คลังแสงอาวุธแห่งหนึ่งของกองทัพพม่าใกล้ๆ เมืองพะโค (Bago) ซึ่งอยู่ห่างย่างกุ้งไปทางเหนือราว 70 กิโลเมตร การโจมตีเหล่านี้เกิดขึ้นภายหลังการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างฝ่ายทหารพม่า ซึ่งรู้จักเรียกขานกันในนามว่า “ตะมะดอ” (Tatmadaw) กับพวกกบฎชาติพันธุ์จาก กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army หรือ KNLA) ตรงบริเวณชายแดนติดต่อกับไทย
การโจมตีจากเงามืดต่อฐานทัพอากาศ 2 แห่งโดยไม่มีผู้ใดอ้างความรับผิดชอบคราวนี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่มีการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่าง ตะมะดอ กับ กองทัพเอกราชกะฉิ่น (Kachin Independence Army หรือ KIA) ทางพื้นที่ภาคเหนือไกลโพ้นของประเทศ ซึ่งพวกนักเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยจำนวนมากได้ไปขอลี้ภัยภายหลังเกิดการปราบปรามอย่างนองเลือดตามพื้นที่ตัวเมืองใหญ่
ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของการโจมตีของ ตะมะดอ คราวนี้ ได้แก่การใช้กำลังทางอากาศเข้าถล่มเป้าหมายทั้งหลายของฝ่ายกบฎ ซึ่งก็รวมไปถึงหมู่บ้านพลเรือนหลายแห่ง นี่เป็นเหตุให้ชาวบ้านกว่า 25,000 คนในรัฐกะเหรี่ยง และอีกอย่างน้อย 5,000 คนในรัฐกะฉิ่น ต้องหลบหนีกลายเป็นผู้พลัดถิ่นไปเมื่อเร็วๆ นี้ พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ที่สมทบเพิ่มเติมผู้คนหลายหมื่นคนซึ่งได้หลบหนีออกจากบ้านเรือนท่ามกลางการสู้รบในพื้นที่เหล่านี้มาก่อนหน้านี้
ผู้สังเกตการณ์การเมืองพม่ามาอย่างยาวนานหลายราย ได้ลองเปรียบเทียบเป็นการภายในระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับสิ่งซึ่งเคยเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารที่นองเลือดกว่านี้อีกเมื่อปี 1988 โดยที่ตอนนั้นก็มีผู้เห็นต่างจากทางการจำนวนเรือนพันเรือนหมื่นหลบหนีไปยังเขตป่าเขาต่างๆ ภายหลังที่ ตะมะดอ ปราบปรามบดขยี้การลุกขึ้นสู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศคราวนั้น
แต่พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า มีความแตกต่างกันในขั้นพื้นฐานระหว่างเหตุการณ์ปี 1988 กับพัฒนาการในปัจจุบัน เมื่อปี 1988 นั้น พวกเห็นต่างจากทางการที่เป็นคนหนุ่มสาวจากเขตเมือง ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มซึ่งใช้ชื่อว่า แนวร่วมประชาธิปไตยของนักศึกษาทั่วทั้งพม่า (All Burma Students’ Democratic Front หรือ ABSDF) มีการแต่งตัวสวมเครื่องแบบ และสู้รบเคียงบ่าเคียงบ่ากับพวกกบฎชาติพันธุ์ตามพื้นที่ชายแดน
ในเวลานั้น เป็นเรื่องสะดวกง่ายดายกว่าปัจจุบันมากที่จะหาอาวุธต่างๆ จากตลาดอาวุธสีเทาในไทย และกลุ่มเห็นต่างจากทางการทั้งหลายก็มีแหล่งกบดานหลบภัยกันอยู่แล้ว –และกระทั่งมีสำนักงานด้วยซ้ำ— ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ที่ปรับปรุงกระเตื้องขึ้นระหว่างฝ่ายทหารไทยกับฝ่ายทหารพม่า บวกกับข้อจำกัดเข้มงวดต่างๆ ในการเดินทางเข้าสู่ไทยสืบเนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 จนถึงบัดนี้อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้พวกผู้เห็นต่างจากทางการต้องอยู่แต่ทางฝั่งพม่าของชายแดน
