xs
xsm
sm
md
lg

BBC วิตกผู้สื่อข่าวถูกชายฉกรรจ์จับตัวในพม่า ยอดตายประท้วงต้านรัฐประหารพุ่ง 233 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ แสดงความกังวลหลังผูู้สื่อข่าวคนหนึ่งภาคภาษาพม่า ถูกกลุ่มชายในชุดพลเรือนพาตัวไปพร้อมกับนักข่าวอีกคนของอีกสำนักข่าวหนึ่ง ในขณะที่เหตุปะทะระหว่างกองกำลังความมั่นคงพม่ากับผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 233 รายแล้ว

อ่อง ตูรา นักข่าวชาวเมียนมาของบีบีซีภาคภาษาพม่า โดนกลุ่มชายในชุดพลเรือนพาตัวไปพร้อมกับนักข่าวพม่าของอีกสำนักข่าวหนึ่ง ขณะทำข่าวด้านนอกศาลในกรุงเนปิดอว์ช่วงเที่ยงวันศุกร์ (19 มี.ค.) และจนถึงตอนนี้ยังติดต่อไม่ได้

บีบีซีระบุในถ้อยแถลงว่า พวกเขามีความกังวลอย่างยิ่ง และเรียกร้องเจ้าหน้าที่ช่วยหาตัวเขาให้พบ หลัง อ่อง ตูรา ถูกพาตัวไปพร้อมกับ ตาน เตียะ อ่อง ผู้สื่อข่าวของ มิซซิมา สำนักข่าวท้องถิ่น

เหตุหายตัวไปในครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 9 รายระหว่างการประท้วงเมื่อวันศุกร์ (19 มี.ค.) ซึ่งเกิดขึ้นในหลายเมือง

กลุ่มชายฉกรรจ์ที่ควบคุมตัวผู้สื่อข่าวทั้งสอง เดินทางมาด้วยรถตู้คนหนึ่งซึ่งไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ตอนราวๆ เที่ยงวันของวันศุกร์ (19 มี.ค.) และบอกว่าอยากเจอทั้ง 2 คน และนับตั้งแต่นั้นทางสำนักข่าวบีบีซีไม่สามารถติดต่อ อ่อง ตูรา ได้อีกเลย


“บีบีซีจริงจังอย่างมากกับประเด็นความปลอดภัยของพนักงานทุกคนในพม่า และเรากำลังทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อหาตัว อ่อง ตูรา” สำนักข่าวแห่งนี้ระบุในถ้อยแถลง “เราเรียกร้องเจ้าหน้าที่ให้ช่วยหาตัวพวกเขาและยืนยันว่าเขาปลอดภัย อ่อง ตูรา เป็นผู้สื่อข่าวที่ได้รับการรับรองของบีบีซี มีประสบการณ์รายงานข่าวเหตุการณ์ต่างๆในเนปิดอว์มานานหลายปี”

นับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีนักข่าวช่างภาพโดนจับกุมไปแล้ว 40 คน โดย 16 คนยังโดนคุมขังไว้ นอกจากนี้กองทัพยังยกเลิกใบอนุญาตของบริษัทผลิตสื่อ 5 แห่ง รวมถึงมิสซิมา และบุกตรวจค้นสำนักข่าวหลายแห่ง

นักข่าวที่โดนควบคุมตัวรายหนึ่งคือเตน ซอ เป็นนักข่าวช่างภาพของสำนักข่าวเอพี ที่โดนตั้งข้อหา “ก่อความหวาดกลัว แพร่ข่าวเท็จ และยุยงปลุกปั่นลูกจ้างรัฐบาลทั้งทางตรงหรือทางอ้อม”

สถานการณ์รุนแรงในเมียนมายังดำเนินต่อไปในวันศุกร์ (19 มี.ค.) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 9 คน ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองอองบาน รัฐฉาน “กองกำลังความมั่นคงเข้ามารื้อแนวกั้น แต่ประชาชนขัดขวาง จากนั้นพวกเขาก็เปิดฉากยิง” ผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งเปิดเผยกับรอยเตอร์


รายงานข่าวจากย่างกุ้ง ระบุว่า ผู้คนจำนวนมากพากันอพยพออกจากเมืองแห่งนี้กลับบ้านในชนบท ทำให้ทางหลวงสายหลักออกจากย่างกุ้งเกิดปัญหาการจราจรติดขัด ชาวบ้านคนหนึ่งที่อยู่ใกล้กับเขตที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยิงผู้ประท้วงตายหลายคนในสัปดาห์นี้บอกกับเอเอฟพีว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยและบางคืนก็นอนไม่หลับ กลัวมากว่าเรื่องเลวร้ายจะเกิดตามมาเพราะที่ที่เธออยู่นั้นตึงเครียดมาก

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า ระบุว่าความรุนแรงหลังรัฐประหารคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 233 ราย โดยวันที่นองเลือดที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม มีผู้เสียชีวิตมากถึง 38 ราย

ถ้อยแถลงร่วมที่เผยแพร่โดยบรรดาสถานทูตของสหภาพยุโรป สหรัฐฯและสหราชอาณาจักร ประณามกองกำลังด้านความมั่นคงที่ใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนกับพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ นอกจากนี้ในถ้อยแถลงยังเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและฟื้นฟูประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน มูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ก็วิพากษ์วิจารณ์การใช้กองกำลังถึงตายของกองทัพพม่า และเรียกร้องให้มุ่งหน้าสู่แนวทางการหาทางออกอย่างสันติ ส่วน โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เรียกร้องให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดประชุมซัมมิตเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า

(ที่มา : บีบีซี/รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น