สำนักข่าวบีบีซีอ้างข้อมูลจากองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ระบุในวันพฤหัสบดี (1 เม.ย.) มีเด็กอย่างน้อยๆ 43 คนถูกกองกำลังทหารปลิดชีพในพม่านับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเหยื่ออายุต่ำสุดมีอายุเพียงแค่ 6 ขวบเท่านั้น
กลุ่มเฝ้าระวังท้องถิ่นแห่งหนึ่งระบุว่า ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากเหตุกองทัพปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารอยู่ที่ 536 ราย ในนั้นมีเด็กรวมอยู่ด้วยอย่างน้อย 43 คน และเหยื่ออายุน้อยสุดมีอายุเพียงแค่ 6 ขวบ ซึ่งทางองค์การช่วยเหลือเด็กบอกว่ามันเป็นสถานการณ์ฝันร้าย
ตัวเลขดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาในขณะที่ อองซานซูจี ผู้นำที่ถูกขับไล่ของพม่า ถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายความลับราชการซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ
ซูจี และพันธมิตรของเธอ 4 คน ถูกตั้งข้อหาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ข้อกล่าวหาทางอาญาเพิ่งปรากฏออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี (1 เม.ย.) ขณะที่มันมีโทษสูงสุดคือจำคุก 14 ปี
ที่ผ่านมา นางซูจีถูกตั้งข้อหาไม่ร้ายแรงแล้วหลายข้อหา ตั้งแต่การนำเข้าวิทยุสื่อสารอย่างผิดกฎหมาย ไปจนถึงละเมิดข้อจำกัดสกัดโควิด-19 ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีทีที่แล้วและเผยแพร่ข้อมูลที่อาจก่อความกลัวและความตื่นตระหนก นอกจากนี้ กองทัพพม่ายังกล่าวหาเธอว่าทุจริตรับสินบนนักธุรกิจ
ทูตสหประชาชาติประจำพม่าเตือนว่า ความเสี่ยงนองเลือดใกล้มาถึงแล้ว ขณะที่กองทัพยกระดับปราบปรามผู้ประท้วงฝักใฝ่ประชาธิปไตยในประเทศแห่งนี้หนักหน่วงขึ้น
เสียงเตือนดังกล่าวมีขึ้นตามหลังการต่อสู้รบระหว่างกองทัพและพวกนักรบชาติพันธุ์ปะทุขึ้นตามแนวชายแดนต่างๆ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
สหประชาชาติกลายเป็นองค์กรล่าสุดที่เรียกร้องให้ครอบครัวของเจ้าหน้าที่เดินทางออกนอกพม่า แม้เจ้าหน้าที่บางส่วนจะอยู่ในประเทศแห่งนี้ต่อไป
สถานการณ์ความไม่สงบในพม่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 เดือนก่อน กองทัพเข้ายึดอำนาจตามหลังศึกเลือกตั้ง ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย โดยอ้างว่ามีการโกงอย่างกว้างขวาง
หลังจากประชาชนหลายหมื่นคนไหลบ่าสู่ท้องถนนทั่วประเทศเพื่อต่อต้านรัฐประหาร กองทัพใช้น้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ราว 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ทหารยกระดับตอบโต้การชุมนุม มีการใช้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง
วันที่มีการนองเลือดมากที่สุดจนถึงตอนนี้เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ (27 มี.ค.) มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน
พวกผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า กองทัพโจมตีผู้คนไม่เลือกบนท้องถนน และบางคนต้องมาเสียชีวิตแม้อยู่ในบ้านพักของตนเอง
ครอบครัวของ ขิ่น โม ชิต (Khin Myo Chit) หนูน้อยวัย 6 ขวบ เปิดเผยกับบีบีซีว่า เธอถูกตำรวจสังหาร ตอนที่เธอกำลังวิ่งไปหาบิดาระหว่างการจู่โจมตรวจค้นบ้านพักในเมืองมัณฑะเลย์ ช่วงสิ้นเดือนมีนาคม
“พวกเขาเตะเพื่อเปิดประตู” พี่สาวของเหยื่อเล่า “พอประตูเปิด พวกเขาถามพ่อของฉันว่ามีคนอื่นๆ อยู่ในบ้านหรือเปล่า พอเขาตอบกลับว่าไม่ พวกเขาหาว่าพ่อโกหก และเริ่มค้นบ้าน”
ในนาทีนั้นเอง ขิ่น โม ชิต วิ่งไปหาผู้เป็นพ่อ “พวกเขายิงและกระสุนพุ่งโดนเธอ” พี่สาวของเหยื่อระบุ
องค์การช่วยเหลือเด็ก เตือนว่า ดูเหมือนเด็กที่ได้รับบาดจ็บท่ามกลางเหตุปะทะ จะมีเป็นจำนวนมากเช่นกัน อ้างถึงกรณีที่มีรายงานทารกวัย 1 ขวบ ถูกยิงเข้าที่ตาด้วยกระสุนยาง
กลุ่มสิทธิมนุษยชนแห่งนี้บอกว่า ความรุนแรงกำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตเด็กๆ เนื่องจากบรรดาหนูน้อยต้องเผชิญกับความหวาดกลัว ความเศร้าและความตึงเครียด “เด็กๆ ต้องมาเห็นภาพความรุนแรงและสยดสยอง” องค์การช่วยเหลือเด็กระบุในถ้อยแถลง “ชัดเจนว่าพม่าไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ อีกต่อไป”
(ที่มา : บีบีซี)