xs
xsm
sm
md
lg

ผวาสงครามกลางเมือง! วอนคณะมนตรีความมั่นคง UN ลงมือหยุดความรุนแรงในพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำเมียนมาในวันพุธ (31 มี.ค.) วิงวอนให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมือในวิกฤตที่กำลังลุกลามบานปลายเรื่อยๆ ในเมียนมา เตือนถึงความเสี่ยงของสงครามกลางเมืองและการนองเลือด ในขณะที่คณะรัฐประหารยังคงใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงฝักใฝ่ประชาธิปไตย

มีประชาชนแล้วมากกว่า 52 รายที่เสียชีวิตในการประท้วงซึ่งจัดขึ้นแทบทุกวัน นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารโค่นอำนาจนางอองซานซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทำประชาธิปไตยอายุ 1 ขวบของเมียนมาหยุดชะงัก

“ดิฉันร้องขอให้คณะมนตรีฯ นี้พิจารณาทุกวิธีการที่มี ดำเนินการร่วมกันและทำในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ประชาชนชาวพม่าควรได้รับและป้องกันหายนะในหลายมิติ” คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติประจำเมียนมากล่าวต่อที่ประชุมลับ ซึ่งทางสำนักข่าวเอเอฟพีได้ข้อมูลมา

บูร์เกเนอร์ บอกต่อว่า เธอยังคงเปิดกว้างสำหรับเจรจากับคณะรัฐประหาร แต่ระบุว่า “หากเรารอจนกว่าถึงเวลาที่พวกเขาพร้อมพูดคุย สถานการณ์บนภาคพื้นที่มีแต่จะเลวร้ายลง การนองเลือดใกล้เข้ามาแล้ว”

ก่อนหน้านี้ในวันพุธ (31 มี.ค.) ทีมกฎหมายของอองซานซูจี บอกกับผู้นำที่ถูกโค่นอำนาจรายนี้ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี แม้ถูกควบคุมตัวนาน 2 เดือนแล้ว

มิน มิน โซ หนึ่งในทีมทนายความของอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนของพม่าที่ถูกควบคุมตัวพร้อมการทำรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เผยว่า ได้ถูกเรียกตัวไปที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันพุธ (31 มี.ค.) เพื่อประชุมทางไกลผ่านจอภาพกับซูจี

หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นี้ ถูกตั้งข้อหาอาญาหลายข้อหาซึ่งอาจทำให้ถูกลงโทษห้ามรับตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต

ทีมทนายความแถลงในเวลาต่อมาว่า จากภาพที่เห็นผ่านวิดีโอ ซูจียังดูแข็งแรงดี อย่างไรก็ตาม ซูจีได้ตั้งข้อสงสัยว่า การที่ตำรวจประกบ มิน มิน โซ ขณะที่ตัวเธอก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าดูอยู่นั้น ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

การยึดอำนาจและพฤติกรรมของคณะรัฐประหารในเวลาต่อมา โหมกระพือเสียงประณามจากนานาชาติ และทางสหราชอาณาจักรร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประชุมฉุกเฉินรอบใหม่ในวันพุธ (31 มี.ค.) หลังจากกองทัพยกระดับใชกำลังถึงตายกับพวกผู้ประท้วงหนักหน่วงขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา


อีกหนึ่งสถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังลุกลามบานปลาย กองทัพพม่าเมื่อวันเสาร์ (27 มี.ค.) เปิดฉากโจมตีทางอากาศในรัฐกะเหรี่ยงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี หลังจากพวกกบฏกลุ่มหนึ่งเข้ายึดฐานทัพทหาร โหมกระพือความกังวลว่าสถานการณ์อาจหวนคืนสู่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ติดอาวุธในประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์แห่งนี้

