เชฟรอน บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน กำลังล็อบบี้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกาให้ปกป้องผลประโยชน์ทางพลังงานของพวกเขาในพม่าระหว่างไตรมาสแรก ในขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหนักให้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเล่นงานคณะรัฐประหาร
เชฟรอน เป็นหนึ่งใบรรดาบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติข้ามชาติจำนวนหนึ่งที่เสี่ยงเดิมพันมหาศาลในความมั่งคั่งทางทรัพยากรพลังงานของพม่า ซึ่งอีกด้านหนึ่งมันกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญยิ่งของคณะผู้ปกครองทหาร ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในเดือนกุมภาพันธ์ และจากนั้นก็ปราบปรามนองเลือดพวกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร
รอยเตอร์สอ้างแหล่งข่าวระบุว่า แค่ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2021 เชฟรอนใช้เงินไปแล้วกว่า 2,170,000 ล้านดอลลาร์สำหรับล็อบบี้ในสหรัฐฯ ซึ่งการล็อบนี้ดังกล่าวรวมไปถึงหารือกับบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเหล่าเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการค้า และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในประเด็นปัญหาในหลายๆ ประเทศ ในนั้นรวมถึงพม่า
ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของการหารือ และเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของไบเดนยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวการล็อบบี้ดังกล่าว
รายงานข่าวระบุว่า เชฟรอนเคยล็อบบี้ในประเด็นพลังงานพม่ามานานแล้วในช่วงหลายปีก่อนหน้าที่กองทัพจะก่อรัฐประหารยึดอำนาจด้วยซ้ำ
At five cities of the US, Myanmar citizens demonstrated against Chevron Corporation to cut tie with military controlled Myanmar Oil and Gas Enterprise, and to stop paying and funding Slaughter Junta. #WhatsHappeningInMyanmar #Apr17Coup pic.twitter.com/36W4YkGdIs— NwayOo (@NwayOoTWs) April 17, 2021
เชฟรอนลงทุนมากมายในพม่า ในนั้นรวมถึงถือหุ้น 28.3% ในบ่อก๊าซธรรมชาติยาดานา และ 28.3% ในท่อลำเลียงน้ำมันที่ลำเลียงก๊าซจากพม่ามายังประเทศไทย
โฆษกของเชฟรอนปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดของการล็อบบี้กดดันมาตรการคว่ำบาตร แต่บอกว่าการปิดบ่อก๊าซธรรมชาติยาดานาจะก่อผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพด้านการผลิตในอนาคตของทางบริษัท
ที่ผ่านมา บริษัทแห่งนี้ได้เปิดเผยตัวเลขการจ่ายเงินแก่รัฐบาลพม่าผ่านโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (Extractive Industries Transparency Initiative)
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ธนาคารโลกร่วมมือกับชาติต่างๆ พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสิ่งที่เรียกว่า “คำสาปทรัพยากร (Resource Curse)” คือภาวะที่ประชากรของประเทศซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือแร่ธาตุอื่นๆ กลับต้องอยู่เลวกินเลวเสียยิ่งกว่าประเทศที่ไม่ค่อยมีทรัพยากร ซึ่งจากการสืบสวนพบว่ามักมีสาเหตุมาจากการคอร์รัปชันในภาคพลังงาน เพราะนักการเมืองจะสวาปามเอารายได้จากการขุดเจาะทรัพยากรไปแทบทั้งหมด จนเหลือไม่พอมาพัฒนาประเทศ
จากข้อมูลของโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ พบว่าเชฟรอนจ่ายเงินราวๆ 50 ล้านดอลลาร์แก่พม่า ระหว่างปี 2014 ถึง 2018
ข่าวคราวความเคลื่อนไหวล็อบบี้ปกป้องผลประโยชน์ทางพลังงานของเชฟรอน มีขึ้นในขณะที่บรรดากลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งหลายเรียกร้องเหล่าบริษัทข้ามชาติ ในนั้นรวมถึงเชฟรอน โททาล วู้ดไซด์ ปิโตรเลียม และอื่นๆ ให้ตัดความสัมพันธ์กับพม่า หลังจากกองทัพก่อรัฐประหารโค่นอำนาจนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จากนั้นก็ควบคุมตัวเธอ และปราบปรามนองเลือดผู้ประท้วง จนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 750 คน
ขณะเดียวกัน ผู้สืบสวนด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกันคว่ำบาตร MOGE บริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งรัฐพม่า ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในบ่อก๊าซธรรมชาติยาดานาและสินทรัพย์อื่นๆ ของประเทศ เพื่อสกัดเส้นทางรายได้ของคณะรัฐประหาร ซึ่งอาจบีบให้บริษัทต่างๆ อย่างเช่น เชฟรอฟ ต้องถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วน
(ที่มา : รอยเตอร์ส)