กลุ่มแนวร่วมนักศึกษา ABSDF เก่า เวลานี้เหลืออยู่แต่เพียงชื่อเท่านั้น ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ถ้าไม่ยอมจำนนต่อทางการก็เดินทางไปตั้งหลักแหล่งในประเทศที่สามกันแล้ว การลุกขึ้นสู้ที่ล้มเหลวไปในท้ายที่สุดของ ABSDF อาจนำมาใช้เป็นเหตุผลอธิบายได้ว่า ทำไมกลุ่มพันธมิตรใหม่ระหว่างชาวชาติพันธุ์กับชาวเมืองใหญ่ จึงอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป และมีศักยภาพที่จะระเบิดปึงปังได้มากมายยิ่งกว่า
อันที่จริงแล้ว พัฒนาการต่างๆ ในระยะหลังๆ มานี้ ดูเหมือนเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นของสงครามในเมือง (urban warfare) ซึ่งเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนในพม่า และก็ดูจะเป็นสงครามชนิดที่ ตะมะดอ มีความพรักพร้อมอยู่น้อยที่จะเข้ารับมือจัดการ นอกเหนือจากการจับมือเป็นพันธมิตรกันอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างกลุ่มไม่เป็นทางการต่างๆ ของพวกนักเคลื่อนไหวนิยมประชาธิปไตย กับพวกกบฎชาติพันธุ์แล้ว ยังมีกองกำลังต่อต้านระดับท้องถิ่นหลายๆ กลุ่มปรากฏขึ้นมาแล้วในเขตสะกาย (Sagaing) และรัฐชิน รายงานหลายกระแสบ่งชี้ว่ายังมีกองกำลังทำนองเดียวกันนี้รวมตัวกันขึ้นมาในรัฐมอญ และเขตมัณฑะเลย์
จากสิ่งที่โพสต์กันทางโซเชียมีเดียแสดงให้เห็นว่ากลุ่มสมัครพรรคพวกท้องถิ่นเหล่านี้มีอาวุธเป็นปืนไรเฟิลล่าสัตว์และระเบิดโฮมเมด แต่กระนั้นก็สามารถสร้างความบาดเจ็บล้มตายอย่างสำคัญให้แก่ฝ่ายตำรวจและทหาร เป็นต้นว่าที่เมืองกะเล (Kalay) ในเขตสะกาย ในรัฐชิน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน เวลาไล่เรี่ยกัน กองกำลังกลุ่มใหม่ที่เรียกชื่อว่า กองกำลังป้องกันดินแดนชิน (Chinland Defense Force) มีรายงานว่าได้สังหารทหารของคณะปกครองทหารพม่าไป 15 คนในพื้นที่ของพวกตน
ยังมีรายงานว่ามีการโจมตีจากเงามืดโดยใช้วัตถุระเบิดและระเบิดขวดบรรจุน้ำมัน (Molotov cocktail) มุ่งเล่นงานพวกสถานีตำรวจทั้งในย่างกุ้ง, มัณฑะเลย์, และเมืองโมนยวา (Monywa)
เวลาเดียวกันนั้น ตะมะดอก็ต้องรับมือกับกองทัพชาติพันธุ์ที่ผ่านการหล่อหลอมจากสงครามมาแล้ว เป็นต้นว่า ในบริเวณไกลโพ้นทางภาคเหนือของประเทศ ได้เกิดการปะทะกันมากกว่า 50 ครั้งตั้งแต่ที่พวกกบฎกะฉิ่นบุกเข้าโจมตีและยึดค่ายตะมะดอแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่บนภูเขาอะลอบูม (Alawbum) ที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ใกล้ๆ กับชายแดนจีน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม
การถล่มโจมตีทางอากาศของฝ่ายทางการประสบความล้มเหลวไม่สามารถขับไล่กองกำลัง KIA ซึ่งยังคงเปิดการโจมตีอีกหลายๆ ครั้งในบริเวณใกล้ๆ เหมืองหยก พะกัน (Hpakant) ทางด้านตะวันตกของรัฐกะฉิ่น และบริเวณตอนเหนือของเมืองซูมประบูม (Sumprabum) ทางด้านเหนือของรัฐนี้