“กองทัพโหดเหี้ยมมาก และพวกนักรบชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มแสดงจุดยืนชัดเจนว่าอยู่ข้างฝ่ายต่อต้าน เพิ่มความเสี่ยงความเป็นไปได้ของสงครามกลางเมืองในขอบเขตที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” บูร์เกเนอร์กล่าว “ความล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้การสังหารโหดลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้จะก่อความเสียหายแก่โลกมากมายในระยะยาว มากกว่าลงทุนป้องกันในตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดาชาติเพื่อนบ้านของพม่าและในระดับภูมิภาค”

ขณะเดียวกัน กลุ่ม ส.ส.จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจี ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวใต้ดินต่อต้ายคณะรัฐประหาร เปิดเผยว่าพวกเขาจะจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนใหม่ในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ

คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ หรือ Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw (CRPH) ยังได้เตือนว่าจะใช้มาตรการหนักหน่วงเล่นงานบุคคลใดก็ตามที่ไม่เข้าร่วมในความเคลื่อนไหวประท้วงต้านรัฐประหาร

บรรดาชาติมหาอำนาจโลกออกมาประณามซ้ำๆ ต่อการปราบปรามรุนแรงผู้ประท้วง และกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานบุคคลต่างๆ ในคณะรัฐประหาร แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถเบี่ยงเบนเส้นทางของบรรดานายพลได้

ลินดา โธมัส กรีนฟิลด์ ผู้แทนสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ หยิบยกความเป็นไปได้ของการลงมือหากว่ากองทัพพม่าไม่ยอมสละอำนาจ “เราหวังว่าท้ายที่สุดแล้วสถานการณ์จะคลี่คลาย และทหารจะกลับสู่ค่ายทหาร เปิดทางให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเข้าทำหน้าที่”


“แต่หากพวกเขาไม่ทำตามนั้น และยังคงเดินหน้าโจมตีพลเรือน เมื่อนั้นเราจำเป็นต้องพิจารณาดูว่ามีอะไรบ้างที่เราอาจทำได้มากกว่านี้” เธอกล่าว

สถานการณ์ที่นองเลือดขึ้นเรื่อยๆ ยังก่อความขุ่นเคืองแก่กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธบางส่วนจากทั้งหมดราวๆ 20 กลุ่มของเมียนมาซึ่งควบคุมอาณาเขตพื้นที่ขนาดใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ตามแนวชายแดน โดย 3 ในนั้น ประกอบด้วยกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (ทีเอ็นแอลเอ) กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (เอเอ) และกองทัพอาระกัน (เอเอ) ออกถ้อยแถลงบอกว่าจะร่วมต่อสู้กับผู้ประท้วงหากกองทัพพม่ายังไม่ยุติการใช้ความรุนแรง

นายพลจัตวา Tar Bhone Kyaw จากกองทัพแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง บอกกับเอเอฟพีว่าทั้ง 3 กลุ่มจะยุติข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพ “หากพวกเขายังคงเข่นฆ่าประชาชน เราไม่มีเหตุผลที่ต้องขยายข้อตกลงหยุดยิงฝ่ายเดียวกับพวกเขา”

ก่อนหน้านี้ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และกองกำลังอิสรภาพกะฉิ่น (เคไอเอ) ได้ยกระดับโจมตีกองทัพและตำรวจพม่าหนักขึ้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมา

การที่เคเอ็นยูเข้ายึดฐานทัพฝ่ายรัฐบาลในรัฐกะเหรี่ยงในช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้กองทัพพม่าโจมตีทางอากาศตอบโต้ และชาวกะเหรี่ยงราว 3,000 คนหนีตายข้ามแดนเข้าไทย

เคเอ็นยู กลุ่มกบฏเก่าแก่ที่สุดในพม่า เรียกร้องให้นานาชาติโดยเฉพาะไทย ช่วยเหลือประชาชนที่หนีการจู่โจมของกองทัพพม่า และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงกับพลเรือน

เจ้าหน้าที่ไทยเผยว่ามีราว 2,400 คนที่สมัครใจเดินทางกลับพม่าแล้ว และอีกราว 200 คนบอกว่ายินยอมที่จะกลับไป

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น