ในรัฐกะเหรี่ยง องค์กรนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) “ฟรี เบอร์มา เรนเจอร์ส” (Free Burma Rangers) รายงานข่าวการสู้รบที่เกิดขึ้นเป็นประจำวันระหว่าง ตะมะดอ กับกองกำลัง KNLA ถึงแม้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ทั้งสองฝ่ายนี้ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกันในเดือนตุลาคม 2015
ข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าว ซึ่งยังมีกลุ่ม สภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (Restoration Council of Shan State หรือ RCSS) และอีก 8 กลุ่มที่มีขนาดเล็กๆ ไม่ค่อยสำคัญนักเข้าร่วมด้วยนั้น ได้รับการขนานนามอย่างเป็นทางการว่า “ข้อตกลงหยุดยิงแห่งชาติ” (Nationwide Ceasefire Agreement หรือ NCA) ถึงแม้จริงๆ แล้วมันไม่ได้นำไปสู่การสงบศึกในขอบเขตทั่วประเทศ หรือกระทั่งทำให้เกิดสถานการณ์ที่ดูเหมือนกับมีสันติภาพขึ้นในบริเวณพื้นที่ชายแดนต่างๆ ด้วยซ้ำ
ถึงแม้ทั้ง KNLA และ KIA ต่างประกาศอย่างเปิดเผยกันแล้วว่า ยืนอยู่ข้างขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) ของพม่า ซึ่งจวบจนถึงเวลานี้ยังคงดำเนินการต่อสู้อย่างสันติ แต่สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แล้ว ดูจะให้ความสนับสนุนน้อยกว่า ระหว่างการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันที่ 27 มีนาคม เจ้ายอดศึก (Yawd Serk) ประธานของ RCSS บอกว่า กลุ่มของเขาจะไม่ยืนดูอยู่เฉยๆ ถ้าหากกองกำลังอาวุธของคณะปกครองทหารยังคงเข่มฆ่าผู้ประท้วงต่อไป แต่คำประกาศของเขาไม่ได้มีการปฏิบัติการอย่างชัดเจนใดๆ ติดตามมา
ในทางตรงกันข้าม RCSS ยังคงกำลังสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธชาวไทใหญ่ที่เป็นคู่แข่งกัน ซึ่งได้แก่ กองทัพรัฐชาน (Shan State Army) ของพรรครัฐชานก้าวหน้า (Shan State Progress Party) และพวกพันธมิตรชาวชาติพันธุ์ปะหล่อง (Palaung) ของพวกเขา ซึ่งอยู่ใน กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta’ang National Liberation Army หรือ TNLA) เพื่อช่วงชิงอำนาจควบคุมเหนือพื้นที่ต่างๆ ในบริเวณภาคเหนือของรัฐชาน
สำหรับกองทัพชาติพันธุ์ที่ทรงอำนาจที่สุดในพม่า ซึ่งได้แก่ กองทัพรวมแห่งรัฐว้า (United Wa State Army หรือ UWSA) ที่มีกำลังพลอันเข้มแข็งระดับ 20,000 – 30,000 คน ยังคงเงียบเชียบอย่างเป็นปริศนานับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเป็นต้นมา ทว่าไม่ใช่ชาวว้าทั้งหมดจะเห็นด้วยกับจุดยืนเช่นนี้ เป็นต้นว่า พวกองค์กรภาคประชาชนชาวว้า 10 แห่งได้ร่วมกันลงนามในคำร้องที่เขียนขึ้นอย่างเร่งด่วนเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ขอให้ UWSA และสหพรรครัฐว้า (United Wa State Party) ที่เป็นองค์กรการเมืองของ UWSA พูดแสดงท่าทีอะไรออกมาบ้าง
อย่างไรก็ดี กองทัพรวมรัฐว้า หรือ สหพรรครัฐว้า ยังคงเงียบเฉย บางทีอาจจะเนื่องจาก UWSA เป็นพันธมิตรใกล้ชิดเหลือเกินกับพวกหน่วยงานความมั่นคงของจีน ซึ่งไม่ต้องการเข้าเกี่ยวข้องกับขบวนการต่อต้านรัฐประหารของพม่า ทั้งนี้พวกผู้ประท้วงในเขตเมืองของพม่า ก็ได้พุ่งเป้าเล่นงานปักกิ่งซึ่งถูกมองว่าให้การสนับสนุนระบอบปกครองทหารในเวทีสหประชาชาติ โดยที่มีโรงงานของคนจีนหลายแห่งในย่างกุ้งถูกจุดไฟเผาผลาญท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาระลอกหนึ่ง
ส่วนกองทัพยะไข่ (Arakan Army หรือ AA) ที่มีกำลังพลราว 7,000 คนในรัฐยะไข่ (Rakhine) และถือเป็นกองทัพกบฎที่ทรงอำนาจที่สุดกองทัพหนึ่งในพม่า โดยที่ได้สังหารทหารตะมะดอไปหลายร้อยคนในการสู้รบช่วงหลังๆ นี้ กลับแสดงจุดยืนที่ทำให้เซอร์ไพรซ์กันมากกว่านั้นอีก ทั้งนี้ AA ได้เจรจากับ ตะมะดอ ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ผ่านไปไม่นานนัก ก็ได้รับการลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่องค์การ “ก่อการร้าย” ของทางการพม่า
ตะวัน มรัต ไนง์ (Twan Mrat Naing) ผู้นำของ AA กล่าวเมื่อวันที่ 16 เมษายน ณ กองบัญชาการของ UWSA ในเมืองปางซาง (Panghsang) ว่า รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy หรือ NLD) ที่ถูกฝ่ายทหารโค่นล้มไป อวดอ้างว่าตนเองจะก่อตั้งประเทศพม่าที่เป็นสหภาพแบบสหพันธรัฐ โดยที่คนเชื้อชาติต่างๆทั้งหมดจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทว่ากลับล้มเหลวไม่ได้เคยทำตามคำมั่นสัญญานี้เลย เมื่อมองจากความคิดเห็นเช่นนี้แล้ว จึงทำให้สงสัยข้องใจกันว่า AA คงไม่น่าที่จะเข้าร่วมกลุ่มมหาพันธมิตรใดๆ ที่จะเกิดขึ้นมา ระหว่างพวกเห็นต่างจากทางการในเขตเมือง กับ กองทัพชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ
แต่แม้กระทั่งว่าไม่ได้มีกลุ่มต่อต้านของชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเกิดขึ้นมา มันก็ยังคงมีโอกาสที่พวกผู้นำรุ่นเก่าของ ตะมะดอ จะเคลื่อนไหวเพื่อยุติภาวะชะงักงัน ด้วยการกดดันหรือกระทั่งพยายามโค่นล้ม มิน อ่อง หล่าย และพวกผู้ช่วยระดับสูงของเขา ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีก
ทั้ง SLORC และ SPDC ต่างเป็นกลุ่มคนที่โหดเหี้ยมเลวร้ายทำนองเดียวกัน และไม่ได้เป็นเพื่อนมิตรของประชาธิปไตยเลย แต่อดีตหัวหน้าคณะปกครองทหารและอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย (Than Shwe) นั้น ได้เคยริเริ่มการปฏิรูปเสรีนิยมด้านต่างๆ ขึ้นมาจริงๆ ซึ่งนำไปสู่สังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น และทำให้พม่ามีความสัมพันธ์ที่กระเตื้องขึ้นอย่างมากมายกว้างขวางกับฝ่ายตะวันตกและกับโลกวงกว้าง ก่อนที่เขาจะถอยออกไปยืนอยู่ข้างๆ เวทีตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
ตาน ฉ่วย เวลานี้มีอายุประมาณ 80 ปลายๆ แล้ว และพวกนักวิคราะห์ทางการเมืองในพม่าเชื่อว่า ความอลหม่านวุ่นวายที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ย่อมไม่ใช่มรดกชนิดที่เขาต้องการที่จะทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง นายพลผู้เฒ่าผู้นี้จะมีเครื่องมือและวิธีการ, อิทธิพลบารมี, หรือความโน้มเอียง ที่จะพยายามรั้งบังเหียน มิน อ่อง หล่าย เอาไว้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ทราบกันชัดเจน แต่ภาวะอนาธิปไตยซึ่งแพร่ลามออกไปจากการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าไม่ใช่เป็นผลประโยชน์ของสถาบันทหาร ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือในระยะยาว